วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 210 : การมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมหลายราย (Co-insureds) อาจไม่ได้หมายความว่า ทุกรายจะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันเสมอไป?

 

(ตอนที่สอง)

 

ตัวอย่างคดีศึกษานี้ได้ต่อสู้กันจนขึ้นไปถึงชั้นศาลอุทธรณ์ โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญ พอสรุปได้ ดังนี้

 

1) ประเด็นว่าด้วยผู้เอาประกันภัยร่วม (co-insured)

 

2) ประเด็นว่าด้วยสิทธิในการรับช่วงสิทธิ (subrogation right)

 

) ศาลชั้นต้น

 

ประเด็นแรก ในการพินิจพิเคราะห์จำต้องอาศัยหนังสือแสดงเจตน์จำนง (letter of intent) กับสัญญาว่าจ้างงาน (contract works) และกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทของคู่กรณีมาร่วมพิจารณาประกอบกันกับหลักกฎหมายว่าด้วยตัวการกับตัวแทน ซึ่งจะต้องเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายดังต่อไปนี้เสียก่อนเป็นลำดับแรก

 

1.1) RFU เจ้าของโครงการมีอำนาจในการจัดทำประกันภัยเผื่อให้ในนามของ FM Conway ผู้รับเหมาหลักหรือไม่?

 

1.2) RFU เจ้าของโครงการมีเจตนาในการจัดทำประกันภัยเผื่อให้ในนามของ FM Conway ผู้รับเหมาหลักหรือไม่?

 

1.3) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทไม่ได้ส่งผลทำให้ FM Conway ผู้รับเหมาหลักมิได้รับความคุ้มครองหรือเปล่า?

 

สำหรับสองข้อแรก คู่สัญญาว่าจ้างตกลงให้ยึดถือสัญญาก่อสร้างมาตรฐาน แบบทางเลือก ข้อ ค (Joint Contracts Tribunal: JCT Standard Building Contract Option C) สำหรับงานปรับปรุงโครงสร้างเดิมเป็นเกณฑ์ โดยมีหลักเกณฑ์ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาเอง และให้ผู้รับเหมาหลักเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย (joint named insured) ซึ่งได้มีการกำหนดคำนิยามของผู้เอาประกันภัยร่วมในที่นี้กำกับไว้เป็นพิเศษ หมายความถึง “กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งรวมทั้งผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยแบบรวม (composite insured) โดยที่ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อรายใด …….

 

ฉะนั้น หลีกเลี่ยงที่จำต้องไปทำความเข้าใจถึงรูปแบบของการประกันภัยร่วม ซึ่งมีอยู่สองรูปแบบด้วยกัน กล่าวคือ

 

(1) กรมธรรม์ประกันภัยแบบควบ (Joint Policy) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายอย่างเดียวกันหลายคนต่อวัตถุที่เอาประกันภัยเดียวกัน ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน โดยทุกอย่างถือรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

 

(2) กรมธรรม์ประกันภัยแบบรวม (Composite Policy) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายที่แตกต่างกันหลายคนต่อวัตถุที่เอาประกันภัยเดียวกัน ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน โดยมีความแตกต่างกันทั้งแง่ของสิทธิ และข้อผูกพัน การกระทำผิดของคู่สัญญาประกันภัยฝ่ายหนึ่งจะไม่ส่งผลกระทบแก่อีกฝ่ายหนึ่ง นั่นหมายความถึง ในโครงการก่อสร้าง หากผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักกระทำผิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ว่าจ้าง/เจ้าของโครงการ

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว แม้คำตอบของสองข้อแรก คือ ใช่ แต่สิทธิกับหน้าที่ที่จะได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทมีความไม่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับหลักกฎหมายว่าด้วยตัวการกับตัวแทน

 

อีกทั้งตัวกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทเองยังระบุโดยชัดแจ้งไม่คุ้มครองถึงข้อบกพร่องในการออกแบบ แบบแปลน การกำหนดรายละเอียด วัสดุ หรือฝีมือแรงงานของผู้รับเหมา (ข้อยกเว้น DE3) ส่งผลทำให้คำตอบของข้อที่สามออกมาเป็นลบ

