เรื่องที่ 226 : แผ่นดินไหว และ/หรือการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานส่งผลทำให้ตึกถล่มกันแน่? (Faulty Construction Always Excuse Insurer’s Liability in All Risks Policy?)
เหตุการณ์แผ่นดินไหวกับตึกถล่มในบ้านเราก่อให้เกิดคำถามต่าง ๆ นา ๆ ถึงใครควรจำต้องรับผิดชอบกันแน่?
คงจะไม่ขอก้าวล่วงถึงการวิเคราะห์ค้นหาข้อความจริงดังกล่าว โดยเฉพาะทางด้านเทคนิคต่าง ๆ เพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไร เพียงแต่สนใจใคร่ใฝ่รู้ในแง่มุมของการประกันภัยเท่านั้น จึงได้พยายามสืบค้นหาตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศมาเทียบเคียง ด้วยเชื่อว่า คำถามข้างต้นคงไม่ได้เกิดขึ้นมาแค่ประเทศไทยเท่านั้น
อนึ่ง ผลการสืบค้นไม่ได้มีจุดประสงค์จะมาชี้แนะใด ๆ เพียงแต่เพื่อเสริมความรู้ หรือมุมมองเพิ่มเติมเท่านั้น
เนื่องจากในแง่มุมการประกันภัย
ภัยแผ่นดินไหว จัดเป็นภัยที่คุ้มครอง
ขณะที่ภัยจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน จัดเป็นภัยที่ยกเว้น
จะพูดได้ไหม?
- ถ้าอาคารนั้นถล่มลงมาเอง จะเป็นผลมาจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานโดยตรง?
- แต่ถ้าไม่มีภัยแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเสียก่อน อาคารนั้นก็ (ยัง) ไม่ถล่ม ฉะนั้น แผ่นดินไหวถือเป็นสาเหตุโดยตรงทำให้อาคารนั้นถล่มลงมาหรือเปล่า? หรือ
- ทั้งสองภัย (ภัยที่คุ้มครองกับภัยที่ยกเว้น) ล้วนส่งผลต่อเนื่องร่วมกันในลักษณะสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) จะพิจารณาเช่นไร?
เราลองพิจารณาดูกันครับ
สมาคมนักกฎหมายแห่งประเทศฟิลิปปินส์ (Philippine Bar Association (PBA)) ประสงค์มีโครงการสร้างตึกทำการใหม่ของตนเองขึ้นมา ณ กรุงมะนิลา จึงได้ไปตกลงว่าจ้างบริษัทผู้ออกแบบแห่งหนึ่งที่ขอเรียกชื่อย่อว่า “Nakpils” และบริษัทผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งมีชื่อย่อว่า “United” เพื่อทำการก่อสร้างอาคารนั้นรวมสองหลัง
ประมาณเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1966 โครงการดังกล่าวได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และส่งมอบให้แก่ PBA เจ้าของโครงการผู้ว่าจ้างเรียบร้อย
ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1968 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด 7.3 แมกนิจูดขึ้น สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางในกรุงมะนิลา รวมถึงอาคารที่ทำการของ PBA ด้วย ถึงขนาดตัวอาคารเกิดการเอียงตัวโน้มไปข้างหน้า (tilt forward) จนต้องสั่งอพยพผู้คน รวมทั้งผู้เช่าทั้งหมดในตึกออกไป พร้อมถูกสั่งห้ามใช้อาคารอย่างเด็ดขาด
บริษัทผู้รับเหมา United ได้เข้าไปใช้มาตรการแก้ไขชั่วคราวด้วยการค้ำยันตัวตึกเอาไว้ มีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอยู่ที่ 13, 661.28 เปโซ (หรือเทียบเคียงอัตราแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบัน คือ 8,070.47 บาท)
PBA ผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกร้องให้บริษัทผู้รับเหมา United รับผิดชอบ โดยกล่าวอ้างว่า การพังทลายบางส่วนนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน (defects in construction) การไม่ได้สร้างตามแบบแปลนที่กำหนด (plans and specifications) และเป็นการผิดสัญญาว่าจ้าง
