เรื่องที่ 219 : รถปั้นจั่นเคลื่อนที่ (Mobile Crane) ถือเป็นงานชั่วคราว (Temparary Works) หรือเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง (Construction Plant) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) กันแน่?
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 ผู้เอาประกันภัยเจ้าของให้เช่าอุปกรณ์ปั้นจั่น (cranes) ที่ใช้ในการก่อสร้างแห่งหนึ่งได้ตกลงทำกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy (CAR/EAR)) กับบริษัทประกันภัยรายหนึ่ง
ณ เวลาที่ตกลงจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายได้รับรู้ และเข้าใจร่วมกันถึงลักษณะกระบวนการทำงานของผู้เอาประกันภัยรายนี้ ทั้งได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรแนบไว้กับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทอีกด้วย ดังนี้
ก) ประกอบธุรกิจให้เช่าปั้นจั่นหอสูง (tower cranes) เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ข) โดยจะนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปั้นจั่นหอสูงขนส่งไปบนรถบรรทุกกึ่งพ่วง (semi-trailer trucks) จนถึงสถานที่ก่อสร้างจุดหมายปลายทาง จากนั้นจะประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นปั้นจั่นหอสูงเพื่อใช้งาน ครั้นเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ก็จะถอดแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นออกจากกัน ขนขึ้นรถบรรทุกกึ่งพ่วงกลับมายังสถานที่จัดเก็บของผู้เอาประกันภัยรายนี้ดังเดิม
ค) ในการดำเนินการขั้นตอนประกอบ และถอดแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปั้นจั่นหอสูงนั้น จำต้องอาศัยรถปั้นจั่นไฮดรอลิกเคลื่อนที่ (hydraulic mobile cranes) ของผู้เอาประกันภัยรายนี้เองเข้ามาช่วยด้วย
ง) โดยที่รถปั้นจั่นไฮดรอลิกเคลื่อนที่นั้นจะแยกกันมากับการขนส่งชิ้นส่วนของปั้นจั่นหอสูง
ทั้งนี้ ข้อตกลงคุ้มครองพิเศษของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทได้เขียนเพิ่มเติมพอสรุปใจความได้ว่า
คุ้มครองถึงงานตามสัญญาทั้งหลายของผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้กำหนดให้คุ้มครองเป็นพิเศษโดยเฉพาะ นับแต่วันที่เริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ดังนี้
ต่อรถปั้นจั่นเคลื่อนที่ ปั้นจั่นหอสูง ลิฟท์ขนคน/สินค้าที่ใช้ในงานก่อสร้าง ทั้งขาไป และขากลับ ซึ่งทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย หรือเป็นของบุคคลอื่นซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
โดยมีวงเงินความคุ้มครองสูงสุดในส่วนนี้อยู่ที่ 2,000,000 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือประมาณ 3,790,920 บาท) และมีค่าเสียหายส่วนแรกอยู่ที่ 10,000 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือประมาณ 18,954.60 บาท)
ขณะที่ข้อตกลงคุ้มครองหลักพื้นฐานของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทได้ระบุว่า
บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสียทางกายภาพต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ดังนี้
(ก) ขณะที่อยู่ในช่วงการขนส่ง รวมทั้งการขนขึ้นกับการขนลง หรือขณะที่จัดเก็บอยู่ในสถานที่แห่งใดระหว่างทางไปสู่ หรือมาจากสถานที่ก่อสร้าง ภายในอาณาเขตความคุ้มครอง
