วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 190 : ผลกระทบการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime on Sale of Goods)

 

ได้อ่านบทความเรื่องนี้แล้ว เห็นว่า น่าสนใจ และสามารถเชื่อมโยงกับการประกันภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime Insurance) ได้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

 

เรื่องนี้เป็นการซื้อขายกากเมล็ดทานตะวัน (sunflower meal) ข้ามประเทศ โดยมีบุคคลผู้เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกันสามฝ่าย ได้แก่

 

1) ผู้ขายอยู่ประเทศหนึ่ง ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า A

 

2) ผู้ซื้ออยู่อีกประเทศหนึ่ง ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า K

 

3) โดยมีนายหน้าเข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า V

 

สัญญาซื้อขายเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานของสมาคมการค้าธัญพืชและอาหารสัตว์ (Grain and Feed Trade Association (GAFTA)) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลผลประโยชน์ของผู้เข้าร่วมตลาดธัญพืช

 

ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายฉบับพิพาทได้กำหนดเงื่อนไขการชำระเป็นเงินสดผ่านทางธนาคารของผู้ซื้อ ต่อเมื่อได้รับสำเนาของเอกสารต้นฉบับต่าง ๆ รวมถึงใบกำกับสินค้าที่เกี่ยวข้องทางโทรพิมพ์ หรือด้วยการสแกนจากผู้ขายแล้วเท่านั้น

 

ครั้นเมื่อผู้ขาย A ได้จัดส่งสินค้าออกไป และได้จัดส่งใบกำกับสินค้านั้นทางอีเมลผ่านทางนายหน้า V เพื่อให้ส่งต่อไปถึงผู้ซื้อ K โดยที่ในใบกำกับสินค้านั้นให้รายละเอียดบัญชีของผู้ขาย A เป็นที่ธนาคารแห่งหนึ่ง สาขานิวยอร์ก พร้อมยอดเงินทั้งหมดที่จะต้องชำระ คือ 1,167,900 ดอลลาร์สหรัฐ

 

นายหน้า V ก็ทำหน้าที่ของตนด้วยการอีเมลส่งต่อ พร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นไปถึงผู้ซื้อ K

 

อย่างไรก็ตาม ปรากฏในการตรวจสอบภายหลัง เอกสารเหล่านั้นซึ่งผู้ซื้อ K ได้รับมา และเชื่อว่า ถูกนำส่งจากนายหน้า V กลับระบุรายละเอียดบัญชีของผู้ขาย A เป็นที่ธนาคารแห่งเดียวกัน แต่เป็นสาขากรุงลอนดอนแทน

 

เนื่องด้วยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ใดควรต้องรับผิดชอบ แต่ข้อมูลที่ปรากฏนั้นมีความชัดเจนว่า เอกสารที่ถูกส่งผ่านทางอีเมลบางฉบับได้ถูกคนร้ายแอบแฮ็ก และเข้าไปแก้ไขปลอมแปลง หรือสลับเปลี่ยนบัญชีนั้นให้เป็นบัญชีของคนร้ายนั้นแทน

 

ถึงแม้ผู้ซื้อ K หลงเชื่อโดยสุจริต และได้สั่งจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดไปที่บัญชีปลอมนั้นแล้วก็ตาม แต่โชคดีที่ล่วงรู้ และสามารถสั่งระงับการสั่งจ่ายเงินจำนวนนั้นออกไปจากสาขากรุงลอนดอนได้อย่างทันท่วงที

 

เมื่อผู้ซื้อ K ได้ดำเนินการโอนเงินจำนวนนั้นกลับให้ไปเข้าสู่บัญชีที่ถูกต้องของผู้ขาย A ปรากฏยอดเงินขาดคงค้างอยู่อีกประมาณ 161,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องด้วยเหตุของการเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน กล่าวคือ ยอดเงินที่จะต้องชำระทั้งหมดซึ่งเป็นสกุลดอลลาร์นั้นได้ถูกโอนไปเข้าสู่บัญชีปลอมของคนร้ายที่ประเทศอังกฤษเบื้องต้นแล้ว พอตรวจเจอความผิดปกติ และแก้ไขด้วยการโอนยอดเงินนั้นไปสู่บัญชีที่ถูกต้อง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จำต้องนำยอดเงินนั้นที่อยู่ประเทศอังกฤษไปแปลงค่าเงินจากสกุลเงินปอนด์กลับไปเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเสียก่อนเป็นรอบที่สอง

 

ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นมาว่า จำนวนเงินที่ขาดหายจากการแปลงสกุลเงินดังกล่าว ผู้ใดควรจะต้องรับผิดชอบ?

 

ผู้ซื้อ K หรือเปล่า?

 

แน่นอน ผู้ซื้อ K ตอบปฏิเสธทันทีว่า ตนได้ทำหน้าที่ชำระยอดเงินที่จะต้องจ่ายอย่างครบถ้วนไปแล้วตามข้อตกลง ทั้งตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนร้ายรายนี้แต่ประการใด

 

ความโชคร้ายที่บังเกิดแก่ผู้ขาย A เนื่องด้วยจำนวนเงินที่ขาดหายจากการแปลงสกุลเงินดังกล่าว ผู้ขาย A จำต้องรับไปเอง หรืออาจไปเรียกร้องจากคนร้าย หากสามารถติดตามได้

 

ขณะที่ผู้ขาย A คงยืนกรานให้ผู้ซื้อ K ชำระยอดเงินที่ขาดหายไปให้ครบถ้วนตามภาระผูกพัน หรืออาจไปเรียกร้องจากคนร้าย หากสามารถติดตามได้

 

ข้อพิพาทนี้ได้ถูกนำสู่คณะอนุญาโตตุลาการขององค์การ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

 

คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ว ไม่สามารถค้นหาได้ว่า เหตุแห่งการฉ้อฉลครั้งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ทำให้จำต้องมาพิจารณาถึงภาระผูกพันตามข้อสัญญาฉบับพิพาทเป็นเกณฑ์

 

ข้อสัญญาฉบับพิพาทระบุให้ผู้ซื้อ K มีหน้าที่ชำระยอดเงินตามที่ตกลงกันเข้าสู่บัญชีธนาคารของผู้ขาย A เมื่อผู้ซื้อ K ทำหน้าที่ชำระยอดเงินนั้นไปบ้างแล้ว แต่เมื่อยังไม่ครบถ้วน ก็จะต้องกระทำการชำระต่อไปให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป

 

ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ซื้อ K ที่ว่า ตนได้ทำการชำระครบถ้วนผ่านทางธนาคารที่ผู้ขาย A กำหนดไว้แล้ว แต่ไม่รับรองว่า ธนาคารนั้นจะดำเนินการต่อไปจนถึงมือของผู้ขาย A เช่นไรต่อไปนั้น

 

คณะอนุญาโตตุลาการไม่รับฟัง เพราะในแนวทางปฏิบัติของการซื้อขาย เป็นไปไม่ได้ที่จะเพียงกล่าวอ้างว่า ได้สั่งจ่ายเงินถูกต้องแก่ธนาคารที่กำหนดแล้ว โดยปราศจากการตรวจทานถึงรายละเอียดบัญชีที่ถูกต้องกับตัวผู้รับชำระเงินที่ชัดเจนอีกชั้นหนึ่ง

 

ฉะนั้น การสั่งจ่ายยอดเงินโดยผิดเลขบัญชี จึงไม่ถือว่า ผู้ซื้อ K ได้กระทำหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว

 

วินิจฉัยให้ผู้ซื้อ K ชำระยอดเงินที่คงค้างนั้นให้แก่ผู้ขาย A จนครบถ้วนต่อไป

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากบทความ The Impact of Cybercrime on Sale of Goods Dispute โดย nicholas.wasler@gateleyplc.com)   

  

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 189 : บทเรียนความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance) ที่สำคัญ สำหรับบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ (Holding Company) สืบเนื่องมาจากเหตุมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554

 

