เรื่องที่ 215: พฤติกรรมของผู้เช่า/ผู้เช่าช่วงจะส่งผลทำให้ความเสี่ยงภัยของอาคารที่เช่าเปลี่ยนแปลงถึงขนาดถูกระงับความคุ้มครอง (Materail Change in Risk) หรือไม่?
ประเด็นการผิดเงื่อนไขจนถึงขนาดทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับสิ้นสุดความคุ้มครองทันที เป็นกรณีที่ส่วนตัวพยายามเอ่ยถึงความรุนแรงของเงื่อนไขนี้ทุกครั้งเท่าที่มีโอกาส แต่น่าเสียดายที่กลับถูกมองข้าม ถูกละเลย หรือไม่ได้ให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง ก็ไม่ละความพยายามดอกครับ จะพยายามหยิบยกมาพูดตามแต่โอกาสจะอำนวยต่อไปเรื่อย ๆ
อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องความคุ้มครองกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยมากกว่าก็เป็นได้ หารู้ไม่ยังมีกรณีร้ายแรงมากกว่านั้นแอบแฝงอยู่ในส่วนที่เป็นเงื่อนไขอีก
เงื่อนไขนี้จะพบได้อยู่ในข้อที่ 9 ว่าด้วยการระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน โดยระบุว่า
"ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เป็นอันระงับไปทันทีเมื่อ
9.1 มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการค้า การผลิต หรือลักษณะการใช้สถานที่
หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบต่ออาคาร หรือสถานที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
และทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น
9.2 สิ่งปลูกสร้างซึ่งเอาประกันภัย หรือสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตก
อยู่ในสภาพไม่มีผู้อยู่อาศัย หรือไม่มีผู้ดูแลรักษา และยังคงอยู่ในสภาพนั้นเป็นเวลาเกินกว่า
30 วันติดต่อกัน
9.3
มีการโยกย้ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไปยังอาคาร
หรือสถานที่อื่นใด นอกจากสถานที่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
9.4 ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัย
โดยวิธีอื่น นอกจากทางพินัยกรรม หรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
9.5 ผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยเมื่อพ้นกำหนด
60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาเอาประกันภัย โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โดยบริษัทจะต้องเคยมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยก่อนวันครบกำหนดดังกล่าวไม่น้อยกว่า
7 วัน
ข้อ 9.1 ถึง 9.4 จะได้รับความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยได้แจ้งให้บริษัททราบก่อนเกิดความเสียหายขึ้น
และบริษัทตกลงยินยอมรับประกันภัยต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะออกใบสลักหลังแนบท้ายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้"
หรืออาจเป็นคราวโชคดีของผู้เอาประกันภัยในบ้านเราที่มีประเด็นข้อพิพาทของเงื่อนไขข้างต้นให้พบเห็นค่อนข้างน้อย
ที่ต่างประเทศอาจไม่มีโชคเหมือนกับเรา ทำให้มีประเด็นข้อพิพาทนี้บ่อยครั้ง ดังเช่นตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้
ในปี ค.ศ. 2008 ผู้เอาประกันภัยได้ซื้ออาคารพาณิชย์ล็อตหนึ่งมาปล่อยให้เช่าแก่ผู้เช่าหลายราย พร้อมกับได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิด (Property All Risks Insurance Policy) คุ้มครองตัวอาคารกับทรัพย์สินที่ติดตั้งอยู่ภายใน และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจนถึงปีที่เกิดเหตุ ค.ศ. 2016
ปี ค.ศ. 2012 มีผู้เช่ารายหนึ่งได้ปล่อยเช่าช่วงคูหาของตนให้แก่ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์ โดยมีการชำระค่าเช่าล่วงหน้าโดยตรงแก่ผู้ให้เช่าด้วย แต่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรกันแต่ประการใด
ตลอดช่วงระยะเวลาที่เช่า ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์นั้นได้ขยายตัวเติบโตอย่างมาก มีสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น และจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงงานเลี้ยงรื่นเริงกันอยูบ่อยครั้ง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อชมรมใหม่โดยไม่ทราบเหตุผล
ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ผู้ให้เช่าได้เดินตรวจตราดูคูหาห้องเช่าต่าง ๆ พบว่า ล้วนอยู่ในสภาพปกติเรียบร้อยดี
ครั้นวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2016 ได้เกิดไฟไหม้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่อาคารให้เช่า
ผลการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐ สันนิษฐานว่า เกิดจากการลอบวางเพลิง เพราะตรวจพบภาชนะบรรจุสารไวไฟแปลกปลอมอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ใดถูกกล่าวโทษ หรือถูกควบคุมตัวไว้
ผู้เอาประกันภัยเจ้าของอาคารให้เช่าจึงแจ้งเหตุต่อบริษัทประกันภัยของตน เพื่อให้มารับผิดชดใช้ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นแก่ตน
ภายหลังจากฝ่ายสินไหมของบริษัทประกันภัยรายนั้นได้มาตรวจสอบเหตุการณ์ และประเมินมูลค่าความเสียหาย
วันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 ฝ่ายสินไหมได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดอย่างเป็นทางการถึงผู้เอาประกันภัย โดยกล่าวอ้างดังนี้
(1) ผู้เอาประกันภัยมิได้เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสภาพสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจนถึงขนาดทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น (material change in risk) ด้วยการปล่อยให้เช่าสถานที่นั้นแก่ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแก๊งมอเตอร์ไซค์นอกกฎหมายที่รู้จักดีในชื่อ “Hells Angels” และ
(2) ผู้เอาประกันภัยมิได้แจ้งรายละเอียดของการให้เช่าช่วงต่าง ๆ ให้แก่บริษัทประกันภัยนั้นได้รับทราบล่วงหน้า
ผู้เอาประกันภัยจึงยื่นฟ้องเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรายนั้นให้รับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ
ก่อให้เกิดสองประเด็นข้อพิพาทแก่ศาลชั้นต้นในการพิจารณาวินิจฉัยคดี ดังนี้
1) การให้เช่าช่วงแก่ชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์ดังกล่าวถือเป็นการทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นหรือไม่?
