วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 225 : ความเสียหายส่วนแรกของการประกันภัยทรัพย์สินส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด (deductible of condominium association) ใครควรรับผิดชอบ?

 

ได้ยินมานานมากแล้วถึงดำริที่ควรจะมีกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะสำหรับคอนโดมิเนียม แต่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่บ้านเราล่าสุด น่าจะถึงเวลาที่จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยให้เห็นผลจริงจังกันเสียที

 

ส่วนตัวไม่ใคร่กังวลใจมากนักเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความคุ้มครองของความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวของคอนโดมิเนียม (แม้จะมีความเห็นต่างบางประเด็น)

 

แต่กังวลแทนมากกว่า สำหรับปัญหาผลกระทบที่จะติดตามมาระลอกที่สองแก่เจ้าของห้องชุดทั้งหลาย ซึ่งยังไม่เห็นใครหยิบยกมาพูดถึง และไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยทรัพย์สินเดิมที่มีอยู่

 

ก่อนอื่น เราลองมาพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษานี้กันจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำทางด้านการประกันภัยเฉพาะ สำหรับคอนโดมิเนียม

 

ณ วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2012 ได้เกิดไฟไหม้จากห้องชุดของนาย Gelinas และได้ลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินส่วนกลางบางส่วนของอาคารคอนโดมิเนียมแห่งนั้น

 

โชคดีที่ตัวนิติบุคคลอาคารชุด (condominium association) แห่งนั้นเองได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินส่วนกลางเอาไว้แล้ว จึงได้ไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามารับผิดชอบชดใช้ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินส่วนกลางนั้น คำนวนแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 202,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 6,787,200 บาท) ซึ่งบริษัทประกันภัยนั้นตกลงยอมรับผิดชดใช้ให้ แต่จำต้องหักค่าความเสียหายส่วนแรกจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 336,000 บาท) ดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นออกเสียก่อน ทำให้ตัวนิติบุคคลอาคารชุดแห่งนั้นได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนสุทธิจริงเพียง 192,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 6,451,200 บาท) เท่านั้น

 

ด้วยเหตุนี้ ตัวนิติบุคคลอาคารชุดแห่งนั้นจึงไปเรียกร้องจำนวนเงินที่ขาดอยู่อีก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 336,000 บาท) นั้นคืนจากนาย Gelinas เจ้าของห้องชุดต้นเพลิง แต่ได้รับการปฏิเสธ และเกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นตัดสินให้นาย Gelinas เจ้าของห้องชุดต้นเพลิงชดใช้เงินตามฟ้อง

 

นาย Gelinas เจ้าของห้องชุดต้นเพลิงยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องด้วยตามกฎหมายว่าด้วยคอนโดมิเนียมของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ให้ตัวนิติบุคคลอาคารชุดผู้เสียหายสามารถเรียกเงินส่วนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยของตนคืนจากเจ้าของห้องชุดผู้กระทำผิดได้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Gelinas v. Barry Quadrangle Condominium Association, 2017 IL App (1st) 160826)

 

หมายเหตุ

 

เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการประกันภัยของคอนโดมิเนียมหลายครั้งนานพอสมควรในบทความเรื่องพบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ถ้าสนใจ ลองไปสืบค้นดูครับ

 

น่าเสียดายที่พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ของบ้านเรา ไม่ได้มีรายละเอียดโดยเฉพาะหัวข้อเรื่องการประกันภัยดั่งเช่นของต่างประเทศ (แต่ละประเทศอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน)

 

ความที่เขาได้มีการออกกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะสำหรับคอนโดมิเนียมมารองรับ ทำให้สามารถตอบโจทย์ประเด็นปัญหาที่กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินทั่วไปไม่มีได้

 

ถ้านึกจินตนาการดู ตัวนิติบุคคลอาคารชุดอาศัยแหล่งเงินทุนจากที่ใดเข้ามาจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง ถ้าไม่ใช่มาจากเจ้าของห้องชุดทุกรายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอยู่ ณ ที่นั้น ในฐานะเจ้าของร่วมที่เรียกว่า “ค่าส่วนกลาง

 

นั่นหมายความว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นบางส่วนอาจไม่มีการประกันภัยคุ้มครองอยู่ หรือคุ้มครอง แต่ไม่เพียงพอ การหาเงินมาซ่อมแซมบำรุงรักษาจะหาได้จากที่ใด ถ้าไม่ใช่ระดมเพิ่มเติมจากเจ้าของห้องชุดทุกราย

 

ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา ค่าส่วนกลางที่จ่ายตามปกติอาจไม่สามารถครอบคลุมได้เพียงพอ ก็จำต้องระดมเงินเพิ่มขึ้น นี่คือ สิ่งที่หนักใจแทนทุกท่านดั่งที่เกริ่นไว้ตอนต้น

 

กรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะสำหรับคอนโดมิเนียมในต่างประเทศพยายามหาทางออก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระลักษณะนี้ได้ โดยอาศัยเงื่อนไขความคุ้มครองพิเศษที่เรียกว่า “Loss Assessment Coverage

 

จะนำมาเขียนสรุปให้อ่านกันใน Facebook Meet Insurance ครั้งหน้าครับ

 

อย่างไรก็ดี ขอถือโอกาสวาระอันเป็นมงคลในเทศกาลสงกรานต์ อวยพรให้ทุกท่านมีความสุข ความปลอดภัย และสุขภาพแข็งแรงในชีวิตถ้วนหน้านะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น