วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 171 : เมื่อหลักการยอมตามการชดใช้ (Follow The Settlements) ภายใต้สัญญาประกันภัยต่อ (Reinsurance Contract) ไม่เป็นดังที่คาดหวัง?

 

แม้สัญญาประกันภัย (ต่อ) จะไม่ปรากฏมีคำเตือนล่วงหน้าเสมือนหนึ่งด้านการลงทุนที่ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง

 

ส่วนตัวมองว่า ไม่น่าจะมีความแตกต่างกันนัก

 

ในบทความเรื่องที่ 119: เมื่อประกันภัยต่อ (Reinsurance) กับประกันภัยตรง (Direct Insurance) ไม่ล้อไปด้วยกัน ปัญหาจะตกอยู่ที่ใครเอ่ย? ผมเคยได้หยิบยกคำกล่าวในธุรกิจประกันภัยมาโปรย หากการประกันภัยตรงถือเป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนความเสี่ยงภัยของตนไปให้แก่บริษัทประกันภัยรับผิดชอบแทน การประกันภัยต่อก็เปรียบเสมือนเป็นการกระจายความเสี่ยงภัยที่ได้รับมานั้นของบริษัทประกันภัยส่งต่อไปให้ผู้รับประกันภัยต่อมาช่วยแบ่งเบาภาระไปอีกทอดหนึ่ง หรือหลาย ๆ ทอดต่อกันไปแล้วแต่กรณี

 

ยิ่งเมื่อบริษัทประกันภัยตรงอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภัยโดยตรง ก็ควรยิ่งตระหนัก และใช้ความระมัดระวังในทางวิชาชีพของตนให้จงหนัก เวลาไปจัดทำประกันภัยต่อ อย่าไปเผลอเรอหวังพึ่งพิงหลักการเรื่องการยอมปฏิบัติตาม (Follow The Settlements) มากเกินไป

 

มิฉะนั้น อาจดูไม่จืดเหมือนในตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้

 

เนื่องด้วยกรณีนี้เป็นคดีพิพาทด้านการประกันภัยต่อ จึงขอกล่าวนำถึงความหมายของถ้อยคำสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีศึกษานี้ ให้รับทราบเบื้องต้นกันก่อน สำหรับบางท่านซึ่งอาจไม่คุ้นเคยศัพท์การประกันภัยต่อ

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้คำนิยาม ดังนี้

 

facultative reinsurance; specific reinsurance การประกันภัยต่อเฉพาะราย

 

การประกันภัยต่อวิธีหนึ่งซึ่งไม่มีข้อตกลงล่วงหน้า ผู้เอาประกันภัยต่อและผู้รับประกันภัยต่อจะต้องมีการตกลงกันทำสัญญาประกันภัยต่อเป็นรายไป โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีอิสระที่จะทำสัญญาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับการประกันภัยต่อตามสัญญา (treaty reinsurance)

 

follow the settlements การยอมตามการชดใช้

 

1. หลักการในการประกันภัยต่อที่ผู้รับประกันภัยต่อยอมรับการปฏิบัติของผู้เอาประกันภัยต่อ ในเรื่องการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันภัยต่อได้กระทำโดยสุจริต แต่ไม่ตัดสิทธิผู้รับประกันภัยต่อที่จะโต้แย้งว่า ภัยนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยต่อ

 

2. ข้อกำหนดในสัญญาประกันภัยต่อเพื่อการยอมตามการชดใช้

 

slip สลิป  

 

เอกสารที่นายหน้าประกันภัยเสนอต่อผู้รับประกันภัย โดยระบุรายละเอียดของภัยที่ต้องการเสนอให้ผู้รับประกันภัยพิจารณารับประกันภัย ผู้รับประกันภัยจะตอบรับประกันภัย โดยลงชื่อย่อกำกับในสลิป และระบุส่วนที่จะรับเสี่ยงภัยไว้

 

สลิปอาจถูกจัดทำโดยผู้รับประกันภัยต่อ (reinsurance slip) เพื่อส่งไปให้แก่ผู้เอาประกันภัยต่อเพื่อพิจารณาโดยตรงไม่ได้ผ่านนายหน้าก็ได้

 

ความเป็นมา

 

บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง (บริษัทประกันภัย A) ได้รับประกันภัยโรงกลั่นน้ำมันรายหนึ่งไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยชุดซึ่งให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิดแก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงการหยุดชะงักของธุรกิจเอาไว้ด้วย มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2001

 

