เรื่องที่ 216 : อาคารให้เช่า (Landlord’s Building) ถูกไฟไหม้ บริษัทประกันภัยของอาคารนั้นไล่เบี้ยเอาผิด (subrogation) กับผู้เช่าอาคาร (Tenant) ที่เป็นต้นเพลิงได้ไหม?
ต้นปี พ.ศ. 2561 ผมได้หยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศ ระหว่างผู้ให้เช่า ผู้เช่า และบริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารที่ให้เช่า มากล่าวถึงสองเรื่องด้วยกัน คือ
เรื่องที่ 60: ผู้เช่าบ้านทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเช่า หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองบ้านเช่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าบ้านได้หรือไม่?
และ
เรื่องที่ 61: ผู้เช่าส่วนหนึ่งของอาคารทำร้านอาหาร แล้วทำให้เกิดไฟไหม้อาคารที่เช่าทั้งหลัง หลังจากบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอาคารที่เช่านั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่า ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยของตนไปแล้ว สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าที่เป็นต้นเพลิงได้หรือไม่?
โดยมีข้อสรุปแนวคำพิพากษาขณะนั้นว่า แม้มิได้ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองอาคารที่เช่า ให้ผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วยก็ตาม แนวทางการตีความ ให้ถือผู้เช่าเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมโดยปริยาย (implied co-insured) บริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารที่ให้เช่านั้นไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาผิดกับผู้เช่าซึ่งเป็นต้นเพลิงได้ เว้นแต่จะได้มีการระบุเงื่อนไขสัญญาเช่าไว้เป็นอย่างอื่น
บัดนี้
ถึงคราวที่ได้มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการระบุเงื่อนไขสัญญาเช่าไว้เป็นอย่างอื่นเกิดขึ้นพอดี
ปี ค.ศ. 1964 ได้เกิดสัญญาเช่าลำดับแรก (superior lease) ระหว่างเจ้าของอาคาร และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดกับผู้เช่าลำดับแรก
ปลายปี ค.ศ. 1996 ผู้เช่าลำดับแรกได้ให้เช่าช่วงกับผู้เช่าลำดับที่สอง
ต่อมา ผู้เช่าลำดับที่สองได้โอนสิทธิการเช่าเฉพาะส่วนตัวอาคารให้แก่ HPE เป็นผู้เช่าลำดับที่สาม ซึ่งก็ได้แบ่งพื้นที่ชั้นล่างกับชั้นใต้ดินให้เช่าช่วงแก่ Prezzo เพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร
วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2016 ได้เกิดไฟไม้ขึ้น ณ ร้านอาหารนั้น และลุกลามไปไหม้ส่วนอื่นของตัวอาคารหลังนั้นด้วย
เนื่องด้วยภายใต้สัญญาเช่าตัวอาคารหลังนั้น ได้กำหนดให้ HPE ผู้เช่าลำดับที่สามจัดทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคารหลังนั้น เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของอาคารหลังนั้นด้วย
ครั้นเมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารหลังนั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ได้รับช่วงสิทธิจาก HPE มาไล่เบี้ยเอาผิดจาก Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้น
ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลชั้นต้น เพื่อพิจารณาว่า
1) การจัดทำประกันภัยคุ้มครองตัวอาคารหลังนั้นของ HPE ผู้เช่าลำดับที่สามได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตัวอาคารหลังนั้น โดยรวมถึงพื้นที่บางส่วนที่ปล่อยเช่าช่วงนั้นด้วยหรือเปล่า?
2) ถ้าใช่ การประกันภัยนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทั้ง HPE ผู้เช่าลำดับที่สามกับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้น อันจะส่งผลทำให้บริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารหลังนั้นไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้น ใช่หรือไม่?
ศาลชั้นต้นในคดีนี้ได้วิเคราะห์ถ้อยคำในสัญญาเช่าระหว่าง HPE ผู้เช่าลำดับที่สามกับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้นแล้ว พบว่า มีการกำหนดคำนิยามโดยเฉพาะเจาะจงที่แตกต่างกันระหว่างตัวอาคาร (building) กับพื้นที่ (premise)
ฉะนั้น ตัวอาคาร (building) มีความหมายเพียงถึงพื้นที่ส่วนที่ HPE ผู้เช่าลำดับที่สามครอบครองอยู่ ขณะที่พื้นที่ (premise) มีความหมายเฉพาะถึงบริเวณซึ่ง Prezzo ผู้เช่าช่วงได้ครอบครองอยู่เท่านั้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การประกันภัยนั้นจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทั้ง HPE ผู้เช่าลำดับที่สามกับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้นดังที่ Prezzo ผู้เช่าช่วงได้หยิบยกแนวคำพิพากษาศาลในคดีก่อนมาอ้างอิง และโต้แย้ง เพราะข้อความจริงของคดีนี้ได้มีการเขียนเงื่อนไขสัญญาเช่าเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ
ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้บริษัทผู้รับประกันภัยตัวอาคารหลังนั้นใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับ Prezzo ผู้เช่าช่วงพื้นที่บางส่วนของตัวอาคารหลังนั้นได้
คดีนี้ถือเป็นอันสิ้นสุด เนื่องด้วยศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ของผู้เช่าช่วงนั้น
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Prezzo Ltd v High Point Estates Ltd [2018] EWHC 1851 (TCC))
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น