วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 218 : ผู้รับเหมาตัดต้นไม้ (Trees) กับขนดิน (Dirt) ของเพื่อนบ้านออกไป มีความผิดตามกฎหมาย อันจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิด (Commercial General Liability) ของตนหรือไม่?

 

ตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเรื่องนี้น่าสนใจมากนะครับ เพราะมีหลายประเด็นข้อพิพาทควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ และการทำความเข้าใจอย่างมาก

 

เจ้าของโครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งได้ซื้อที่ดินผืนใหญ่แปลงหนึ่ง เพื่อสร้างหมู่บ้านขาย โดยรูปลักษณะที่ดินดูเสมือนไม่เต็มผืนดีนัก คือมีที่ดินของเพื่อนบ้านแทรกอยู่เป็นรูปสามเหลี่ยมบางส่วนตรงด้านหน้า

 

เจ้าของโครงการนี้ซึ่งเป็นผู้รับเหมาเองด้วยได้ทำหนังสือถึงเพื่อนบ้านรายนั้นขอหารือเรื่อง

 

(1) ขอตัดแต่งต้นไม้ของเพื่อนบ้านรายนั้นที่โผล่ข้ามเข้ามาในที่ดินจัดสรรของตน และ

 

(2) ขอปรับสภาพแนวคันดินของเพื่อนบ้านรายนั้นให้เป็นพื้นราบเสมอกับที่ดินจัดสรรของตน

 

ทางฝั่งเพื่อนบ้านรายนั้นไม่ได้ตอบปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ร้องขอดูรายละเอียดการทำงานเช่นว่านั้น เพื่อพิจารณาเสียก่อนที่จะตัดสินใจ

 

จู่ ๆ เจ้าของโครงการนี้ได้ส่งทีมงานเข้าไปขุดถอนรากต้นไม้ใหญ่ ริดทอนพุ่มไม้ พร้อมปรับสภาพเนินดินให้ราบเรียบ โดยมีการขนเศษซากต้นไม้ และเศษดินออกไปด้วย

 

เพื่อนบ้านรายนั้นจึงได้รีบทำหนังสือแจ้งเตือนให้หยุดการกระทำละเมิดดังกล่าวลงทันที และให้ทนายของตนยื่นฟ้องคดีเรียกร้องให้เจ้าของโครงการนี้จัดทำสภาพภูมิทัศน์ให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนด้วย

 

เนื่องด้วยเจ้าของโครงการนี้ได้จัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) รองรับอยู่แล้ว จึงได้แจ้งต่อบริษัทประกันภัยของตนให้เข้ามาคุ้มครอง

 

เมื่อบริษัทประกันภัยนั้นได้พิจารณาเรื่องราวทั้งหมดแล้ว กลับตอบปฏิเสธโดยอ้างเหตุผล ดังนี้

 

1) การกระทำดังกล่าวของผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ อันจะทำให้ได้รับความคุ้มครอง เพราะได้กระทำด้วยความจงใจ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น

 

2) หากจะได้รับความคุ้มครอง ก็ยังจะตกอยู่ในข้อยกเว้นความเสียหายต่อทรัพย์สินอันมีสาเหตุมาจากการทรุดตัว (subsidence) หรือการเคลื่อนตัว (movement) ของดิน แผ่นดิน ฐานราก หรือพื้นดิน ไม่ว่าจะเกิดมาจากภัยธรรมชาติ การกระทำของมนุษย์ (manmade) หรือด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตาม

 

ทั้งนี้ ข้อยกเว้นนี้ได้มีการขยายความเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การทรุดตัว (subsidence) หรือการเคลื่อนตัวของดิน แผ่นดิน ฐานราก หรือพื้นดินนี้ ยังหมายความรวมถึง การทรุด การโป่งนูน การสั่น การจม การเลื่อน การเคลื่อน (shifting) การกร่อน การยก การเอียง การขยาย การบีบกด การหด การไม่แข็งแรง การแตกแยก การถล่ม แผ่นดินถล่ม โคลนไหล น้ำท่วม หลุมยุบ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือหิมะถล่มอีกด้วย  

 

โดยที่การขนย้ายเศษดินออกไปนั้นจัดอยู่ในความหมายของการเคลื่อนตัว (movement) ของดินในข้อยกเว้นดังกล่าว

 

เมื่อเหตุการณ์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขความคุ้มครอง บริษัทประกันภัยก็ไม่มีหน้าที่จะทำการต่อสู้คดี (duty to defend) เช่นเดียวกับหน้าที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (duty to indemnify) ให้ด้วย

 

คุณเห็นด้วยกับฝ่ายใดครับ?