เนื่องด้วยทุนประกันภัยรวมมีมูลค่าสูง และมีความเสี่ยงภัยค่อนข้างมาก บริษัทประกันภัยนี้จึงได้จัดทำประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย (Facultative Reinsurance) เสริมเผื่อเอาไว้ด้วยกับผู้รับประกันภัยต่อ คือ บริษัทประกันภัยต่อ C ซึ่งได้จัดทำ

สลิป (slip) ตอบรับยืนยันข้อตกลงโดยระบุรายการส่วนได้เสียที่คุ้มครองว่า “สำหรับเครื่องจักรกับอุปกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ ณ โรงงานบนพื้นดิน และ/หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัยตรงตามที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น

 

พร้อมทั้งมีเงื่อนไขประกอบอีกว่า “ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ข้อกำหนด เงื่อนไข ข้อยกเว้น ตลอดจนข้อตกลงชดใช้ของกรมธรรม์ประกันภัยต้นฉบับตราบเท่าที่มีผลใช้บังคับได้

 

ต่อมา โรงกลั่นน้ำมันที่เอาประกันภัยได้เกิดเหตุความเสียหายขึ้นมาสองครั้งภายในช่วงระยะเวลาประกันภัยดังกล่าว

 

แต่ปรากฏว่า ทั้งสองเหตุการณ์ล้วนถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัทประกันภัยต่อ C ซึ่งอ้างว่า ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อตกลงสัญญาประกันภัยต่อแต่ประการใด โดยไม่คำนึงว่า บริษัทประกันภัย A ได้ตกลงรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยตรงแล้ว

 

บริษัทประกันภัย A จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล

 

ผลทางคดี

 

สามารถพอสรุปออกมาเป็นสองกรณี กล่าวคือ

 

กรณีเหตุความเสียหายแรกต่อหน่วยผลิตน้ำมันเตา (Visbreaker Unit)

 

สาเหตุความเสียหายเนื่องมาจากความผิดพลาดของคนงาน ซึ่งบริษัทประกันภัยต่อ C อ้างว่า มิได้อยู่ในคำจำกัดความเฉพาะของอุบัติเหตุดั่งที่ได้กำหนดไว้เอกสารซึ่งตนเองได้รับมา 

หมายความถึง การชำรุดเสียหายโดยอุบัติเหตุอย่างฉับพลันของวัตถุ หรือส่วนใดที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น โดยก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมาจนถึงขนาดจำต้องซ่อมแซม หรือเปลี่ยนทดแทนวัตถุ หรือส่วนใดที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้นเอง” 

อนึ่ง อุบัติเหตุมิได้หมายความรวมถึงผลที่เกิดเนื่องจากสาเหตุดังที่กำหนดยกเว้นเอาไว้โดยเฉพาะเจาะจงด้วย อันได้แก่ ภัยระเบิด

 

บริษัทประกันภัย A โจทก์ต่อสู้ว่า คำจำกัดความเฉพาะใช้บังคับกับส่วนความคุ้มครองเรื่องของหม้อน้ำกับเครื่องจักรเท่านั้น

 

เมื่อมีการยอมรับกันว่า หน่วยผลิตน้ำมันเตาที่เสียหายนั้นมิได้ถูกจัดอยู่ในรายการของเครื่องจักร จึงควรอาศัยความหมายทั่วไปของอุบัติเหตุซึ่งมิได้ถูกกำหนดคำนิยามไว้ในการตีความ

 

กระนั้นก็ตาม บริษัทประกันภัยต่อ C จำเลยได้โต้แย้งกลับไปว่า ตามสลิปที่แจ้งยืนยันนั้นก็ระบุอย่างชัดแจ้งแล้วนี่ เพียงรับประกันภัยต่อเฉพาะส่วนของเครื่องจักรกับอุปกรณ์เท่านั้น ทั้งยังได้รับเอกสารแถลงมาเฉพาะรายการดังกล่าวเท่านั้น ตนไม่เคยเห็นกรมธรรม์ประกันภัยต้นฉบับทั้งหมดอย่างครบถ้วนเลย แล้วจะให้เข้าใจได้เองอย่างไรว่า ตนควรรู้ที่เขียนต่อท้ายรายการส่วนได้เสียหายที่คุ้มครองนั้นว่า “และ/หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เอาประกันภัยตรงตามที่ได้เอาประกันภัยไว้นั้น” คือ สิ่งที่ตนจำต้องรับผิดทั้งหมด

 

อนึ่ง ประเด็นหลักการเรื่องการยอมปฏิบัติตาม (Follow The Settlements) นั้น เมื่อข้อตกลงสัญญาประกันภัยตรงกับสัญญาประกันภัยต่อไม่ล้อตามกัน (back-to-back) ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างใช้บังคับได้ โดยเฉพาะส่วนที่มิได้ตกลงกันไว้

 

ศาลตัดสินให้ฝ่ายจำเลยไม่มีความรับผิดตามฟ้อง

 

กรณีเหตุความเสียหายที่สองต่อหน่วยเครื่องปฏิกรณ์ (Reactor Unit)

 

มีข้อพิพาทเพียงประเด็นว่า มีสาเหตุมาจากภัยระเบิดอันอยู่ในข้อยกเว้นหรือเปล่า?