บริษัทผู้รับเหมา United ได้ไปยื่นฟ้องต่อบริษัทผู้ออกแบบ Nakpils โดยกล่าวหาว่า การพังทลายบางส่วนนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการออกแบบที่ผิดพลาด (defects in plans and specifications) อีกทอดหนึ่ง
ประเด็นข้อพิพาทได้ถูกจำแนกออกเป็นประเด็นทางด้านเทคนิค ถูกส่งต่อไปให้คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญ (commissioner) ซึ่งคู่ความเห็นชอบร่วมกันแต่งตั้งขึ้นมาให้เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็น ส่วนประเด็นทางด้านอื่น ศาลจะพิจารณาเอง
PBA ผู้เสียหายได้มีคำร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งรื้อถอนอาคารนั้นลง ด้วยหวั่นเกรงว่า หากมีแผ่นดินไหวติดตามมาอีก ตึกนั้นอาจพังถล่มลงมาได้ในท้ายที่สุด แต่ถูกคัดค้านจากฝ่ายจำเลย
ถัดมา วันที่ 7, 9 และ 12 เมษายน ค.ศ. 1970 ได้เกิดแผ่นดินไหวสามระลอกใหม่ติดตามมาอีกจนก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมแก่ตัวอาคารนั้น
วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1970 คณะกรรมาธิการจึงมีคำสั่งอนุมัติให้ PBA ผู้เสียหายดำเนินการรื้อถอนได้ โดยอาศัยค่าใช้จ่ายของตนเองชำระล่วงหน้าไปก่อน
คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญได้พินิจพิเคราะห์ และสรุปรายงานของตนว่า ความเสียหายของตัวอาคารนั้นมีสาเหตุโดยตรงมาจาก (caused directly by) กรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1) เหตุการณ์แผ่นดินไหวคราวแรกที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม และ
2) ความผิดพลาดจากการออกแบบ และรายละเอียด (defects in plans and specifications) ของบริษัทผู้ออกแบบ Nakpils และ
3) การก่อสร้างผิดเพี้ยนจากแบบแปลนดังกล่าว (deviations from said plans and specifications) กับการไม่ควบคุมดูแลที่ดีพอในงานก่อสร้าง (failure to observe requisite workmanship in the construction) ของบริษัทผู้รับเหมา United จนก่อให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงเพิ่มขึ้น
4) การไม่คอยเฝ้ากำกับดูแลตรวจรับงานที่ดีพอ (failure to exercise the requisite degree of superivision) ของ PBA ผู้เสียหายในฐานะโจทก์เจ้าของโครงการอีกชั้นหนึ่ง
ฝ่ายจำเลยหยิบยกเหตุสุดวิสัยจากภัยธรรมชาติ (Act of God) ขึ้นมาโต้แย้งว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้อาคารนั้นเสียหายมากกว่า อันถือเป็นเหตุสุดวิสัย (Fortuitous Event) โดยลำพังอย่างเดียว ตนไม่จำต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งมิได้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ฝีมือแรงงานที่ไม่ดี การดำเนินงานผิดเพี้ยนจากแบบแปลนที่กำหนด หรือการออกแบบผิดพลาดดังถูกกล่าวอ้างนั้นแต่ประการใด
ประเด็นข้อพิพาท
(1) ประเด็นสาเหตุ
เหตุสุดวิสัยแห่งภัยธรรมชาติ (แผ่นดินไหว) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารนั้น จะเป็นข้ออ้างที่ทำให้ฝ่ายที่ควรจะต้องรับผิดจากความประมาทเลินเล่อของตน สามารถพ้นจากความรับผิดนั้นได้หรือไม่?
