วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 178 : โอกาสที่จะเกิดความเสียหายในอนาคตก็นับเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) ได้ใช่ไหม?

 

อะไร คือ ความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) ได้บ้าง?

 

การประกันภัยทรัพย์สินต่าง ๆ ทั่วโลกมักประสบปัญหาในการแปลความหมายของ”ความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage)” จนหาข้อยุติชัดเจนไม่ได้ แม้กระทั่งศาลประเทศต่าง ๆ ก็ยังไม่มีความคิดเห็นยุติเป็นแนวทางเดียวกัน ส่งผลทำให้มีข้อพิพาทประเด็นนี้ปรากฏให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่มีวันจบสิ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้มีความพยายามสร้างคำนิยามจำเพาะของถ้อยคำนี้ให้ออกมาเช่นไรก็ตาม

 

อนึ่ง นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้ว ความยากลำบากอีกอย่างหนึ่งในการทำความเข้าใจการประกันภัยทรัพย์สิน ถ้าเราสังเกตถ้อยคำที่เขียนเอาไว้ให้ดี โดยเฉพาะข้อยกเว้นต่าง ๆ อ่านแล้วเสมือนทับซ้อนกัน เหตุการณ์เดียวกันอาจสามารถเข้าข้อยกเว้นได้หลายข้อในคราวเดียวกัน จนอดรู้สึกสับสนในการพยายามแปลความที่ถูกต้อง และที่ควรจะเป็นอยู่บ่อยครั้ง

 

อย่างไรก็ดี บ้านเรายังค้นไม่เจอแนวคำพิพากษาศาลฎีกาการแปลความหมายของคำว่ากายภาพโดยตรง ขณะที่แนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้นทยอยมีให้ศึกษาทำความเข้าใจ (สับสน) อยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เวลาบรรยายให้ความรู้ ส่วนตัวมักจะหยิบยกขึ้นมาให้เห็นภาพอีกมุมมองหนึ่ง แต่ยังไม่เคยได้นำมาเขียนขยายความเป็นบทความบ้างเลย

 

บ้านสามหลังในชนบทตั้งอยู่เคียงข้างกัน ด้านหลังบ้านเหล่านั้นได้มีโครงการทำเหมืองมาสร้างกำแพงหินขนาดความสูงประมาณ 15 เมตร (ประมาณเทียบเท่าตึกห้าชั้น) และได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้หลังเลิกกิจการ

 

หลายสิบปีผ่านไป ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่น่าวิตกบังเกิดขึ้น จวบจนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 จู่ ๆ ปรากฏมีหินขนาดใหญ่กับเศษหินหลายก้อนได้หลุดร่วงออกมาจากกำแพงหินดังกล่าวหล่นลงมาถูกบ้านสองในสามหลังนั้น ได้รับความเสียหายอย่างมาก ส่วนบ้านที่เหลืออีกหลังหนึ่งนับว่าโชคดีมากที่ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ

 

อย่างไรก็ดี มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ครอบครัวทั้งสามหลังอพยพออกไปให้หมด เพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตร่างกาย เนื่องจากเมื่อผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ได้มาตรวจสอบดูสภาพของทั้งตัวบ้านเองกับกำแพงหินนั้นแล้ว ต่างลงความเห็นว่า มีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่จะมีหินขนาดใหญ่กับเศษหินหลุดร่วงลงมาได้อีก ปัจจัยหลักมาจากการออกแบบและการก่อสร้างกำแพงหินที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ ประกอบกับความเสื่อมสภาพจากการขาดดูแลรักษากับสภาพภูมิอากาศเองได้ส่งผลทำให้วัสดุที่ยึดหินเหล่านั้นสึกกร่อนจนทำให้หินขนาดใหญ่เหล่านั้นหลุดร่อนออกจากตำแหน่งได้ ในลักษณะทำนองเดียวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า “หินถล่ม/หินพัง/กองหินที่ร่วงลงมา (rockfall)” ซึ่งถูกจัดอยู่ในรูปแบบย่อยของแผ่นดินถล่ม (landslide)  

 

เมื่อเจ้าของบ้านทั้งสามหลังได้ยื่นฟ้องให้บริษัทประกันภัยของตนให้รับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับบ้านอยู่อาศัย และได้มีการต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์

 

โดยที่บริษัทประกันภัยเหล่านั้นได้หยิบยกข้อต่อสู้เป็นประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

1) บ้านหลังที่ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เลย ถือว่า ไม่มีความเสียหายทางกายภาพเกิดขึ้นจะไม่อาจคุ้มครองได้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท ซึ่งระบุว่า “คุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

 