 

ข้อโต้แย้งของฝ่ายผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักที่ตนควรได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันทุกอย่างในสถานะผู้เอาประกันภัยร่วมนั้น จึงคลาดเคลื่อน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารใด ๆ มายืนยันสนับสนุนได้เลย

 

ส่วนประเด็นข้อที่สองว่าด้วยสิทธิในการรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนบางส่วนอันได้รับความคุ้มครองให้แก่ฝ่ายผู้ว่าจ้าง/เจ้าของโครงการไปแล้ว ในรูปแบบของผู้เอาประกันภัยรวม (composite insured) นั้น บริษัทประกันภัยมีสิทธิจะกระทำได้

 

ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้ฝ่ายผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักรับผิดตามฟ้อง

 

ฝ่ายผู้รับจ้าง/ผู้รับเหมาหลักยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

) ศาลชั้นอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นพ้องกับคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี FM Conway Limited (Appellant) v The Rugby Football Union, Royal & Sun Alliance Insurance PLC and Clark Smith Partnership Limited (Respondents) [2023] EWCA Civ 418)

 

หมายเหตุ

 

การทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างสองรูปแบบของการประกันภัยร่วมข้างต้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคำกล่าวกว้าง ๆ ลอย ๆ อาจสร้างปัญหาภายหลังเสมือนดั่งตัวอย่างคดีศึกษานี้ได้

 

จริงอยู่ บางครั้งอาจพบการเขียนข้อสละสิทธิไล่เบี้ยอย่างชัดแจ้งไว้ในบางเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยก็ตามที แต่ก็ควรไปอ่านวิเคราะห์ให้ดีถึงขอบเขตของถ้อยคำเช่นว่านั้นด้วย

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 210 : การมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมหลายราย (Co-insureds) อาจไม่ได้หมายความว่า ทุกรายจะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันเสมอไป?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เคยเขียนบทความเรื่องที่ 36 : กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว มีผู้เอาประกันภัยหลายคน (Multi-Insureds) ดีหรือไม่? นานมาพอสมควรแล้ว และมีบทความที่เกี่ยวเนื่องอีก ถ้าสนใจลองกลับไปค้นหาอ่านทบทวนดูก็ได้นะครับ

 

เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ควรค่าแก่ความสนใจเช่นกันครับ

 

ปกติทั่วไป เรามักจะพบเห็นการระบุชื่อผู้เอาประกันภัยหลายรายไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรือบางครั้งอาจเรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy : CAR/EAR) เนื่องด้วยจะมีผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้เข้ามาเกี่ยวข้องหลายราย อย่างน้อย ได้แก่ ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง (หรือผู้รับเหมา) ล่ะ

 

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป มักสำคัญว่า ผู้เอาประกันภัยทุกรายควรได้รับสิทธิคุ้มครองเท่าเทียมกัน และหากกระทำผิดต่อกันแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างกันได้ เหมือนดั่งเช่นในตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้ ลองมาดูกันสิจะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่?

 

ย้อนหลังกลับไปปี ค.ศ. 2012 สามปีก่อนหน้าที่ประเทศอังกฤษจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ได้มีการวางแผนดำเนินการปรับปรุงสนามที่มีอยู่เดิมเพื่อจะใช้ในการแข่งขัน โดยสมาพันธ์รักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ (English Rugby Football Union (RFU)) ซึ่งเป็นเจ้าภาพ และเจ้าของโครงการได้ว่าจ้างบริษัท CSP ให้ทำการออกแบบระบบท่อร้อยสายไฟฟ้าแรงสูงใหม่ทั่วทั้งสนามแข่งขัน และยังได้ว่าจ้างบริษัท FM Conway ในสถานะผู้รับเหมาหลัก ให้ทำการวางระบบบริการโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการวางท่อสายส่ง (ductwork) ใต้ดินด้วย

 