(2) ประเด็นมูลค่าความเสียหาย
ตัวอาคารนั้นควรจะได้รับการชดใช้ในลักษณะความเสียหายโดยสิ้นเชิง (total loss) จนถึงขนาดจำต้องรื้อถอนหรือไม่? หรือ
เพียงแค่จะได้รับการชดใช้สำหรับความเสียหายบางส่วน (partial loss) ด้วยการซ่อมแซมเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมสามารถให้เช่าพื้นที่บางส่วนได้ตามปกติเท่านั้น เนื่องด้วยส่วนอื่นที่ไม่เสียหายรวมถึงฐานรากนั้น ก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ดังเดิม
ศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับรายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง เว้นแต่ประเด็นเรื่องการคอยเฝ้ากำกับดูแลตรวจรับงานที่ให้ตกเป็นภาระของเจ้าของโครงการโจทก์ด้วย
ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้ฝ่ายจำเลย อันประกอบด้วยบริษัทผู้ออกแบบ Nakpils และบริษัทผู้รับเหมา United ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนกับการสูญเสียรายได้จากค่าเช่าประมาณหกเดือน ให้แก่ PBA ผู้เสียหายฝ่ายโจทก์เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 989,335.68 เปโซ (หรือเทียบเคียงอัตราแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบัน คือ 584,455 บาท) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์
คู่ความทุกฝ่ายยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณา ดังนี้
(1) ประเด็นสาเหตุ
ในส่วนประเด็นของสถาปนิกผู้ออกแบบ ได้ปรากฏมีสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพด้านสถาปนิกกับวิศวกรรมโยธาร่วมกันยื่นคำร้องคัดค้านความเห็น (amicus curiae) ของคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญต่อศาลว่า การออกแบบ และรายละเอียดของแบบแปลนของบริษัทผู้ออกแบบ Nakpils นั้นถูกต้องตามหลักวิชาชีพนั้นแล้ว
แต่คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญคงยืนยันผลรายงานของตนว่า ความบกพร่องของแบบแปลนกับรายละเอียดนั้นยังมีอยู่
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความประมาทเลินเล่อของทั้งบริษัทผู้ออกแบบ Nakpils และบริษัทผู้รับเหมา United ล้วนแสดงจนปราศจากข้อสงสัยแล้วว่า เป็นสาเหตุใกล้ชิด (proximate cause) ซึ่งส่งผลทำให้ตัวตึกนั้นไม่มีความมั่นคงเพียงพอจะรองรับกำลังแรงของแผ่นดินไหวในเดือนสิงหาคมได้
หลักกฎหมายแห่งประเทศฟิลิปปินส์บัญญัติว่า วิศวกร/สถาปนิก และผู้รับเหมาจำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย หากปรากฏมีการพังถล่มของอาคารสิ่งปลูกสร้างภายในกำหนดระยะเวลา 15 ปีนับแต่วันที่สร้างเสร็จ
อย่างไรก็ดี บุคคลไม่จำต้องรับผิดกรณีเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดคิดได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า
(1) กรณีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของบุคคลนั้นเอง
(2) กรณีนั้นไม่อาจคาดหวังได้ หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย
(3) กรณีนั้นจะต้องส่งผลถึงขนาดทำให้บุคคลนั้นไม่อาจทำหน้าที่ของตนได้เลย
(4) บุคคลนั้นต้องไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ หรือมีส่วนเกี่ยวเนื่องทำให้บังเกิดผลอย่างร้ายแรงแก่บุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายด้วย
กรณีเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1968 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย หรือภัยจากธรรมชาติ
ถึงกระนั้น การก่อสร้างที่ขาดมาตรฐานที่ดีพอ การก่อสร้างผิดแบบ แบบแปลนกับรายละเอียดที่บกพร่องนั้นเอง ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงมากขึ้น ตลอดจนมีส่วนทำให้มาตรการความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารนั้นที่ควรจะมีอยู่ได้ถูกลดทอนน้อยลงไป
การยอมรับมอบอาคารสิ่งปลูกสร้างเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไม่ได้มีนัยที่จะส่งผลทำให้เป็นอันปลดเปลื้องภาระผิดของข้อบกพร่องใด ๆ ดังกล่าว
ฉะนั้น หากหลักแห่งเหตุสุดวิสัยนั้นมีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุแห่งการฉ้อฉล ความประมาทเลินเล่อ การหน่วงเหนี่ยว หรือการละเมิด หรือการฝ่าฝืนในลักษณะที่บุคคลนั้นมีหน้าที่ของตนอยู่จนก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายท้ายที่สุด บุคคลนั้นก็ไม่อาจอ้างหลักแห่งเหตุสุดวิสัยมาเพื่อปฏิเสธให้ตนต้องพ้นผิดไปได้