 

ผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีสู่ศาล เพื่อร้องขอบังคับให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

ศาลได้วิเคราะห์ประเด็นข้อพิพาททั้งหมด และมีความเห็น ดังนี้

 

1) ประเด็นการจำแนกระหว่างหน้าที่จะทำการต่อสู้คดี (duty to defend) กับหน้าที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (duty to indemnify)

 

เนื่องด้วยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาประเด็นนี้ก่อนเป็นลำดับแรก

 

โดยบริษัทประกันภัยจำเลยมองว่า เมื่อกรณีไม่เข้าข่ายความคุ้มครองแล้ว ตนก็ไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้องไปต่อสู้คดีแทน หรือชำระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้อีก

 

ศาลกลับเห็นว่า หน้าที่จะทำการต่อสู้คดี (duty to defend) ควรเกิดขึ้นในกรณีโอกาสที่จะเป็นไปได้ (possibility) คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น โดยยังไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ ในที่นี้ คือ การได้รับความคุ้มครอง (success) หรืออีกนัยหนึ่ง แค่มีข้อสงสัย หรือข้อกล่าวหาอันสมควรเท่านั้น

 

ส่วนหน้าที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (duty to indemnify) เป็นการค้นหาความน่าจะเป็น (probability) คือ มีทั้งโอกาสความเป็นไปได้กับผลลัพธ์ ซึ่งจำต้องอาศัยรายละเอียดของข้อความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ซึ่งผลลัพธ์ว่า จะคุ้มครองหรือไม่?

 

2) การกระทำดังกล่าวของผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้โจทก์ถือเป็นอุบัติเหตุ อันเป็นเหตุการณ์ (occurrence) ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น อันจะทำให้ได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

บริษัทประกันภัยจำเลยกล่าวอ้างว่า ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ เพราะผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้โจทก์ได้กระทำด้วยความจงใจ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้โจทก์โต้แย้งว่า เกิดความสำคัญผิดโดยเชื่อด้วยความสุจริตใจว่า เพื่อนบ้านผู้เสียหายไม่มีท่าทีปฏิเสธอย่างแข็งขัน เพียงร้องขอดูรายละเอียดก่อนเท่านั้น ทำให้มีเหตุผลเข้าใจโดยนัยว่า สามารถกระทำได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ศาลเห็นว่า กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องล้วนมุ่งเน้นไปที่การกระทำโดยเจตนา เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาเรื่องการบุกรุก (trespass) กับการก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ (nuisance) เท่านั้น

 

การกระทำดังกล่าวของผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้โจทก์จึงถือเป็นอุบัติเหตุ และไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

3) หากจะได้รับความคุ้มครอง ก็ยังจะตกอยู่ในข้อยกเว้นความเสียหายต่อทรัพย์สิน อันมีสาเหตุมาจากการทรุดตัว (subsidence) หรือการเคลื่อนตัว (movement) ของดิน แผ่นดิน ฐานราก หรือพื้นดิน ไม่ว่าจะเกิดมาจากภัยธรรมชาติ การกระทำของมนุษย์ (manmade) หรือด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตาม

 

บริษัทประกันภัยจำเลยกล่าวอ้างว่า การขนย้ายดินของผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้โจทก์ออกไปจากพื้นที่ของเพื่อนบ้าน ตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้แล้ว

 

ผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้โจทก์โต้แย้งว่า ข้อยกเว้นนี้ควรใช้บังคับแก่กรณีเป็นการกระทำโดยไม่ตั้งใจมากกว่า

 

ขณะที่ศาลเห็นว่า ข้อยกเว้นนี้ไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่า จะเป็นการตั้งใจกระทำหรือไม่? ฉะนั้น ถือเป็นข้อความที่กำกวม เพราะอาจแปลความหมายได้หลายนัย

 

นอกจากนี้ ศาลไม่เข้าใจข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้เอาประกันภัยเจ้าของโครงการนี้โจทก์ เสมือนหนึ่งกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทควรคุ้มครองการตัดต้นไม้ แต่ไม่ควรคุ้มครองการขุด และการเคลื่อนย้ายดิน

 

สำหรับคดีนี้ ศาลจึงตัดสินว่า บริษัทประกันภัยจำเลยมีหน้าที่ในการต่อสู้คดี (duty to defend)

 

ส่วนเรื่องหน้าที่ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (duty to indemnify) นั้น ให้คู่ความทั้งสองไปนำสืบพยานหลักฐานหาข้อยุติกันต่อไป

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Partington Builders, LLC v. Nautilus Ins. Co., 2023 U.S. Dist.)

 

หมายเหตุ

 

แม้เป็นเพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ก็มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ สามารถนำไปปรับใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) และเทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาของประเทศไทยดังต่อไปนี้ ก็น่าจะได้นะครับ อาจเก่าไปนิด แต่ปัจจุบันยังเห็นใช้อ้างอิงกันอยู่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2500

 

ในทางแพ่ง ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน และให้เวลาพอสมควรแล้ว จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้

 

ส่วนในทางอาญา ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่อง ๆไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่ว ๆ ไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เท่านั้น

 

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2501)

 

(สืบค้นมาจาก http://deka.supremecourt.or.th/search ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง)

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น