สัญญาว่าจ้างระหว่าง RFU เจ้าของโครงการกับ FM Conway ผู้รับเหมาหลักได้มีข้อตกลงกันว่า ให้เป็นไปตามสัญญาก่อสร้างฉบับมาตรฐานของคณะกรรมการร่วมเพื่อวินิจฉัย และกำหนดมาตรฐานสัญญาก่อสร้าง แบบทางเลือก ข้อ ค (Joint Contracts Tribunal: JCT Standard Building Contract Option C) สำหรับงานปรับปรุงโครงสร้างเดิม โดยมีหลักเกณฑ์ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาเอง และให้ผู้รับเหมาหลักเข้ามาเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย (joint named insured) ฉะนั้น ผู้รับเหมาหลักจึงมิได้นำเอาค่าเบี้ยประกันภัยมาบวกอยู่ในมูลค่างานแต่ประการใด เพราะเข้าใจว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด ฉบับนี้สามารถให้ความคุ้มครองแก่ตนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว  

 

บริษัทประกันภัยผู้รับโอนความเสี่ยงภัยนี้จึงได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา โดยระบุชื่อทั้งเจ้าของโครงการกับผู้รับเหมาหลักเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมกันตามสิทธิ และส่วนได้เสียของตนที่มีอยู่ (for their respective rights and interests) พร้อมทั้งได้แนบเอกสารแนบท้ายว่าด้วยข้อยกเว้น DE3 ไม่คุ้มครองถึงการออกแบบ แบบแปลน การกำหนดรายละเอียด วัสดุ หรือฝีมือแรงงาน แต่คุ้มครองถึงความเสียหายสืบเนื่องมาจากกรณีดังกล่าว

 

ต่อมาระหว่างการดำเนินงาน ได้ตรวจพบน้ำ และเศษซากหลุดเล็ดรอดเข้าไปอยู่ในท่อสายส่ง ส่งผลทำให้เวลาทำการดึงร้อยสายส่ง สร้างความเสียหายให้แก่สายส่งเหล่านั้นด้วย

 

เจ้าของโครงการในสถานะหนึ่งในผู้เอาประกันภัยร่วมจึงเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยของตน โดยแจกแจงเป็นมูลค่าความเสียหายในส่วนของสายส่ง 3.3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 154,794,420 บาท) และค่าแก้ไขข้อบกพร่องของท่อสายส่งอีก 1.1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 51,598,140 บาท) รวมเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4.4 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 206,392,560 บาท)

 

บริษัทประกันภัยตกลงยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เฉพาะในส่วนของสายส่งเป็นจำนวนเงินรวม 3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่า 140,722,200 บาท) เท่านั้น เนื่องจากข้อบกพร่องในการออกแบบ และในฝีมือแรงงานนั้น ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ควรไปเรียกร้องเอากับบริษัท CSP ผู้ออกแบบ และบริษัท FM Conway ผู้รับเหมาหลักแทน

 

เจ้าของโครงการในสถานะหนึ่งในผู้เอาประกันภัยร่วมจึงนำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเรียกร้องให้บริษัท CSP ผู้ออกแบบ และบริษัท FM Conway ผู้รับเหมาหลักรับผิด

 

โดยเฉพาะรายหลังโต้แย้งว่า ตนเองมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้เอาประกันภัยร่วมไม่จำต้องรับผิด และได้รับความคุ้มครองอยู่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแล้ว ทั้งไม่อาจรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยแก่ตนได้อีก

 

คุณคิดเห็นเช่นไรครับ?

 

สัปดาห์หน้ามาดูผลทางคดีกันครับ ซึ่งได้ต่อสู้กันจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 209 : การยึดทรัพย์ (Seizure) ที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัย มีความหมายเช่นไรกันแน่?

 

บ่อยครั้ง เราอาจรู้สึกว่า เอกสารกรมธรรม์ประกันภัยมีการใช้ถ้อยคำค่อนข้างฟุ่มเฟือย

 

อ่านแล้ว ไม่แน่ใจว่า ควรแปลความหมายเช่นไรกันดี? หรือ

 

ถ้าปรากฏถ้อยคำใกล้เคียงกันหลายคำ ควรจะยึดถือ หรือแยกแยะอย่างไร?

