วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 208 : คดีศึกษาค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ (Loss of Use Damages) ในประเทศอังกฤษ

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

อ่านเจอบทความกรณีนี้แล้วน่าสนใจ อยากจะมาเล่าสู่กันฟังประดับความรู้

 

ณ วันที่ 6 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2009 ขณะที่นักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จรายหนึ่งกำลังขับรถหรู Rolls Royce Phantom (ราคาประมาณ 53.5 ล้านบาท) ไปตามท้องถนน ได้ประสบอุบัติเหตุชนกับรถคู่กรณีจนได้รับความเสียหายเล็กน้อยทางด้านประตูหลัง โดยรถคู่กรณีเป็นฝ่ายยอมรับผิด และต่างฝ่ายได้แยกย้ายกันไป

 

วันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 2009 รถหรูคันนั้นได้ถูกส่งไปยังตัวแทนจำหน่าย เพื่อประเมินราคาค่าซ่อม

 

ระหว่างรอการซ่อม นักธุรกิจหนุ่มรายนี้ได้เช่ารถยนต์ยี่ห้อ Bentley จากบริษัทรถเช่าแห่งหนึ่งมาใช้งานชั่วคราวเป็นระยะเวลาห้าวัน และสลับเปลี่ยนไปเช่ารถ Rolls Royce มาใช้งานแทนต่อไปอีก พร้อมกับบอกกล่าวให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนให้ได้รับทราบ

 

รถยนต์หรูคันที่เอาประกันภัยนั้นซ่อมเสร็จเรียบร้อยลง ณ วันที่ 29 กันยายน นักธุรกิจหนุ่มรายนี้จึงได้มาแจ้งยกเลิกสัญญาเช่ารถในวันที่ 30 กันยายนปีเดียวกันนั้นเอง รวมค่าเช่ารถทั้งสองคันสองช่วงเป็นราคาทั้งสิ้น 99,439.06 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 4,649,690.89 บาท) และต่อมาได้ปรับตัวเลขใหม่เป็น 92,953.90 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 4,346,450 บาท)

 

เมื่อนักธุรกิจหนุ่มรายนี้ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเรียกร้องให้คู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด (รวมค่าซ่อมกับค่าเช่ารถใช้งานชั่วคราว)

 

ศาลชั้นต้นได้ตัดสินยกฟ้องในส่วนของค่าเช่ารถใช้งานชั่วคราว (credit hire claims) ถึงแม้นทนายฝ่ายโจทก์นักธุรกิจหนุ่มรายนี้หยิบยกข้อกล่าวอ้างถึงเหตุผลความจำเป็นต้องเช่ารถหรูเหล่านั้นมาใช้งานชั่วคราวทดแทนระหว่างซ่อม เนื่องด้วยตัวนักธุรกิจหนุ่มรายนี้มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้มีฐานะในสังคมระดับสูง ทำให้ต้องใช้รถยนต์หรูให้เหมาะสมแก่การติดต่อทางการค้า และทางสังคมเช่นนั้นด้วย

 

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลพึงรับฟังได้อย่างเพียงพอ ซึ่งความจำเป็นในการเช่ารถมาทดแทนชั่วคราวนั้น ควรประกอบด้วยปัจจัย ดังนี้

 

ก) ปัจจัยการใช้งานรถที่แท้จริงก่อนเกิดอุบัติเหตุ และ

ข) ปัจจัยการใช้งานรถที่แท้จริงหลังเกิดเหตุ

 

เพื่อมาพิจารณาเปรียบเทียบกันถึงความจำเป็นดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถาการณ์ความเป็นจริงของแต่ละกรณีด้วย

 

แต่คดีนี้ ปัจจัยเรื่องสถานะสูงส่งทางสังคมนั้นเสมือนภาพลวงตา ถ้าปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนั้นได้ อาจส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำต้องคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นเผื่อไว้ อันจะส่งผลกระทบอย่างมากแก่ประชาชนทั่วไปที่จะต้องมาแบกรับโอกาสความเสี่ยงภัยนี้ได้

 

อีกทั้งในความเป็นจริง โจทก์ผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีรถหรูของบริษัทอยู่รวมถึงเจ็ดคันด้วยกัน และรถหรูคันที่เสียหายเป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดคันนั้นเอง มิใช่รถยนต์ส่วนตัวของโจทก์ผู้เสียหาย

