วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 172 : ติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยน : เพื่อรองรับผลการปิดกั้นจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

 

(ตอนที่สาม)

 

ครั้งเมื่อพายุเฮอริเคนฟลอยด์พัดถล่มเมืองวอชิงตัน มลรัฐนอร์ทแคโรไลยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1999 ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักจนทำให้มีน้ำท่วมแผ่ไปทั่วบริเวณอย่างกว้างขวาง

 

สถานที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งประกอบกิจการโรงงานผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เรือกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยมีที่ตั้งอยู่ชานเมืองแห่งนั้น และอาศัยเพียงถนนเส้นเดียวในการเข้าถึง ประสบปัญหาน้ำท่วมถนนเส้นนั้นด้วยเหมือนกัน จนรถทั่วไปไม่สามารถใช้สัญจรผ่านเข้าออกได้ตามปกติ ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16 - 25 กันยายน ค.ศ. 1999 ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยจำต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราวโดยปริยาย

 

หลังจากผ่านไปเจ็ดวัน พอระดับน้ำลดลงอยู่ในวิสัยที่รถใหญ่สามารถแล่นผ่านไปมาได้ ผู้เอาประกันภัยได้ใช้รถบรรทุกขนส่งพนักงานเพื่อเข้าไปดำเนินกิจการต่อจวบจนกระทั่งสามารถทำให้ผลผลิตซึ่งตกลงไปประมาณสามสิบสามเปอร์เซ็นต์นั้น (หรือคำนวณมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงินได้ประมาณหนึ่งล้านดอลล่าร์)  กลับคืนมาสู่ระดับปกติก่อนช่วงน้ำท่วมได้ในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1999

 

ภายหลังจากเมื่อบริษัทประกันภัยได้ตอบปฏิเสธความคุ้มครอง ภายใต้เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause) ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจฉบับพิพาท โดยอ้างเหตุผลทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยนั้นมิได้รับความเสียหายทางกายภาพด้วย (เนื่องด้วยตั้งอยู่บนเนินสูง) จากภัยที่คุ้มครอง กล่าวคือ ภัยลมพายุกับภัยน้ำท่วม ผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีทางเลือกนอกเหนือจากนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาหาข้อยุติ

 

ผลการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลได้วินิจฉัย โดยจำแนกออกมาเป็นประเด็นต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้

 

1) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause)

 

ได้มีข้อความกำหนดโดยสามารถถอดความออกมาเป็นภาษาไทยว่า

 

กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้คุ้มครองความสูญเสียอันเป็นผลเนื่องมาจากภัยที่คุ้มครองซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วงระยะเวลาเมื่อการเข้าสู่ (ingress) หรือการออกจาก (egress) สถานที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับความคุ้มครองในที่นี้ ได้ถูกปิดกั้น

 

ตามข้อความจริงที่เกิดขึ้นล้วนเข้าข่ายความคุ้มครองดังกล่าว เนื่องจากภัยลมพายุกับภัยน้ำท่วมล้วนเป็นภัยที่คุ้มครอง เช่นเดียวกับสถานที่ตั้งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย รวมทั้งถ้อยคำของการเข้าสู่ (ingress) หรือการออกจาก (egress) ซึ่งแม้นมิได้มีคำนิยามเฉพาะกำกับเอาไว้ก็ตาม คู่ความทั้งสองฝ่ายล้วนเข้าใจชัดเจนตรงกันว่า ให้ความหมายเหมือนกับคำว่า “การเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือการเข้าถึง (access)

 

2) ข้อกำหนดว่าด้วยความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (Material Damage Proviso)  

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยซึ่งกล่าวอ้างข้อกำหนดดังกล่าว อันถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนทึ่ว่าจะต้องเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียก่อน กลไกความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาท (ในที่นี้ คือ เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause)) ถึงจะมีผลใช้บังคับได้นั้น

 

เมื่อย้อนกลับไปอ่านเงื่อนไขพิเศษนั้นแล้ว ไม่ปรากฏมีข้อความใดเลยที่เขียนเอาไว้เช่นนั้น คำกล่าวอ้างเช่นว่านั้นจึงไม่อาจรับฟังได้

 

3) ระยะเวลาเอาประกันภัย (Period of Insurance)

 

เหตุการณ์ที่เกิดภัยลมพายุกับภัยน้ำท่วมตกอยู่ในช่วงระยะเวลาประกันภัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ. 1999 ถึงวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ. 2000

 

ฉะนั้น ศาลจึงตัดสินให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยรับผิดแก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยตามคำฟ้อง

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Fountain Powerboat Industries, Inc. v. Reliance Insurance Co., 119 F.Supp. 2d 552 (E.D.N.C. 2000))  

 

ข้อสังเกต

 

ลองคิดกลับมุมอีกด้าน หากว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้มิได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษนี้เอาไว้เลย และภัยน้ำท่วมที่คุ้มครองได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ภายในโรงงานของผู้เอาประกันภัย จนส่งผลทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก หรือได้รับผลกระทบ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาท ของผู้เอาประกันภัยรายนี้จะสามารถให้ผลบังคับได้ไหม?

