วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 228 : ถังสัมผัสคลอรีน (Chlorine Tank) ของระบบไฮโดรฟนิวเมติค (Hydropneumatic System) จัดเป็นหม้อกำเนิดไอน้ำ/ภาชนะอัดความดัน (Boiler/Pressure Vessel) หรือไม่?

 

ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามารับผิดชอบ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และเครื่องจักร (Boiler and Machinery Insurance Policy) สำหรับความเสียหายต่อถังสัมผัสคลอรีน (chlorine tank) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบน้ำสะอาดที่ใช้อยู่ในภัตคาคารของตน โดยอ้างว่า ได้มีก๊าซคลอรีนพ่นออกมาจากที่อยู่ภายในถังนั้นอย่างฉับพลัน และอย่างไม่ได้คาดคิด

 

แต่ปรากฏมีประเด็นข้อพิพาทขึ้นถึงชั้นศาลอุทธรณ์ในท้ายที่สุด ดังนี้

 

1) ถังสัมผัสคลอรีนจัดเป็นภาชนะอัดความดัน (pressure vessel) ที่จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่? และ

 

2) กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองหรือเปล่า?

 

1) ถังสัมผัสคลอรีนจัดเป็นภาชนะอัดความดัน (pressure vessel) ที่จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ได้แจกแจงรายการของวัตถุที่เอาประกันภัย (Object) ได้แก่ ภาชนะอัดความดันโลหะแบบท่อน้ำใด ๆ (any metal unfired pressure vessel) ดังต่อไปนี้ ถังระบบไฮโดรฟนิวเมติค (hydro-pneumatic tank) …

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า ถังสัมผัสคลอรีนไม่ใช่ถังระบบไฮโดรฟนิวเมติค เพราะเป็นเพียงแค่ถังบรรจุสารคลอรีนเท่านั้น อันไม่ใช่วัตถุที่เอาประกันภัยตามรายการดังกล่าว

 

ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยต่อสู้ว่า ถังสัมผัสคลอรีนนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบไฮโดรฟนิวเมติด (hydropneumatics system) หรือระบบที่ใช้ของเหลวกับก๊าซ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว และแรงดัน โดยเฉพาะ ณ เวลาเมื่อเกิดเหตุ ก็อยู่ในสภาวะเช่นว่านั้นด้วย

 

พยานผู้เชี่ยวชาญที่มาตรวจสอบความเสียหายได้ให้ข้อมูลเสริมเพิ่มเติมว่า ระบบไฮโดรฟนิวเมติด (hydropneumatics system) หรือระบบที่ใช้ของเหลวกับก๊าซนั้นจะประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์สามส่วน กล่าวคือ ส่วนหัวฉีดน้ำ (water injector unit) ส่วนควบคุมการทำงาน (control unit) และส่วนที่เป็นกระบอกสูบ (cylinder unit) อยู่บนถังสัมผัสคลอรีน ถ้าเฉพาะถังสัมผัสคลอรีนเพียงลำพัง ไม่จัดเป็นถังระบบไฮโดรฟนิวเมติค แต่เมื่อได้ถูกนำมาใช้อยู่ในระบบดังกล่าวนั้นแล้ว มีความเห็นว่า จัดเป็นถังระบบไฮโดรฟนิวเมติคได้ เพราะตัวถังสัมผัสคลอรีนได้ก่อให้เกิดการทำงานของระบบนี้ขึ้นมาได้ และจะไม่สามารถได้ก๊าซคลอรีนออกมา ณ เวลาที่เกิดความเสียหาย ถังสัมผัสคลอรีนนี้ก็ร่วมอยู่ในกระบวนการของระบบไฮโดรฟนิวเมติด (hydropneumatics system) หรือระบบที่ใช้ของเหลวกับก๊าซนั้นเอง จึงควรถือเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยอันจะได้รับความคุ้มครอง

 

ศาลอุทธรณ์เห็นโน้มเอียงทางฝ่ายผู้เอาประกันภัย และพยานผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทไม่ชัดเจนเพียงพอ เห็นควรยกประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย

 

2) กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองหรือเปล่า?

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทให้ความหมายของ “อุบัติเหตุ” คือ การชำรุดเสียหายของวัตถุที่เอาประกันภัยโดยฉับพลัน และโดยไม่ได้มุ่งหวัง ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมาถึงขนาดจำต้องได้รับการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทน ณ เวลาเมื่อเกิดความเสียหายนั้น ทั้งนี้ ไม่ได้รวมถึง การลดลง การเสื่อมสภาพ การกัดกร่อน หรือการสึกกร่อนของวัสดุ ตลอดจนถึงการรั่วไหลของวาวล์ควบคุม

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า เหตุการณ์นี้ไม่จัดเป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากได้ปรากฏมีการรั่วไหลของวาวล์ ทั้งส่งผลทำให้เกิดการค่อย ๆ กัดกร่อนตรงส่วนประกอบของวาวล์ที่มีอยู่ในระบบถังอัดความดัน (chlorinator system) ในท้ายที่สุด

