เรื่องที่ 176 : เงื่อนไขพิเศษการขนย้ายซากทรัพย์สิน (Debris Removal) มีความหมายเช่นใดกันแน่?
อีกหนึ่งเงื่อนไขพิเศษที่จัดเป็นพื้นฐานจะต้องซื้อขยายไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินหลากหลายประเภท ไม่จำกัดอยู่เพียงกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งมักจะขยายควบคู่กับเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยค่าวิชาชีพที่เคยได้พูดถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้
ขอหยิบยกตัวอย่างเงื่อนไขพิเศษการขนย้ายซากทรัพย์สิน (Debris Removal) แบบ อค./ทส. 1.10 ฉบับมาตรฐานของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินบ้านเราซึ่งหลายท่านน่าจะคุ้นเคย มาวิเคราะห์ประกอบตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ดีขึ้น ดังนี้
เริ่มแรก เราลองมาพิจารณาถึงเนื้อความ ซึ่งได้ระบุว่า
“การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้ขยายความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสูญเสีย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย อันได้แก่
ก) เพื่อการค้ำ หรือยันซากทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ข) เพื่อการรื้อถอน หรือทำลายซากทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ค) เพื่อการขนย้ายซากทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทก่อน
อนึ่ง จำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้จะต้องได้รับการปรับปรุงให้รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการดังกล่าวข้างต้น และความรับผิดชอบของบริษัทสำหรับค่าใช้จ่ายในกรณีนี้ ไม่เกิน………………..ของจำนวนเงินเอาประกันภัยของรายการที่………….อย่างไรก็ตาม ความรับผิดของบริษัทตามเอกสารแนบท้ายนี้ และตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย ไม่ว่าในกรณีใด”
เงื่อนไขพิเศษนี้มีประโยชน์เช่นใดแก่ผู้เอาประกันภัย?
บางครา เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยขึ้นมา อาจจำเป็นต้องขนเคลื่อนย้ายเศษซากความเสียหายนั้นออกไป เพื่อจะได้มีพื้นที่ว่างสะดวกในการที่จะดำเนินการซ่อมแซม หรือสร้างใหม่ทดแทนต่อไป
ถ้าปราศจากเงื่อนไขพิเศษนี้ จะเกิดอะไรขึ้น?
ค่าขนส่งเคลื่อนย้ายเศษซากดังกล่าว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเติมภายหลังจากความเสียหายนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง เพราะบริษัทประกันภัยมีหน้าที่เพียงชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น
การขยายเงื่อนไขพิเศษนี้จะต้องชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมอีกไหม?
ตามย่อหน้าสุดท้ายข้างต้น ทางทฤษฎีจะต้องกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายนี้เป็นอัตราร้อยละของจำนวนเงินเอาประกันภัยของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย คำนวณเป็นตัวเลขออกมา แล้วนำไปบวกเข้ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยดังกล่าว เพื่อคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยรวมทั้งหมด
แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ใคร่พบเห็นเช่นนั้น กลายเป็นว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนี้เสมือนหนึ่งมิได้ถูกขยายไว้จริง แถมไปเบียดบังอยู่ในจำนวนเงินเอาประกันภัยของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นอีก
ปัญหาการตีความเงื่อนไขพิเศษนี้?
คำว่า “ซากทรัพย์ (Debris)” หมายถึง อะไร?
พจนานุกรมศัพท์ ภาษาอังกฤษ ให้ความหมายโดยสรุป คือ เศษซากที่เหลืออยู่ของสิ่งที่แตกหักเสียหาย หรือที่ถูกทำลาย
ขณะที่พจนานุกรมไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายตอนหนึ่งว่า สิ่งก่อสร้างที่ปรักหักพังแล้ว และเหลือเพียงแต่เค้า
ดูเสมือนหนึ่งเศษซากนั้นจำกัดเพียงเป็นวัสดุที่เป็นของแข็งเท่านั้นหรือเปล่า?
แล้วจะเป็นเศษซากได้จะต้องถูกทำให้แตกหักเสียหาย หรือถูกทำลายเสียก่อนใช่ไหม?
เกิดมีปัญหาข้อถกเถียงกันระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยจนเป็นคดีขึ้นมาในที่สุด
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เอาประกันภัยทรัพย์สินของตนเอง โดยระบุรวมถึงน้ำมันที่ถูกจัดเก็บไว้ให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วย
ต่อมา ได้เกิดอุบัติเหตุจากภัยที่คุ้มครองส่งผลทำให้น้ำมันที่ถูกจัดเก็บไว้นั้นรั่วไหลออกมาแทรกซึมลงไปในพื้นดินจำนวนมาก
เนื่องจากมีข้อตกลงชัดเจนกันแล้ว น้ำมันนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้แล้ว
แต่ยังคงมีประเด็นข้อโต้แย้งหลงเหลืออยู่สองประเด็น
1) เศษซากทรัพย์ที่จะคุ้มครองมีความหมายเช่นไรกันแน่? เนื่องด้วยมิได้มีคำจำกัดความเฉพาะเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด ฉบับพิพาท
2) เศษซากทรัพย์นั้นจะต้องถูกทำให้แตกหักเสียหาย หรือถูกทำลายเสียก่อนใช่ไหม?
ฝั่งบริษัทประกันภัยพยายามโต้แย้งว่า
1) เมื่อมิได้มีคำจำกัดความเฉพาะกำกับไว้ จำต้องอาศัยตามความเข้าใจของคนทั่วไปดังปรากฏในพจนานุกรมเป็นเกณฑ์
2) น้ำมันที่รั่วไหลออกไปนั้นมิได้อยู่ในสภาพที่แตกหักเสียหาย หรือจะต้องถูกทำลายลงไปเลย
ดังนั้น จึงไม่ถือเป็นเศษซากทรัพย์ดังที่ระบุไว้ในเงื่อนไขพิเศษดังกล่าว
ทั้งศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับข้อโต้แย้งจากฝั่งบริษัทประกันภัย เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะกลับกลายเป็นว่า หากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้ถูกไฟไหม้เผาจนป่นเป็นเถ้าถ่าน แล้วบริษัทประกันภัยอาจใช้อ้างได้ว่า ไม่หลงเหลือเศษซากทรัพย์ที่จะให้คุ้มครองค่าเคลื่อนย้ายได้ตามเงื่อนไขพิเศษนั้น น่าจะมิใช่เป็นการตีความที่ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย อนึ่ง บริษัทประกันภัยรายนี้เองก็ยอมรับให้น้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยตั้งแต่ต้นแล้ว
พิพากษาให้ ฝั่งบริษัทประกันภัยรับผิดรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเศษซากทรัพย์นั้นด้วย
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Lexinton Insurance Company v Ryder System Inc., 234 SE 2d 839 – Georgia Court of Appeals 1977)
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น