 

ถ้าคำตอบออกมาว่า ได้ แล้วเราจะขยายเงื่อนไขพิเศษเช่นว่านี้อีกเพื่อประโยชน์อันใด?

 

ตอนหน้าไปพิจารณาอีกคดีศึกษากันนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 172 : ติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยน : เพื่อรองรับผลการปิดกั้นจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

 

(ตอนที่สอง)

 

เนื่องด้วยเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (Civil Authority Clause) นั้นจะมีผลทำงานต่อเมื่อต้องถึงขนาดมีคำสั่งห้ามผ่านเข้าออกไปสู่สถานที่เอาประกันภัยอย่างเด็ดขาดเท่านั้น ฉะนั้น กรณีที่ปราศจากคำสั่งห้ามดังกล่าว มีเงื่อนไขพิเศษอื่นที่คล้ายคลึงกันเป็นทางเลือกให้พิจารณา อันได้แก่

 

(1) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการกีดกั้นการเข้าไปใช้ประโยชน์ (Prevention of Access Clause)

(2) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้าไปใช้ประโยชน์ (Denial of Access Clause)

(3) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการขัดขวางมิให้เข้า/ออกได้ (Ingress/Egress Clause)

 

โดยหลักการ ทั้งสามข้อล้วนมีวัตถุประสงค์หลักเหมือนกัน คือ ได้เกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองส่งผลถึงขนาดปิดกั้น หรือขัดขวางจนไม่สามารถจะเข้าไปสู่ หรือออกจากสถานที่เอาประกันภัยได้ โดยที่สองข้อแรกสามารถใช้ทดแทนกันได้ และนิยมเลือกใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ขณะที่ข้อสามจะพบเห็นได้เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ข้อพึงระวังในการเลือกใช้ จำต้องตรวจสอบถ้อยคำในเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างถี่ถ้วน เพราะปรากฏมีการร่างถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไปอย่างมากมาย ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นเกณฑ์ หามาตรฐานเดียวกันมิได้

 

จำได้ช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยบ้านเราครั้งปี พ.ศ. 2554 มีบางรายสอบถามเข้ามาด้วยความฉงนใจอย่างมากว่า ทำไมเมื่อติดแนบเงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้แล้ว บางกรมธรรม์ประกันภัยสามารถคุ้มครองให้ได้ แต่บางฉบับกลับปฏิเสธ?

 

ครั้นไปตรวจสอบถ้อยคำของทั้งสองฉบับเทียบเคียงกัน พบว่า เขียนถ้อยคำแตกต่างกัน

 

ฉบับแรก เขียนทำนองว่า หากได้เกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินใดที่อยู่โดยรอบจนส่งผลถึงขนาดทำให้ไม่สามารถเข้าออกสถานที่เอาประกันภัยได้ จะได้รับความคุ้มครองผลสืบเนื่องทางการเงินจากเหตุการณ์ดังว่านั้น โดยไม่คำนึงว่า จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้อยคำลักษณะนี้จะเรียกว่า “Non-Damage Clause” ซึ่งถูกร่างขึ้นมาใหม่ และนิยมใช้ในปัจจุบัน

 

ฉบับที่สอง เขียนทำงานว่า ถ้าได้เกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินใดที่อยู่โดยรอบจนส่งผลถึงขนาดทำให้ไม่สามารถเข้าออกสถานที่เอาประกันภัยได้ จะได้รับความคุ้มครองผลสืบเนื่องทางการเงินจากเหตุการณ์ดังว่านั้น แต่ทั้งนี้จะต้องเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยขึ้นมาด้วยเท่านั้น ถ้อยคำลักษณะนี้จะเรียกว่า “Damage Clause หรือ Material Damage Proviso” นั่นเอง ซึ่งถูกร่างเอาไว้ดั้งเดิม และไม่นิยมใช้กันแล้วปัจจุบันนี้

 

อนึ่ง นอกเหนือจากนี้ เงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้ บางฉบับอาจจำกัดภัยคุ้มครองให้ลดน้อยลงไปกว่าปกติ หรือบางฉบับอาจจำกัดอาณาเขตรัศมีของความเสียหายโดยรอบอย่างชัดแจ้งก็มีพบเห็นได้   

 

ท่านใดสนใจตัวอย่างเงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้ ร้องขอมาได้นะครับ ผมมีรวบรวมไว้พอสมควร

 

ตอนต่อไป เราจะไปดูตัวอย่างคดีศึกษาการตีความของถ้อยคำที่ปรากฏในเงื่อนไขพิเศษจำพวกนี้กันนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 172 : ติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยน : เพื่อรองรับผลการปิดกั้นจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

คราวมหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 ได้สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางแก่ทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ

 

ปีนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็ได้กลับมาสร้างความเสียหายเกือบจะซ้ำรอยเฉกเช่นคราวนั้นอีก

 

ใครสามารถเตรียมตัวปกป้องทรัพย์สินของตนเองได้ทันท่วงที ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ทัน หรือไม่เพียงพอ ก็ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ

 

ครั้งนี้ได้มีคำถามจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่งสอบถามว่า

 

หากผู้ประกอบธุรกิจได้ปกป้องน้ำท่วมอย่างดี แม้นน้ำไม่ได้เข้าไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินใด แต่คงยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากภายนอกมีน้ำล้อมรอบ ผู้คนเข้าออกไม่ได้ หรือมิฉะนั้นด้วยความยากลำบากมาก จำต้องหยุดกิจการชั่วคราวไปโดยปริยาย

 

ในแง่ที่ธุรกิจนั้นได้จัดทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเอาไว้ด้วย จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยได้หรือไม่?