 

ฝ่ายจำเลยแย้งว่า ผลการระเบิดได้ก่อให้เกิดร่องรอยแตกร้าว

 

ขณะที่ฝ่ายโจทก์อ้างว่า นั่นมิได้อยู่ความหมายของการระเบิด เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงกับเสียงดังจนถึงขนาดทำให้ผู้คนตื่นตระหนกตกใจ เพียงแค่มีเสียงดังให้พอรับรู้ โดยที่คนงานยังไม่ใส่ใจ และคงทำงานต่อไปตามปกติเท่านั้น

 

แม้ไม่ปรากฏคำนิยามของการระเบิดกำกับไว้ แต่ศาลเห็นพ้องกับการตีความของฝ่ายโจทก์ จึงวินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Aegis Electrical and Gas International Services Company Ltd v Continental Casualty [2007] EWHC 1762 และ

Aegis Electrical and Gas International Services Company Ltd v Continental Casualty Co. [2008] Lloyd’s Rep IR 17)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

  

 

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 170 :  การประเมินราคาค่าเสียหายจะใช้วันที่เกิดความเสียหาย หรือวันที่ศาลตัดสินเป็นเกณฑ์?

ปี ค.ศ. 1968 หน่วยงานท้องถิ่นเมืองหนึ่งที่ต่างประเทศได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถขนาดใหญ่ขึ้นมาในตัวเมือง โดยได้ว่าจ้างผู้รับเหมาหลักดำเนินการ

ระหว่างที่ผู้รับเหมาช่วงงานเสาเข็มกำลังทำงานตอกเสาเข็มอยู่นั้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารข้างเคียง แต่ฝ่ายผู้เสียหายมาตรวจพบเจอความเสียหายเอาในปี ค.ศ. 1970 จากนั้นคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้มีข้อพิพาทโต้แย้งเรื่องความรับผิดกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี จวบจนท้ายที่สุดเมื่อมีการนำคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลในปี ค.ศ. 1978 ฝ่ายจำเลยผู้รับเหมาถึงยอมรับในการกระทำผิดของตนเอง

อย่างไรก็ดี บังเกิดมีประเด็นข้อโต้แย้งเพิ่มเติมในคดีนี้ว่า มูลค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยจำต้องรับผิดนั้น คือ จำนวนเงินเท่าไหร่กันแน่? (ไม่รวมดอกเบี้ย) เนื่องจาก

ก) ฝ่ายจำเลย เห็นว่า ต้องใช้เกณฑ์ราคาค่าซ่อมแซม ณ วันที่เกิดความเสียหาย คือ ปี ค.ศ. 1968 ซึ่งคำนวณราคาออกมาได้รวมทั้งสิ้น 15,483 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่าประมาณ 652,650.25 บาท ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 42.1527 บาท/1 ปอนด์สเตอร์ลิง)

ข) ฝ่ายโจทก์ โต้แย้งว่า ต้องใช้ราคาค่าซ่อมแซม ณ วันที่นำคดีขึ้นสู่ศาลเป็นเกณฑ์ถึงถูกต้องเหมาะสมกว่า คือ ปี ค.ศ. 1978 (ซึ่งจะมีการลงมือซ่อมแซมจริง) คำนวณราคาออกมาได้รวมทั้งสิ้น 42,278 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่าประมาณ 1,782,131.85 บาท ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 42.1527 บาท/1 ปอนด์สเตอร์ลิง) อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ

ศาลชั้นต้นพิจารณาตามหลักกฎหมายแล้ว ให้ยึดถือวันที่เกิดความเสียหาย หรือไม่ควรเกินในปี ค.ศ. 1970 เป็นเกณฑ์ วินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดรวมดอกเบี้ยตามเกณฑ์แล้วเป็นจำนวนเงิน 22,974.20 ปอนด์สเตอร์ลิง (หรือเทียบเท่าประมาณ 968,424.56 บาท)

ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จริงอยู่ที่ว่าหลักกฎหมายทั่วไป ให้ยึดถือมูลค่าความเสียหาย ณ วันที่เกิดความเสียหายเป็นเกณฑ์ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อชดเชยทำให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมโดยเร็วที่สุด เสมือนหนึ่งมิได้เกิดเหตุขึ้นมาเลย แต่บางสถานการณ์ อาจมีปัจจัยอันสมควรต่าง ๆ ซึ่งพึงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบอยู่ด้วย เป็นต้นว่า อาจรอดูให้แน่ใจเสียก่อนว่า ความเสียหายนั้นนิ่งแล้วหรือยัง? หรือกรณีที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้?

ในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินให้ยึดถือค่าซ่อมแซมที่คำนวณขึ้นมาในปี ค.ศ. 1978 เป็นตัวเลขที่เหมาะสมซึ่งควรกระทำได้โดยเร็วที่สุดแล้ว

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Dodd Properties (Kent) Ltd. v Canterbury City Council [1980] 1 WLR 433)

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประกันภัยมีบัญญัติประเด็นนี้ไว้ ดังนี้

มาตรา 877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

 ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

 มาตรา 869  อันคำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

หลายคราวในความเป็นจริง เมื่อเกิดความเสียหายทั่วไปขึ้นมา กว่าจะเจรจาต่อรองตกลงกันได้ระหว่างคู่กรณีอาจใช้เวลาพอสมควร ผลกระทบต่อมูลค่าความเสียหายไม่ใคร่ส่งผลนัก แต่หากทอดเวลานานออกไป โดยเฉพาะสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง น่าจะเป็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้เถียงกันเช่นนี้ขึ้นมาได้ง่าย

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 169 : งู (หรือสัตว์แมลงอื่น) กัดลูกค้า เจ้าของสถานที่บริการแห่งนั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่?

 

(ตอนที่สี่)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาคดีที่สอง เหตุเกิดภายในอาคารสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ)

 

เมื่อจำเลยผู้ให้เช่าได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำตัดสินนั้นของศาลอุทธรณ์

 

ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว มีความเห็นว่า ตามหลักกฎหมาย เจ้าของสถานที่ไม่หน้าที่ในการจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยอันสมควรของสถานที่แห่งนั้น เพื่อปกป้องผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไป เว้นแต่ว่า เจ้าของสถานที่แห่งนั้นได้รับรู้ หรือมีเหตุอันสมควรเชื่อว่ามีภยันตราย หรืออาจมีภยันตรายจากสัตว์ป่าเกิดขึ้นมา ณ สถานที่แห่งนั้นแล้ว โดยที่ผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไปนั้นมิได้ล่วงรู้ หรือไม่ควรจะล่วงรู้ได้ ให้เจ้าของสถานที่แห่งนั้นมีหน้าที่กล่าวตักเตือน หรือดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัยตามสมควรจากสภาวะอันตรายที่ไม่คาดคิดเช่นว่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการพบเจอสัตว์ป่าอยู่ภายในอาคารสิ่งปลูกสร้างของตน เป็นต้นว่า บ้านเรือน ร้านค้า โรงแรมที่พักและสถานที่ทำงาน หรือสถานที่ต่าง ๆ อื่นใดซึ่งสัตว์ป่าเหล่านั้นไม่ควรจะเข้ามาอยู่อาศัยได้ตามปกติวิสัย

 

ศาลฎีกาเห็นพ้องกับหลักกฎหมายดังกล่าวว่า เจ้าของสถานที่แห่งนั้นไม่ควรต้องรับผิดชอบต่อการที่สัตว์ป่าทุกชนิดที่เข้ามาโดยไม่ได้ถูกเชื้อเชิญ โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่มีขนาดเล็กอย่างเช่นจำพวกแมลง และแมงมุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถหลบเร้นเข้ามาอย่างง่ายดาย และไม่อาจตรวจพบเจอง่าย ๆ

 

ปัจจัยข้อความจริงที่สำคัญ คือ เจ้าของสถานที่แห่งนั้นล่วงรู้ หรือมีเหตุควรที่จะล่วงรู้ได้ถึงภยันตรายอันไม่พึงคาดหวังนั้นได้หรือเปล่า?