 

ภายหลังอุบัติเหตุดังกล่าว โจทก์ผู้เสียหายก็ได้มีการเดินทางไปต่างประเทศบางช่วงด้วย

 

อย่างไรก็ดี หากแม้นโจทก์ผู้เสียหายจะสามารถหยิบยกเหตุผลอันสมควรมาชักจูงให้ศาลคล้อยตามไปได้ ศาลก็ยังคิดว่า ค่าใช้จ่ายในการเช่ารถมาทดแทนชั่วคราวที่สมเหตุผลควรจะอยู่ที่ประมาณรวม 21,428.57 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 1,001,982.79 บาท) มากกว่า

 

ฉะนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงตัดสินให้โจทก์ผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทน สำหรับค่าเสียหายที่บังเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้นเพียง 8,709.50 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 407,249.25 บาท) เท่านั้น โดยให้ยกฟ้องในส่วนค่าเช่ารถดังกล่าวทั้งหมด

 

โจทก์ผู้เสียหายอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

เราจะมาติดตามผลทางคดีในชั้นศาลอุทธรณ์กันสัปดาห์หน้านะครับ

 

พร้อมกับความหมายของ Credit Hire ซึ่งขอแปลเองว่า “การเช่ารถมาใช้งานทดแทนชั่วคราว” นั้น จะแตกต่างอย่างไรกับค่าเสียหายจากการขาดการใช้ประโยชน์รถยนต์ตามที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจของบ้านเรา

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 207 : กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) กับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดเชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) ใช้ด้วยกันได้ไหม?

 

ช่วงนี้อาจมีบทความเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ถี่กว่าปกติ เพราะกำลังอยู่ในช่วงบรรยายให้ความรู้ของกรมธรรม์ประกันภัยจำพวกนี้อยู่พอดี

 

ประจวบกับมีคำถามว่า ในความคุ้มครองส่วนที่ 3 ความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น จะเปลี่ยนไปเลือกใช้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดเชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) แทนได้ไหม?

 

คงต้องเสนอแนะให้ฉุกคิดเบื้องต้นก่อนว่า ปัจจุบัน โลกแห่งธุรกิจประกันภัยจัดแบ่งออกได้เป็นสองค่ายใหญ่ ๆ ได้แก่ ค่ายทางฝั่งยุโรป กับค่ายทางฝั่งอเมริกา แม้ค่ายทางฝั่งยุโรปจะก่อกำเนิดขึ้นมาก่อน และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเกือบทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราด้วย แต่หลัง ๆ ค่ายทางฝั่งอเมริกาเริ่มมาแรง เพราะมีการพัฒนาสร้างความแปลกใหม่แตกต่างออกมาเป็นระยะ ๆ ทำให้เริ่มค่อย ๆ มีการยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะในบ้านเรา

 

เพื่อตอบคำถามนั้น จำต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รูปแบบความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยบ้านเราทั้งหมดมีรากฐานมาจากค่ายทางฝั่งยุโรป ทั้งในกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา หรือกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างที่ให้ความคุ้มครองแก่งานก่อสร้าง/งานติดตั้ง เช่นเดียวกับความคุ้มครองส่วนที่ 3 ความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกก็ถูกอ้างอิงมาจากกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy (PL))

 

ขณะที่ค่ายทางฝั่งอเมริกา ได้มีการพัฒนารูปแบบความคุ้มครองเฉพาะของตนเองขึ้นมา เรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยของผู้รับเหมาก่อสร้าง (Builders’ Risk Insurance Policy) ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะสำหรับงานก่อสร้าง/งานติดตั้ง ส่วนความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกให้ไปเลือกซื้อแยกต่างหาก ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดเชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (CGL) ซึ่งจะมีขอบเขตความคุ้มครองที่หลากหลาย และกว้างกว่ากรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (PL) มากนัก

 

ขนาดไม่เลือกซื้อความคุ้มครองส่วนที่ 3 ความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก โดยให้ไปเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (PL) แยกต่างหากแทน ยังต้องมีการปรับแก้ไขเงื่อนไขความคุ้มครองหลายจุด แต่ถ้าไปเลือกใช้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดเชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (CGL) แทน อาจถึงขนาดแทบรื้อแก้กันทั้งฉบับก็เป็นได้

 