ด้วยความตั้งใจแรกเริ่ม กรณีตัวอย่างคดีศึกษาของไทยจะถูกนำไปกล่าวถึงในอีกชุดบทความหนึ่งแยกต่างหาก แต่เนื่องจากตัวอย่างคดีศึกษานี้มีเรื่องราวค่อนข้างยาว ไม่เหมาะแก่พื้นที่ของ Facebook นัก จึงขอโยกนำมาลงในบล็อกนี้แทน

 

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในบ้านเราคราวนั้น แม้จะผ่านมาแล้วร่วมสิบกว่าปี แต่เชื่อว่า หลายท่านคงยังพอจดจำ และระลึกถึงได้

 

ทางด้านผลกระทบวงการประกันภัยก็มีอยู่มากมาย แต่ดูแล้วไม่ใคร่ปรากฏเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลให้พบเห็น และศึกษามากมายนัก อาจเป็นเพราะถูกนำเสนอเป็นคดีต่อคณะอนุญาโตตุลาการซะเป็นส่วนใหญ่หรือเปล่า? ไม่ใคร่แน่ใจนัก

 

กระทั่งล่าสุด ก็พบเจอแนวคำพิพากษาศาลฎีกาของเหตุการณ์ครานั้นออกมาให้ศึกษากัน แถมเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักข้าไปอีก ส่วนตัวพบเห็นนับได้เป็นคดีที่สองซึ่งเกี่ยวกับการประกันภัยประเภทนี้

 

ตัวอย่างคดีศึกษานี้ค่อนข้างย่อยาวมากพอสมควร ขอให้พยายามอดทนอ่านไปก็แล้วกัน เพราะให้บทเรียนที่น่าสนใจหลายเรื่อง หลายประเด็นได้มากเหมือนกัน สำหรับผู้ใฝ่รู้ทั้งหลาย แม้อาจขาดรายละเอียดการคำนวณค่าสินไหมทดแทนไปก็ตาม เป็นต้นว่า

 

1) ประเด็นของผู้เอาประกันภัย ต้องถูกระบุชื่อ และต้องชำระเบี้ยประกันภัยด้วยไหม?

 

2) ประเด็นส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย

 

3) ประเด็นสิทธิ และหน้าที่ของผู้รับประโยชน์

 

4) ประเด็นความสำคัญของถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยกับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

5) ประเด็นเงื่อนไขการขยายความคุ้มครองถึงผู้จัดส่งสินค้า (Suppliers’ Extension Clause)

 

6) ความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือด้วยกันเอง

 

7) การจัดทำประกันภัยข้ามชาติ สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ

 

เนื่องด้วยคู่ความเป็นธุรกิจขนาดใหญ่กันทั้งสองฝ่าย ล้วนต่างมีเดิมพันด้วยวงเงินค่าสินไหมทดแทนค่อนข้างสูง จึงนับเป็นอุทาหรณ์ที่ควรค่าแก่ศึกษาไม่น้อยเลยนะครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2565

 

โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ฟ้อง และแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลย (บริษัทประกันภัย) ชำระเงิน 41,021,240.94 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) โดยคำนวณเป็นสกุลเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