(ข) นับแต่เวลาที่ขนลง ณ สถานที่ก่อสร้าง และตลอดไปจนกว่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นจะได้ถูกรับมอบเป็นทางการจากผู้ว่าจ้างเรียบร้อยแล้วด้วยหนังสือรับรองการแล้วเสร็จของงาน (notice of completion certificate) หรือหลักฐานทางกฎหมายอย่างอื่น
ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น คือ
งานถาวร (Permanent works) ตามสัญญาว่าจ้าง (รวมถึงวัสดุ หรือสิ่งของที่จัดหามาให้โดยผู้ว่าจ้าง ถ้ามี) รวมทั้งงานชั่วคราว (Temporary works) ตลอดจนวัสดุทั้งหลายที่ประกอบขึ้นมาเป็นงานเหล่านั้นด้วย
งานชั่วคราว (Temporary works) นั้นจะหมายความรวมถึงอุปกรณ์ สิ่งก่อสร้าง หรืองานต่าง ๆ ที่ใช้ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามสัญญาว่าจ้างให้แล้วเสร็จลงได้ (แต่ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของงานถาวร) โดยไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะถูกนำไปใช้งานอีก (reuse) หรือจะถูกเคลื่อนย้ายออกไป นอกเหนือจากในลักษณะเป็นเศษซากทรัพย์ ซึ่งได้รวมมูลค่าอยู่ในราคาค่าก่อสร้างทั้งหมดตามสัญญาว่าจ้างแล้ว โดยไม่ได้รวมถึงโรงงาน/เครื่องจักรกลแบบเคลื่อนย้ายได้ (mobile plant) แต่ประการใด
อนึ่ง ในข้อยกเว้นข้อหนึ่งยังได้เขียนว่า บริษัทประกันภัยจะไม่รับผิด สำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อโรงงาน/เครื่องจักรกล (plant) เครื่องมือ (tools) หรืออุปกรณ์ (equipment) ที่ใช้ในการก่อสร้าง (นอกเหนือจากโรงงาน/เครื่องจักรกล (plant) ที่ได้กำหนดเป็นงานชั่วคราวไว้ในที่นี้)
ต่อมาวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2012 ระหว่างการทำงาน ณ สถานที่ก่อสร้าง รถปั้นจั่นไฮดรอลิกเคลื่อนที่นั้นได้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำลงได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 990,000 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือประมาณ 1,876,505.40 บาท)
ภายหลังได้เกิดเป็นคดีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล เนื่องจากคู่ความทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน
ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยอ้างถึงว่า ได้ปรากฏมีการขยายความคุ้มครองเป็นพิเศษเพิ่มเติมแก่รถปั้นจั่นเคลื่อนที่ ปั้นจั่นหอสูงที่ใช้ในงานก่อสร้าง ทั้งขาไป และขากลับไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังอยู่ในความหมายของงานชั่วคราวอีกด้วย
ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยกลับตอบโต้ว่า ข้อความที่เขียนเช่นนั้นแปลความหมายได้เพียงเฉพาะจะให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมแก่รถปั้นจั่นเคลื่อนที่ ปั้นจั่นหอสูงนั้นระหว่างที่อยู่ในช่วงการขนส่งทั้งขาไปกับขากลับ และระหว่างช่วงเวลาที่จัดเก็บอยู่ในสถานที่แห่งใดระหว่างทางไปสู่ หรือมาจากสถานที่ก่อสร้างเท่านั้น
พูดสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่คุ้มครองช่วงระหว่างที่อยู่ ณ สถานที่ก่อสร้างนั่นเอง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวตกอยู่ในข้อยกเว้นซึ่งไม่ได้ให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อโรงงาน/เครื่องจักรกล (plant) เครื่องมือ (tools) หรืออุปกรณ์ (equipment) ที่ใช้ในการก่อสร้าง และไม่เข้าข่ายของงานชั่วคราว แต่เข้าข่ายเป็นโรงงาน/เครื่องจักรกลแบบเคลื่อนย้ายได้ (mobile plant) มากกว่า
ศาลสูงได้พิจารณาประเด็นข้อพิพาทของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ให้ความเห็น ดังนี้
รูปแบบความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทมีลักษณะเป็นการประกันภัยทรัพย์สินบวกด้วยการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ซึ่งไม่ได้มีคำนิยามของงานถาวรกับงานชั่วคราวกำกับไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติทั่วไป ก็ไม่ได้จัดเป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานสำเร็จรูปที่แน่นอนตายตัว อาจมีการตกลงเป็นพิเศษระหว่างคู่สัญญาประกันภัย เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อความไปตามความประสงค์ หรือตามความต้องการของตลาดประกันภัย แล้วแต่กรณีก็ได้
อย่างไรก็ดี หากมีข้อขัดแย้งในการแปลความหมาย ศาลสูงเห็นว่า
1) ทุกสัญญาประกันภัยควรแปลความหมายให้สอดคล้องกับเงื่อนไขข้อกำหนดทั้งหลายที่เขียนไว้
2) เมื่อข้อตกลงพิเศษใด (หรือการแปลความหมายของข้อตกลงพิเศษใด) มีความขัดแย้งกับจุดประสงค์พื้นฐานหลักของสัญญาประกันภัย ข้อตกลงพิเศษนั้นจะไม่อาจนำมาใช้บังคับได้
3) เมื่อข้อตกลงพิเศษใดอาจแปลความหมายได้แตกต่างกันหลายนัย ให้ยึดถือนัยที่สมเหตุสมผลมากที่สุดเป็นเกณฑ์พิจารณา
4) สัญญาประกันภัยฉบับใดซึ่งปรากฏมีความแตกต่างกันระหว่างเงื่อนไขข้อกำหนดมาตรฐานปกติกับเงื่อนไขข้อกำหนดพิเศษ ให้ยึดถือเงื่อนไขข้อกำหนดพิเศษเป็นเกณฑ์พิจารณา
ฉะนั้น ครั้นพิจารณาถึงรูปลักษณะการใช้งานของรถปั้นจั่นเคลื่อนที่แล้ว จะเข้าข่ายเป็นเครื่องจักรกล หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างมากกว่า เพราะสามารถนำไปใช้งานใหม่ได้อีก อันไม่ใช่ลักษณะของงานชั่วคราวดังที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้าง และตกอยู่ในข้อยกเว้นพื้นฐานปกติของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงการขนส่ง หรือช่วงการจัดเก็บ หรือช่วงใดก็ตาม
แต่เมื่อฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยเองได้แปลความหมายของข้อตกลงพิเศษของความคุ้มครองต่อรถปั้นจั่นเคลื่อนที่นั้น โดยยอมรับผิดบางส่วน คือ ให้จำกัดอยู่เพียงแค่ช่วงการขนส่งกับช่วงการจัดเก็บเท่านั้น จึงไม่สมเหตุผลตามแนวทางการแปลความดังกล่าวข้างต้น ควรยกประโยชน์ในการแปลความหมายที่คลุมเครือนี้ให้แก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยซึ่งไม่ได้เป็นผู้ร่างถ้อยคำเช่นว่านั้น
ตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนะคดีนี้ด้วยการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้อง
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Mechanised Equipment Sales (PTY) Limited v. Lion of Africa Insurance Company Limited, 32874/2013)
หมายเหตุ
นับเป็นอุทธาหรณ์ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง แม้นจะมีเงื่อนไขข้อกำหนดที่อาจแตกต่างจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างฉบับมาตรฐานของไทยอยู่บ้าง แต่ประเด็นพึงพิจารณา ทุกวันนี้ แทบไม่อาจเรียกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานเป็นข้อตกลงสำเร็จรูปได้อีกต่อไปแล้ว เพราะจะมีข้อตกลงพิเศษต่าง ๆ อย่างหลากหลายให้เลือกติดแนบได้ตามประสงค์ ถึงจะมีข้อความสำเร็จรูปที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เถอะ แนบเข้าไปแล้ว อาจขัดแย้ง หรือหักล้างกับเงื่อนไขข้อกำหนดมาตรฐานได้ง่าย ๆ แถมชวนปวดหัวในการแปลความหมายได้อีกด้วยนะครับ พึงระวัง
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น