ถึงตรงนี้ ลองพิจารณาตัดสินใจกันดูเองนะครับ หรือจะดูจากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้เป็นแนวทางก็ได้

 

ผู้รับเหมารายหนึ่งถูกว่าจ้างให้ทำการก่อสร้างโครงการหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยนอกเหนือจากจะมีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองตัวงานก่อสร้างไว้แล้ว ผู้รับเหมารายนี้ยังได้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดเชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (CGL) เผื่อเอาไว้อีกด้วย

 

ภายจากงานก่อสร้างได้เสร็จสิ้นลง และได้ถูกส่งมอบให้แก่เจ้าของโครงการ ตลอดจนไปถึงมือของเจ้าของบ้านแต่ละหลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมากลับได้รับเรื่องร้องเรียนถึงความบกพร่องไม่เรียบร้อยของตัวงานก่อสร้างในบ้านที่ถูกส่งมอบแล้วบางหลัง ไม่ว่าจะเป็นกรณีปัญหาเรื่องฐานราก ผนังเบากั้นห้อง และส่วนตกแต่งภายในอื่น ๆ ที่ปรากฏร่องรอยความเสียหายอย่างชัดเจน ผลการตรวจพิสูจน์ยืนยันได้ว่า มาจากปัญหาคุณภาพของดินที่นำมาถม และการมิได้ถูกบดอัดให้แข็งแรงแน่นหนาตามที่ควรจะเป็น ซึ่งอยู่ในส่วนงานภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้รับเหมาช่วง โดยเจ้าของบ้านผู้เสียหายได้เรียกร้องให้ผู้รับเหมาหลักเข้ามารับผิดชอบแทนในฐานะตัวการ จัดดำเนินซ่อมแซม และปรับแก้ไขความเสียหายที่บังเกิดขึ้นดังกล่าว รวมถึงความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของบ้านเหล่านั้นด้วย โทษฐานกระทำผิดตามสัญญาว่าจ้าง กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ และฝ่าฝืนกฎหมายที่บัญญัติไว้

 

ครั้นเรื่องราวได้ถูกแจ้งมายังบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดเชิงพาณิชย์ แบบครอบคลุม (CGL) เพื่อให้ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยผู้รับเหมาหลัก กลับได้รับคำตอบว่า จะให้ความคุ้มครองได้เพียงเฉพาะความเสียหายต่อทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของบ้านเท่านั้น ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอก แต่ไม่ใช่สำหรับความเสียหายต่อโครงสร้างของบ้านดังกล่าวด้วยเหตุผลว่า

 

1) กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ

 

2) กรณีเป็นลักษณะความรับผิดตามสัญญามากกว่าความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก และ

 

3) กรณีตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทด้วย

 

ผู้เอาประกันภัยผู้รับเหมาหลักจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้วินิจฉัยตัดสิน

 

คดีนี้ได้มาถึงชั้นศาลอุทธรณ์ในท้ายที่สุด เนื่องจากศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับข้อโต้แย้งของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลย และได้พิพากษาให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยชนะคดี

 

ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์ประเด็นข้อถกเถียงตามคำฟ้องแล้ว ให้ความเห็นไว้ ดังนี้

 

1) กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?

 

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทระบุให้ความคุ้มครองถึงจำนวนเงินทั้งหลายซึ่งผู้เอาประกันภัยมีภาระผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเป็นค่าเสียหาย อันเนื่องจากการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (occurrence) ภายในอาณาเขตความคุ้มครองที่เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาประกันภัย

 

โดยที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (occurrence) นั้นมีคำจำกัดความเฉพาะ ให้หมายความถึง อุบัติเหตุ รวมถึงภยันตรายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือที่ซ้ำซ้อนกัน อันเป็นผลสืบเนื่องอย่างชัดแจ้งมาจากสภาวะอันตรายที่เป็นปกติอย่างเดียวกันนั้นเอง แต่มิได้มีคำนิยามของอุบัติเหตุกำหนดเอาไว้ด้วย

 

อนึ่ง สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินนั้น ให้ความหมายถึง การเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่จับต้องได้ อันรวมถึงการขาดประโยชน์จากการใช้งาน (loss of use) ของทรัพย์สินนั้นเองด้วย

 