2) การที่ผู้เอาประกันภัยไม่รีบดำเนินการสร้างอาคารที่เอาประกันภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยไวตามเงื่อนไขเวลา จะส่งผลทำให้เพียงได้รับการชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) คือ 406,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 9,977,693.60 บาท) หรือได้รับชดใช้ตามมูลค่าทดแทนใหม่ (New Replacement Value) เท่ากับ 640,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 15,728,384 บาท)?
ประเด็นแรก
ปี ค.ศ. 2012 ที่มีชมรมนักบิดรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาเช่าช่วงเป็นปีแรกนั้น ฝ่ายรับประกันภัยของบริษัทประกันภัยรายนั้นเองเคยมาสำรวจภัย แต่ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลใดเลย กลับพิจารณาต่ออายุความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยเช่นเดิมทุกปีเรื่อยมา
ทางฝ่ายสินไหมเองยอมรับข้อมูลพฤติกรรมของผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้นได้มาจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีข้อมูลการติดต่อการปฏิสัมพันธ์กับแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์อยู่บ้าง
เช่นเดียวกับพยานฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงเบิกความว่า ผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้นได้เชิญชวนสมาชิกแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์เข้ามาร่วมงานรื่นเริงด้วยเป็นครั้งคราว และได้นำสินค้าของแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์มาจำหน่ายในชมรมของตนด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏพบพยานหลักฐานชัดเจนใด ๆ ถึงการร่วมกระทำผิดกฎหมายกับแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์แต่ประการใด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้พบเห็นข้อมูลข่าวสารเรื่องพฤติกรรมไม่ดีของแก๊งเฮลส์แอนเจิลส์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนที่เชื่อมโยงกับผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้ว่า ผู้เช่าช่วงรายที่เป็นประเด็นนั้นได้ก่อให้เกิดการทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นแก่สถานที่เอาประกันภัยนั้นเช่นใด
ประเด็นที่สอง
แม้นตามเงื่อนไขความคุ้มครอง จำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจะเป็นมูลค่าที่แท้จริง แต่เมื่อฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์โต้แย้งตามเจตนารมณ์ของตนควรเป็นมูลค่าทดแทนใหม่มากกว่า และฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ได้คัดค้านกลับไปหยิบยกเรื่องเงื่อนเวลาการกลับคืนสู่สภาพเดิมในเวลาอันสมควรมาเป็นประเด็นแทน
พิพากษาให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามมูลค่าทดแทนใหม่ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท คือ 640,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 15,728,384 บาท)
ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังนี้
ประเด็นแรก
กรณีใดจะส่งผลถึงขนาดทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นนั้น จะต้องเป็นกรณีที่อยู่ในการรับรู้ และการควบคุมของผู้เอาประกันภัย
ทั้งจะต้องถึงขนาดส่งผลทำให้เมื่อบริษัทประกันภัยได้รับรู้แล้ว ไม่อาจให้ความคุ้มครองได้อีกต่อไป
แต่พยานหลักฐานของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยกลับไม่ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงความเชื่อมโยงดังที่กล่าวอ้างให้ศาลอุทธรณ์รับฟังเชื่อถือเช่นว่านั้นได้เลย
ประเด็นที่สอง
ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยพยายามอ้างว่า อันที่จริง มูลค่าสร้างใหม่ทดแทนนั้นควรเท่ากับ 812,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 19,955,387.20 บาท) และเชื่อว่า แม้นฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้รับชดใช้เต็มวงเงินเอาประกันภัย 640,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือเทียบเท่า 15,728,384 บาท) ก็คงไม่น่าจะสร้างใหม่ให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขเวลาได้จริงนั้น เพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอ ฉะนั้น ควรได้รับการชดใช้ตามมูลค่าที่แท้จริง แต่กลับไม่ได้แสดงพยานหลักฐานชัดเจนประกอบมาหักล้างคำพูดของฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ที่ว่า เมื่อได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนแล้ว พร้อมลงมือได้เลย
ศาลอุทธรณ์ไม่อาจรับฟังได้ และตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Wynward Insurance Group v Smith Building and Development Ltd., 2023 SKCA 57 (CanLII))
หมายเหตุ
กรณีทำนองเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นที่บ้านเราก็ได้ ผู้ให้เช่าไม่อาจรับรู้ได้ว่า ผู้เช่าใช้สถานที่เช่าในลักษณะเช่นใดบ้าง? และ
ถ้าเกิดมีประเด็นข้อพิพาทลักษณะนี้เกิดขึ้น
จะต้องอาศัยศาลท่านเป็นที่พึ่งสุดท้าย? หรือ
มีทางเลือกที่ดีกว่านั้นไหม?
ขอให้ลองกลับไปอ่านทบทวนย่อหน้าท้ายของเงื่อนไข ข้อที่ 9 ข้างต้นได้เลยครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น