เรื่องที่ 179 : เรื่องวุ่น ๆ ของความเสียหายส่วนแรก (Deductible) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy) โปรดระวัง!!!
(ตอนที่หนึ่ง)
เร็ว ๆ นี้ เพิ่งมีโทรศัพท์สอบถามเรื่องลำดับขั้นตอนการใช้ความเสียหายส่วนแรกของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินพอดี ประกอบกับได้ไปอ่านเจอตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังประดับความรู้
เบื้องต้น เชื่อว่า คนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจประกันภัยจะรับรู้กันดีว่า ความเสียหายส่วนแรก (Deductible) หรือความรับผิดส่วนแรก (Excess) นั้น มีความหมายโดยสรุป คือ จำนวนเงินค่าเสียหายส่วนแรกซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองก่อนเป็นลำดับแรก ค่าเสียหายส่วนเกินหลังจากนั้นถึงจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยเป็นลำดับถัดไป
ปัจจุบัน รูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยใหม่จะปรากฏคำนิยามกำกับเอาไว้ด้วย แต่ส่วนตัวค่อนข้างฉงนใจ เวลากำหนดเงื่อนไขความคุ้มครอง บริษัทประกันภัยอาจร่างเขียนข้อกำหนดไว้ให้แตกต่างหลากหลายออกไปก็ได้
เป็นต้นว่า ให้ความเสียหายส่วนแรก/ความรับผิดส่วนแรกมีผลใช้บังคับเป็น
- ต่ออุบัติเหตุ (Accident) แต่ละครั้ง
- ต่อความเสียหาย (Loss/Damage) แต่ละครั้ง
- ต่อค่าสินไหมทดแทน (Claim) แต่ละครั้ง
- ต่อเหตุการณ์ (ความเสียหาย) (Event/Occurrence) แต่ละครั้ง
แล้วทีนี้ ความหมายของถ้อยคำที่เขียนไว้ดังกล่าวนั้นประสงค์จะสื่อความหมายถึงอะไรบ้าง?
และจะมีความขัดแย้งกับคำนิยามของความเสียหายส่วนแรก/ความรับผิดส่วนแรกนั้นบ้างหรือเปล่าหนอ?
ผมเคยเขียนเป็นบทความประเด็นเหล่านี้ไว้บ้างแล้ว สนใจก็ลองกลับไปค้นหาอ่านดูนะครับ
เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?
เรื่องที่ 43: แล้วที่เขียนว่า ต่อความเสียหาย (Loss) หรือต่อค่าสินไหมทดแทน (Claim) แต่ละครั้ง และทุกครั้งล่ะ สำคัญไหม?
ครานี้ เราลองมาพิจารณาถึงตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศในประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้กันบ้าง
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 ได้เกิดพายุลูกเห็บพัดถล่มผ่านเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางแก่โครงการหมู่บ้านใหม่แห่งหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยส่งผลทำให้หลังคาของบ้านจำนวน 122 หลังในโครงการนั้นได้รับความเสียหายบางส่วน
เนื่องด้วยผู้รับเหมาก่อสร้างได้มีกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้างไว้หนึ่งฉบับคุ้มครองทั้งโครงการนั้นอยู่แล้ว และบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองดังกล่าวยินดีที่จะรับผิดชอบให้ แต่ก็ยังคงมีประเด็นข้อพิพาทค้างคาอยู่สองประเด็นซึ่งยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ไม่สามารถตกลงเห็นพ้องกันได้ กล่าวคือ
ประเด็นแรก
จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็น
1.1) ค่าซ่อมแซม (Repair Cost) หรือ
1.2) ค่าเปลี่ยนทดแทนใหม่ (Replacement Cost)?
ประเด็นที่สอง
ความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองรวมทั้งสิ้น คือ
2.1) 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 231,200 บาท) ตามที่ผู้เอาประกันภัยเข้าใจ หรือ
2.2) 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 231,200 บาท) x บ้านจำนวน 122 หลัง คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,220,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 28,206,400 บาท) ตามที่บริษัทประกันภัยนั้นโต้แย้ง
ทั้งที่ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ฉบับเดียวนั้นได้ระบุว่า ความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง คือ 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ ต่อเหตุการณ์ (ความเสียหาย) แต่ละครั้งและทุกครั้ง (Any One Event)
เมื่อคู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเห็นชอบร่วมกันได้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อพิจารณาหาข้อยุติ มิฉะนั้น ถ้าจะต้องมารับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเองเป็นเงินจำนวนมากถึงขนาดนั้น ลำบากแน่
คุณมีความคิดเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ?
- มีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองเพียงฉบับเดียวเท่านั้น
- เหตุการณ์พายุลูกเห็บอุบัติขึ้นเพียงครั้งเดียว
- สร้างความเสียหายแก่หลังคาของบ้านที่กำลังก่อสร้างรวมจำนวน 122 หลังในคราเดียว
- ทำไมบริษัทประกันภัยนั้นมาเรียกเก็บความเสียหายส่วนแรกต่อบ้านที่เสียหายแต่ละหลัง ทั้งที่ก็เขียนชัดเจนแล้วว่า ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง และทุกครั้ง?
- ฝ่ายใดตีความผิดกันแน่?
จะเลือกเชียร์ฝ่ายไหน ก็เชิญตามอัธยาศัย
แล้วอดใจรออ่านผลสรุปทางคดีสัปดาห์หน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น