เรื่องที่ 222 : ผู้รับจ้าง (Contractor) ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler System) ควรต้องรับผิดต่อเหตุน้ำรั่วไหลสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง (Principal) กับของบุคคลภายนอก (Third Party) หรือไม่?
(ตอนที่สอง)
ยกแรกศาลชั้นต้น
บริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้ในฐานะจำเลย ปฏิเสธความรับผิดโดยต่อสู้ว่า
1) บริษัทประกันภัยทรัพย์สินในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้น
เนื่องด้วยข้อกำหนดข้อหนึ่งของสัญญาว่าจ้างบำรุงรักษาระหว่างผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นในฐานะผู้ว่าจ้างกับบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้ในฐานะผู้รับจ้างได้ระบุว่า หากมีความเสียหายใดเกิดขึ้นมา บริษัทประกันภัย หรือบุคคลภายนอกรายใดจะไม่สามารถรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาผิด (subrogation waiver) กับบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้ได้ เนื่องจากผู้เช่าอาคารรายนั้นจะเข้ามารับผิดเองด้วยการจัดหาประกันภัยมาคุ้มครองแทน อันเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งของคู่สัญญาว่าจ้างที่ให้มีการโอนภาระความรับผิดที่จะเกิดขึ้นไปสู่บริษัทประกันภัยแทน
2) ผู้เช่ารายอื่นที่เสียหาย
ตนไม่ได้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบไปถึงด้วย เพราะไม่มีข้อผูกพันตามสัญญาว่าจ้างกับผู้เช่ารายอื่นที่เสียหายเหล่านั้น (Non-Contract Tenants) เพียงแต่มีข้อผูกพันตามสัญญาว่าจ้างกับผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นในฐานะผู้ว่าจ้างเท่านั้น
ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องกับข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ตัดสินให้ฝ่ายจำเลยรับผิดแก่ฝ่ายโจทก์ทุกราย
จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินนั้น
ยกที่สองศาลชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1) บริษัทประกันภัยทรัพย์สินในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้น
ฝ่ายจำเลยคงยืนกรานถึงการแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดแจ้งของคู่สัญญาว่าจ้างที่กำหนดให้มีการโอนภาระความรับผิดที่อาจจะเกิดขึ้นไปสู่บริษัทประกันภัยเพื่อรับผิดชอบแทน ตนจึงไม่จำต้องรับผิดใด ๆ ทั้งสิ้นอีก
ผู้เช่าอาคารคู่สัญญาว่าจ้างฝ่ายโจทก์โต้แย้งว่า การกระทำที่เป็นประเด็นของพนักงานตรวจสอบของบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้ไม่อยู่ในเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้างนั้น เพราะเป็นการร้องขอโดยตรงจากผู้ให้เช่าอาคาร โดยที่ผู้ว่าจ้างในฐานะคู่สัญญาว่าจ้างนั้นไม่ได้รับรู้ และไม่ได้เห็นชอบด้วยเลย
ข้อโต้แย้งข้างต้นของฝ่ายโจทก์ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย และตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
2) ผู้เช่ารายอื่นที่เสียหาย
ฝ่ายจำเลยอ้างเช่นเดิมว่า ตนเพียงมีภาระผูกพันตามสัญญาว่าจ้างกับผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นในฐานะผู้ว่าจ้างตามขอบเขตงานที่ตกลงกันเท่านั้น และไม่จำต้องรับผิดแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สัญญาว่าจ้างแต่ประการใด อีกทั้งตามหลักกฎหมายแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า “หลักการยอมรับงาน (acceptance rule)” ซึ่งวางแนวทางไว้ว่า ผู้รับเหมา หรือผู้ซ่อมไม่จำต้องรับผิดสำหรับความเสียหายโดยประมาทเลินเล่อที่เกิดแก่ตัวงานที่ตนได้ทำต่อบุคคลภายนอก ภายหลังจากเมื่อผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานนั้นไปแล้ว