ทั้งยังมีการขยายความคุ้มครองไปถึงผลิตภัณฑ์-การปฏิบัติงานโดยสมบูรณ์ที่มีสภาวะความเสี่ยงภัย (products-completed operations hazard) ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่การบาดเจ็บทางร่างกาย และความเสียหายต่อทรัพย์สินที่บังเกิดขึ้นภายนอกสถานที่ที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือครอบครองอยู่ อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ หรืองานของผู้เอาประกันภัยนั้นเอง เว้นแต่งานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ หรือยังไม่สละละทิ้งไป

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยโต้แย้งว่า ฝีมือแรงงานที่บกพร่อง (defective workmanship) ของผู้รับเหมาช่วงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวงานของผู้รับเหมาหลักนั้น ไม่อาจถือเป็นอุบัติเหตุได้ เนื่องด้วยเป็นสิ่งที่คาดหวังได้อยู่แล้ว

 

ศาลอุทธรณ์ไม่คล้อยตาม เพราะปกติทั่วไป การแปลความหมายของอุบัติเหตุ ควรมองจากมุมมองของผู้เอาประกันภัยเองว่า ไม่ได้มีเจตนา หรือไม่ได้มุ่งหวัง กอปรกับคำจำกัดความของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองยังได้ขยายความรวมถึงภยันตรายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือที่ซ้ำซ้อนกัน อันเป็นผลสืบเนื่องอย่างชัดแจ้งมาจากสภาวะอันตรายที่เป็นปกติอย่างเดียวกันนั้นเองอีกด้วย กรณีนี้ เข้าข่ายลักษณะภยันตราย หรือสภาวะอันตรายเช่นว่านั้น

 

2) กรณีเป็นลักษณะความรับผิดตามสัญญามากกว่าความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกหรือไม่?

 

การที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยเสมือนจำแนกความเสียหายแก่ทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของบ้านให้เป็นทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยตกลงจะชดใช้ให้ ขณะที่ตัวโครงสร้างบ้านที่เสียหายจัดเป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างงานระหว่างผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วงนั้น อันไม่ใช่อุบัติเหตุ และไม่ถือเป็นบุคคลภายนอกด้วยนั้น

 

ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจรับฟัง เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป แรกเริ่มเดิมที กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนี้มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองแก่บุคคลภายนอกจริง แต่ต่อมา มีการปรุงแก้ไขหลายรอบอยู่เป็นระยะ เพื่อขยายความคุ้มครองให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีการขยายความคุ้มครองไปถึงผลิตภัณฑ์-การปฏิบัติงานโดยสมบูรณ์ที่มีสภาวะความเสี่ยงภัย (products-completed operations hazard) ด้วย เพียงจำกัดไม่รวมถึงสิ่งที่เกิดจากการกระทำของผู้รับเหมาช่วงเท่านั้น อย่างไรก็ดี ก็มิได้เป็นสิ่งที่จะยกเว้นโดยเด็ดขาด สามารถขอขยายเพิ่มเติมได้อีกอยู่ดี

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การจำแนกความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่สมเหตุผล ถ้าพิจารณาว่า การกระทำบกพร่องผิดพลาดของไม่ว่าจะเป็นของผู้รับเหมาหลัก หรือผู้รับเหมาช่วงไม่จัดเป็นอุบัติเหตุแล้ว จะสามารถขยายความคุ้มครองภายหลังอีกได้อย่างไร ถึงแม้น แนวทางการตีความเรื่องความบกพร่องของฝีมือแรงงาน ศาลหลายแห่งยังมีความเห็นแตกต่างกัน บางท่านบอกว่า ไม่ใช่ บางทานบอกว่า ใช่ก็ตาม โดยที่ฝ่ายที่บอกไม่ใช่ เนื่องด้วยหวั่นเกรงจะส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจะกลายเป็นเสมือนลักษณะการรับประกันฝีมือแรงงาน (performance bonds) นั้น

 

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นคล้อยด้วย เพราะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นเป็นกรณีค้ำประกันการทำงานของผู้รับเหมาให้สำเร็จลุล่วงไป เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของโครงการ แต่เรื่องนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับความเสียหาย  

 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของผู้รับเหมาช่วงถือเป็นอุบัติเหตุที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ไม่ได้เจตนา หรือมุ่งหวัง และเข้าคำจำกัดความของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

3) กรณีตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทด้วยหรือเปล่า?

 

ความเสียหายต่อโครงสร้างบ้านดังกล่าวเข้าข่ายตามความหมายของความเสียหายต่อทรัพย์สินด้วย กอปรกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนี้ก็ได้ขยายความคุ้มครองรวมถึงความเสียหายต่อโครงการก่อสร้างที่เสร็จสิ้นแล้วของผู้รับเหมาหลัก อันเกิดจากฝีมือแรงงานที่บกพร่องของผู้รับเหมาช่วงเช่นเดียวกัน

 

ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ชนะคดีนี้ในท้ายที่สุด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี United States Fire Insurance Company v. J.S.U.B., Inc., SC05-1295 [2007])

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 206 : กลุ่มคนร้ายขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Security Breaches) ของบริษัท รวมทั้งข้อมูลของลูกจ้างด้วย ลูกจ้างฟ้องให้บริษัทของตนรับผิดได้หรือไม่?

 

ประเด็นการลักขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของคนร้ายได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อย่างมากมาย ในปัจจุบัน และคาดว่า ในอนาคตก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้นจะได้ใช้ความพยายามในการปกป้อง และการป้องกันอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม

 

สืบเนื่องจากบทความเรื่องที่ 195 : ผู้ใดควรต้องรับผิดแก่ลูกค้าในการขโมยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า (Breach of Data Protection)? ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างลูกค้ากับองค์การทางธุรกิจ

 

ครานี้ ถึงคราวกรณีลูกจ้างฟ้องนายจ้างให้รับผิดในลักษณะคล้ายคลึงกันบ้าง

 

มาลองดูกันนะครับ

 

ลูกจ้างผู้เสียหายเคยทำงานอยู่กับนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่รายหนึ่ง ตามกฎระเบียบของการจ้างงาน ลูกจ้างทุกคนจะต้องแถลงข้อมูลส่วนบุคคลรวมทั้งบุคคลในครอบครัวให้บริษัทนายจ้างได้รับทราบ โดยบริษัทนายจ้างได้แจ้งในสัญญาว่าจ้าง จะดำเนินการอันสมควรในการดูแลจัดเก็บปกป้องรักษาข้อมูลเหล่านั้นไว้เป็นความลับอย่างดี

 

แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะภายหลังจากลูกจ้างผู้เสียหายรายนี้ได้ลาออกจากบริษัทนายจ้างแห่งนี้แล้ว ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ปรากฏได้มีกลุ่มคนร้ายเข้าไปลักขโมยข้อมูลที่สำคัญ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้างทั้งในอดีต และปัจจุบันของบริษัทนายจ้างแห่งนี้ ด้วยกลวิธีหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า ฟิชชิ่ง (phishing) พร้อมกับได้ฝังมัลแวร์ (malware) อันตรายไว้ด้วย และทำการข่มขู่ที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปเปิดเผยในอินเตอร์เน็ต หากมิได้จ่ายค่าไถ่ให้แก่กลุ่มคนร้าย

 

ต่อมา ไม่ทราบว่า เนื่องด้วยสาเหตุที่ไม่ได้มีการจ่ายค่าไถ่ หรือสาเหตุอื่นใดก็ตาม กลุ่มคนร้ายได้นำข้อมูลบางส่วน รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลไปโพสต์ไว้ในเวปมืด หรือดาร์กเวป (dark web) ที่ผิดกฎหมายให้สามารถดาวน์โหลดไปได้

 

อย่างไรก็ดี บริษัทนายจ้างแห่งนี้มิได้นิ่งเฉย ตลอดช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน ค.ศ. 2020 ที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา บริษัทนายจ้างแห่งนี้ก็ได้แจ้งลูกจ้างของตนทั้งในอดีต และปัจจุบันให้ได้รับทราบเป็นระยะถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นแก่ลูกจ้างของตนได้ พร้อมกับแนะนำให้ดำเนินการปกป้อง และการป้องกันอันสมควรเท่าที่จะสามารถกระทำได้

 

เพื่อบรรเทาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวลูกจ้างผู้เสียหายรายนี้ก็ได้พยายามดำเนินการหลายวิธีการด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนย้ายข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลทางการเงินไปจัดเก็บไว้ยังแหล่งอื่นที่ปลอดภัยมากขึ้น และลงทุนซื้อโปรแกรมดูแลรักษาความปลอดภัยเสริมเพิ่มเติมให้แก่ทั้งตนเอง และบุคคลในครอบครัว เสียทั้งเงิน และเวลาในการดำเนินการดังกล่าว