จำเลย (บริษัทประกันภัย) ให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 

โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายรถยนต์ จำเลย (บริษัทประกันภัย) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาในประเทศไทย โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และบริษัท ส. ทำสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัท ต. เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อ. จังหวัดระยอง จำเลย (บริษัทประกันภัย) เป็นผู้เคยค้ากับกลุ่มบริษัทโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มาก่อนเกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุพิพาท จำเลย (บริษัทประกันภัย) เป็นผู้รับประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงัก โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ให้ความคุ้มครองในวงเงิน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ระบุชื่อธนาคาร พ. ในฐานะตัวแทนหลักประกันเป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งมีข้อตกลงให้ใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับแก่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ อีกทั้งบรรดาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เอาประกันภัย และผู้รับประกันภัยให้อยู่ภายใต้อำนาจของศาลในประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2554 เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว โดยไม่สามารถผลิต และจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์ จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ได้ จำเลย (บริษัทประกันภัย) ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่บริษัท ต. โดยนำเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยแล้ว รวม 57,964,961 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลย (บริษัทประกันภัย) จะชนะคดีในศาลชั้นต้นก็ตาม จำเลย (บริษัทประกันภัย) ก็ยังมีสิทธิที่จะตั้งประเด็นชั้นอุทธรณ์ ในส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ ซึ่งจำเลย (บริษัทประกันภัย) โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน โดยจำเลย (บริษัทประกันภัย) โต้แย้งว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้กระทำโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และเป็นเอกสารที่ทำขึ้นในต่างประเทศ โดยไม่มีกงสุลสยาม หรือเจ้าหน้าที่สถานทูตรับรองความถูกต้องนั้น เห็นว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีนาย ด. (Mr. D) รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันภัยองค์กรของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ. 61 และ จ. 62 โดยจำเลย (บริษัทประกันภัย) มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) นำสืบว่า นาย บ. (Mr. B) ซึ่งเป็นเลขานุการบริษัทโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ออกหนังสือรับรองว่า นาย ร. หรือริค (Mr. R or Rick) เป็นทนายความของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) สามารถมอบอำนาจให้แก่ที่ปรึกษาภายนอกทำการฟ้องคดีในนามของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ได้ ต่อมานาย ร. หรือริคมอบอำนาจให้นาย ร. เป็นที่ปรึกษาภายนอก สำหรับการฟ้องคดีนี้ในนามของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) แล้วต่อมา นาย ร. ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความ เพื่อแต่งให้นาย ภ. เป็นทนายโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งลงลายมือชื่อในคำฟ้องในการยื่นฟ้องคดีนี้ แม้เอกสารหมาย จ. 61 และ จ. 62 จะได้ทำขึ้นในมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นเอกสารต้นฉบับซึ่งมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองในเอกสารดังกล่าวไว้ด้วย และแม้เอกสารดังกล่าวจะไม่มีใบสำคัญของรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงว่า ผู้ที่เป็นพยานรับรองนั้นเป็นเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลย (บริษัทประกันภัย) ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง กรณีย่อมไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า เอกสารดังกล่าวจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ใบมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องทำตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม และไม่จำต้องมีกงสุลสยาม หรือเจ้าหน้าที่สถานทูตรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) อ้างในคำแก้อุทธรณ์อีกว่า เอกสารหมาย จ. 61 ระบุว่า นายริคมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เฉพาะคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่คดีนี้มีทุนทรัพย์เริ่มต้น คือ 69,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกินกว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้จำเลย (บริษัทประกันภัย) จะมิได้ยกเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ และถือได้ว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องการตีความหนังสือมอบอำนาจซึ่งได้แนบมาท้ายคำฟ้องด้วยนั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลย (บริษัทประกันภัย) สามารถยกขึ้นอ้างในคำแก้อุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อตามเอกสารหมาย จ. 61 ให้อำนาจในการฟ้องคดีแทนโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) โดยมิได้จำกัดจำนวนทุนทรัพย์ไว้ แต่ที่มีการระบุจำนวนเงินในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำใด ๆ การฟ้องร้อง และการดำเนินคดี ข้อ 11 (2) ว่า จะต้องไม่เกิน 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐนั้นหมายถึง จำนวนเงินที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จะได้รับชำระในการทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท (Settlement) กับผู้ที่ถูกโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ฟ้องคดีเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการฟ้องคดีแทนโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) นายริคย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และมอบอำนาจให้นาย ร. ฟ้องคดีนี้ได้ โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จึงมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ประการต่อมาว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จำเลย (บริษัทประกันภัย) ผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทหรือไม่ เพียงใด ในข้อนี้เห็นควรพิจารณาปัญหาว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นผู้เอาประกันภัยหรือไม่ โดยโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ฎีกาว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เป็นคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) และเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีนาย ด. (Mr. D) รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันภัยองค์กรของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มาเบิกความว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ประกอบธุรกิจทั่วโลก เดิมธุรกิจทั้งหมดของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) รวมทั้งบริษัท ต. ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture Company : JVC) ที่จัดตั้งขึ้นตามสัญญาร่วมทุนระหว่างโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และบริษัท ส. ล้วนได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด ซึ่งกำหนดความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองเป็นจำนวนหนึ่ง ในปี 2542 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตามสัญญาร่วมทุนต้องการที่จะจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับท้องถิ่น เพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึงความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดด้วย ทำให้มีการเจรจาเพื่อจัดทำกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด ซึ่งให้ความคุ้มครองสำหรับกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน (Property Damage) รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption) และภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง (Contingent Business Interruption) ซึ่งจำเลย (บริษัทประกันภัย) ตกลงเป็นผู้รับประกันภัยเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2554 จำเลย (บริษัทประกันภัย) ออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ซึ่งแผ่นที่ระบุว่า หน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ระบุว่า ผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยบริษัท ต. โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 และให้ความคุ้มครองในวงเงิน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลานั้น ผู้รับประกันภัยรายอื่นได้ตกลงรับประกันภัยธุรกิจของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ทั้งหมดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด ซึ่งระบุว่า ผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีอำนาจควบคุมกิจการได้ โดยมีการให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง ในวงเงิน 1,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นความคุ้มครองสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 และมีการกำหนดความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง (DEDUCTIBLES) เป็นจำนวน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีนาง ป. ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินอาเซียนของบริษัท ป. และเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มาเบิกความว่า บริษัท ต. เป็นผู้รับบริการหลายประเภทจากบริษัท ป. และบริษัท ซ. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ถือหุ้นในบริษัททั้งสองเป็นจำนวนร้อยละ 99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยบริษัท ป. ยังเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารเงินด้วย ซึ่งการบริหารเงินนี้ รวมถึงการจัดหากรมธรรม์ประกันภัยฉบับท้องถิ่น ซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดให้แก่บริษัท ต. โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนาย ด. (Mr. D) และมีการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับท้องถิ่นเป็นครั้งแรก ในปี 2544 ซึ่งในขณะนั้น โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด และมีอำนาจบริหารกิจการของบริษัท ส. ต่อมาปี 2553 โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ขายหุ้นดังกล่าว และไม่มีอำนาจบริหารกิจการของบริษัท ส. อีกต่อไป การจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับท้องถิ่นกระทำโดยวิธีการประมูลราคา ซึ่งจำเลย (บริษัทประกันภัย) จัดทำใบเสนอราคาส่งมาให้ทุกปี และนาย ด. (Mr. D) เป็นผู้อนุมัติการจัดซื้อทุกครั้ง สำหรับการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 จำเลย (บริษัทประกันภัย) ได้รับหนังสือเชิญให้ทำการเสนอราคาตามสำเนาหนังสือเชิญ ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2554 จำเลย (บริษัทประกันภัย) ส่งใบเสนอราคาซึ่งระบุด้วยว่า ผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยบริษัท ต. โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่ง โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ จนกระทั่งมีการอนุมัติให้จัดซื้อ และชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) และมีนาย จ. หรือจอห์นนี่ (Mr. J or Johnnie) ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทั่วไป ส่วนบริหารฝ่ายวางแผนและการเงินของบริษัท ต. ระหว่างปี 2552 ถึงปี 2556 มาเบิกความว่า บริษัท ต. เป็นกิจการที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และบริษัท ส. ใช้เงินลงทุนร่วมกันประมาณ 2,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในการประกอบกิจการดังกล่าว จะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปยังโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และบริษัท ส. หรือมีการผลักภาระค่าใช้จ่ายผ่านทางราคาซื้อขายรถยนต์ที่ผลิตได้ เป็นวิธีการที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัท ส. และบริษัท ต. ตกลงกัน ซึ่งเรียกว่า วิธีการเรียกคืนเงินทุนที่เสียไป (Return on Capital Employed หรือ ROCE) แม้บริษัท ต. จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) แต่ก็ได้รับชำระคืนตามวิธีการดังกล่าวเช่นกัน ส่วนจำเลย (บริษัทประกันภัย) มีนาง ร. รองประธานอาวุโสของจำเลย (บริษัทประกันภัย) ซึ่งมีหน้าที่พิจารณารับประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน และธุรกิจหยุดชะงัก มาเบิกความว่า ในการพิจารณารับประกันภัยนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลว่า ทรัพย์สินใดจะมีการเอาประกันภัยไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัย และจะให้คุ้มครองถึงกรณีธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งหากจะให้จำเลย (บริษัทประกันภัย) รับประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงัก ก็จะต้องเอาประกันภัยทรัพย์สินกับจำเลย (บริษัทประกันภัย) ด้วย สำหรับการคำนวณเบี้ยประกันภัยจะพิจารณาจากประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัย และความเสี่ยงจากลักษณะการประกอบกิจการของผู้เอาประกันภัย และหากเป็นการรับประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงักสำหรับกำไรขั้นต้น ก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกำไรขั้นต้นของผู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัย เพื่อประกอบการพิจารณารับประกันภัย และคำนวณเบี้ยประกันภัยด้วย เบี้ยประกันภัยที่คำนวณได้จะกำหนดเป็นร้อยละของมูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้นที่มีการเปิดเผย (Declared Values) ซึ่งจะต้องไม่เกินร้อยละ 2.5 ของจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อปี เมื่อปี 2544 บริษัท ต. เป็นผู้ขอเอาประกันภัยทรัพย์สิน และกรณีธุรกิจหยุดชะงักกับจำเลย (บริษัทประกันภัย) ซึ่งมีการออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัทดังกล่าวระหว่างปี 2544 ถึงปี 2553 เมื่อปี 2554 จำเลย (บริษัทประกันภัย) ได้รับหนังสือเชิญจากบริษัทดังกล่าว ให้ทำการเสนอราคาสำหรับการประกันภัย ซึ่งมีการแสดงมูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้นของบริษัทดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีการแสดงมูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้นของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หรือบริษัทย่อยของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เมื่อจำเลย (บริษัทประกันภัย) ทำการเสนอราคาแล้ว บริษัทดังกล่าวส่งหนังสือแจ้งว่า ตกลงตามรายละเอียด และเงื่อนไขที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) เสนอ โดยที่ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในเอกสารดังกล่าว จำเลย (บริษัทประกันภัย) ออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ซึ่งมีการระบุชัดเจนว่า บริษัทดังกล่าวเป็นผู้เอาประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท และบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) ต่อมามีการออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัทดังกล่าวระหว่างปี 2555 ถึงปี 2558 โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ไม่มีความเสี่ยงที่จะเอาประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงักในประเทศไทยกับจำเลย (บริษัทประกันภัย) เนื่องจากโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ไม่ได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำเลย (บริษัทประกันภัย) ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน และธุรกิจของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในต่างประเทศได้ และมีนาย ไดฯ (Mr. Dai) ซึ่งเคยเป็นรองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดของจำเลย (บริษัทประกันภัย) ระหว่างปี 2552 ถึงปี 2558 และเป็นผู้รับหนังสือเชิญ ให้จำเลย (บริษัทประกันภัย) เสนอราคาสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มาเบิกความว่า ผู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัยตามหนังสือเชิญดังกล่าว คือ บริษัท ต. มิใช่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หรือบริษัทย่อยของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งมีการแสดงมูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้นเฉพาะของบริษัท ต. เท่านั้น เพื่อใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท และระบุด้วยว่า จะต้องมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด สาเหตุที่ปรากฏชื่อของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และบริษัทย่อยของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ก็เพื่อทำให้คล้ายคลึงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด เป็นการคัดลอกข้อความมาใส่ไว้โดยผิดพลาด ซึ่งความจริงแล้ว ควรจะต้องแก้ไขให้ระบุว่า บริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว และมีนายอัตฯ (Mr. At) ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทั่วไปของแผนกกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท ส. ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุน รวมทั้งบริษัท ต. ระหว่างปี 2553 ถึงปี 2555 และเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน (Chief Financial Officer หรือ CFO) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (Executive Vice President) ของบริษัท ต. ระหว่างปี 2556 ถึงปี 2559 มาเบิกความว่า บริษัท ต. ชำระเบี้ยประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทในนามของตนเอง และบริษัท ส. ไม่เคยได้รับการร้องขอให้ชำระเบี้ยประกันภัยดังกล่าว และมีนาย ว.  รองประธานกรรมการบริหารอาวุโสของจำเลย (บริษัทประกันภัย) และเป็นผู้ลงนามในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มาเบิกความว่า เมื่อปี 2552 ถึงปี 2553 เกิดเหตุลูกจ้างของบริษัท ต. นัดหยุดงาน บริษัทดังกล่าวเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กรณีธุรกิจหยุดชะงักจากจำเลย (บริษัทประกันภัย) แต่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ไม่เคยเรียกร้อง หรืออ้างว่า เป็นผู้เอาประกันภัย ทั้งที่กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว มีเนื้อหาคล้ายกับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท และในการต่ออายุการประกันภัยแต่ละปีนั้น จำเลย (บริษัทประกันภัย) ไม่เคยติดต่อโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หรือบริษัทย่อยของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หากบริษัท ต. เป็นผู้ทดรองจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความรับผิด ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และบริษัทย่อยของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มิได้เป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เห็นว่า สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อ้างว่า เป็นไปตามเอกสารหมาย จ. 1 ส่วนจำเลย (บริษัทประกันภัย) อ้างว่า เป็นไปตามเอกสารหมาย ล. 2 ซึ่งปรากฏว่า เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว มีส่วนที่ตรงกัน คือ รายละเอียดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารแผ่นที่ระบุว่า หน้า 1 จากทั้งหมด 44 หน้า เป็นปกของรายละเอียดเงื่อนไขดังกล่าว แผ่นที่ระบุว่า หน้า 2 ถึงหน้า 4 จากทั้งหมด 44 หน้า เป็นรายละเอียดเงื่อนไขในส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) จัดทำขึ้น และแผ่นที่ระบุว่า หน้า 5 ถึงหน้า 44 จากทั้งหมด 44 หน้า เป็นรายละเอียดเงื่อนไข ในส่วนที่อ้างอิงมาจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด แต่เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวมีส่วนที่แตกต่างกัน คือ เอกสารหมาย จ. 1 แผ่นแรก เป็นปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับ ซึ่งไม่มีตารางกรมธรรม์ประกันภัยแนบมาด้วย ส่วนเอกสารหมาย ล. 2 แผ่นแรก เป็นตารางกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งไม่มีปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับติดมาด้วย