เรื่องที่ 217 : การนับจำนวนครั้งของเหตุแห่งความเสียหาย (Number of Losses) เป็นเรื่องชวนปวดหัวโดยแท้?
เราจะพบเห็นบ่อยครั้งถึงถ้อยคำที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ เรื่องจำนวนครั้งของเหตุแห่งความเสียหาย เป็นต้นว่า
ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง (each accident)
ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง (each event/occurrence)
ต่อความเสียหายแต่ละครั้ง (each loss)
ซึ่งจะมีผลใช้บังคับแก่วงเงินความคุ้มครอง (covered limit) และ/หรือค่าเสียหายส่วนแรก (deductible) หรือค่าความรับผิดส่วนแรก (excess) ก็ได้
สิ่งที่เขียนไว้ไม่ใช่ถ้อยคำที่เลื่อนลอย สามารถส่งผลกระทบแก่เงื่อนไขความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยได้อย่างชัดเจน
แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน และชวนปวดหัว ก็คือ ในทางปฏิบัติ เราจะนับจำนวนครั้งดังกล่าวเช่นว่านั้นกันอย่างไรต่างหาก?
ลองมาพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้ดูนะครับ
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1979 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นสองครั้งที่อาคารโรงเรียนสองหลัง ดังนี้
1) ประมาณเวลา 05.43 น. เกิดไฟไหม้อาคารโรงเรียนระดับประถม
2) ประมาณเวลา 07.29 น. เกิดไฟไหม้อาคารโรงเรียนระดับมัธยม
อาคารโรงเรียนทั้งสองแห่งตั้งอยู่ห่างกันหลายช่วงตึก ทั้งมีเลขที่อยู่ต่างกัน แม้จะมีเจ้าของรายเดียวกันก็ตาม
ผลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ พบหลักฐานเชื่อถือได้ว่า ต้นเหตุไฟไหม้ทั้งสองครั้งนั้นเกิดมาจากการลอบวางเพลิงของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเดียวกัน
ด้วยความที่เจ้าของโรงเรียนได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองอาคารโรงเรียน และทรัพย์สินที่มีอยู่ทุกแห่งเอาไว้แล้ว จึงได้แจ้งต่อบริษัทประกันภัยของตนให้มาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งต่างเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองก็ตาม แต่คงยังมีประเด็นข้อโต้แย้งระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเพียงประเด็นเดียว คือ
ไฟไหม้ทั้งสองครั้งนั้น ควรถือเป็นกี่เหตุการณ์กันแน่?
ฝ่ายผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ โดยมองจากต้นเหตุที่มาจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเดียวกัน (Cause Theory) เป็นเกณฑ์ เพื่อประโยชน์ที่จะไม่ต้องถูกหักค่าเสียหายส่วนแรกสองครั้ง ๆ ละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยมองว่า ควรถือเป็นสองเหตุการณ์มากกว่า เพราะเหตุไฟไหม้ทั้งสองครั้งต่างเกิดขึ้นต่างระยะเวลา และต่างสถานที่กันด้วย ถึงแม้อาจปัจจัยความเชื่อมโยงระหว่างกันอยู่ก็ตาม โดยมองไปที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเกณฑ์สำคัญ (Effect Theory) กรณีนี้ ผู้เอาประกันภัยจะต้องถูกหักค่าเสียหายส่วนแรกสองครั้งรวม 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ
คุณเห็นด้วยกับฝ่ายใดครับ?
ครั้นทั้งสองฝ่ายไม่อาจหาข้อสรุปร่วมกันได้ คดีจึงถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดี
ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Goose Creek Consol. ISD v. Cont’l Cas. Co., 658 S.W.2d 338 (Tex. App. 1983))
หมายเหตุ
สนใจศึกษาเพิ่มเติม โปรดย้อนกลับไปอ่าน
เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?
เรื่องที่ 74: หลังคาอาคารพังถล่มลงมาสองจุดโดยทิ้งช่วงห่างกันไม่กี่วัน ถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) ครั้งเดียว หรือสองครั้ง?
เรื่องที่ 97: ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างหลายครั้ง กินเวลาหลายปี จะถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) เดียว หรือหลายเหตุการณ์ และจะเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง (Employee Dishonesty Insurance) ซึ่งต่ออายุมาตลอดได้กี่ฉบับ?
เรื่องที่ 99: รถยนต์หนึ่งคันเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีผู้ขับขี่หนึ่งกับผู้โดยสารอีกสี่ได้รับบาดเจ็บ นับได้เป็นกี่อุบัติเหตุ (Accident) กันแน่?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น