ฝ่ายผู้เช่ารายอื่นที่เสียหายพยายามโต้แย้งว่า หลักการเช่นว่านี้เสมือนทำให้ผู้รับจ้างทำงานโดยไม่ใส่ใจถึงความปลอดภัยของบุคคลอื่น นอกจากของคู่สัญญาว่าจ้างของตนเท่านั้น ไม่น่าจะเป็นธรรม
อันที่จริง มีหลักกฎหมายอื่นอยู่อีกที่เรียกว่า “หลักการสมัยใหม่ หรือหลักการความคาดหวังได้ (modern rule or foreseeability doctrine)” ซึ่งบางศาลได้วางแนวทางใหม่ที่ยืดหยุ่นกว่าไว้ว่า หากผู้รับเหมา หรือผู้รับจ้างสามารถคาดหวังได้ตามสมควรว่า งานของตนที่กระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออาจจะก่อให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินแก่บุคคลภายนอกอื่นได้ ก็จะต้องมีความรับผิดตามไปด้วยถึงแม้นจะบังเกิดขึ้นหลังจากเมื่อผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานนั้นไปแล้วก็ตาม
หลักการสมัยใหม่นี้น่าจะสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้มากกว่า
อย่างไรก็ดี องค์คณะศาลอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นพ้องกับฝ่ายจำเลย โดยตัดสินใจให้ฝ่ายจำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง เพราะมีเพียงความเสียหายต่อทรัพย์สินเท่านั้น
ยกที่สามศาลชั้นสูงสุด
เมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่ศาลสูงสุดก็ได้มีคำวินิจฉัยออกมา ดังนี้
1) บริษัทประกันภัยทรัพย์สินในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้น
ศาลสูงสุดเห็นคล้อยตามกับฝ่ายจำเลย เนื่องด้วยข้อกำหนดดังอ้างอิงของสัญญาว่าจ้างนั้นได้เขียนไว้ค่อนข้างกว้างโดยไม่มีการจำแนกขอบเขตระหว่างงานตามสัญญาว่าจ้างกับงานที่ไม่ใช่ตามสัญญาว่าจ้างอย่างชัดแจ้ง คงใช้คำว่า “งาน” ลอย ๆ ถ้าคู่สัญญาว่าจ้างประสงค์จะวางกรอบขอบเขตงานให้จำกัดลงก็สามารถกระทำได้อยู่แล้ว เมื่อไม่ได้ทำเช่นว่านั้น จำต้องตีความไปตามถ้อยคำที่ร่างกันไว้นั้น ด้วยเหตุผลนี้ ศาลสูงสุดจึงวินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
2) ผู้เช่ารายอื่นที่เสียหาย
ศาลสูงสุดมีความเห็นยืนตามว่า ฝ่ายจำเลยไม่จำต้องรับผิดเช่นเดียวกัน และสั่งให้ย้อนคดีกลับมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาตัดสินอีกครั้งหนึ่ง
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี U.S. Automatic Sprinkler Corporation v. Erie Insurance Exchange, 204 N.E.3d 215 (Ind. 2023))
หมายเหตุ
เมื่อผู้รับจ้างไม่จำต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกแล้ว คุณคิดว่าภาระความรับผิดเช่นว่านั้นจะไปอยู่ที่ใคร? ถ้าไม่ใช่ผู้เช่าอาคารรายนั้นในฐานะผู้ว่าจ้าง
แม้นจะเป็นตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศ แต่สามารถปรับเทียบเคียงได้กับบ้านเราได้ ลองนึกดูนะครับว่า
ตัวอย่างกรณีงานก่อสร้าง หรืองานติดตั้งในบ้านเรา เมื่อผู้รับเหมาสร้างเสร็จส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างเรียบร้อยแล้ว ภายหลังความบกพร่องของตัวงานนั้นไปส่งผลทำให้บุคคลภายนอกเสียหาย คุณคิดว่า ผู้ใดควรจะต้องรับผิดชอบบ้าง? ต่อให้ได้มีการขยายระยะเวลาบำรุงรักษา (maintenance period) ไว้ด้วยแล้วก็เถอะ
หรือในแง่ของรถยนต์ เจ้าของนำรถยนต์ไปซ่อม ช่างซ่อมเสร็จส่งมอบคืนแก่เจ้าของรถแล้ว แต่เวลานำไปใช้งานตามปกติ ยังพบความบกพร่องจนถึงขนาดไปสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น ใครบ้างควรต้องรับผิดชอบ?
หรือกรณีนิติบุคคลของคอนโดว่าจ้างบริษัทยามมาดูแลรักษาความปลอดภัยภายใน ทรัพย์สินของเจ้าห้องชุดหายไป ใครบ้างควรต้องรับผิดชอบ?
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ให้ระวังถ้อยคำของข้อตกลงสัญญาว่าจ้างเหล่านั้นว่า มีความครอบคลุม และชัดเจนมากน้อยขนาดไหน?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น