วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 223 : ผู้ใดควรรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของพนักงานรับเหมาค่าแรงภายนอก (Outsourcing Employee)?

 

หลายปีแล้วได้เขียนบทความเรื่องที่ 146 : จงใจทำร้ายผู้อื่น (Deliberate Act) ถือเป็นอุบัติเหตุภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) หรือไม่?

 

ครานี้ได้หยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาทำนองเดียวกัน แต่มีประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมแตกต่างจากครั้งที่แล้ว

 

แม้นจะมีพนักงานหน้าประตู (doorman) ของสถานบันเทิงไปก่อเหตุทำร้ายนักเที่ยวจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นเดียวกัน แต่มีข้อโต้แย้งเพิ่มเติม เนื่องจากพนักงานหน้าประตูรายนั้นไม่ใช่ลูกจ้างโดยตรงของสถาบันเทิงแห่งนั้น แต่เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจากภายนอก (outsourcing employee)

 

ผู้ใดควรต้องรับผิดชอบกันแน่ระหว่าง?

 

1) ผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) ซึ่งเป็นผู้จัดหาแรงงานภายนอก และเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจากภายนอกรายนั้นโดยตรงเองเพียงลำพัง หรือ

 

2) เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้น ซึ่งเป็นผู้ควบคุม และจัดหาชุดเครื่องแบบเสื้อผ้าแก่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจากภายนอกโดยตรงเพียงลำพัง หรือ

 

3) ทั้งผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นกับเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นรับผิดร่วมกัน (dual vicarious liability) หรือ

 

4) บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ของผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นเข้ามารับผิดแทน

 

เมื่อเป็นคดีขึ้นสู่ศาล โดยผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องทั้งสามรายเป็นจำเลยร่วมกันให้ชดใช้ค่าเสียหาย

 

ระหว่างพิจารณาคดี ผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นตกเป็นบุคคลล้มละลาย และไม่มีผู้ใดมาต่อสู้คดีแทน

 

ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นกับบริษัทประกันภัยของผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นรับผิดชอบร่วมกัน

 

ทั้งคู่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแยกเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

 

1) ผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้น

 

เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นพยายามต่อสู้ว่า ตนไม่ใช่นายจ้างโดยตรงของผู้กระทำผิด แต่ข้อโต้แย้งรับฟังไม่ขึ้น เพราะเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นมีอำนาจสั่งการแก่ผู้กระทำผิด ทั้งตลอดระยะเวลาสองปีที่ผู้กระทำผิดทำงานอยู่ในเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นต้องแต่งตัวอยู่ในชุดฟอร์มที่เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นจัดหามาให้ และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นด้วย คนทั่วไปต่างรับรู้ และสำคัญว่า ผู้กระทำผิด คือ พนักงานของเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้น ถึงแม้นผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นเป็นผู้คัดเลือก และจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้กระทำผิดเองก็ตาม แต่อำนาจในการควบคุมสั่งการกับความรับผิดชอบได้ถูกถ่ายโอนไปสู่เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นแล้ว เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นจึงเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างชั่วคราว (temporary deemed employer) ของผู้กระทำผิด โดยที่ผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นไม่ได้มีอำนาจควบคุมโดยตรงต่อพฤติกรรมในการกระทำผิดของผู้กระทำผิดโดยเฉพาะในคืนวันที่เกิดเหตุเลย

 

2) เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้น

 

ตลอดช่วงระยะเวลาสองปีที่ผู้กระทำผิดได้ทำงานให้ และในช่วงเวลาที่ก่อเหตุด้วย เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นมีอำนาจในการควบคุมสั่งการแก่ผู้กระทำผิดอย่างเต็มที่ จึงเปรียบได้เสมือนเป็นนายจ้างชั่วคราว (temporary deemed employer) ของผู้กระทำผิด และจำต้องรับผิดชอบเองโดยลำพังต่อการกระทำผิดที่เข้าไปชกใบหน้าของนักเที่ยวจนได้รับบาดเจ็บสาหัสดังกล่าว

 

3) บริษัทประกันภัยของผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้น

 

บริษัทประกันภัยได้หยิบยกข้อโต้แย้งมาต่อสู้ ดังนี้

 

3.1) เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกฉบับพิพาทได้ระบุคุ้มครองถึงการบาดเจ็บทางร่างกายโดยอุบัติเหตุ (accidental bodily injury) แก่บุคคลภายนอก คำว่า “โดยอุบัติเหตุ” หมายความถึง สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยไม่ได้มุ่งหวัง หรือโดยเจตนา ซึ่งการที่ผู้กระทำผิดเข้าไปชกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ไม่ถือเป็นการกระทำโดยอุบัติเหตุ แต่เป็นการกระทำโดยเจตนา จึงไม่อยู่ในความหมายดังกล่าวอันจะทำให้ได้รับความคุ้มครองได้

 

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า การพิจารณาถึงการกระทำใดจะเป็นอุบัติเหตุหรือไม่นั้น? ตามหลักของการประกันภัยให้ตีความจากฝ่ายตัวผู้เอาประกันภัยเองเป็นเกณฑ์ ซึ่งในคดีนี้ ผู้เอาประกันภัย คือ ผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นไม่ได้ลงมือกระทำโดยเจตนา ตัวลูกจ้างผู้กระทำผิดต่างหากที่เป็นผู้กระทำการดังกล่าวนั้นเอง ซึ่งทั้งผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นกับเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นต่างได้ยอมรับแต่แรกแล้วว่า การกระทำเช่นว่านั้นของผู้กระทำผิดอยู่ในทางการที่จ้าง จึงถือเป็นอุบัติเหตุที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

3.2) ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า เมื่อเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นจำต้องรับผิดโดยลำพัง โดยที่ผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย เหตุใดจะต้องให้บริษัทประกันภัยของผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นมาร่วมรับผิดกับเจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นด้วย เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่ได้หยิบยกมาต่อสู้ตั้งแต่ต้น ศาลอุทธรณ์ไม่อาจรับฟังได้

 

สรุป คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าของสถานบันเทิงแห่งนั้นกับบริษัทประกันภัยของผู้จัดหาแรงงานภายนอก (outsourcing employer) รายนั้นร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Hawley v. Luminar Leisure Ltd & Ors ([2006] EWCA Civ 18)

 

หมายเหตุ

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติว่า

 

มาตรา 11/1 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่ง บุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทํางานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทํางานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ

และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทํางาน หรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทํางานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่า ผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทํางานดังกล่าว

 

ให้ผู้ประกอบกิจการดําเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทํางานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น