เมื่อจำเลย (บริษัทประกันภัย) รับในคำแก้ฎีกาว่า ปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นแรก เป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวมีข้อความระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มีตารางกรมธรรม์ประกันภัยแนบมาด้วย ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล. 2 แผ่นแรกนั้น โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ก็มิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับประกอบไปด้วยปกของกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นแรก ตารางกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย ล. 2 แผ่นแรก ปกของรายละเอียดเงื่อนไข และรายละเอียดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทตามเอกสารหมาย จ. 1 หรือ ล. 2 แผ่นที่ระบุว่า หน้า 1 ถึงหน้า 44 จากทั้งหมด 44 หน้า เมื่อปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับ เอกสารหมาย จ. 1 แผ่นแรก มีข้อความระบุด้วยว่า กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งรวมถึงตารางกรมธรรม์ประกันภัยนั้น อยู่ภายใต้ข้อกำหนด ข้อยกเว้น และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย หรือที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น ในการพิจารณาว่า บุคคลใดเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท จึงต้องพิจารณาจากกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับ แม้ตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล. 2 แผ่นแรก จะระบุว่า บริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัย แต่รายละเอียดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นที่ระบุว่า หน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ระบุชื่อผู้เอาประกันภัย (Insured Name) ประกอบไปด้วย บริษัท ต. โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจึงระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ผู้เอาประกันภัย (Insured Name) หมายถึงบุคคลใด ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท จึงมิได้มีเพียงบริษัท ต. เท่านั้นแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบอ้างว่า บริษัท ต. เป็นผู้ออกหนังสือเชิญให้จำเลย (บริษัทประกันภัย) ทำใบเสนอราคา สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มิใช่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) นั้น ได้ความตามหนังสือเชิญว่า นาง ป. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทได้ออกหนังสือเชิญดังกล่าว โดยมีข้อความระบุว่า บริษัท ต. ขอเชิญให้จำเลย (บริษัทประกันภัย) ทำการเสนอราคาสำหรับจัดทำกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดที่แนบมาด้วย ซึ่งเอกสารที่แนบดังกล่าวก็ระบุว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย การออกหนังสือเชิญดังกล่าว จึงเป็นการแสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งแล้วว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจะต้องให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในฐานะผู้เอาประกันภัยด้วย ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบอ้างว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มิได้เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้น ซึ่งจำเป็นต่อการพิจารณารับประกันภัย และคำนวณเบี้ยประกันภัยนั้น เมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยฉบับก่อนเกิดเหตุตั้งแต่ปี 2544 ถึงช่วงเกิดเหตุปี 2554 ถึง 2555 ต่อเนื่องถึงปี 2558 ตามข้อ 3. ที่ระบุจำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างกัน ตั้งแต่ยอดเงิน 4.4 พันล้านบาท ถึง 140.304 พันล้านบาท โดยปี 2554 ซึ่งเป็นปีเกิดเหตุอุทกภัย ระบุจำนวนเงินเอาประกันภัย 71.285 พันล้านบาท จึงเชื่อว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และกลุ่มบริษัทในเครือโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีการเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้น เพื่อแสดงยอดเงินที่จะเอาประกันภัยแล้ว มิฉะนั้น จำเลย (บริษัทประกันภัย) จะได้ยอดเงินเอาประกันนับหมื่นล้านบาท ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยที่แตกต่างกันแต่ละปีจากแห่งใด ทั้งเมื่อหนังสือเชิญเป็นการแสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจะต้องให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในฐานะผู้เอาประกันภัยด้วย แม้จะปรากฏหลักฐานว่า จำเลย (บริษัทประกันภัย) เคยแจ้งให้ผู้ออกหนังสือเชิญดังกล่าวเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้นของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารับประกันภัย และคำนวณเบี้ยประกันภัยก่อนตกลงทำสัญญาประกันภัยหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลย (บริษัทประกันภัย) ได้ออกใบเสนอราคาสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เช่นนี้ ย่อมต้องถือว่า มูลค่าทรัพย์สิน และกำไรขั้นต้นของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มิใช่ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับจำเลย (บริษัทประกันภัย) ในการพิจารณาก่อนที่จะรับประกันภัย และคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท หรือข้อมูลที่ปรากฏตามหนังสือเชิญ เป็นข้อมูลเพียงพอที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) จะรับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยได้แล้ว ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบอ้างว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีการคัดลอกข้อความมาจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดโดยผิดพลาด ซึ่งความจริงแล้วควรจะต้องแก้ไขให้ระบุว่า บริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัยแต่เพียงผู้เดียวนั้น เมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) เคยออกให้ในปี 2544 ถึงปี 2553 ซึ่งจำเลย (บริษัทประกันภัย) มิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นแล้ว ปรากฏว่า มีการระบุว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่า มีการปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลานาน ก่อนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) จะออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแล้ว แม้เอกสารหมาย ล. 29 ถึง ล. 42 ของจำเลย (บริษัทประกันภัย) จะเป็นเพียงตารางหน้ากรมธรรม์แผ่นแรกเพียงแผ่นเดียว แต่จำเลย (บริษัทประกันภัย) ไม่แสดงถึงเอกสารแนบท้าย (ATTACHED) ใด ๆ ทั้งที่มีการระบุถึงเอกสารแนบท้ายในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า มีเอกสารระบุรายละเอียดอื่นอีกมาก มิใช่กรมธรรม์ประกันภัยมีเพียงตารางกรมธรรม์ประกันภัยแผ่นแรกแผ่นเดียว นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประกอบความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจประกันภัยของจำเลย (บริษัทประกันภัย) มานานกว่า 95 ปี ตามคำให้การจำเลย (บริษัทประกันภัย) ย่อมเป็นการยากที่จะมองว่า เป็นการคัดลอกข้อความมาโดยผิดพลาด ทั้งเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) เองลงนามยืนยันรับรองข้อความไว้ด้วย เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยมืออาชีพด้านการประกันภัยเช่นจำเลย (บริษัทประกันภัย) ที่จะจัดพิมพ์สัญญาในส่วนสาระสำคัญผิดพลาด ทั้งเมื่อพิจารณาตามรายชื่อพื้นที่ และประเทศต่าง ๆ ของธุรกิจโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในเงื่อนไขความคุ้มครอง เช่น เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ตุรกี ญี่ปุ่น อิตาลี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกา เยอรมนี ซึ่งตามกรมธรรม์พิพาทแผ่นที่ระบุหน้า 5 และ 6 จาก 44 หน้า มีรายละเอียดเหมือนเอกสารใบเสนอรับทำสัญญา และต่างจากใจความในเอกสารเชิญชวนก่อนหน้า แสดงว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทผ่านการตรวจสอบคัดกรองถ้อยคำจากจำเลย (บริษัทประกันภัย) แล้ว จึงเชื่อว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จำเลย (บริษัทประกันภัย) มีเจตนาที่จะทำสัญญาประกันภัยพิพาทให้มีผลผูกพันกันมาแต่แรก ซึ่งมิใช่ให้เฉพาะบริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัย มิฉะนั้น ก็อาจทำสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลย (บริษัทประกันภัย) ดังเช่นกรมธรรม์ประกันภัยตามที่ปรากฏในปีหลังเกิดเหตุปี 2556 ถึง 2559 ที่ระบุชื่อผู้เอาประกันภัยอย่างชัดเจนว่า หมายถึงบริษัท ต. เท่านั้น ต่างจากปี 2554 ถึง 2555 ที่เกิดเหตุพิพาท หรือปีก่อนหน้า ทั้งแต่ละปีก็มีเนื้อหารายละเอียดต่างกัน บ่งชี้ว่า มีการเจรจากำหนดเนื้อหาสัญญาระหว่างคู่สัญญา มิใช่ทำแบบสัญญาสำเร็จรูป แต่มีการต่อรองในการบริหารความเสี่ยงซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาค โดยผ่านการตรวจสอบ และกำหนดนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทั้งการระบุความเป็นผู้เอาประกันภัย ลูกค้า หรือผู้จัดส่งสินค้า (SUPPLIER) และกำหนดปัจจัยที่สำคัญอื่น เช่น พื้นที่เสี่ยงภัย ทรัพย์สิน และกิจกรรมที่มีธุรกิจสัมพันธ์กันในฐานการผลิตของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในประเทศไทย จึงปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละปี รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับทางนำสืบโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ที่แสดงถึงรายละเอียดในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เปรียบเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอื่นที่ชี้ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จำเลย (บริษัทประกันภัย) เป็นผู้เคยค้ากันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำในปีอื่น และเป็นข้อสนับสนุนถึงเจตนาของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จำเลย (บริษัทประกันภัย) ว่า เจตนาจะผูกพันกันตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบอ้างว่า บริษัท ต. เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น จำเลย (บริษัทประกันภัย) ระบุในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นแรกว่า บริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัย การที่บริษัท