วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 180 : ผู้ผลิตสินค้าจำต้องรับผิด สำหรับความเสียหายที่เกิดจากของทำเทียม/เลียนแบบสินค้าของตนไหม?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

อีกคำถามหนึ่งที่เพิ่งได้รับมา

 

ผู้ผลิตสินค้าจำต้องรับผิด สำหรับความเสียหายที่เกิดจากของทำเทียม/เลียนแบบสินค้าของตนไหม?

 

หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้บริโภคที่เสียหายจากการซื้อของทำเทียม/เลียนแบบมาใช้ จะสามารถไปฟ้องเรียกร้องให้ผู้ผลิตสินค้าของแท้ให้มารับผิดชอบแทนได้ไหม?

 

ถ้าผู้ผลิตสินค้าของแท้นั้นมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ หรือกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Products Liability Insurance Policy) จะสามารถเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนมารับผิดแทนได้หรือเปล่า?

 

คุณมีความคิดเห็นเช่นไรครับ?

 

ผมได้ไปค้นคว้าต่อ พบว่า เรื่องทำนองนี้เคยเกิดเป็นคดีฟ้องร้องที่ต่างประเทศมาบ้างแล้ว

 

ดังตัวอย่างคดีศึกษาหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ผู้เสียหายรายหนึ่งป่วยมีอาการไขมันสูง หมอจึงออกใบสั่งจ่ายยายี่ห้อหนึ่งให้คนไข้ผู้เสียหายรายนี้ไปซื้อเองที่ร้านขายยา

 

ภายหลังจากได้ไปซื้อยาตามใบสั่งจ่ายยานั้นของหมอแล้วสองครา

 

ถัดมาได้มีประกาศจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแจ้งว่า ผู้ผลิตยาได้เรียกคืนยายี่ห้อนั้นบางล็อตการผลิตจากท้องตลาด เนื่องจากตรวจพบว่า ได้มียาปลอมแฝงปะปนกับยาจริงอยู่ในขวดเดียวกัน ซึ่งหากบริโภคยาปลอมลงไปอาจก่อให้เกิดผลไม่ดีต่อร่างกายได้

 

อีกไม่นาน ผู้เสียหายรายนี้ก็ได้รับหนังสือแจ้งจากร้านขายยาที่ตนได้ไปซื้อมาว่า ห้ามมิให้ผู้ซื้อยายี่ห้อนี้ในระหว่างช่วงระยะเวลาดังระบุ บริโภคยานั้นอีกต่อไป ให้รีบนำยานั้นที่คงหลงเหลืออยู่มาคืน เพื่อแลกเปลี่ยนยาล็อตใหม่ไปทดแทนโดยไว

 

ต่อมาผู้เสียหายรายนี้ได้พบหมอประจำของตนจึงได้เล่าให้ฟังว่า ตนน่าจะทานยาปลอมเข้าไป เนื่องจากมีอาการมึนงง และเซื่องซึมลงไป พร้อมรู้สึกเจ็บที่หน้าอก เมื่อหมอได้ทำการตรวจเลือด ได้เจอไขมันไตรกลีเซอไรด์ (ไขมันร้ายที่ต้องระวัง) ที่มีระดับสูงค่อนข้างอันตรายต่อสุขภาพ จนจำต้องสั่งให้คนไข้รายนี้รีบเข้าทำการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยทันที

 

ผู้เสียหายรายนี้ได้ยื่นฟ้องคดี เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกรายร่วมกันรับผิดชอบต่อการเจ็บป่วยของตน

 

เนื่องด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยายี่ห้อนี้มีหลากหลาย อันประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้ซื้อเหมาและนำยามาบรรจุภัณฑ์ใหม่ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ขายปลีกยาดังกล่าว ทำให้ยาปลอมมีโอกาสหลุดเล็ดลอดเข้ามาปะปนกับยาจริงในบางล็อตที่มีปัญหา

 

ถึงตรงนี้ คุณเห็นว่า

 

1) ผู้ผลิตยาจำต้องรับผิดตามฟ้องบ้างไหม?

 

2) ร้านยาขายปลีกจำต้องรับผิดตามฟ้องไหม?

 

สัปดาห์หน้ามารับฟังผลสรุปกันนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 179 : เรื่องวุ่น ๆ ของความเสียหายส่วนแรก (Deductible) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy) โปรดระวัง!!!

