วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 179 : เรื่องวุ่น ๆ ของความเสียหายส่วนแรก (Deductible) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy) โปรดระวัง!!!

 

(ตอนที่สอง)

 

ศาลชั้นต้นได้วิเคราะห์ประเด็นที่สองในเรื่องของความเสียหายส่วนแรก ดังนี้

 

เนื่องด้วยข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท ได้ระบุว่า (ถอดข้อความโดยสรุปเป็นภาษาไทย)

 

ก) ภายใต้หัวข้อคำจำกัดความ

 

ความเสียหายส่วนแรก (Deductible) หมายความถึง จำนวนเงินดังระบุไว้ทั้งในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีผลใช้บังคับแก่หมวดความคุ้มครอง หรือลักษณะของความเสียหายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบเองเป็นลำดับแรก สำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหลาย (claims) อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากเหตุการณ์แห่งความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง (arising out of one event or occurrence)

 

ข) ภายใต้หัวข้อหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

การใช้บังคับความเสียหายส่วนแรก

 

จำนวนเงินของความเสียหายส่วนแรกจะถูกนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทน (claim) ที่บริษัทจะชดใช้ให้ ในแต่ละเหตุการณ์

 

เมื่อไม่ปรากฏคำจำกัดความของ “เหตุการณ์ (event/occurrence)” และ “ค่าสินไหมทดแทน (claim)” กำกับไว้ ศาลชั้นต้นจำต้องตีความตามความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเกณฑ์ ซึ่งคำว่าเหตุการณ์นั้น ให้ความหมายถึง สิ่งที่อุบัติขึ้นในช่วงเวลาจำเพาะ สถานที่จำเพาะ และในลักษณะจำเพาะ พายุลูกเห็บเองก็มีลักษณะเข้าข่ายดังว่านั้น โดยถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวแก่ผู้เอาประกันภัย ในฐานะโจทก์ในคดีนี้

 

อีกทั้ง บุคคลผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปก็มีความเข้าใจว่า ความเสียหายส่วนแรกที่ถูกกำหนดไว้เช่นนั้นจะถูกบังคับใช้ต่อเหตุการณ์แห่งความเสียหายแต่ละครั้ง ในที่นี้ คือ พายุลูกเห็บหนึ่งเหตุการณ์ มิใช่เหตุการณ์แห่งความเสียหายที่เกิดแก่บ้านแต่ละหลังตามที่บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยกล่าวอ้าง

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย พิพากษาให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยหักความเสียหายส่วนแรกได้เพียงแค่จำนวนเงิน 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 231,200 บาท) จำนวนเงินเดียวเท่านั้น สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นทั้งหมด

 

ยกแรก ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนะคดี

 

แต่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยได้อุทธรณ์คดีคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว มีความเห็นต่างว่า

 

การอ่านทำความเข้าใจกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาทนั้น ไม่ควรเลือกเน้นอ่านเพียงบางจุด บางประเด็นที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จะต้องอ่านถ้อยคำทั้งหมด เพื่อให้สามารถเข้าใจในภาพรวมถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ร่าง

 

ฉะนั้น ลำดับแรกสุดควรพิจารณาเริ่มต้นจากข้อตกลงคุ้มครองก่อน แทนที่จะไปมุ่งเน้นถึงแค่เพียงความหมายของความเสียหายส่วนแรกกับหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังอ้างถึงข้างต้น ซึ่งค่อนข้างมีความกำกวม และอาจแปลความหมายได้หลากหลาย

 

ข้อตกลงคุ้มครองในหมวดที่ 1 กำหนดว่า

 

ในกรณีของสัญญาเอาประกันภัย (Insured Contract) ที่มีผลใช้บังคับเท่านั้น บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และโดยให้เป็นไปตามข้อบังคับอื่นใดด้วย ดังต่อไปนี้

 

หมวดที่ 1 งานการก่อสร้าง (Construction)

 

... สำหรับงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works) ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากเหตุการณ์ที่คุ้มครองซึ่งได้เกิดขึ้น และได้ถูกค้นพบ ณ สถานที่ทำงานตามสัญญา และในระหว่างช่วงระยะเวลาการก่อสร้างที่คุ้มครองนั้นเอง

 

ภายใต้หัวข้อคำจำกัดความ

 

สัญญาเอาประกันภัย (Insured Contract) หมายความถึง ข้อสัญญา หรือข้อตกลงซึ่งผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุชื่อได้จัดทำขึ้นมาให้เป็นงานตามสัญญาว่าจ้าง

 

งานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works) หมายความถึง งานทั้งหมดตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาเอาประกันภัย เพื่อให้มีผลใช้บังคับตามสัญญาเอาประกันภัยนั้นเอง

 

จะเห็นได้ว่า สัญญาเอาประกันภัยจะมีความหมายกว้างกว่างานตามสัญญาว่าจ้าง

หรืออีกนัยหนึ่ง งานตามสัญญาว่าจ้าง คือ งานที่กำหนดไว้อยู่ในสัญญาเอาประกันภัยนั่นเอง

 

กรณีนี้ สัญญาเอาประกันภัยต้องแปลความให้หมายความถึงงานก่อสร้างบ้านแต่ละหลัง หรือมีสัญญาเอาประกันภัยหนึ่งฉบับ ต่อบ้านหนึ่งหลังแยกจากกัน

 

เพียงแต่เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ จึงได้ถูกนำสัญญาเอาประกันภัยต่าง ๆ มารวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวเท่านั้นเอง

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในกรณีนี้ การใช้บังคับความเสียหายส่วนแรกที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์นั้น จำต้องถูกใช้บังคับให้แยกกันไปในบ้านแต่ละหลังด้วยเช่นเดียวกัน

 

พิพากษากลับให้ให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัย หักความเสียหายส่วนแรกได้รวมทั้งหมดสำหรับบ้าน 122 หลัง หรือคำนวณเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,220,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 28,206,400 บาท)

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Allianz Australia Insurance Limited v. Rawson Homes Pty Ltd (2021) NSWCA 224)

 

หมายเหตุ

 

โปรดตรวจสอบถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยของคุณโดยด่วน

 

คุณได้อ่านทำความเข้าใจกรมธรรม์ประกันภัยของคุณดีแล้วหรือยัง?

 

ถ้าสมมุติเหตุการณ์ข้างต้นมาเกิดที่บ้านเรา คุณคิดว่า ศาลไทยจะตีความเป็นเช่นไร?

 

เปรียบเทียบกันแล้ว ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ทั้งฉบับดั้งเดิมภาษาอังกฤษ และฉบับใหม่ที่เป็นภาษาไทยไม่ใคร่มีความชัดเจนนัก และมิได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยเทียบเท่ากับเหมือนอย่างของต่างประเทศ

 

อาจจำต้องพยายามพูดคุยสอบถามกันให้ถ่องแท้เสียก่อน ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย น่าจะพอช่วยลดข้อพิพาทได้ระดับหนึ่งนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น