แม้นจะมิปรากฏคำนิยามจำเพาะของกายภาพกำกับไว้ก็ตาม ในการแปลความหมายทั่วไปจะต้องถึงขนาดทำให้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพรูปร่างที่มองเห็นร่องรอยความเสียหายนั้นด้วยสายตาได้ (Physical Alteration) เท่านั้น

 

2) ส่วนบ้านหลังที่เสียหายทางกายภาพอีกสองหลังนั้นก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองอยู่ดี เนื่องจากตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท ซึ่งระบุว่า “ไม่คุ้มครองความเสียหายใด ๆ อันเป็นผลมาจาก

 

การเคลื่อนตัวของพื้นดิน (earth movement) รวมถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียงแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินถล่ม (landslide) การยุบตัว (subsidence) …. หรือการกัดเซาะ/การกัดกร่อน (erosion) ….

 

ศาลอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว วินิจฉัยว่า

 

ประเด็นแรก

 

มีความเสียหายทางกายภาพบังเกิดแก่บ้านหลังที่ไม่ได้รับความเสียหายนั้นเลยแล้วหรือยัง?

 

บ้านที่พักอาศัยถือเป็นสถานที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้เข้าพักอาศัยมากที่สุด เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้งแล้วว่า นับแต่วันที่เกิดเหตุ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 บ้านทั้งสามหลังกลายสภาพมาเป็นสถานที่มิอาจให้ความปลอดภัยดังเดิมอีกต่อไปแล้ว เนื่องด้วยหินขนาดใหญ่กับเศษหินมีโอกาสร่วงหล่นลงมาสร้างความเสียหายได้ทุกขณะ ตราบใดที่กำแพงหินนั้นยังมิได้รับการจัดการซ่อมแซมให้มีสภาพแข็งแรงมั่นคงได้ บ้านทั้งสามหลังของผู้เอาประกันภัยก็ไม่สามารถเรียกว่า “บ้าน” ในลักษณะที่จะใช้พักอยู่อาศัยอย่างปลอดภัยได้อีกต่อไป จึงถือว่า โดยเฉพาะบ้านหลังที่ไม่ได้รับความเสียหายนั้นได้รับความเสียหายทางกายภาพโดยอุบัติเหตุอย่างฉับพลันจากปัจจัยภายนอก (sudden and accidental direct physical damage) แล้ว จากการที่ไม่สามารถใช้งาน หรือใช้อยู่อาศัยได้ดังเดิม ถึงแม้นจะไม่ปรากฏความเสียหายอย่างชัดเจนแก่ตัวโครงสร้างของบ้านหลังนั้นก็ตาม

 

ประเด็นที่สอง

 

ลักษณะการเกิดเหตุที่ว่าจะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นเรื่องการเคลื่อนตัวของพื้นดินซึ่งบริษัทประกันภัยตีความอาจเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ (แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด) และจากการกระทำของมนุษย์ หรือจากสาเหตุทางธรรมชาติผนวกกับกระทำของมนุษย์ (แผ่นดินถล่ม การยุบตัว หรือการกัดเซาะ/การกัดกร่อน) ก็ได้ ล้วนต่างไม่คุ้มครองทั้งหมดนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เห็นว่า เจตนารมณ์น่าจะหมายความถึงเพียงจากสาเหตุทางธรรมชาติอย่างเดียวมากกว่า มิฉะนั้นแล้ว เหตุการณ์จากภัยระเบิด ภัยยวดยาน ภัยอากาศยาน ภัยจากการก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนถึงขนาดทำให้แผ่นดินเคลื่อนตัวนั้น ล้วนถูกจัดให้อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องการเคลื่อนตัวของพื้นดินทั้งหมดนั้น น่าจะไม่ถูกต้องตรงตามความคาดหวังในการที่จะได้รับความคุ้มครองตามสมควรของผู้ซื้อประกันภัย

 

พิพากษาให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท โดยย้อนคดีให้ศาลชั้นต้นไปพิจารณารายละเอียดของคดีที่ยังเป็นประเด็นต่อไป

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Murray v. State Farm, 203 W. Va. 477, 509 S.E.2d 1 (W. Va. 1998))

 

น่าสนใจนะครับ เมื่อนำไปเทียบเคียงกับข้อยกเว้นเรื่องนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานบ้านเรา ซึ่งเขียนไว้ ดังนี้

 

1.13 การยุบตัว  การโก่งตัว  หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน

1.13  subsidence, ground heave or landslip

 

เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว เห็นว่า ต้นฉบับภาษาอังกฤษมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ยกเว้นกว้างถึงขนาดนั้นเลย

 

สนใจ ลองย้อนกลับไปอ่านบทความเก่า เรื่องที่ 88: ข้อยกเว้นว่าด้วยการเคลื่อนตัวของพื้นดิน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไรได้บ้าง?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น