 

(ตอนที่สอง)

 

ศาลชั้นต้นได้วิเคราะห์ประเด็นที่สองในเรื่องของความเสียหายส่วนแรก ดังนี้

 

เนื่องด้วยข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท ได้ระบุว่า (ถอดข้อความโดยสรุปเป็นภาษาไทย)

 

ก) ภายใต้หัวข้อคำจำกัดความ

 

ความเสียหายส่วนแรก (Deductible) หมายความถึง จำนวนเงินดังระบุไว้ทั้งในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีผลใช้บังคับแก่หมวดความคุ้มครอง หรือลักษณะของความเสียหายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบเองเป็นลำดับแรก สำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหลาย (claims) อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากเหตุการณ์แห่งความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง (arising out of one event or occurrence)

 

ข) ภายใต้หัวข้อหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

การใช้บังคับความเสียหายส่วนแรก

 

จำนวนเงินของความเสียหายส่วนแรกจะถูกนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทน (claim) ที่บริษัทจะชดใช้ให้ ในแต่ละเหตุการณ์

 

เมื่อไม่ปรากฏคำจำกัดความของ “เหตุการณ์ (event/occurrence)” และ “ค่าสินไหมทดแทน (claim)” กำกับไว้ ศาลชั้นต้นจำต้องตีความตามความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเกณฑ์ ซึ่งคำว่าเหตุการณ์นั้น ให้ความหมายถึง สิ่งที่อุบัติขึ้นในช่วงเวลาจำเพาะ สถานที่จำเพาะ และในลักษณะจำเพาะ พายุลูกเห็บเองก็มีลักษณะเข้าข่ายดังว่านั้น โดยถือเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวแก่ผู้เอาประกันภัย ในฐานะโจทก์ในคดีนี้

 

อีกทั้ง บุคคลผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปก็มีความเข้าใจว่า ความเสียหายส่วนแรกที่ถูกกำหนดไว้เช่นนั้นจะถูกบังคับใช้ต่อเหตุการณ์แห่งความเสียหายแต่ละครั้ง ในที่นี้ คือ พายุลูกเห็บหนึ่งเหตุการณ์ มิใช่เหตุการณ์แห่งความเสียหายที่เกิดแก่บ้านแต่ละหลังตามที่บริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยกล่าวอ้าง

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย พิพากษาให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยหักความเสียหายส่วนแรกได้เพียงแค่จำนวนเงิน 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 231,200 บาท) จำนวนเงินเดียวเท่านั้น สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นทั้งหมด

 

ยกแรก ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนะคดี

 

แต่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยได้อุทธรณ์คดีคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว

 

ศาลอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว มีความเห็นต่างว่า

 

การอ่านทำความเข้าใจกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาทนั้น ไม่ควรเลือกเน้นอ่านเพียงบางจุด บางประเด็นที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จะต้องอ่านถ้อยคำทั้งหมด เพื่อให้สามารถเข้าใจในภาพรวมถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ร่าง

 

ฉะนั้น ลำดับแรกสุดควรพิจารณาเริ่มต้นจากข้อตกลงคุ้มครองก่อน แทนที่จะไปมุ่งเน้นถึงแค่เพียงความหมายของความเสียหายส่วนแรกกับหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังอ้างถึงข้างต้น ซึ่งค่อนข้างมีความกำกวม และอาจแปลความหมายได้หลากหลาย

 

ข้อตกลงคุ้มครองในหมวดที่ 1 กำหนดว่า

 

ในกรณีของสัญญาเอาประกันภัย (Insured Contract) ที่มีผลใช้บังคับเท่านั้น บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และโดยให้เป็นไปตามข้อบังคับอื่นใดด้วย ดังต่อไปนี้

 

หมวดที่ 1 งานการก่อสร้าง (Construction)

 

... สำหรับงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works) ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากเหตุการณ์ที่คุ้มครองซึ่งได้เกิดขึ้น และได้ถูกค้นพบ ณ สถานที่ทำงานตามสัญญา และในระหว่างช่วงระยะเวลาการก่อสร้างที่คุ้มครองนั้นเอง

 

ภายใต้หัวข้อคำจำกัดความ

 

สัญญาเอาประกันภัย (Insured Contract) หมายความถึง ข้อสัญญา หรือข้อตกลงซึ่งผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุชื่อได้จัดทำขึ้นมาให้เป็นงานตามสัญญาว่าจ้าง

 

งานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works) หมายความถึง งานทั้งหมดตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาเอาประกันภัย เพื่อให้มีผลใช้บังคับตามสัญญาเอาประกันภัยนั้นเอง

 

จะเห็นได้ว่า สัญญาเอาประกันภัยจะมีความหมายกว้างกว่างานตามสัญญาว่าจ้าง

หรืออีกนัยหนึ่ง งานตามสัญญาว่าจ้าง คือ งานที่กำหนดไว้อยู่ในสัญญาเอาประกันภัยนั่นเอง

 

กรณีนี้ สัญญาเอาประกันภัยต้องแปลความให้หมายความถึงงานก่อสร้างบ้านแต่ละหลัง หรือมีสัญญาเอาประกันภัยหนึ่งฉบับ ต่อบ้านหนึ่งหลังแยกจากกัน

 

เพียงแต่เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ จึงได้ถูกนำสัญญาเอาประกันภัยต่าง ๆ มารวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวเท่านั้นเอง

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในกรณีนี้ การใช้บังคับความเสียหายส่วนแรกที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์นั้น จำต้องถูกใช้บังคับให้แยกกันไปในบ้านแต่ละหลังด้วยเช่นเดียวกัน

 

พิพากษากลับให้ให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัย หักความเสียหายส่วนแรกได้รวมทั้งหมดสำหรับบ้าน 122 หลัง หรือคำนวณเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,220,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 28,206,400 บาท)

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Allianz Australia Insurance Limited v. Rawson Homes Pty Ltd (2021) NSWCA 224)

 

หมายเหตุ

 

โปรดตรวจสอบถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยของคุณโดยด่วน

 

คุณได้อ่านทำความเข้าใจกรมธรรม์ประกันภัยของคุณดีแล้วหรือยัง?

 

ถ้าสมมุติเหตุการณ์ข้างต้นมาเกิดที่บ้านเรา คุณคิดว่า ศาลไทยจะตีความเป็นเช่นไร?

 

เปรียบเทียบกันแล้ว ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ทั้งฉบับดั้งเดิมภาษาอังกฤษ และฉบับใหม่ที่เป็นภาษาไทยไม่ใคร่มีความชัดเจนนัก และมิได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยเทียบเท่ากับเหมือนอย่างของต่างประเทศ

 

อาจจำต้องพยายามพูดคุยสอบถามกันให้ถ่องแท้เสียก่อน ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย น่าจะพอช่วยลดข้อพิพาทได้ระดับหนึ่งนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 179 : เรื่องวุ่น ๆ ของความเสียหายส่วนแรก (Deductible) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Works Insurance Policy) โปรดระวัง!!!

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เร็ว ๆ นี้ เพิ่งมีโทรศัพท์สอบถามเรื่องลำดับขั้นตอนการใช้ความเสียหายส่วนแรกของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินพอดี ประกอบกับได้ไปอ่านเจอตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังประดับความรู้

 

เบื้องต้น เชื่อว่า คนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจประกันภัยจะรับรู้กันดีว่า ความเสียหายส่วนแรก (Deductible) หรือความรับผิดส่วนแรก (Excess) นั้น มีความหมายโดยสรุป คือ จำนวนเงินค่าเสียหายส่วนแรกซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองก่อนเป็นลำดับแรก ค่าเสียหายส่วนเกินหลังจากนั้นถึงจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยเป็นลำดับถัดไป

 

ปัจจุบัน รูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยใหม่จะปรากฏคำนิยามกำกับเอาไว้ด้วย แต่ส่วนตัวค่อนข้างฉงนใจ เวลากำหนดเงื่อนไขความคุ้มครอง บริษัทประกันภัยอาจร่างเขียนข้อกำหนดไว้ให้แตกต่างหลากหลายออกไปก็ได้

 

เป็นต้นว่า ให้ความเสียหายส่วนแรก/ความรับผิดส่วนแรกมีผลใช้บังคับเป็น

 

- ต่ออุบัติเหตุ (Accident) แต่ละครั้ง

- ต่อความเสียหาย (Loss/Damage) แต่ละครั้ง

- ต่อค่าสินไหมทดแทน (Claim) แต่ละครั้ง

- ต่อเหตุการณ์ (ความเสียหาย) (Event/Occurrence) แต่ละครั้ง

 

แล้วทีนี้ ความหมายของถ้อยคำที่เขียนไว้ดังกล่าวนั้นประสงค์จะสื่อความหมายถึงอะไรบ้าง?