 

การนัดหยุดงาน (strike) การจลาจล (riot) การลุกฮือของประชาชน (civil commotion) การกระทำโดยเจตนาร้าย (malicious act) การลักทรัพย์ (theft) การก่อการร้าย (terrorism) การก่อวินาศกรรม (sabotage) การแข็งข้อ (insurrection) ฯลฯ

 

นี่คือตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น แถมไม่ปรากฏคำจำกัดความเขียนกำกับไว้อีก หรือต่อให้กำกับไว้ ก็อาจมีปัญหาข้อพิพาทในการตีความอยู่ดี

  

ดั่งเช่นข้อพิพาทล่าสุดของต่างประเทศเรื่องนี้ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยตรงกับบริษัทประกันภัยต่อถึงความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “การยึดทรัพย์ (seizure)” ที่ปรากฏอยู่ภายใต้สัญญาประกันภัยตรง (ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย) และสัญญาประกันภัยต่อ (ระหว่างบริษัทประกันภัยตรงกับบริษัทประกันภัยต่อ) เพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน

 

ต้นเรื่องมีที่มา ดังนี้ครับ

 

ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 ภายหลังจากการถอนกำลังทหารสหรัฐออกไปจากประเทศอัฟกานิสถาน กองกำลังของกลุ่มตาลีบันก็เข้าไปยึดครองประเทศกลับมาเป็นของตนอีกครั้ง รวมถึงคลังสินค้าขนาดใหญ่ประมาณ 1.5 ล้านตารางฟุต ซึ่งเป็นฐานส่งอาหาร และเสบียงอื่น ๆ ให้แก่ทหารสหรัฐ ตั้งอยู่ที่ฐานปฏิบัติการทางอากาศแบกแรม (Bagram Airbase)

 

ด้วยความที่คลังสินค้าแห่งนี้ได้จัดทำการประกันภัยความรุนแรงทางการเมือง (Political Violence Insurance) เอาไว้ในจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมทั้งสิ้น 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเทียบเท่า 1,509,415,000 บาท) กับบริษัทประกันภัยท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

 

ครั้นผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยของตน เนื่องจากวงเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง บริษัทประกันภัยท้องถิ่นแห่งนั้นได้ไปเรียกให้บริษัทประกันภัยต่อของตนให้เข้ามาร่วมทำการชดใช้ด้วย กลับได้รับคำปฏิเสธ และบริษัทประกันภัยต่อนั้นเองก็ได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้รับรองคำปฏิเสธของตน

 

ศาลชั้นต้นได้วิเคราะห์ประเด็นข้อพิพาทออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้

 

1) ข้อยกเว้นของคำว่า “การยึดทรัพย์ (seizure)” ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อได้นำมาอ้างปฏิเสธความรับผิดนั้น มีความหมายเช่นไรกันแน่?

 

เนื่องด้วยฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อแปลความหมายว่า หมายถึง การยึดถือครองทรัพย์เอาไว้เป็นของบุคคลอื่นทุกกรณีตามความหมายปกติทั่วไป

 

ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโต้แย้งโดยหยิบยกถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งเขียนไม่คุ้มครองถึง

 

ความสูญเสีย หรือความเสียหายทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อม อันมีสาเหตุมาจากการยึดทรัพย์ การริบทรัพย์ การโอนทรัพย์สินเป็นของรัฐ การเรียกเกณฑ์ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การกักกัน การยึดถือครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในที่นี้ ทั้งโดยถูกกฎหมาย หรือโดยผิดกฎหมาย การห้ามส่งสินค้า การเวนคืนทรัพย์ ....

 

ความหมายที่ถูกที่ควรของ “การยึดทรัพย์” นั้น หมายความถึง การยึดทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น เพราะถ้อยคำต่าง ๆ ที่เขียนตามมาสื่อออกมาในลักษณะเช่นว่านั้น

 

เวลาที่กลุ่มตาลีบันเข้าไปยึดครองคลังสินค้าที่เอาประกันภัยแห่งนั้น ยังไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจปกครองโดยเด็ดขาด และโดยชอบธรรมเลย ฉะนั้น จึงไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อ เนื่องด้วยแนวคำพิพากษาคดีก่อนหน้า ก็ได้แปลความหมายของคำนี้ไว้เช่นกันว่า การยึดทรัพย์ หมายความถึง การเข้ายึดถือครองไว้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หรือโดยอาศัยกำลังอำนาจของบุคคลอื่นก็ได้

 

2) ข้อยกเว้นของคำว่า “การยึดทรัพย์ (seizure)” นี้ เมื่อปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยความรุนแรงทางการเมือง (Political Violence Insurance Policy) กับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทางการเมือง (Political Risks Insurance Policy) ก็จะให้ความหมายแตกต่างกันออกไป?

