วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก? : เมื่อคนขับรถแท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสาร

 

(ตอนที่ห้า)

 

ไม่พบเจอคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยที่ตัดสินคดีแพ่งลักษณะนี้โดยตรง ถึงแม้มีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นในบ้านเราด้วยเหมือนกัน

 

คงพบที่ใกล้เคียงในคดีอาญาโทษความผิดฐานกระทำผิดอนาจาร และพรากผู้เยาว์ ดังนี้

 

จำเลยขับรถแท็กซี่พาผู้เสียหายไปถึงปากทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลี ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ขับรถไปส่งในหมู่บ้าน แต่จำเลยกลับขับรถเลยไปโดยพูดกับผู้เสียหายว่า ขอควงผู้เสียหายไปเที่ยวบางแสน เมื่อจำเลยขับรถไปถึงบริเวณหน้าวัดหอมศีล จำเลยเลี้ยวรถกลับมุ่งไปทางกรุงเทพมหานคร และไปจอดอยู่ริมทางหน้าวัดหอมศีล ซึ่งอยู่เลยทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลีประมาณ 10 กิโลเมตร ระหว่างนั้นจำเลยได้ดึงตัวผู้เสียหายไปจูบแก้มรวม 3 ครั้ง และพูดขอให้ผู้เสียหายยอมเป็นภริยา การกระทำของจำเลยที่ไม่ยอมเลี้ยวรถเข้าไปส่งผู้เสียหายที่หมู่บ้านการเคหะบางพลี และขับรถเลยไปเพื่อจะกระทำอนาจารผู้เสียหาย เป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ดูแล โดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสามแล้ว หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้เสียหายไปไกลอีกถึง 10 กิโลเมตร จำเลยจึงได้กระทำอนาจารผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อีก การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำต่างกรรมกับความผิด ตามมาตรา 318 วรรคสาม

 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2541)

 

ด้านกรณีทางคดีแพ่ง ขอหยิบยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงมาปรับใช้เทียบเคียง โดยขอจำแนกออกเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

 

1) ความรับผิดของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ต่อผู้โดยสาร

 

ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ต้องรับผิดในเหตุกระทำละเมิดแก่ผู้โดยสารของตน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557

 

ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือ สัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย (ผู้โดยสารรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถคู่กรณี) และที่ 2 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครอง และเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ขับไว้กับจำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัยรถแท็กซี่) จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 5 (ผู้ครอบครองผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เพราะฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 5 (ผู้ครอบครองผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ขาดอายุความ มิใช่ยกฟ้อง เพราะจำเลยที่ 5 (ผู้ครอบครองผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัยรถแท็กซี่) จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

 

2) ผู้โดยสารผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องบริษัทประกันภัยรถแท็กซี่ได้โดยตรงหรือไม่?

 

สามารถกระทำได้ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557

 

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ขับรถของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ขับรถของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ซึ่งจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยัน และรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้อง หรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหาย และทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัย โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิด ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผิดไป มีผลทำให้จำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) กระทำละเมิดต่อโจทก์ และขณะนั้น จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 (เจ้าของผู้เอาประกันภัยรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิด อันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556

 

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิด และต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่ จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 (ปัจจุบันแก้ไขเป็นเกินกว่า 50) มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัย ไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์

 

3) ผู้ขับขี่รถแท็กซี่กระทำผิดอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจหรือเปล่า?

 

ขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือตัวการกับตัวแทนโดยทั่วไป อาจถูกกำหนดไว้ค่อนข้างจำกัด แค่เพียงให้ทำตามคำสั่งของนายจ้าง หรือตามแต่ตัวการจะได้มอบหมายมาเท่านั้น แต่สำหรับกรณีของผู้ประกอบการขนส่ง ภายใต้กฎหมายเฉพาะแล้ว จะมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับการขนส่งมากกว่านั้นเยอะ โดยเฉพาะกรณีที่มีค่าต่างตอบแทน

 

นึกง่าย ๆ เรามักได้ยินสุภาษิตสากลที่ว่า “ลูกค้า คือ พระเจ้า” แต่ไม่น่าเชื่อจะมีผู้ใดบอกกล่าว “ลูกจ้าง คือ พระเจ้า” บ้างเลย จริงไหมครับ?