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า ข้อสงสัยที่ว่า ทำไมอาคารสิ่งปลูกสร้างอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงถึงยังคงไม่พังถล่มลงมา เว้นแต่อาคารที่พิพาทนี้เท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยในการนึกคำนึงถึงได้
ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น
(2) ประเด็นมูลค่าความเสียหาย
ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินเพิ่มค่าเสียหายจากเดิมให้แก่ PBA ผู้เสียหายฝ่ายโจทก์อีก 200,000 เปโซ (หรือเทียบเคียงอัตราแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบัน คืออีก 118,418 บาท) สำหรับความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่ติดตามมาอีกสามระลอก ซึ่งทั้งหมดพิจาณาแล้วถือเป็นความเสียหายบางส่วนเท่านั้น
ศาลฎีกา
คู่ความทุกฝ่ายยื่นฎีกา ศาลฎีกาได้วินิจฉัย ดังนี้
(1) ประเด็นสาเหตุ
ศาลฎีกายืนตามศาลล่างทั้งสอง เหตุสุดวิสัยไม่ได้ทำให้ฝ่ายจำเลยทั้งสองสามารถใช้นำมาอ้างเพื่อให้ตนพ้นผิดได้ เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายจำเลยทั้งสองเป็นสาเหตุใกล้ชิดส่งผลทำให้ตัวอาคารนั้นปราศจากความมั่นคงแข็งแกร่งอย่างที่ควรจะเป็นในการยืนหยัดต้านทานกำลังแรงของแผ่นดินไหวได้
(2) ประเด็นมูลค่าความเสียหาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยคำร้อง PBA ผู้เสียหายฝ่ายโจทก์ว่า ตนควรจะได้รับการชดใช้มูลค่าความเสียหายโดยสิ้นเชิง สำหรับตัวอาคารนั้นมากกว่า
ส่วนการสูญเสียรายได้จากค่าเช่านั้นควรคำนวณในอัตราค่าเช่าปีละ 178,671.76 เปโซ (หรือเทียบเคียงอัตราแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบัน คือ 105,789.76 บาท) ตามจริงมากกว่า ไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงแค่หกเดือนเท่านั้น
และตัดสินให้ PBA ผู้เสียหายฝ่ายโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 5,000,000 เปโซ (หรือเทียบเคียงอัตราแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบัน คือ 2,960,450 บาท)
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Supreme Court, Second Division GR L-47851, GR l-47863, GR L-47896 October 3, 1968 Juan F. Nakpil & Sons and Juan F. Nakpil, The court of Appeals, United Construction Company, Inc., Juan J. Carlos and the Philippine Bar Association)
หมายเหตุ
แม้ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้อาจดูเก่าไป และไม่ตรงกับกรณีที่บังเกิดขึ้นในบ้านเรา ทั้งไม่ปรากฏประเด็นเรื่องทางด้านการประกันภัย แต่ก็น่าเชื่อสามารถใช้เทียบเคียงได้นะครับ
บทสรุปของตัวอย่างคดีศึกษานี้ระบุว่า ผลของความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นอาศัยปฏิกิริยาตัวเร่ง คือ แผ่นดินไหว ขณะที่การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และความผิดพลาดในการออกแบบนั้นจัดเป็นสาเหตุใกล้ชิดของเหตุแห่งความเสียหายนั้นเอง
เหตุสุดวิสัย หรือภัยธรรมชาตินั้นจะสามารถอ้างมาเพื่อให้สามารถพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายได้ต่อเมื่อจะต้องปราศจากความเกี่ยวเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของมนุษย์เอง
เทียบเคียงได้กับตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรา เลขที่ 8724/2560
ตึกถล่มจากแผ่นดินไหว นายจ้างปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุสุดวิสัย ศาลเห็นว่า โครงสร้างตึกไม่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่มีมาตรการรองรับแผ่นดินไหว แม้แผ่นดินไหวเป็นเหตุสุดวิสัย แต่นายจ้างมีความประมาท จึงต้องรับผิด
ในแง่การประกันภัย จะได้รับความคุ้มครองสำหรับส่วนความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวซึ่งเป็นภัยที่คุ้มครอง ส่วนความเสียหายจากภัยการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานกับการออกแบบผิดพลาดซึ่งตกอยู่ในภัยที่ยกเว้น ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองครับ
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงการพิจารณานำเสนอแง่มุมความคิดเห็นส่วนตัวเทียบเคียงกับตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเท่านั้นนะครับ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเราซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ อีกมากมายเข้ามาพิจารณาประกอบ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น