 

และจะมีความขัดแย้งกับคำนิยามของความเสียหายส่วนแรก/ความรับผิดส่วนแรกนั้นบ้างหรือเปล่าหนอ?

 

ผมเคยเขียนเป็นบทความประเด็นเหล่านี้ไว้บ้างแล้ว สนใจก็ลองกลับไปค้นหาอ่านดูนะครับ

 

เรื่องที่ 42 : หนึ่งอุบัติเหตุ (Accident) หนึ่งเหตุการณ์ (Occurrence) หลายอุบัติเหตุ หลายเหตุการณ์ สำคัญไฉน?

 

เรื่องที่ 43: แล้วที่เขียนว่า ต่อความเสียหาย (Loss) หรือต่อค่าสินไหมทดแทน (Claim) แต่ละครั้ง และทุกครั้งล่ะ สำคัญไหม?

 

ครานี้ เราลองมาพิจารณาถึงตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศในประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้กันบ้าง

 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 ได้เกิดพายุลูกเห็บพัดถล่มผ่านเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางแก่โครงการหมู่บ้านใหม่แห่งหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยส่งผลทำให้หลังคาของบ้านจำนวน 122 หลังในโครงการนั้นได้รับความเสียหายบางส่วน

 

เนื่องด้วยผู้รับเหมาก่อสร้างได้มีกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้างไว้หนึ่งฉบับคุ้มครองทั้งโครงการนั้นอยู่แล้ว และบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองดังกล่าวยินดีที่จะรับผิดชอบให้ แต่ก็ยังคงมีประเด็นข้อพิพาทค้างคาอยู่สองประเด็นซึ่งยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ไม่สามารถตกลงเห็นพ้องกันได้ กล่าวคือ

 

ประเด็นแรก

 

จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็น

 

1.1) ค่าซ่อมแซม (Repair Cost) หรือ

 

1.2) ค่าเปลี่ยนทดแทนใหม่ (Replacement Cost)?

 

ประเด็นที่สอง

 

ความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองรวมทั้งสิ้น คือ

 

2.1) 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 231,200 บาท) ตามที่ผู้เอาประกันภัยเข้าใจ หรือ

 

2.2) 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 231,200 บาท) x บ้านจำนวน 122 หลัง คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,220,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ (เทียบเท่าประมาณ 28,206,400 บาท) ตามที่บริษัทประกันภัยนั้นโต้แย้ง

 

ทั้งที่ข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ฉบับเดียวนั้นได้ระบุว่า ความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง คือ 10,000 ออสเตรเลียดอลลาร์ ต่อเหตุการณ์ (ความเสียหาย) แต่ละครั้งและทุกครั้ง (Any One Event)

 

เมื่อคู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเห็นชอบร่วมกันได้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อพิจารณาหาข้อยุติ มิฉะนั้น ถ้าจะต้องมารับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเองเป็นเงินจำนวนมากถึงขนาดนั้น ลำบากแน่

 

คุณมีความคิดเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ?

 

- มีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองเพียงฉบับเดียวเท่านั้น

 

- เหตุการณ์พายุลูกเห็บอุบัติขึ้นเพียงครั้งเดียว

 

- สร้างความเสียหายแก่หลังคาของบ้านที่กำลังก่อสร้างรวมจำนวน 122 หลังในคราเดียว

 

- ทำไมบริษัทประกันภัยนั้นมาเรียกเก็บความเสียหายส่วนแรกต่อบ้านที่เสียหายแต่ละหลัง ทั้งที่ก็เขียนชัดเจนแล้วว่า ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง และทุกครั้ง?

 

- ฝ่ายใดตีความผิดกันแน่?

 

จะเลือกเชียร์ฝ่ายไหน ก็เชิญตามอัธยาศัย

 

แล้วอดใจรออ่านผลสรุปทางคดีสัปดาห์หน้าครับ

  

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 178 : โอกาสที่จะเกิดความเสียหายในอนาคตก็นับเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) ได้ใช่ไหม?

 

อะไร คือ ความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) ได้บ้าง?