 

จริงอยู่ แม้นในความเป็นจริงแล้วอาจมีการพบเจอแมลง และแมงมุมต่าง ๆ ได้ทั่วไปอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ  และอาจมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดภยันตราย หรือทำร้ายมนุษย์โดยไม่คาดคิดได้ก็ตาม ก็ให้เจ้าของสถานที่แห่งนั้นมีหน้าที่เพียงกล่าวตักเตือน หรือกระทำการปกป้องตามสมควรเท่านั้น มิฉะนั้น จะกลายเป็นการสร้างภาระมากเกินสมควรแก่เจ้าของสถานที่แห่งนั้นไป

 

ในคดีนี้ จำเลยผู้ให้เช่าเคยรับฟังคำบอกกล่าวของโจทก์ว่า พบเจอแมงมุมอยู่ในสถานที่แห่งนั้นเป็นครั้งคราวมาก่อน แต่ยังไม่ถึงขนาดทำให้เข้าใจได้ว่าจะก่อให้เกิดภยันตรายอันไม่คาดหวังเช่นว่านั้นขึ้นมา เพราะมิได้รับรู้โดยเฉพาะเจาะจงว่า เป็นแมงมุมพันธุ์แม่ม่ายสีน้ำตาล หรือชนิดมีพิษร้ายแรงอื่น ๆ และการเพียงล่วงรู้ของจำเลยผู้ให้เช่าถึงแมงมุมพันธุ์นี้มีถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่รัฐนั้น ก็ยังไม่ให้น้ำหนักสนับสนุนมากพอจนทำให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยผู้ให้เช่าได้รับรู้ถึงภยันตรายจากการปรากฏตัวของแมงมุมพันธุ์แม่ม่ายสีน้ำตาล หรือชนิดมีพิษร้ายแรงอื่น ๆ นั้นแล้ว

 

ดังนั้น รับฟังได้ว่า ทั้งโจทก์กับจำเลยผู้ให้เช่าต่างล่วงรู้เท่าเทียมกันถึงการมีอยู่ของแมงมุมภายในสถานที่แห่งนั้นเป็นครั้งคราว แต่ทั้งสองฝ่ายมิได้ล่วงรู้อย่างชัดแจ้งถึงขนาดว่าเป็นแมงมุมพันธุ์แม่ม่ายสีน้ำตาล หรือชนิดมีพิษร้ายแรงอื่น ๆ

 

ส่วนข้อกล่าวหาของโจทก์ในประเด็นที่ว่า จำเลยผู้ให้เช่าควรต้องกล่าวเตือนภัยจากแมงมุมซึ่งโจทก์เองเคยพบเห็นมาก่อนบ้างว่า อาจเป็นชนิดมีพิษอันอาจก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นมาได้นั้น ถือเป็นความรู้แก่คนทั่วไปที่ว่า แมงมุมบางชนิดอาจมีพิษ และบางชนิดไม่มีพิษ

 

ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดหน้าที่ให้เจ้าของสถานที่แห่งนั้นกล่าวเตือนแก่ผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไปถึงสิ่งที่เขาได้ล่วงรู้แล้วได้อีก และมีคำวินิจฉัยกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยให้ยกฟ้องโจทก์

 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Homer Hillis v Henry McCall, 18-1065 (Tex. March 13, 2020))

 

ข้อสรุป

 

สัตว์ป่า และแมลงชนิดต่าง ๆ ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ และไม่สามารถควบคุมได้นั้น โดยหลักกฎหมายต่างประเทศมิได้กำหนดให้เจ้าของสถานที่ต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบแก่ผู้เข้ามาในสถานที่ของตนจากการถูกสัตว์ป่า และแมลงชนิดต่าง ๆ เหล่านั้นซึ่งหลบเร้นเข้ามาทำอันตราย โดยเฉพาะถ้าเจ้าของสถานที่แห่งนั้นมิได้ล่วงรู้มาก่อนถึงการเข้ามาปรากฏตัวของสัตว์ และแมลงเหล่านั้น

 

ถ้าได้ล่วงรู้ หรือควรล่วงรู้ได้แล้ว ก็ให้เพียงมีหน้าที่บอกกล่าวเตือนภัย หรือจัดการปกป้องดูแลรักษาความปลอดภัยตามสมควรแก่ผู้เข้ามาในสถานที่ของตนเท่านั้น

 

ปัญหาข้อพิพาทของต่างประเทศในประเด็นเรื่องลักษณะนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเกิดจากยุง มด หนู แมลง และสัตว์ป่าต่าง ๆ เป็นต้นเหตุ คราวต่อไปค่อยนำมาหยิบยกเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมอีก

 

อนึ่ง แมงมุมพันธุ์แม่ม่ายสีน้ำตาลเองมีถิ่นฐานอยู่ในบ้านเราด้วยเหมือนกัน

 

ส่วนตัวอยากจะเชื่อว่า หากมีคดีลักษณะเช่นว่านี้ในบ้านเรา แนวทางการพิจารณาคดีคงไม่น่าจะแตกต่างกันนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory