วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 199 : ตัวอย่างคดีศึกษาด้านการประกันภัยจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

 

เพิ่งครบรอบสองปีเต็ม นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ที่ประเทศรัสเซียได้ยกกองกำลังทหารเข้าไปยังภาคตะวันออกของประเทศยูเครน

 

โดยที่ก่อนหน้านั้น ประมาณปี ค.ศ. 2015 ก็ได้เริ่มมีการเตรียมพร้อมกันอย่างเต็มที่ระหว่างกองกำลังสองฝ่ายอยู่แล้ว ในพื้นที่อ่อนไหวเช่นว่านั้น ซึ่งทางฝั่งประเทศยูเครนจะเรียกพื้นที่ส่วนนั้นของตนว่า “Anti-terrorist Operation Zone

 

ก่อให้เกิดคำถามมากมายว่า

 

ช่วงหลังการรุกรานจริงในปี ค.ศ. 2022 มีความชัดเจนอยู่แล้วที่บริษัทประกันภัยจะปฏิเสธ

 

แต่ถ้าในช่วงก่อนหน้าการรุกรานจริง โดยที่อยู่ในช่วงที่มีการเตรียมพร้อมกองกำลังทางทหารอยู่ในพื้นที่ส่วนนั้น หากเกิดภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองให้หรือไม่ อย่างไร?

 

ถ้าปฏิเสธ จะเรียกว่า ตกอยู่ในช่วงเหตุการณ์ ภัยสงครามที่ไม่ประกาศ (undeclared war) การลุกฮือของประชาชน (civil unrest) หรือการก่อการร้าย (terrorism acts) ได้หรือไม่?

 

ส่วนตัวสนใจใคร่รู้ถึงผลกระทบทางด้านการประกันภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งช่วงก่อนการรุกราน และหลังการรุกรานนั้นเอง และได้ไปอ่านพบตัวอย่างคดีศึกษาสองสามเรื่อง จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังประดับความรู้ครับ

 

เรื่องแรกเป็นคดีระหว่าง AXA Insurance vs Europlast LLC

 

ปี ค.ศ. 2015 ระหว่างการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่อ่อนไหวที่เรียกว่า Anti-terrorist Operation Zone ก่อนหน้าการรุกรานจริง ผู้เอาประกันภัยได้รับแจ้งว่า อุปกรณ์ของตนซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ และได้จัดเก็บไว้ในโกดัง ณ หมูบ้านซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นั้น ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินได้ถูกลักขโมยไป ทั้งที่ทางเข้าออกของหมู่บ้านได้ถูกสั่งปิดกั้นด้วยกองกำลังทางทหารอยู่

 

เมื่อผู้เอาประกันภัยได้ไปแจ้งเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตน กลับได้รับคำปฏิเสธว่า แม้ทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และได้เสียหายจากภัยที่คุ้มครองก็ตาม แต่ได้เกิดขึ้นมาในช่วงระหว่างการปฏิบัติการทางทหาร (military actions) อันตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท  

 

การต่อสู้คดียกแรกในศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยชนะ

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะ เนื่องด้วยเหตุสุดวิสัย (force majeure circumstance)

 

ศาลพิเศษ (court of cassation) พลิกอีกทีด้วยการตัดสินให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยชนะ เนื่องด้วยเหตุผลหลักที่ว่า ได้มีการตกลงทำประกันภัยกันภายหลังจากการเตรียมพร้อมการปฏิบัติการทางทหารแล้ว

 

ปี ค.ศ. 2016 ในชั้นศาลฎีกา สรุปว่า คดีนี้ได้เกิดขึ้นในพื้นที่อ่อนไหวซึ่งมีการเตรียมพร้อมการปฏิบัติการทางทหารอยู่ อันเป็นช่วงเหตุการณ์ที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยไม่อาจรับเสี่ยงภัยได้ตามปกติ จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดีนี้

 

เรื่องที่สองเป็นคดีระหว่าง AXA Insurance vs Avtosan Motors LLC

 

คล้ายคลึงกัน คือ อาคารที่เอาประกันภัยได้ถูกทำลายลงในอาณาเขตพื้นที่การปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว

 

ศาลฎีกาก็ตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดีด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน เว้นเสียแต่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้จัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทางการเมือง (Political Risks Insurance) เอาไว้

 

เรื่องที่สามเป็นคดีระหว่าง State Savings Bank vs Ukrainian Fire Insurance Co.

 

ธนาคารได้ทำประกันภัยคุ้มครองการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ไว้กับบริษัทประกันภัย ช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีคำสั่งจากภาครัฐให้ธนาคารผู้เอาประกันภัยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวในช่วงเวลานั้น ส่งผลทำให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้อีกต่อไป ธนาคารผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัย แต่กลับถูกปฏิเสธ

 

คดีได้ถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาชี้ขาด ศาลสูงก็ได้วินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า ฝ่ายบริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิด เนื่องด้วยมีเหตุแห่งคำสั่งของภาครัฐซึ่งมีผลใช้บังคับทางกฎหมาย อันไม่ใช่ภัยปกติทั่วไปที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจะคุ้มครองให้ได้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากบทความ Insurance Litigation for Companies Doing Business at the East of Ukraine, 16.05.2017, Vasil Kisil & Partners)

 

ข้อสังเกต

 

ข้อยกเว้นทั่วไปในประเด็นนี้ของกรมธรรม์ประกันภัยปกติจะเขียนไม่คุ้มครองถึง

 

ความเสียหายไม่ว่าจะเป็นผลโดยตรง หรือโดยอ้อม จาก หรือเป็นผลสืบเนื่องจาก หรือเกี่ยวเนื่องมาจากสาเหตุหรือเหตุการณ์ใด ๆ ดังต่อไปนี้

 

3.1 สงคราม (ไม่ว่าจะได้มีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) การรุกราน การกระทำของศัตรูต่างชาติ การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม สงครามกลางเมือง

 

3.2 การกบฎ การปฏิวัติ การก่อรัฐประหาร การยึดอํานาจการปกครอง การช่วงชิงอำนาจ การแข็งข้อ หรือการก่อการกำเริบของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

3.3 การกระทำการก่อการร้าย …..

 

แม้นจะไม่ปรากฏถ้อยคำ “การปฏิบัติการทางทหาร (military actions)” ยกเว้นเอาไว้อย่างชัดเจนก็ตาม เชื่อว่า โอกาสลุ้นคงค่อนข้างลำบาก

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายผู้เอาประกันภัยอาจมีสิทธิลุ้นอยู่บ้าง หากสามารถพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้ว่า ความคุ้มครองของตนไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติ ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยมักจะเขียนให้ครอบคลุมทั้งโดยทางตรง และโดยทางอ้อมกำกับไว้อยู่แล้ว โอกาสลุ้นค่อนข้างเหนื่อยเหมือนกัน

 

เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยจะได้จัดทำการประกันภัยความเสี่ยงภัยทางการเมือง (Political Risks Insurance)/การประกันภัยความรุนแรงทางการเมือง (Political Violence Insurance) เอาไว้

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 198 : ค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือการทุเลาความเสียหายชั่วคราว (Temporary Protection or Mitigation Costs) ผู้ใดควรต้องรับผิดชอบ?

 

เวลาเมื่อมีภัยคุกคามใกล้ตัวเข้ามา หรือเมื่อภัยนั้นได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ถ้าผู้เอาประกันภัยลงมือ

 

ก) กระทำการปกป้อง หรือป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้นมา หรือ

 

ข) กระทำการทุเลาลดความเสียหายที่เกิดขึ้นมาแล้ว มิให้ลุกลาม หรือขยายวงกว้างออกไป

 

ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่บังเกิดขึ้นในสองกรณีข้างต้น ทั้งก่อนเกิดความเสียหายกับหลังจากความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจะสามารถเรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยของตนได้ไหม?

 

นับเป็นประเด็นปัญหาชวนปวดหัว และยังมีข้อถกเถียงกันไม่จบสิ้น

 

นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศอีกเรื่องหนึ่ง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) หรือเรียกง่าย ๆ คือ กรมธรรม์ประกันภัยงานก่อสร้าง/งานติดตั้ง (CAR/EAR) นั่นเอง

 

ผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งรับจ้างเข้าทำโครงการแก้ไขปรับปรุงระบบระบายน้ำในหนองน้ำ (ponds) ที่อยู่ในสวนสาธารณะกับหน่วยงานรัฐ โดยมีทั้งการสร้างเขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราว (cofferdam) การจัดทำท่อลอดระบายน้ำใต้ดิน (culvert) เสริมเพิ่มเติม

 

ระหว่างการก่อสร้าง ได้มีฝนตกหนักลงมาส่งผลทำให้ระดับน้ำในหนองน้ำนั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันมิให้เขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวนั้นพังทลายลงจากแรงดันของน้ำ ตลอดจนเพื่อปกป้องมิให้บังเกิดความเสียหายลุกลามออกไปสร้างความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินอื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ผู้รับเหมารายนี้จำต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน ทั้งการรีบสูบน้ำระบายออก รวมถึงการสร้างค้ำยันกั้นเสริมความแข็งแรงให้แก่ผนังเขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวนั้นด้วย โดยที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นเงินกว่า 470,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือประมาณร่วม 12 ล้านบาท)

 

เนื่องด้วยผู้รับเหมารายนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) คุ้มครองงานตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวในส่วนที่หนึ่ง (Section I – Contract Works) และคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในส่วนที่สอง (Section II – Third Party Liability) กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้อยู่แล้ว โดยมีเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติมอีกสองฉบับแนบไว้ กล่าวคือ ฉบับแรกเป็นข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่าด้วยการลดระดับน้ำ (Dewatering Exclusion Clause) และฉบับที่สองเป็นการขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการป้องกันชั่วคราว (Temporary Protection Cost Extension Clause) สำหรับตัวงานก่อสร้าง

 

ครั้นเมื่อผู้รับเหมารายนี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยได้ไปยื่นเรื่องต่อบริษัทประกันภัยของตน เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ บริษัทประกันภัยแห่งนั้นยินดีจะชดใช้ให้เพียงเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดทำค้ำยันเท่านั้น ภายใต้การขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการป้องกันชั่วคราว แต่ส่วนที่เหลือได้ปฏิเสธไม่คุ้มครองให้ เนื่องด้วยตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นว่าด้วยการลดระดับน้ำ

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนะคดี ด้วยเหตุผลดังนี้

 

1) ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เรียกร้องมานั้นได้บังเกิดขึ้นเพื่อป้องกันความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

2) งานที่ได้กระทำอย่างเร่งด่วนนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายลุกลามออกไป

 

ทั้งหมดนี้ล้วนเข้าข้อตกลงคุ้มครองที่เขียนว่า “ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาการก่อสร้างจากสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งมิได้ถูกยกเว้นไว้ในที่นี้  

 

และไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่าด้วยการลดระดับน้ำ ซึ่งให้ความหมายถึงเพียงค่าใช้จ่ายโดยตรง เพื่อทำการลดระดับน้ำเท่านั้น

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยแห่งนั้นยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยจำแนกประเด็นออกมาได้ ดังนี้

 

(1) ประเด็นข้อตกลงคุ้มครอง

 

ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น หมายความถึง งานถาวร และงานชั่วคราวที่ได้กระทำขึ้นตามสัญญาว่าจ้างนั้น

 

ทั้งความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหาย ในที่นี้ ก็เพียงหมายความถึง เฉพาะในส่วนที่เป็นทางกายภาพเท่านั้น โดยที่จะคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยตรงในการแก้ไขทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเช่นว่านั้นได้กลับคืนสู่สภาพทางกายภาพที่ดีดังเดิมเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในการป้องกันด้วยการสร้างค้ำยันกั้นเสริมผนังเขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวนั้น ไม่ใช่มีลักษณะเช่นว่านั้น

 

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในประเด็นนี้

 

(2) ประเด็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการป้องกันชั่วคราว

 

ซึ่งมีข้อความเขียนว่า

 

การประกันภัยนี้จะขยายความคุ้มครองโดยอัตโนมัติถึงค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งได้เกิดขึ้นตามจำเป็น และตามสมควรแก่ผู้เอาประกันภัย หรือในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อ

 

(ก) จัดทำค้ำยัน (shoring up) ค้ำจุน (propping) เสริมฐานรองรับ (underpinning) หรือการป้องกันชั่วคราวอย่างอื่นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย....

(ข) ..............

 

อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายที่มีแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันได้รับความคุ้มครอง ....

 

ที่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า กรณีไม่เข้าข่ายข้อความข้างต้น เพราะยังไม่ได้เกิดความเสียหายทางกายภาพใด ๆ แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ เขื่อน/กำแพงดินกั้นน้ำชั่วคราวเลยนั้น

 

ขณะที่มีพยานผู้เชี่ยวชาญกลับระบุว่า ได้ตรวจพบร่องรอยการรั่วซึมตรงผนังกำแพงบางจุด ส่งผลทำให้จำต้องรีบเร่งดำเนินการเบี่ยงทางน้ำอย่างเร่งด่วน ประกอบระดับน้ำล้นบางจุดก็ทำให้เกิดการเซาะกร่อนพื้นผิวด้านบนของเขื่อนกั้นไปบ้างแล้วด้วย

 

ศาลอุทธรณ์จึงเห็นต่างว่า ได้ปรากฏมีความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นขึ้นมาบ้างแล้ว ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมฉุกเฉินนี้จึงอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองข้างต้น

 

(3) ประเด็นข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่าด้วยการลดระดับน้ำ

 

ข้อนี้มีถ้อยคำเขียนกว้าง ๆ ว่า

 

บริษัทประกันภัยจะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับการติดตั้งอุปกรณ์การลดระดับน้ำกับการใช้อุปกรณ์การลดระดับน้ำใด ๆ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดในการดำเนินการลดระดับน้ำ

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยถกเถียงว่า การลดระดับน้ำนั้นมีความหมายทั่วไป คือ การนำเอาน้ำออกไปจากจุดหนึ่ง หรือสิ่งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ก็มีลักษณะเช่นว่านั้น อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด

 

แต่ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่า การเบี่ยงเบนเส้นทางน้ำ หรือการผันน้ำ (diversion) ออกไปอีกจุดหนึ่งนั้นมีความหมายกว้างกว่านั้น ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่บังเกิดขึ้นนั้นจึงได้รับความคุ้มครอง และไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว

 

จึงพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Vero Insurance Ltd v. Australian Prestressing Services Pty Ltd [2013] NSWCA 181)

 

หมายเหตุ

 

คดีศึกษานี้ไม่ได้รับอนุมัติให้ไปต่อชั้นศาลฎีกา จึงสิ้นสุดแค่ชั้นศาลอุทธรณ์เท่านั้น โดยแนวทางตามหลักกฎหมายต่างประเทศทั่วไป มองว่า เป็นหน้าที่ตามปกติของผู้เอาประกันภัยอยู่แล้ว ในการปกป้อง/ป้องกันทรัพย์สินของตนเอง จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายเช่นว่านี้จากบริษัทประกันภัยได้ แต่บางศาลก็อาจตีความให้ได้บ้างเหมือนกัน คงต้องไปลุ้นเอา

 

ขณะที่หลักกฎหมายไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 บัญญัติว่า   

 

ผู้รับประกันภัยจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดั่งจะกล่าว ต่อไปนี้ คือ

 

(1) เพื่อจํานวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สิน ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการตามสมควร เพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควร ซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สิน ซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

 

อันจํานวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่ง เหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น

 

อนึ่ง จํานวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

 

เมื่อพิจารณาจาก ย่อหน้า (3) ข้างต้นเสมือนเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประเด็นนี้ด้วย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องร้องขอขยายความคุ้มครองเรื่องนี้เป็นพิเศษเสียก่อน

 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ก็ยังมีบางกลุ่มมีความเห็นต่างอยู่นะครับ

 

แนะนำว่า ควรขอเผื่อไว้ ไม่น่าจะเสียหลาย ส่วนเวลาเกิดเหตุขึ้นมาจริง จะสามารถเรียกร้องได้เบิ้ลหรือเปล่านั้น ค่อยไปว่ากันครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 197 : เมื่อการประกันภัยคุ้มครองการยกเลิกการเดินทางมีปัญหา (Trip Cancellation Insurance)? และสร้างความประหวั่นใจแก่บริษัทประกันภัยอย่างยิ่ง

 

กรมธรรม์ประกันภัยเดินทาง (Travel Accident Insurance Policy) ปัจจุบันได้มีการให้เลือกขยายความคุ้มครองเสริมเพิ่มเติมออกไปอย่างหลากหลาย เป็นต้นว่า การยกเลิก/การเลื่อน/การล่าช้าในการเดินทาง การลดจำนวนวันเดินทาง การพลาดต่อเที่ยวบิน กระเป๋าสัมภาระ/ทรัพย์สินส่วนตัว/เอกสารการเดินทาง ค่าโทรศัพท์ฉุกเฉิน ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ฯลฯ

 

อาจมีคำถามเกิดขึ้นได้ เวลาเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจริง จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้จริงแท้แค่ไหน?

 

ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้สามารถให้แนวคำตอบบางเรื่องได้

 

ในประเด็นปัญหาความคุ้มครองการยกเลิกการเดินทาง

 

นักเรียนรายหนึ่งได้เข้าร่วมโครงการเดินทางไปทัศนศึกษาต่างประเทศของโรงเรียน โดยได้ชำระค่ามัดจำ ค่างวด และค่าเบี้ยประกันภัยเดินทางไปแล้วบางส่วนก่อนวันเดินทางตามเงื่อนไข

 

ใกล้วันเดินทาง ปรากฏว่า นักเรียนรายนี้เริ่มมีอาการภาวะซึมเศร้า (depression) เป็นครั้งแรก ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันอาการ ซึ่งแพทย์ได้ยืนยันผล และเริ่มเข้ารับการรักษานับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษากับมารดา นักเรียนรายนี้จึงตัดสินใจยกเลิกการเดินทางไปทัศนศึกษาดังกล่าวในท้ายที่สุด

 

มารดาในฐานะผู้ปกครองของนักเรียนรายนี้ได้ไปยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามข้อตกลงคุ้มครองนี้จากบริษัทประกันภัยของตน แต่กลับถูกปฏิเสธโดยอ้างว่า กรณีนี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งเขียนว่า  

 

ไม่คุ้มครอง เมื่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นเกิดขึ้นทั้งโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมมาจากอาการความเจ็บป่วยทางจิตใจ (mental illness)

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลพิเศษ (Victorian Civil and Administrative Tribunal (VCAT)) เพื่อพิจารณา

 

ระหว่างการพิจารณาคดี ไม่มีประเด็นข้อโต้แย้งถึงความหมายของอาการความเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดคำนิยามเฉพาะอย่างชัดแจ้งว่า หมายความรวมถึงภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า?

 

โดยฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ต่อสู้ว่า การกระทำของบริษัทประกันภัยนั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ (Disability Discrimination Act) ซึ่งคนพิการนั้น หมายความถึง ผู้มีความบกพร่องทั้งทางร่ายกาย หรือทางจิตใจ และได้เรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม ในส่วนของความเสียหายทางการเงิน (economic loss) และความเสียหายทางด้านจิตใจจากความอัปยศอดสู (humiliation)

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า การปฏิเสธนี้ไม่ใช่ด้วยเหตุจากความพิการของผู้เอาประกันภัย แต่เป็นในเรื่องของข้อยกเว้นที่เขียนไว้

 

ศาลพิเศษวินิจฉัยว่า

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยมีความผิดโทษฐานฝ่าฝืนหลักกฎหมายดังกล่าว และสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย ทั้งในส่วนของผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท และในส่วนของความเสียหายทางการเงินกับจิตใจด้วย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Ingram v. QBE Insurance (Australia) Limited (Human Rights) [2015] VCAT 1936)

 

หมายเหตุ

 

คดีศึกษานี้ก่อให้เกิดคำถามอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อยกเว้นดังกล่าวก็ได้ผ่านการอนุมัติรับรองจากหน่วยงานกำกับควบคุมแล้ว

 

อันที่จริง หลักกฎหมายเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนได้บัญญัติทางออกให้แล้วว่า จะต้องมีพยานหลักฐานทางด้านสถิติกับทางด้านคณิตศาสตร์มาประกอบยืนยันด้วย แต่ในคดีนี้ที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยแพ้คดี เนื่องด้วยไม่ได้นำเสนอพยานหลักฐานมาประกอบเพื่อโน้มน้าวให้ศาลรับฟังเชื่อถือได้

 

ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายยังได้ช่วยลดความหวั่นวิตกของฝ่ายบริษัทประกันภัยอีกด้วยว่า คดีนี้เป็นคดีเฉพาะตัว มิได้หมายความถึงการกำหนดข้อยกเว้นเช่นนี้ล้วนถือเหมารวมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายบริษัทประกันภัยคงจำต้องใช้ความระมัดระวังอยู่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะก่อให้เกิดข้อพิพาททำนองนี้

 

สำหรับบ้านเรา ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้บัญญัติขึ้นมา แต่ก็ควรพึงระวังไว้บ้างก็ดีนะครับ

  

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/