 

การประกันภัยทรัพย์สินต่าง ๆ ทั่วโลกมักประสบปัญหาในการแปลความหมายของ”ความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage)” จนหาข้อยุติชัดเจนไม่ได้ แม้กระทั่งศาลประเทศต่าง ๆ ก็ยังไม่มีความคิดเห็นยุติเป็นแนวทางเดียวกัน ส่งผลทำให้มีข้อพิพาทประเด็นนี้ปรากฏให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่มีวันจบสิ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้มีความพยายามสร้างคำนิยามจำเพาะของถ้อยคำนี้ให้ออกมาเช่นไรก็ตาม

 

อนึ่ง นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้ว ความยากลำบากอีกอย่างหนึ่งในการทำความเข้าใจการประกันภัยทรัพย์สิน ถ้าเราสังเกตถ้อยคำที่เขียนเอาไว้ให้ดี โดยเฉพาะข้อยกเว้นต่าง ๆ อ่านแล้วเสมือนทับซ้อนกัน เหตุการณ์เดียวกันอาจสามารถเข้าข้อยกเว้นได้หลายข้อในคราวเดียวกัน จนอดรู้สึกสับสนในการพยายามแปลความที่ถูกต้อง และที่ควรจะเป็นอยู่บ่อยครั้ง

 

อย่างไรก็ดี บ้านเรายังค้นไม่เจอแนวคำพิพากษาศาลฎีกาการแปลความหมายของคำว่ากายภาพโดยตรง ขณะที่แนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้นทยอยมีให้ศึกษาทำความเข้าใจ (สับสน) อยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เวลาบรรยายให้ความรู้ ส่วนตัวมักจะหยิบยกขึ้นมาให้เห็นภาพอีกมุมมองหนึ่ง แต่ยังไม่เคยได้นำมาเขียนขยายความเป็นบทความบ้างเลย

 

บ้านสามหลังในชนบทตั้งอยู่เคียงข้างกัน ด้านหลังบ้านเหล่านั้นได้มีโครงการทำเหมืองมาสร้างกำแพงหินขนาดความสูงประมาณ 15 เมตร (ประมาณเทียบเท่าตึกห้าชั้น) และได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้หลังเลิกกิจการ

 

หลายสิบปีผ่านไป ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่น่าวิตกบังเกิดขึ้น จวบจนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 จู่ ๆ ปรากฏมีหินขนาดใหญ่กับเศษหินหลายก้อนได้หลุดร่วงออกมาจากกำแพงหินดังกล่าวหล่นลงมาถูกบ้านสองในสามหลังนั้น ได้รับความเสียหายอย่างมาก ส่วนบ้านที่เหลืออีกหลังหนึ่งนับว่าโชคดีมากที่ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ

 

อย่างไรก็ดี มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ครอบครัวทั้งสามหลังอพยพออกไปให้หมด เพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตร่างกาย เนื่องจากเมื่อผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ได้มาตรวจสอบดูสภาพของทั้งตัวบ้านเองกับกำแพงหินนั้นแล้ว ต่างลงความเห็นว่า มีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่จะมีหินขนาดใหญ่กับเศษหินหลุดร่วงลงมาได้อีก ปัจจัยหลักมาจากการออกแบบและการก่อสร้างกำแพงหินที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ ประกอบกับความเสื่อมสภาพจากการขาดดูแลรักษากับสภาพภูมิอากาศเองได้ส่งผลทำให้วัสดุที่ยึดหินเหล่านั้นสึกกร่อนจนทำให้หินขนาดใหญ่เหล่านั้นหลุดร่อนออกจากตำแหน่งได้ ในลักษณะทำนองเดียวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า “หินถล่ม/หินพัง/กองหินที่ร่วงลงมา (rockfall)” ซึ่งถูกจัดอยู่ในรูปแบบย่อยของแผ่นดินถล่ม (landslide)  

 

เมื่อเจ้าของบ้านทั้งสามหลังได้ยื่นฟ้องให้บริษัทประกันภัยของตนให้รับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับบ้านอยู่อาศัย และได้มีการต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์

 

โดยที่บริษัทประกันภัยเหล่านั้นได้หยิบยกข้อต่อสู้เป็นประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

1) บ้านหลังที่ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เลย ถือว่า ไม่มีความเสียหายทางกายภาพเกิดขึ้นจะไม่อาจคุ้มครองได้ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท ซึ่งระบุว่า “คุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

 

แม้นจะมิปรากฏคำนิยามจำเพาะของกายภาพกำกับไว้ก็ตาม ในการแปลความหมายทั่วไปจะต้องถึงขนาดทำให้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพรูปร่างที่มองเห็นร่องรอยความเสียหายนั้นด้วยสายตาได้ (Physical Alteration) เท่านั้น

 

2) ส่วนบ้านหลังที่เสียหายทางกายภาพอีกสองหลังนั้นก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองอยู่ดี เนื่องจากตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท ซึ่งระบุว่า “ไม่คุ้มครองความเสียหายใด ๆ อันเป็นผลมาจาก

 

การเคลื่อนตัวของพื้นดิน (earth movement) รวมถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียงแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินถล่ม (landslide) การยุบตัว (subsidence) …. หรือการกัดเซาะ/การกัดกร่อน (erosion) ….

 

ศาลอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว วินิจฉัยว่า

 

ประเด็นแรก

 

มีความเสียหายทางกายภาพบังเกิดแก่บ้านหลังที่ไม่ได้รับความเสียหายนั้นเลยแล้วหรือยัง?

 

บ้านที่พักอาศัยถือเป็นสถานที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้เข้าพักอาศัยมากที่สุด เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้งแล้วว่า นับแต่วันที่เกิดเหตุ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 บ้านทั้งสามหลังกลายสภาพมาเป็นสถานที่มิอาจให้ความปลอดภัยดังเดิมอีกต่อไปแล้ว เนื่องด้วยหินขนาดใหญ่กับเศษหินมีโอกาสร่วงหล่นลงมาสร้างความเสียหายได้ทุกขณะ ตราบใดที่กำแพงหินนั้นยังมิได้รับการจัดการซ่อมแซมให้มีสภาพแข็งแรงมั่นคงได้ บ้านทั้งสามหลังของผู้เอาประกันภัยก็ไม่สามารถเรียกว่า “บ้าน” ในลักษณะที่จะใช้พักอยู่อาศัยอย่างปลอดภัยได้อีกต่อไป จึงถือว่า โดยเฉพาะบ้านหลังที่ไม่ได้รับความเสียหายนั้นได้รับความเสียหายทางกายภาพโดยอุบัติเหตุอย่างฉับพลันจากปัจจัยภายนอก (sudden and accidental direct physical damage) แล้ว จากการที่ไม่สามารถใช้งาน หรือใช้อยู่อาศัยได้ดังเดิม ถึงแม้นจะไม่ปรากฏความเสียหายอย่างชัดเจนแก่ตัวโครงสร้างของบ้านหลังนั้นก็ตาม

 

ประเด็นที่สอง

 

ลักษณะการเกิดเหตุที่ว่าจะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นเรื่องการเคลื่อนตัวของพื้นดินซึ่งบริษัทประกันภัยตีความอาจเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ (แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด) และจากการกระทำของมนุษย์ หรือจากสาเหตุทางธรรมชาติผนวกกับกระทำของมนุษย์ (แผ่นดินถล่ม การยุบตัว หรือการกัดเซาะ/การกัดกร่อน) ก็ได้ ล้วนต่างไม่คุ้มครองทั้งหมดนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เห็นว่า เจตนารมณ์น่าจะหมายความถึงเพียงจากสาเหตุทางธรรมชาติอย่างเดียวมากกว่า มิฉะนั้นแล้ว เหตุการณ์จากภัยระเบิด ภัยยวดยาน ภัยอากาศยาน ภัยจากการก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนถึงขนาดทำให้แผ่นดินเคลื่อนตัวนั้น ล้วนถูกจัดให้อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องการเคลื่อนตัวของพื้นดินทั้งหมดนั้น น่าจะไม่ถูกต้องตรงตามความคาดหวังในการที่จะได้รับความคุ้มครองตามสมควรของผู้ซื้อประกันภัย

 

พิพากษาให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาท โดยย้อนคดีให้ศาลชั้นต้นไปพิจารณารายละเอียดของคดีที่ยังเป็นประเด็นต่อไป

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Murray v. State Farm, 203 W. Va. 477, 509 S.E.2d 1 (W. Va. 1998))

 

น่าสนใจนะครับ เมื่อนำไปเทียบเคียงกับข้อยกเว้นเรื่องนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานบ้านเรา ซึ่งเขียนไว้ ดังนี้

 

1.13 การยุบตัว  การโก่งตัว  หรือการเคลื่อนตัวของพื้นดิน

1.13  subsidence, ground heave or landslip

 

เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว เห็นว่า ต้นฉบับภาษาอังกฤษมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ยกเว้นกว้างถึงขนาดนั้นเลย

 

สนใจ ลองย้อนกลับไปอ่านบทความเก่า เรื่องที่ 88: ข้อยกเว้นว่าด้วยการเคลื่อนตัวของพื้นดิน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินหมายความถึงอะไรได้บ้าง?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/