 

ด้วยเหตุนี้ ตัวลูกจ้างผู้เสียหายรายนี้ได้ร่วมกับลูกจ้างผู้เสียหายรายอื่นเข้ายื่นฟ้องกลุ่ม (Class Action) กล่าวโทษต่อบริษัทนายจ้างแห่งนี้ของตนว่า กระทำการละเมิดโดยประมาทเลินเล่อ และกระทำการผิดสัญญาว่าจ้างในการที่ไม่ได้จัดการดูแลรักษา และปกป้องอันเหมาะสมแก่ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้างทุกรายตามที่ได้ให้สัญญาไว้ จึงขอให้พิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่บังเกิดขึ้นแก่พวกตน

 

ศาลชั้นต้นได้ตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ลูกจ้างผู้เสียหายยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ฝ่ายจำเลยบริษัทนายจ้างแห่งนี้ได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา อีกทั้งภัยคุกคามแก่ลูกจ้างผู้เสียหายนั้นก็เป็นเพียงความคาดหวังที่ไกลตัว เพราะยังไม่ได้บังเกิดภัยคุกคามนั้นขึ้นมาจริงบ้างเลย ตัดสินให้ยกฟ้องฝ่ายโจทก์ลูกจ้างผู้เสียหาย

 

ฝ่ายโจทก์ลูกจ้างผู้เสียหายยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินของศาลชั้นต้น

 

ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์ออกมาเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

1) ภัยคุกคามนั้นเป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่?

 

ในการพิจารณาจำต้องอาศัยข้อความจริงอื่นมาประกอบกันด้วย อันได้แก่

 

เจตนาของคนร้ายมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนหรือไม่?

 

ภัยคุกคามนั้นได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยสูงขึ้นหรือเปล่า? และ

 

ถึงขนาดอาจทำให้ผู้เสียหายอาจถูกฟ้องร้องได้ในอนาคตหรือไม่?

 

ทั้งหมดนี้ ล้วนเข้าข่ายแก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะภัยคุกคามนั้นแก่ลูกจ้างผู้เสียหายมีทั้งในด้านข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินประกอบกัน ซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายขึ้นมาได้ในอนาคต มีความน่าจะเป็นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข้อมูลที่ลักลอบไปโพสต์ไว้ในเวปมืดที่ผิดกฎหมาย และไม่จำเป็นจะต้องรอให้เกิดความเสียหายขึ้นมาจริงเสียก่อนแต่ประการใด

 

2) ฝ่ายจำเลยบริษัทนายจ้างแห่งนี้ได้กระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่?

 

โลกปัจจุบันมีการจัดเก็บข้อมูลทางดิจิทัลไว้อย่างมากมาย รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ฉะนั้น ทุกองค์การ หรือหน่วยงานที่จัดเก็บจำต้องตระหนักรับรู้ และวางมาตรการในการจัดเก็บดูแลรักษา และปกป้องให้เหมาะสม และสอดคล้องตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย การละเลยจึงถือเป็นการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ลูกจ้างผู้เสียหายดังกล่าว

 

3) ฝ่ายจำเลยบริษัทนายจ้างแห่งนี้ได้กระทำผิดสัญญาว่าจ้างหรือไม่?

 

เมื่อฝ่ายจำเลยบริษัทนายจ้างแห่งนี้ได้ให้คำมั่นในสัญญาว่าจ้างว่า จะดำเนินการอันสมควรในการดูแลจัดเก็บปกป้องรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้างไว้เป็นความลับอย่างดี แต่ไม่สามารถกระทำเช่นว่านั้นได้ จำต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์จึงได้ตัดสินกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ฝ่ายจำเลยบริษัทนายจ้างแห่งนี้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ลูกจ้างผู้เสียหายดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Clemens v. ExecuPharm Inc., 48 F 4th 146, 157-58 [3d Cir. 2022])

 

หมายเหตุ

 