 

สองตัวอย่างคดีศึกษาที่หยิบยกมาเทียบเคียง เชื่อว่า จะเห็นภาพเปรียบเทียบได้ชัดเจนขึ้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3750/2545

 

คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) ที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) และที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาของศาลคดีส่วนอาญาที่ฟังว่า จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ขับรถบรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายสาหัส มีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) ที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) และที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงกันใหม่

 

การที่จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกผักและผลไม้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ได้แวะรับประทานอาหารและดื่มสุรา จนถูกทำร้ายร่างกายด้วยความโกรธแค้น เพราะเหตุส่วนตัวที่ถูกทำร้ายดังกล่าว จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) จึงขับรถบรรทุกพุ่งชนโจทก์ที่ 5 และผู้ตายกับพวกที่ทำร้ายตน จนเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ เช่นนี้ เป็นเหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการในทางการที่จ้าง หรือกรอบแห่งการจ้างของจำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) นายจ้างที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ลูกจ้างไปกระทำ จำเลยที่ 2 (นายจ้าง) และที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ก่อให้เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ.มาตรา 887 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 (นายจ้างผู้เอาประกันภัย) ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 (ลูกจ้างผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัย) ที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้า จำเลยที่ 4 (บริษัทประกันภัย) ผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2563

 

จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียน และผู้ตรวจการขนส่งทางบก โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ และจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เพราะจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ย่อมต้องทราบดีว่า จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่น หรือจำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์ เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ใช้ชื่อ และตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าขับรถส่งคนโดยสาร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ และจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์ และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เช่าขับรับคนโดยสาร จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) เป็นตัวแทนของตน ในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 (ผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 (ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย) ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

 

4) ใครคือผู้เอาประกันภัยซึ่งจะต้องรับผิดกันแน่?

 

ผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัย ในสถานะทางกฎหมายอาจเป็นลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยนั้นก็ได้

 

โดยหลักกฎหมายทั่วไป การตีความของถ้อยคำที่เป็นความคุ้มครองควรแปลความอย่างกว้าง ขณะที่ข้อยกเว้นนั้นควรแปลความอย่างแคบ

 

เทียบเคียงคดีรถแท็กซี่ดังกล่าวมาแล้ว

 

ผู้เอาประกันภัย คือ เจ้าของรถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย

 

ผู้ขับขี่รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัย คือ ผู้ได้รับความคุ้มครอง แต่มิใช่เป็นผู้เอาประกันภัยตัวจริง เนื่องด้วยในคำจำกัดความเฉพาะของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เพียงหมายถึง บุคคลผู้ระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตาราง (กรมธรรม์ประกันภัย) ซึ่งจะมีสิทธิหน้าที่เต็มที่อย่างสมบูรณ์ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวเท่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2525

 

ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 บัญญัติว่า ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด ในเมื่อความวินาศภัย หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้น เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์นั้น เป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า หมายถึงความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์เองเท่านั้น ไม่หมายรวมถึง ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของลูกจ้างผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ด้วย

 

ข้อสรุป

 

ส่วนตัวเห็นว่า หากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศดังกล่าวได้มาเกิดขึ้นในบ้านเรา จากแนวทางตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาต่าง ๆ ซึ่งได้หยิบยกมาเทียบเคียง ผู้เสียหายน่าจะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนนะครับ

 

อันที่จริง อ่านพบเจอตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับอีก ซึ่งมีการแปลความต่างออกไป ขอติดไว้คราหน้านะครับ มิฉะนั้นแล้ว จะมิได้มีโอกาสกล่าวถึงประเภทการประกันภัยอื่นบ้างเลย

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น