    

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้พยายามนำเสนอข้อสนับสนุนเพิ่มเติมอีกว่า ในธุรกิจประกันภัยจะมีการนำเสนอกรมธรรม์ประกันภัยสองฉบับในลักษณะที่แตกต่างกัน เสมือนหนึ่งมุ่งเน้นไปที่ใครคือผู้กระทำผิดมากกว่า กล่าวคือ กรมธรรม์ประกันภัยความรุนแรงทางการเมืองจะมุ่งเน้นไปที่การกระทำผิดของบุคคลทั่วไปโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง เป็นต้นว่า การจลาจล การนัดหยุดงาน การก่อการร้าย การก่อวินาศกรรม ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทางการเมืองจะมุ่งไปที่การกระทำของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า

 

ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องด้วย เพราะทั้งสองฉบับ ก็พูดถึงภัยสงครามเหมือนกัน ซึ่งล้วนต้องเกิดขึ้นมาจากการกระทำของสองรัฐ หรือมากกว่านั้นที่เป็นศัตรูกัน

 

3) คำว่า “ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct physical loss or damage)” หมายความรวมถึง การสูญเสียสิทธิการครอบครองทรัพย์สินโดยถาวร (deprivation loss) หรือไม่?

 

ศาลชั้นต้นไม่รับฟังคำโต้แย้งของฝ่ายผู้เอาประกันภัยตรงที่ว่า การสูญเสียสิทธิการครอบครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอย่างถาวร เนื่องด้วยถูกกองกำลังตาลีบันเข้าไปยึดถือไว้เป็นของตนนั้น จะเข้าข่ายอยู่ในความหมายของความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ อันจะทำให้ได้รับความคุ้มครองด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะต้องเป็นการเกิดความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยตรงอย่างแท้จริงแก่กายภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น จึงจะได้รับความคุ้มครอง โดยไม่ได้รวมถึงการสูญเสียประโยชน์จากการใช้งาน (loss of use) หรือการสูญเสียสิทธิการครอบครองอย่างถาวรแต่ประการใด

 

ตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อไม่จำต้องรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Hamilton Corporate Member and Others v (1) Afghan Global Insurance (2) Anham USA (3) Anham FZCO [2024] EWHC 1426 (Comm))

 

หมายเหตุ

 

คงต้องรอดูคดีนี้จะได้ขึ้นไปสู่ศาลชั้นสูงต่อไปอีกหรือเปล่านะครับ เชื่อว่า น่าจะต้องมีลุ้นแน่ เพราะเดิมพันสูงเหลือเกิน หากได้ข่าวคราวเพิ่มเติม จะสืบค้นมาเล่าสู่กันฟังอีก

 

ดั่งที่เกริ่นตอนต้น ถ้าบอกว่า การยึดทรัพย์โดยบุคคลใดก็ได้ แล้วเกิดบุคคลนั้นเป็นผู้นัดหยุดงาน ผู้ก่อจลาจล ฯลฯ แล้วจะจัดอยู่ในภัยใดกันแน่? 

 

หรืออย่างคดีนี้ ขณะเกิดเหตุกลุ่มตาลีบันตกอยู่ในสถานะใดกันแน่? 

 

จะเรียกว่า เป็นผู้ก่อสงครามกลางเมือง ผู้ก่อการกบฏ ผู้ก่อการปฏิวัติ ผู้ล้มอำนาจการปกครอง ผู้ก่อการร้าย ฯ ได้หรือเปล่า? 

 

ถ้าได้ คดีนี้ควรจะคุ้มครอง หรือไม่คุ้มครอง???

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/