โลกเราทุกวันนี้จัดเป็นโลกดิจิทัลแห่งข้อมูลข่าวสาร มีข้อมูลข่าวสารให้จัดเก็บรวบรวม และสืบค้นอยู่มากมาย ทั้งที่สำคัญ และไม่สำคัญ แน่นอนข้อมูลที่สำคัญมักมีความอ่อนไหวที่จะถูกแฮ็กเข้าไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดกฎหมายในโลกมายาทางดิจิทัลได้ง่าย หลายองค์การ และหน่วยงานจึงมีความตื่นตัวที่จะพยายามปกป้อง และป้องกันอย่างสุดความสามารถ

 

ยังไงอย่าลืมตรวจสอบความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ (Cyber Insurance Policy) กับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการ และเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร (Directors & Officers’ Liability Insurance Policy) ของคุณด้วยว่า ได้รองรับความเสี่ยงภัยเหล่านี้แล้วยัง เนื่องด้วยปัจจุบัน กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวยังไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกัน

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 205 : กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพของผู้รับเหมา (Construction Professional Indemnity) จะคุ้มครองงานที่บกพร่องจากการออกแบบ (Faulty Design) และการก่อสร้าง (Defective Workmanship) ได้จริงไหม?

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) จะปรากฏมีข้อยกเว้นในเรื่องการออกแบบผิดพลาด (faulty design) หรืองานฝีมือที่บกพร่อง (defective workmanship) อยู่ ทำให้มีความคาดหวัง หรือกระทั่งมีข้อเสนอแนะว่า ถ้าผู้รับเหมาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพจะสามารถรองรับความเสี่ยงภัย สำหรับข้อยกเว้นเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะกรณีสัญญาว่าจ้างของผู้รับเหมาอยู่ในรูปแบบงานออกแบบ และงานก่อสร้าง (Design & Build Contract)

 

ตัวผู้รับเหมาเองมีความเชื่อมั่นเช่นว่านั้น กอปรกับสัญญาว่าจ้างก็กำหนดให้ผู้รับเหมาจัดทำประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพดังกล่าวเอาไว้ด้วย

 

ครั้นเวลาเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาจริง ผลลัพธ์จะออกหัว หรือออกก้อย เรามาพิจารณาดูตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้กันนะครับ

 

เจ้าของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าหนึ่งที่ประเทศออสเตรเลียได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาหลัก (main or head contractor) รายหนึ่งให้มาดำเนินการออกแบบ และก่อสร้างอาคารห้องชุดอยู่อาศัยขึ้นมา พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้รับเหมาหลักรายนั้นจัดทำประกันภัยทางวิชาชีพเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่ง นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างปกติ

 

ภายหลังจากงานเสร็จสิ้น และส่งมอบให้แก่เจ้าของโครงการแล้ว ปรากฏมีเจ้าของห้องชุดบางรายได้มาเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากงานก่อสร้างบางจุดบกพร่องไม่เรียบร้อย (defects in the  buildings) จากทั้งเจ้าของโครงการ และผู้รับหลักรายนั้น โทษฐานกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยอาคารที่พักอาศัยแห่งประเทศออสเตรเลีย และกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการดำเนินงาน

 

เนื่องด้วยผู้รับหลักรายนี้ได้มีกรมธรรม์ประกันภัยทางวิชาชีพ สำหรับงานออกแบบ และงานก่อสร้าง (Design & Construction Professional Indemnity Insurance Policy) ไว้รองรับอยู่แล้วกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีข้อตกลงคุ้มครองเขียนไว้ ดังนี้

 

บริษัทประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากความรับผิดทางแพ่งใด ๆ ซึ่งได้ถูกกระทำขึ้นเป็นครั้งแรกต่อผู้เอาประกันภัย และได้ถูกแจ้งแก่บริษัทประกันภัยให้รับทราบภายในระยะเวลาประกันภัย โดยมีสาเหตุมาจากการให้บริการทางวิชาชีพ (professional services) ของผู้เอาประกันภัยตามที่ได้กำหนดไว้

 

ทั้งนี้ การให้บริการทางวิชาชีพนั้น หมายความรวมถึง การออกแบบ การกำหนดรายละเอียด การบริหารจัดการโครงการ (project management) หรือการบริหารจัดการงานก่อสร้าง (construction management) ด้วย

 

ผู้รับหลักรายนี้จึงได้แจ้งเรื่องราวดังกล่าวต่อบริษัทประกันภัยของตนเพื่อให้มารับผิดชอบแทนดังกล่าว

 

