เรื่องที่ 222 : ผู้รับจ้าง (Contractor) ติดตั้งและบำรุงรักษาระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler System) ควรต้องรับผิดต่อเหตุน้ำรั่วไหลสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง (Principal) กับของบุคคลภายนอก (Third Party) หรือไม่?
(ตอนที่หนึ่ง)
ผู้เช่าอาคารแจ้งต่อผู้ให้เช่าว่า จะขออนุญาตติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติเฉพาะในส่วนของพื้นที่ตนเช่าอยู่
ผู้ให้เช่าอนุญาตโดยมีเงื่อนไขขอปรับแก้ไขสัญญาเช่าใหม่ว่า ให้ผู้เช่าอาคารรายนั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นแต่เพียงผู้เดียว และให้จัดทำประกันภัยที่เหมาะสมมาคุ้มครองความเสียหายใด ในกรณีที่ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นขัดข้องจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่เช่าของตน ตลอดจนพื้นที่เช่าส่วนอื่นที่อยู่ใต้ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นด้วย
จากนั้น ผู้เช่าอาคารรายนั้นได้ว่าจ้างบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้าหนึ่งให้เข้ามาติดตั้ง และทำการดูแลรักษากับการทดสอบระบบตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาบำรุงรักษาด้วย ซึ่งแม้นในข้อสัญญาระบุไม่ได้ครอบคลุมถึงการซ่อมแซม การเปลี่ยนทดแทน หรือการให้บริการฉุกเฉิน แต่คู่สัญญาสามารถตกลงกันขยายให้คุ้มเพิ่มเติมได้ต่อเมื่อมีคำร้องขอจากผู้เช่าอาคารรายนั้นเป็นรายกรณี และหากมีความเสียหายใดเกิดขึ้นมา บริษัทประกันภัย หรือบุคคลภายนอกรายใดจะไม่สามารถรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาผิดกับบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้ได้ เนื่องจากผู้เช่าอาคารรายนั้นจะเข้ามารับผิดแทน พร้อมจัดการประกันภัยทรัพย์สินมาคุ้มครองเอง
ในขั้นตอนปกติ สำหรับการดูแลรักษากับการทดสอบระบบตามช่วงระยะเวลานั้น จะมีพนักงานตรวจสอบของบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้แจ้งขอนัดวันเวลาที่จะเข้ามากับพนักงานผู้รับผิดชอบของผู้เช่าอาคารรายนั้นก่อน ครั้นเมื่อมาถึงแล้ว ก็จะมีการส่งมอบกุญแจห้องควบคุมระบบ (riser room) ให้ พอตรวจดำเนินการเสร็จแล้ว พนักงานตรวจสอบก็จะส่งมอบกุญแจคืน พร้อมกับให้พนักงานผู้รับผิดชอบลงนามรับรองผลการทำงานอีกที เป็นเสร็จขั้นตอน
ผลการทำงานครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ปกติเรียบร้อยดี
ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2016 พนักงานผู้ดูแลอาคารของผู้ให้เช่าตรวจพบเจอร่องรอยน้ำรั่วจากท่อน้ำหลักที่เชื่อมต่อกับระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง แม้ผู้ให้เช่ามีสิทธิตามสัญญาเช่าที่จะเข้าไปตรวจสอบ หรือซ่อมแซมพื้นที่เช่าในกรณีฉุกเฉินได้ตลอดเวลาก็ตาม แต่ไม่ได้ใช้สิทธิเช่นว่านั้น กลับถือวิสาสะโทรศัพท์ไปแจ้งเหตุแก่พนักงานตรวจสอบของบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้เอง
พนักงานตรวจสอบของบริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้ก็มาตรวจสอบตามคำร้องขอด้วยการเข้าไปทำอะไรกับวาล์วควบคุมระบบ แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้มีการประสานงานแจ้งให้ผู้เช่าอาคารรายนั้นได้รับทราบแต่ประการใด
ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ น้ำในระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นจับตัวแข็ง และได้ระเบิดแตกออกมา ก่อให้เกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างกว้างขวางรวมถึงทรัพย์สินของผู้เช่าอาคารรายอื่นทุกรายด้วย
ในจำนวนผู้เช่าอาคารทั้งหมดสี่ราย มีการทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินส่วนของตนไว้เพียงสองรายเท่านั้น รวมทั้งผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นด้วย ซึ่งทั้งคู่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนเรียบร้อยแล้ว
บริษัทประกันภัยของผู้เช่าอาคารสองรายในฐานะผู้รับช่วงสิทธิร่วมกับผู้เช่าอาคารที่ไม่มีประกันภัยคุ้มครองได้นำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้รับผิดชอบ
คุณคิดว่า บริษัทจำหน่ายระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงเจ้านี้ในฐานะผู้รับจ้างจำต้องรับผิดแก่
ก) ผู้เช่าอาคารรายที่ติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นในฐานะผู้ว่าจ้าง หรือ
ข) บริษัทประกันภัยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ และ
ค) ผู้เช่าอาคารรายที่ไม่มีประกันภัยคุ้มครอง
หรือไม่ครับ?
ลุ้นผลการตัดสินที่ต่อสู้กันถึงชั้นศาลสูงสุดในคราวหน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น