 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อความจริงที่เป็นอันยุติ คือ ก๊าซคลอรีนได้เล็ดรอดออกมาจากวาวล์ควบบคุมเครื่องผลิตคลอรีน (chlorinator valve) ซึ่งอยู่ด้านบนของถังสัมผัสคลอรีน โดยเป็นการหลุดเล็ดรอดอย่างแบพลันทันด่วนด้วยการพ่นก๊าซคลอรีนออกไปในอากาศ พร้อมมีเสียงดังฟู่ ซึ่งพยานผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เกิดจากซีลตรงบ่าวาวล์ในส่วนของกระบอกสูบมีการหลุดเคลื่อนอย่างฉับพลันเนื่องจากแรงกดของสปริงภายใน ภายในถังสัมผัสคลอรีนจึงก่อให้เกิดแรงดันของก๊าซระเบิดพุ่งพ่นออกมาดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่ใช่จากการรั่วไหลของวาวล์อย่างชัดเจน

 

แม้นจะปรากฏร่องรอยการกัดกร่อนอยู่ด้วย ก็เป็นเพียงผลสืบเนื่องมาจากการเล็ดรอดออกมาของก๊าซคลอรีนเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกรณีการค่อย ๆ กัดกร่อนโดยลำพังอันจะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Lakeshore Marine, Inc. Acc. & Indem. Co., 164 Ga. App. 417, 296 S.E. 2d 418 (1982))

 

หมายเหตุ

 

น่าสนใจว่า ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้ หากนำมาปรับใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยหม้อน้ำของบ้านเรา หรือชื่อเต็มเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน (Boiler and Pressure Vessel Insurance Policy)” ซึ่งจะให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในที่มิได้ถูกระบุยกเว้นเอาไว้ แต่จำกัดเพียงเฉพาะถึงขนาดเกิดการระเบิด (explosion) และการยุบแฟบ (collapse) ขึ้นมาแล้วเท่านั้น โดยสร้างความเสียหายแก่

 

     1.1) ตัวหม้อกำเนิดไอน้ำกับถังอัดความดันที่ได้กำหนดเอาประกันภัยไว้นั้นเอง

     1.2) ทรัพย์สินอื่นของผู้เอาประกันภัย

     1.3) ความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และ

     1.4) ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี

 

โดยกำหนดคำนิยามเฉพาะไว้ ดังนี้

 

คำว่า หม้อกำเนิดไอน้ำหมายถึงภาชนะที่ปิดมิดชิด หรือทั้งภาชนะและระบบของท่อที่ถูกเผาไฟให้ร้อน เพื่อใช้การผลิตไอน้ำภายใต้ความดัน เมื่อใช้ในตารางนี้หม้อกำเนิดไอน้ำหมายรวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ท่อ/เครื่องให้ความร้อนสูง และเครื่องประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งสร้างรวมเป็นส่วนหนึ่งหรือแยกอยู่ต่างหากของหม้อกำเนิดไอน้ำ

 

คำว่า ถังอัดความดันในเอกสารแนบท้ายนี้ หมายถึงภาชนะที่ปิดมิดชิดใด ๆ ที่ไม่ได้ถูกเผาไฟ ซึ่งมีกำลังอัดของไอน้ำหรืออากาศอยู่ภายใน

 

คำว่า การระเบิดในเอกสารแนบท้ายนี้ หมายถึงการฉีกขาดหรือแตกแยกออกโดยฉับพลันของโครงสร้างของหม้อกำเนิดไอน้ำ หรือถังอัดความดัน เนื่องจากกำลังดันของไอน้ำ อากาศ หรือของเหลวที่อยู่ภายใน เป็นผลให้โครงสร้างเคลื่อนที่ไป และทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ภายในกระเด็นออกไปด้วยกำลังแรงดังกล่าวการระเบิดให้หมายรวมถึงความเสียหายใด ๆ ที่เกิดแก่โครงสร้างของหม้อกำเนิดไอน้ำ โดยแรงของการสันดาปอย่างทันทีทันใดของเชื้อเพลิงในเตาไฟหรือในปล่องไฟ

 

คำว่าการยุบแฟบในเอกสารแนบท้ายนี้ หมายถึงการเปลี่ยนรูปของส่วนใดส่วนหนึ่งของหม้อกำเนิดไอน้ำ หรือถังอัดความดันโดยฉับพลันในลักษณะอันตราย โดยแรงบีบอัดของไอน้ำหรือของเหลวจะถึงแตกร้าวหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ มิได้หมายความถึงการเสียรูปซึ่งค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ ไม่ว่าจะเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม การระเบิดของก๊าซในปล่องไฟตามเอกสารแนบท้ายฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองถึงความเสียหาย ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการระเบิดของก๊าซในเตา หรือปล่องไฟของหม้อกำเนิดไอน้ำนั้น

 

ผลสรุปจะเป็นเช่นไร?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น