ต. ชำระเบี้ยประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) จึงมิใช่เรื่องผิดปกติ เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นที่ระบุว่า หน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ระบุชัดเจนว่า ผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยบริษัท ต. โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ ก็ต้องถือว่า ผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ทั้งหมดเป็นคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 และ 862 และเมื่อได้ความว่า จำเลย (บริษัทประกันภัย) ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์พิพาทจากบริษัท ต. ครบถ้วนแล้ว คู่สัญญาฝ่ายผู้เอาประกันภัยก็ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) อีก ทั้งต้องถือว่า จำเลย (บริษัทประกันภัย) ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยทั้งหมดที่มีชื่อระบุไว้แล้ว หาใช่ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยจากบริษัท ต. แต่เพียงผู้เดียว ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบอ้างว่า หากบริษัท ต. เป็นผู้ทดรองจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) แล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ข้อที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของจำเลย (บริษัทประกันภัย) เอง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อความเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ทั้งเป็นเรื่องภายในของฝ่ายผู้เอาประกันภัยด้วยกัน เมื่อจำเลย (บริษัทประกันภัย) ตกลงรับเบี้ยประกันภัย และได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแล้ว ย่อมมีผลบังคับผูกพันระหว่างจำเลย (บริษัทประกันภัย) กับผู้เอาประกันภัยทั้งหมดมีชื่อระบุไว้ ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบอ้างว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กรณีธุรกิจหยุดชะงักจากกรณีลูกจ้างของบริษัท ต. นัดหยุดงานเมื่อปี 2552 ถึงปี 2553 ในฐานะผู้เอาประกันภัยนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า บริษัท ต. เท่านั้นที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) นำสืบอ้างว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ไม่มีความเสี่ยงที่จะเอาประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงัก เนื่องจากไม่ได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) อ้างในคำแก้ฎีกาว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเป็นทรัพย์สินของบริษัท ต. ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดนั้น ได้ความตามที่พยานโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ปากนาย ด. (Mr. D) เบิกความ โดยจำเลย (บริษัทประกันภัย) มิได้นำสืบให้เห็นเป็นประการอื่นว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ประกอบธุรกิจทั่วโลก และในข้อที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) อ้างเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยทั้ง 4 แห่ง ตามที่ระบุไว้ในแผ่นที่ระบุว่าหน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ก็เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับความคุ้มครองต่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความคุ้มครองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงัก และภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง ซึ่งมีการระบุไว้ในแผ่นที่ระบุว่า หน้า 7 จากทั้งหมด 44 หน้าว่า มีอาณาเขตความคุ้มครองทั่วโลก เว้นแต่ต้องด้วยข้อยกเว้นบางประการเท่านั้น ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) อ้างอีกว่า ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2558 ของเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในฐานะนายทะเบียน กำหนดนิยามคำว่า ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคล หรือนิติบุคคลตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 16/2555 ของเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในฐานะนายทะเบียน กำหนดนิยามคำว่า ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคล หรือนิติบุคคลตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยนั้น คำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ส่วนคำสั่งนายทะเบียนที่ 16/2555 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป ซึ่งล้วนเป็นเวลาภายหลังจากที่กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทได้เริ่มต้นความคุ้มครองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 แล้ว และมิได้มีการระบุให้คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวมีผลใช้บังคับย้อนหลังด้วย หรือมีบทบังคับว่า หากมีการชำระเบี้ยประกันภัยแทนกันจะมีผลเช่นไร ทั้งพยานจำเลย (บริษัทประกันภัย) ปากนาง ร. ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยแล้ว ข้อที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) อ้างในคำแก้ฎีกาดังกล่าว จึงหาได้มีผลกระทบต่อความเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท นอกจากนี้ พยานจำเลย (บริษัทประกันภัย) ปากนางสาว พ. ซึ่งจำเลย(บริษัทประกันภัย) นำเข้าเบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันภัย เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ว่า หากหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยไม่สามารถระบุชื่อผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วน ก็สามารถระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเพิ่มเติมในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยได้ และพยานจำเลย (บริษัทประกันภัย) ปากนาย ว. ซึ่งจำเลย (บริษัทประกันภัย) นำเข้าเบิกความในฐานะเป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลย (บริษัทประกันภัย) และเป็นผู้ลงนามในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ว่า การแก้ไขกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทสามารถกระทำได้โดยทำเป็นใบสลักหลัง เมื่อพิจารณาประกอบกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ที่ระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีเอกสารแนบท้าย “COVERAGE, CONDITIONS,CLAUSES : AS LIST ATTACHED” และแผ่นที่ระบุว่า หน้า 3 จากทั้งหมด 44 หน้า ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย ระบุยอมรับเนื้อหาของกรมธรรม์โดยมีลายมือชื่อผู้แทนจำเลย (บริษัทประกันภัย) พร้อมประทับตราบริษัทจำเลย (บริษัทประกันภัย) กำกับ ซึ่งเท่ากับจำเลย (บริษัทประกันภัย) รับรองชื่อผู้เอาประกัน (Insured Name) ให้รวมถึงบริษัทโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ด้วย ดังนี้ เมื่อมีการระบุชื่อบุคคลใดเป็นผู้เอาประกันภัยไว้ในเอกสารแนบท้ายดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีสถานะเต็มเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยด้วย และเมื่อถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้แล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ในการทำสัญญาประกันภัยดังที่พิจารณามา พยานหลักฐานของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย (บริษัทประกันภัย) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นผู้เอาประกันภัย ส่วนฎีกาของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ประการอื่นในข้อนี้ เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนที่จำเลย (บริษัทประกันภัย) ให้การต่อสู้อ้างว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เพราะเป็นสิทธิของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) นั้น เห็นว่า แม้กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีการระบุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย อันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกก็ตาม แต่สิทธิของผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนี้ ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่ผู้รับประโยชน์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) ซึ่งเป็นลูกหนี้ว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแล้ว จะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาทันที และตราบใดที่ผู้รับประโยชน์ยังมิได้แสดงเจตนาว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย และจำเลย (บริษัทประกันภัย) ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยตามปกติ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีการกำหนดวงเงินความคุ้มครองไว้ 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องหักความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลย (บริษัทประกันภัย) ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่บริษัท ต. แล้ว โดยนำเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย รวม 57,964,961 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อหักความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองแล้ว ยังเหลือวงเงินความคุ้มครอง 41,035,039 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ปรากฏว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ได้แสดงเจตนาแก่จำเลย (บริษัทประกันภัย) ซึ่งเป็นลูกหนี้ว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญา สำหรับวงเงินความคุ้มครองส่วนที่เหลือ เช่นนี้ จำเลย (บริษัทประกันภัย) ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยพิพาท โดยให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย สำหรับวงเงินความคุ้มครองส่วนที่ยังเหลือนี้ เมื่อโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ฟ้องขอให้บังคับจำเลย (บริษัทประกันภัย) ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทเพียง 41,021,240.94 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังอยู่ในวงเงินความคุ้มครองส่วนที่เหลือ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จำเลย (บริษัทประกันภัย) ผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ข้ออ้างของจำเลย (บริษัทประกันภัย) ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในส่วนนี้ฟังขึ้น

 

สำหรับประเด็นข้อพิพาทอื่นซึ่งศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยนั้น เมื่อคดีได้มีการสืบพยานของคู่ความในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นมาทุกประเด็นพิพาทแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีส่วนได้เสียในกรณีความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทตามฟ้องโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หรือไม่ โดยจำเลย (บริษัทประกันภัย) ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มิได้ซื้อสินค้าจากบริษัท ต. หรือผู้จัดส่งสินค้าของบริษัท ต. จึงมิได้ประสบกับภาวะธุรกิจหยุดชะงัก อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2554 นั้น เห็นว่า  กรมธรรม์ประกันภัยพิพาท แผ่นที่ระบุว่า หน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ในส่วนที่กล่าวถึงภัยที่ได้รับความคุ้มครอง (Perils Insured) ระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ครอบคลุมถึงทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้ และภาวะธุรกิจหยุดชะงักเมื่อเกิดการสูญหาย หรือเสียหายทางกายภาพ (Physical loss or damage) ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักนี้ ยังรวมไปถึงความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องด้วย โดยจะเห็นได้จากกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท แผ่นที่ระบุว่า หน้า 6 จากทั้งหมด 44 หน้า มีเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งความคุ้มครองนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้นถัดลงไป (No coverage beyond Tier Two Suppliers) และแผ่นที่ระบุว่า หน้า 25 และ 27 จากทั้งหมด 44 หน้า ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงัก ได้แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ แบบฟอร์ม ก. (Form A) คำนวณจากการสูญเสียกำไร (Loss of Profits) และแบบฟอร์ม ข. (Form B) คำนวณจากกำไรขั้นต้น (Gross Earnings) ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความคุ้มครองต่อการสูญเสีย อันเป็นผลโดยตรงมาจากการหยุดชะงักของธุรกิจที่จำเป็น ซึ่งเกิดจากการสูญเสีย ความเสียหาย หรือการถูกทำลายของทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ทรัพย์สินของบุคคลอื่น ทรัพย์สินของผู้จัดส่งสินค้า ทรัพย์สินของลูกค้า ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการขนส่ง และทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการติดตั้ง การปลูกสร้าง หรือการก่อสร้าง ในส่วนนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามสัญญาร่วมทุนระหว่างโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และบริษัท ส. โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายลงทุนฝ่ายละเท่า ๆ กัน และยังได้ความตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ซึ่งจำเลย (บริษัทประกันภัย) มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัท ส. และบริษัท ต. มีข้อตกลงว่า บริษัท ต. จะขายรถยนต์ที่ผลิตได้ให้แก่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัท ส. หรือนิติบุคคลอื่นใดที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หรือบริษัท ส. กำหนดขึ้น และคำฟ้องของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลย (บริษัทประกันภัย) ชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท อันสืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนตุลาคม 2554 เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย บริษัท อ. ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว โดยไม่สามารถผลิต และจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์ จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องจากจำเลย (บริษัทประกันภัย) จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอยู่ในวงจรที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ และวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนกลายเป็นสินค้าสำเร็จ ได้แก่ รถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จะได้นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไป อันเป็นวงจรของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) หากเกิดความเสียหายแก่การดำเนินธุรกิจของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 ซึ่งเป็นผู้เคลื่อนย้ายวัตถุดิบ และวัสดุอื่น ๆ เข้าสู่กระบวนการผลิต หรือของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าสำเร็จที่ต้องเกิดภาวะหยุดชะงัก ก็ย่อมจะส่งผลให้โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ได้รับความเสียหายจากการไม่มีรถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ทั้งใน และต่างประเทศด้วย โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงมีความสัมพันธ์กับกิจการอันเป็นทรัพย์สินของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ดังกล่าว และหากเกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักแก่กิจการของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ดังกล่าวแล้ว ก็อาจทำให้โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง ซึ่งสามารถประมาณเป็นเงินได้ พยานหลักฐานโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย (บริษัทประกันภัย) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีส่วนได้เสียในกรณีความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทตามฟ้องโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ข้อต่อสู้ของจำเลย (บริษัทประกันภัย) ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องตามความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลย (บริษัทประกันภัย) ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มิได้ซื้อสินค้าจากบริษัท ต. โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทย่อยเท่านั้น ธุรกิจของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มิได้หยุดชะงัก เพราะเหตุที่บริษัท ต. ไม่สามารถผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2554 นั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นที่ระบุว่า หน้า 6 จากทั้งหมด 44 หน้า มีเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ว่า ความคุ้มครองนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้นถัดลงไป และแผ่นที่ระบุว่า หน้า 44 จากทั้งหมด 44 หน้า กำหนดนิยามของคำว่าผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1” (Tier One Supplier) ว่า หมายถึงผู้จัดส่งสินค้าซึ่งจัดส่งสินค้า หรือบริการโดยตรงให้แก่โรงงาน หรือสถานประกอบการของฟอร์ด (Ford Facility) กับกำหนดนิยามของคำว่า “ผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2” (Tier Two Supplier) ว่า หมายถึงผู้จัดส่งสินค้า หรือบริการโดยตรงให้แก่ผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 ซึ่งในข้อนี้ โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ได้รับความเสียหายจากการที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ไม่สามารถผลิต และจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์ จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ได้ กรณีจึงถือได้ว่า บริษัท ต. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 และในข้อนี้เอง พยานโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ปากนาย ด. เบิกความว่า การประกอบธุรกิจของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ในทวีปเอเชียนั้น จะกระทำผ่านบริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท ต. เพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศไทย และบริษัทที่ใช้ชื่อว่า ร. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท ต. เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ประกอบกับสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เอง มีข้อตกลงว่า บริษัท ต. จะขายรถยนต์ที่ผลิตได้ให้แก่ผู้ซื้อ โดยมีการกำหนดนิยามของคำว่าผู้ซื้อ” ว่า หมายถึงโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัท ส. หรือนิติบุคคลอื่นใดที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หรือบริษัท ส. กำหนดขึ้น ซึ่งเอกสารแนบท้าย 3.1 (Exhibit 3.1) ระบุว่า นิติบุคคลที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) กำหนดว่า เป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายในประเทศไทย คือ บริษัท ด. และนิติบุคคลที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) กำหนดว่า เป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายนอกประเทศไทย คือ บริษัท ท. สอดคล้องกับที่พยานโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ปากนาย จ. หรือโจ (Mr. J or Joe) หัวหน้าฝ่ายจัดการค่าสินไหมทดแทนการประกันภัย และหุ้นส่วนสำนักงานบัญชี พ. ในมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัท ต. ให้คำนวณค่าสินไหมทดแทนจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ด้วยวิธีการบัญชีนิติวิทยา (Forensic Accounting) เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลย (บริษัทประกันภัย) รับว่า บริษัท ต. จะนำรถยนต์ที่ผลิตได้ไปจำหน่ายให้แก่บริษัท ด. และบริษัทที่ใช้ชื่อว่า ร. ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทที่ใช้ชื่อว่า ร. นั้น พยานโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ปากนาย จ. หรือจอห์น เบิกความว่า หมายถึง บริษัท ท. ทั้งอุทธรณ์ และฎีกาของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ก็บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้รับซื้อรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท ต. ไว้เช่นนี้ และยังบรรยายอีกว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ด. และบริษัท ท. โดยผ่านการถือหุ้นเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด แม้พยานโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ปากนาง ป. จะเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลย (บริษัทประกันภัย) รับว่า บริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ด. ซึ่งไม่ปรากฏว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นนั้น ล้วนเป็นบรรดาบริษัทที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นเจ้าของ และแม้จะไม่ปรากฏว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ท. รวมทั้งบริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ด. ในลักษณะใดจริงหรือไม่ก็ตาม ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประกอบสำเร็จ หรือรถยนต์แบบผลิตเป็นชิ้นส่วน ตลอดจนชิ้นส่วน และอุปกรณ์ซึ่งผลิตโดยบริษัท ต. คือ บริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ต้องถือว่า บริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ ของบริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่ของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เมื่อพิเคราะห์ถึงวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท แผ่นที่ระบุว่า หน้า 25 และ 27 จากทั้งหมด 44 หน้า หากใช้วิธีคำนวณจากการสูญเสียกำไร (Form A: Loss of Profits) โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาจากการลดลงของยอดขาย (Reduction in Sales) ซึ่งหมายถึง ยอดขายที่ลดลงของบริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่ของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) หรือหากใช้วิธีคำนวณจากกำไรขั้นต้น (Form B : Gross Earnings) โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาจาก ยอดขายรวมสุทธิ (Total Net Sales) หักด้วยต้นทุนขายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งหมายถึง ยอดขาย และต้นทุนขายของบริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่ของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เช่นกัน และเมื่อบริษัท ด. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 และเป็นคนละนิติบุคคลกับโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จะอ้างว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ด. โดยผ่านการถือหุ้นเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ด้วยอาศัยวิธีการใดก็ตาม ความเสียหาย และสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากจำเลย (บริษัทประกันภัย) สำหรับกรณีที่เกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของบริษัท ด. หากจะพึงมี ก็มิใช่ความเสียหาย และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และในทำนองเดียวกัน ในส่วนของบริษัท ท. นั้น ได้ความว่า เป็นกิจการที่ตั้งอยู่ในมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงอักษรย่อ LLC ที่ต่อท้ายชื่อของกิจการแล้ว น่าเชื่อว่า เป็นกิจการประเภทบริษัทจำกัดความรับผิด (Limited Liability Company) ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก (Separate Legal Entity) จากผู้ลงทุน (Member) ในบริษัทประเภทนี้ และเป็นคนละนิติบุคคลกับโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จะอ้างว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ท. โดยผ่านการลงทุนในกิจการเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของส่วนของผู้ลงทุนทั้งหมด (Membership Interest) ด้วยอาศัยวิธีการใดก็ตาม ความเสียหาย และสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากจำเลย (บริษัทประกันภัย) สำหรับกรณีที่เกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของบริษัท ท. หากจะพึงมี ก็มิใช่ความเสียหาย และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เช่นกัน ส่วนที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อ้างว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง สำหรับกรณีตามคำฟ้อง เพราะโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และต้องจัดทำงบการเงินโดยใช้หลักเกณฑ์ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา (Generally Accepted Accounting Principles ซึ่งเรียกโดยย่อว่า GAAP หรือ US GAAP) เมื่อโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัทย่อยเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของส่วนของเจ้าของทั้งหมด ก็จะต้องแสดงผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) และความเสียหายของบริษัทย่อยก็จะถูกนำมารวมอยู่ในงบการเงินของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) นั้น แม้จะฟังว่า มีการจัดทำงบการเงินของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) โดยแสดงผลการดำเนินงาน และความเสียหายของบริษัทย่อยไว้ด้วยตามที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) อ้างก็ตาม แต่กิจการของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัท ด. และบริษัท ท. ก็ยังคงมีการดำเนินกิจการในฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน และกัน และย่อมมีการจัดทำงบการเงินของแต่ละกิจการไว้ต่างหากจากกันตามกฎหมาย การจัดทำงบการเงินของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ดังกล่าว เป็นเพียงการจัดทำรายงานทางการเงินเสมือนหนึ่งว่า โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัท ด. และบริษัท ท. เป็นกิจการเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการแสดงฐานะของกลุ่มบริษัท (Group Company) ในเครือเดียวกันต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ก็หาได้มีผลทำให้โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) บริษัท ด. และบริษัท ท. ควบเข้ากันเป็นนิติบุคคลเดียวกันในทางกฎหมาย นอกจากนี้ ก็ไม่ปรากฏว่า มีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีในศาลโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนกันและกันได้แต่อย่างใด ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) เรียกร้องจากจำเลย (บริษัทประกันภัย) จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จากการที่มีบริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ โจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อย (Holding Company) แทนบริษัท ด. และบริษัท ท. ในความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องได้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทผูกพันโจทก์ (ฝ่ายผู้เอาประกันภัย) จำเลย (บริษัทประกันภัย) ตามคำฟ้อง ข้ออ้างของจำเลย (บริษัทประกันภัย) ข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

 

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

(สืบค้นมาจาก http://deka.supremecourt.or.th/search ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง)

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 188 : การประกันภัยซ้ำซ้อนระหว่างการประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) กับการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O))???

 

(ตอนที่สาม)

 

ต่อไปนี้ เรามาดูตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศกรณีของสถาบันทางการเงินเรื่องที่สองกันครับ

 

คดีที่สอง

 

ปี ค.ศ. 2015 บริษัทผู้ประกอบกิจการผลิตนมยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการปรับโครงสร้างเงินทุนขนานใหญ่ ด้วยการก่อตั้งกองทรัสต์ของตน (ซึ่งต่อไปเรียกว่า MGUT) ขึ้นมา เพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนภายนอก พร้อมกับได้จัดตั้งบริษัทในเครืออีกรายหนึ่งให้เป็นทรัสตี (Trustee) ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ (ซึ่งต่อไปเรียกว่า MGRE)

 

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 แรกเริ่มการเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นการดำเนินการนอกตลาดแก่สมาชิกโดยเฉพาะเจาะจงไปก่อน

 

ณ วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 ภายหลังจากเมื่อได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์แล้ว จึงได้เสนอขายแก่สาธารณชนทั่วไป

 

ณ วันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O)) หนึ่งฉบับผ่านทางนายหน้าประกันวินาศภัยให้แก่กลุ่มบริษัทเหล่านี้ โดยระบุวันที่คุ้มครองย้อนหลัง (retroactive date) เป็นวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 เพื่อให้ตรงกับวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์ (date of listing) นั้นเอง

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารฉบับดังกล่าวได้มีการขยายความคุ้มครอง ข้อ ค (Side C Coverage) ซึ่งให้ความคุ้มครองถึงความรับผิดอันเนื่องมาจากหลักทรัพย์ของบริษัทผู้เอาประกันภัย (Entity Securities Coverage) เองด้วย

 

ต่อมาได้มีนักลงทุนสองกลุ่มได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เรียกร้องให้กลุ่มบริษัทผู้เอาประกันภัยเหล่านี้รับผิดชอบ โทษฐานความผิดว่าด้วยการแถลงข้อความอันเป็นเท็จ และการไม่เปิดเผยข้อความจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับถ้อยแถลงการณ์เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Product Disclosure Statement (PDS)) ตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับควบคุมตลาดหลักทรัพย์ของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (Continuous Disclosure Obligations)

 

แม้เรื่องคดีความของส่วนกลุ่มนักลงทุนจะจบลงด้วยการประนีประนอมยอมความไปแล้ว

 

แต่ในส่วนของความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารกลับถูกปฏิเสธความรับผิดจากบริษัทประกันภัยเจ้านั้น ทำให้บังเกิดเป็นคดีความระหว่างกลุ่มบริษัทผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเจ้านั้นขึ้นมาอีกคดีหนึ่ง

 

ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ข้อโต้แย้งของบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลย ในสองประเด็นดังนี้

 

1) หน่วยลงทุน (Units) ไม่ถือเป็นหลักทรัพย์ (Securities) ใช่หรือไม่?

 

บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ในข้อตกลงคุ้มครอง ข้อ ค (Side C Coverage) เขียนว่า จะชดใช้ความเสียหาย อันเนื่องมาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับหลักทรัพย์ (Securities Claim) ใด ๆ โดยให้คำจำกัดความของหลักทรัพย์กำกับไว้ด้วย หมายความถึง

 

หลักทรัพย์ใด ๆ ซึ่งแสดงถึงส่วนของหนี้สิน (debt) หรือส่วนของผู้ถือหุ้น (equity interest) ที่มีอยู่ในบริษัทที่คุ้มครองรายใด

 

แต่กรณีนี้ หน่วยลงทุนไม่ใช่หลักทรัพย์ตามคำจำกัดความข้างต้นแต่ประการใด

 

ประเด็นนี้ ศาลชั้นต้นไม่คล้อยตาม โดยเห็นว่า หน่วยลงทุนดังกล่าวก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นตามความหมายปกติทั่วไปที่ได้เขียนไว้นั่นแหละ อีกทั้งในคำจำกัดความของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทยังอ้างถึง “กองทรัสต์ (Trust)” ว่าอยู่ในความหมายของ “บริษัทที่คุ้มครอง” อีกด้วย ฉะนั้น การฟ้องคดีแบบกลุ่มดังอ้างอิงล้วนตกอยู่ภายใต้คำจำกัดความของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้นเอง

 

อนึ่ง ศาลชั้นต้นยังได้นำข้อมูลการติดต่อระหว่างนายหน้าประกันวินาศภัยในฐานะตัวแทนของกลุ่มบริษัทผู้เอาประกันภัยฝ่ายโจทก์กับบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยมาประกอบการพิจารณาเสริมเพิ่มเติม เพื่อค้นหาเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการทำประกันภัยนี้ ตรงจุดที่ได้มีการตกลงให้ระบุวันที่คุ้มครองย้อนหลังตรงกับวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์นั้น ซึ่งทำให้บังเกิดการชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มสูงขึ้น เพื่อสะท้อนถึงการขยายความคุ้มครองไปถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น ยิ่งทำให้มีเหตุผลสนับสนุนถึงข้อสงสัยว่า ได้มีการขยายความคุ้มครองถึงประเด็นเรื่องหลักทรัพย์ด้วยจริงหรือเปล่า?

 

น้ำหนักพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์จึงมีความเชื่อถือมากกว่า

 

2) กรณีจะตกอยู่ในกลุ่มข้อยกเว้นว่าด้วยการให้บริการทางวิชาชีพ (Professional Services Exclusions) ใช่หรือไม่?

 

ศาลชั้นต้นไม่เห็นพ้องกับข้อโต้แย้งประเด็นนี้ของบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลย เนื่องด้วย

 

(1) การให้บริการของทรัสตี MGRE ไม่ได้มีการให้บริการลักษณะทางวิชาชีพทั่วไป ทั้งบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยก็มิได้ขยายความถึงคำว่า “วิชาชีพ” มาประกอบให้เห็นภาพอย่างชัดเจนด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมิใช่เป็นการให้บริการแก่บุคคลภายนอกแต่ประการใด เพราะเป็นเพียงการให้บริการแก่กลุ่มบริษัทเดียวกันเอง ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมอยู่ในที่นี้เช่นกัน

 

(2) ข้อยกเว้นซึ่งเขียนไม่คุ้มครองกรณีใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจาก มีมูลฐานมาจาก มีส่วนมาจากการเสนอขายซึ่งได้ถูกกระทำขึ้นมาตามถ้อยแถลงการณ์เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์กับหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน

 

ควรแยกแยะออกเป็นสองกรณี ดังนี้

 

กรณีแรก

 

การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการฟ้องคดีแบบกลุ่มดังกล่าวเป็นกรณีของหน่วยลงทุนซึ่งได้มาตามถ้อยแถลงนั้น ก่อนหน้าวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์นั้นถึงจะตกอยู่ในข้อยกเว้นดังอ้างอิง ทั้งยังได้บังเกิดก่อนหน้าวันที่คุ้มครองย้อนหลังอีกด้วย

 

กรณีที่สอง

 

ส่วนกรณีนี้เป็นภายหลังวันที่ได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์นั้นแล้ว เมื่อข้อยกเว้นนี้มิได้จำแนกระหว่างการซื้อขายในตลาดแรก (Primary Market) กับตลาดรอง (Secondary Market) ออกมาอย่างชัดเจน จึงตีความได้ว่า ข้อยกเว้นนี้มีจุดมุ่งหมายไม่คุ้มครองถึงการซื้อขายนอกตลาด (off-market) เสียมากกว่า

ฉะนั้น การซื้อขายในตลาดทั้งในตลาดแรกกับตลาดรองที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาความคุ้มครองดังกล่าว บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยจำต้องรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Murray Goulburn Co-operative Co Limited v AIG Australia Limited (2021) FCA 288)  

 

ข้อสังเกต

 

คดีอ้างอิงที่สอง ขณะที่เขียนไม่มีข้อมูลว่า คู่ความนี้จะมีการยื่นอุทธรณ์หรือเปล่านะครับ

 

แต่ที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงเทียบเคียงสองคดี เพื่อตั้งข้อสังเกตการแปลความหมายของคำว่า “การให้บริการวิชาชีพ” ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครอง หรือข้อยกเว้นก็ตาม ยังมีความผันแปร หาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้จากแนวคำพิพากษาที่กล่าวอ้าง หรือแนวคดีอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน เอาไว้คราวหน้า จะหยิบยกตัวอย่างของวิชาชีพอื่นมาให้เห็นภาพด้วย

 

ส่วนการจำแนกข้อแตกต่างระหว่างความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers’ Liability Insurance (D & O)) กับ

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance (PI)) ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ต่อไปนะครับ

 

ข้อนำแนะแก่ผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ ให้ลองสอบถามความชัดเจนจนพึงพอใจเสียก่อนจะตกลงซื้อก็แล้วกันนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/