บริษัทประกันภัยแห่งนี้บอกปัดความรับผิด โดยอ้างว่า จากข้อความจริงทีสืบทราบมา ผู้รับเหมาหลักรายนี้ได้มีการช่วงงานออกแบบไปให้แก่บุคคลอื่น โดยมิได้กระทำการออกแบบเอง ซึ่งข้อตกลงคุ้มครองเขียนไว้ชัดเจนว่า จะรับผิดต่อเมื่อผู้รับเหมาหลักรายนี้ (ผู้เอาประกันภัย) ได้ดำเนินงานเองเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นการให้บริการทางวิชาชีพได้อย่างแท้จริง

 

ผู้รับเหมาหลักรายนี้ได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีประเด็นให้ศาลทำการวินิจฉัยชี้ขาดอยู่สองประเด็น ได้แก่

 

1) ข้อตกลงคุ้มครองการให้บริการทางวิชาชีพดังกล่าวจำกัดอยู่เฉพาะตัวงานที่โจทก์ (ผู้รับเหมาหลักรายนี้) จะต้องกระทำเองเท่านั้น ใช่หรือไม่?

 

2) เหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นมาจากการให้บริการทางวิชาชีพตามที่กำหนดไว้หรือเปล่า?

 

โจทก์ (ผู้รับเหมาหลักรายนี้) ได้ต่อสู้ โดยอ้างว่า แม้ตัวงานออกแบบจะไม่ได้กระทำการเองก็จริง แต่ตนเองมีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการโครงการ หรือการบริหารจัดการงานก่อสร้างจนสำเร็จเสร็จสิ้น อันเป็นการให้บริการทางวิชาชีพตามที่กำหนดไว้อยู่ด้วย ฉะนั้น ตนควรจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

อย่างไรก็ดี ศาลสูง (superior court) ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

(1) แม้โจทก์ (ผู้รับเหมาหลักรายนี้) อาจมีการให้บริการทางวิชาชีพดังระบุ แต่เหตุแห่งการกระทำนั้นอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการให้บริการทางวิชาชีพอย่างแท้จริงก็ได้ การกระทำผิดตามกฎหมายดังอ้างอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางวิชาชีพเลยก็ได้ จำต้องพิจารณาจากข้อความจริงเป็นเกณฑ์ประกอบด้วย ซึ่งในคดีนี้ ไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวงานที่บกพร่องดังอ้างกับการให้บริการทางวิชาชีพให้ศาลรับฟัง และเชื่อถือได้

 

(2) อนึ่ง ภายใต้ข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ยังได้ระบุ ดังนี้

 

     (ก) คำจำกัดความของการให้บริการทางวิชาชีพ ไม่ได้หมายความ

          ถึง การดำเนินงาน หรือการกำกับดูแลการก่อสร้าง การผลิต 

          การประกอบ การติดตั้ง การบำรุงรักษา หรือการเปลี่ยนแปลง

          แก้ไขทางกายภาพของสิ่งปลูกสร้าง สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือ

          ทรัพย์สินใด

 

     (ข) อีกทั้งข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทเอง ก็ระบุ

           ไม่คุ้มครองถึง การบกพร่อง หรือการไม่เหมาะสมของ

           ผลิตภัณฑ์ และสินค้าต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง ตลอด

           จนถึงงานฝีมือที่บกพร่องด้วย

 

ศาลสูงจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของฝ่ายโจทก์ตามฟ้อง ล้วนตกอยู่ในข้อยกเว้นข้างต้น และตัดสินให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี FKP Commercial Developments Pty Ltd v Zurich Australian Insurance Limited [2022] FCA 862)

 

หมายเหตุ

 

พึงระวัง ตัวงานที่บกพร่องนั้นอาจยังไม่สามารถด่วนสรุปถึงขนาดส่งผลทำให้เป็นการกระทำผิดทางวิชาชีพก็ได้ จำต้องอาศัยข้อความจริงอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย

 

ในส่วนการไม่ได้กระทำการออกแบบเองของผู้รับเหมานั้น ไม่น่าถือเป็นประเด็น หากมองในหลักกฎหมายเรื่องตัวการกับตัวแทน เพราะกระทั่งงานก่อสร้าง/งานติดตั้งยังสามารถช่วงงานต่อไปให้ผู้รับเหมาช่วงได้

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/