 

เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขปกติของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนไว้ว่า จะคุ้มครองได้ต่อเมื่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ณ สถานที่แห่งนั้นได้รับความเสียหาย (Material Damage Proviso) จากภัยน้ำท่วมเสียก่อน

 

ฉะนั้น กรณีตามคำถามนั้น จำต้องตอบว่า ไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความสูญเสียทางการเงิน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนั้นได้ เพราะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นมิได้เสียหาย

(โปรดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?)

 

ถ้าจะทำให้ได้รับความคุ้มครองล่ะ ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร?

 

ข้อแนะนำ คือ ให้ติดเงื่อนไขพิเศษขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม

 

เงื่อนไขพิเศษของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมีอยู่มากมายจะเลือกยังไงถูกล่ะ?

 

แม่นแล้วครับ ถ้าเลือกติดเงื่อนไขพิเศษผิด ชีวิตเปลี่ยนแน่นอนดั่งที่จั่วหัวเรื่องไว้

 

ลองพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษานี้จากต่างประเทศเป็นบทเรียนเทียบเคียงดูนะครับ

 

ผู้เอาประกันภัยซึ่งประกอบกิจการเป็นสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เมืองแบตันรูช รัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอาไว้ควบคู่กับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักคุ้มครองความสูญเสียทางการเงินด้วย

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนากำลังจะพัดผ่านเข้ามา ผู้ว่าการมลรัฐหลุยเซียนาได้ออกประกาศภาวะฉุกเฉิน และให้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือน และขอความร่วมมือจากประชาชนมิให้ออกจากอาคารหรือที่พักอาศัย ถ้าเป็นไปได้ ในช่วงวันเวลาที่จะมีลมพายุพัดผ่าน

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้ปิดกิจการในช่วงวันเวลาดังกล่าว

 

หลังจากนั้น ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้น โดยกล่าวอ้างว่า โชคดีที่ตนได้ขยายเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (Civil Authority Clause) เผื่อเอาไว้อยู่แล้ว ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตน

 

เมื่อบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดชอบ จึงทำให้เกิดเป็นคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล

 

ศาลได้พิจารณาประเด็นถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนี้ซึ่งเขียนว่า จะให้ความคุ้มครองกรณีเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้มีคำสั่งห้ามเข้าไป (prohibit access) ยังสถานที่เอาประกันภัย

 

แต่ตามความเป็นจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดเจนเลยว่า เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้ประกาศห้ามอย่างเป็นทางการ หรือมีการปิดกั้นมิให้พนักงานของผู้เอาประกันภัยในการเข้าสู่ หรือการเข้าไปสถานที่ตั้งกิจการนั้นเลย ทั้งยังไม่ได้มีการตั้งด่านตรวจสอบ หรือการปิดเส้นทางต่าง ๆ อีกด้วย

 

ฉะนั้น ถ้อยคำว่า “ห้าม (prohibit)” นั้นจะให้ความหมายรุนแรงกว่าเพียงแค่การทำให้หยุดชะงัก หรือการควบคุมจำกัดเท่านั้น คือ จะต้องถึงขนาดเป็นการห้ามโดยเด็ดขาด หรือการปิดกั้นอย่างเคร่งครัดด้วย

 

นอกจากนี้ ตัวโจทก์ผู้เอาประกันภัยยังยอมรับว่า ณ วันที่หยุดกิจการนั้นเอง ยังคงอนุญาตให้พนักงานบางรายเข้าไปสำนักงาน เพื่อทำงานบางอย่างด้วยเช่นกัน

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่มีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Kean, Miller, Hawthorne, D’Armond, McCowan & Jarman, LLP v. National Fire Insurance Co. of Hartford, No. 06-770-C-M2, 2007 WL 2489711 (M.D. La. Aug. 2, 2007))

 

ถึงแม้ว่า จะเป็นกรณีภัยจากลมพายุ แต่คงมิได้ให้ผลแตกต่างหากเป็นภัยน้ำท่วมนัก แถมภัยน้ำท่วมยังเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากกว่า ซึ่งจะอาศัยเพียงเงื่อนไขพิเศษนี้คงไม่เพียงพอแน่ จำต้องพิจารณาเงื่อนไขพิเศษอื่นที่คล้ายคลึงกันมาแนบติดเผื่อไว้ด้วย จะวางใจได้มากกว่า

 

สัปดาห์หน้าค่อยมาดูกันครับ ได้แก่ เงื่อนไขพิเศษใดบ้าง?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/