วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 167 : ข้อพิพาทการแปลความหมายของภัยคุกคามใกล้ชิด (Imminent/Threatening Loss)

 

(ตอนที่สอง)

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) ที่พิพาท ซึ่งสามารถถอดความออกมาพอสรุปได้ว่า

 

กรณีเมื่อเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายจากภัยคุ้มครองอย่างแท้จริง (actual) หรือที่คุกคามอย่างใกล้ชิด (imminent) ขึ้นมา ให้ถือเป็นสิ่งที่จะไม่ส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครอง หากผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยจะกระทำการบรรเทาความเสียหาย และการดำเนินการต่อสู้คดี การป้องกัน และการเรียกคืนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือตามความจำเป็น ซึ่งทรัพย์สิน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในที่นี้ .....

 

ประเด็นข้อพิพาทอยู่ตรงคำว่า “ที่คุกคามอย่างใกล้ชิด (imminent)” นั้น ควรมีความหมายเช่นใดแน่? เนื่องจาก

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยตีความว่า หมายความถึง ภัยคุ้มครองที่คุกคามอย่างใกล้ชิดจริง ๆ และรวมถึงที่อาจคาดหวังได้ว่าจะคุกคามอย่างใกล้ชิดเข้ามาก็ได้ เพราะมิได้ถูกกำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างเฉพาะเจาะจง

 

ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยกลับแปลความว่า หมายความถึง จะต้องเป็นภยันตรายที่คุกคามใกล้ตัวอย่างชัดแจ้งเท่านั้น

 

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้ถ้อยคำพิพาทจะไม่ปรากฏคำนิยามจำเพาะไว้ แต่เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของความคุ้มครองที่มุ่งเน้นถึงการเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพอย่างแท้จริงขึ้นมาต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว การใช้จ่ายออกไปเพื่อปกป้อง ป้องกันนั้น ก็ควรจะต้องเกิดภยันตรายอย่างชัดแจ้งขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยไม่จำต้องรอให้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพอย่างแท้จริงขึ้นมาเสียก่อน ส่วนการคาดหวังที่จะเกิดภยันตรายคุกคามเข้ามานั้น ออกจะเป็นสิ่งที่ไกลตัว ไม่น่าจะใช่สิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ของเงื่อนไขความคุ้มครองที่พิพาทกันนี้ จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่มีความรับผิดตามฟ้อง

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Washington Mutual Bank v. Commonwealth Insurance Company, et al., 133 Wash. App. 1031 (Ct. App. Wash. 2006))

 

ในความเป็นจริง ถ้อยคำที่ใช้กันอยู่ในตลาดประกันภัยทั่วโลกของเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) นี้จะมีร่างกันออกมาค่อนข้างหลากหลาย บ้างมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองแบบแคบ บ้างเป็นแบบกว้างก็มี ซึ่งถ้าในคดีนี้เป็นแบบหลัง ฝ่ายผู้เอาประกันภัยอาจมีสิทธิชนะคดีก็เป็นได้

 

สำหรับบ้านเราก็มีเงื่อนไขพิเศษนี้ใช้เช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า “แบบ อค./ทส.1.67 เอกสารแนบท้ายว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) ซึ่งระบุว่า


้ข้ม่า้จ่า (reasonable) ่า้ค้ค้อ์ส้ร้ม้เ้อ่า่า้จ่า่า้อ้ร้ร่อ


่า้จ่า็น่ว้ใ

 

พิจารณาจากถ้อยคำข้างต้นแล้ว ของบ้านเราจะเป็นแบบแคบ โดยที่จำเป็นจะต้องเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าวขึ้นมาก่อน

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดภายหลังความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าวแล้วเท่านั้นนั่นเอง

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 167 : ข้อพิพาทการแปลความหมายของภัยคุกคามใกล้ชิด (Imminent/Threatening Loss)

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

บางเงื่อนไขพิเศษโดยเฉพาะของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินจะมีพูดถึงการขยายความคุ้มครองถึงภัยคุกคามใกล้ชิด หรืออาจเรียกการป้องกันอันสมควรนั้น คำเหล่านี้ควรแปลความหมายเช่นไร? เนื่องจากทางปฏิบัติแล้ว ระหว่างผู้เอาประกันภัยผู้เสียหายกับบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองมักมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ่อยครั้ง

 

ดังตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้

 

ปกติในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินระบุอย่างชัดแจ้งว่า จะให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ตราบใดที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นยังไม่ได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพจากภัยที่คุ้มครองแล้ว บริษัทประกันภัยก็จะไม่ทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย

 

ทำให้เกิดคำถาม การขยายความคุ้มครองของเงื่อนไขพิเศษกลุ่มค่าใช้จ่ายในการปกป้อง หรือการป้องกันเหล่านั้น

 

จำเป็นจะต้องเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าวขึ้นมาก่อนหรือไม่?

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการปกป้อง หรือการป้องกันเหล่านั้นเป็น

 

(1) ค่าใช้จ่ายที่เกิดก่อนความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าว หรือ

 

(2) ค่าใช้จ่ายที่เกิดหลังความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าว หรือ

 

(3) ถูกทั้งสองข้อ

 

ผู้เอาประกันภัยซึ่งได้เอาประกันภัยอาคารสำนักงานของตนไว้กับบริษัทประกันภัยสามแห่ง รวมจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 12.50 ล้านดอลล่าร์ ประสงค์จะทำการปรับปรุงตัวอาคารสำนักงานทั้งหลัง แต่ไม่มั่นใจว่า ควรปรับปรุงไป และอยู่ทำงานไปด้วยจะดีไหม? จึงได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษาเจ้าหนึ่งเข้ามาประเมินสภาวะความปลอดภัยมั่นคงแข็งแรงก่อนจะตัดสินใจดำเนินการ ผลการประเมินออกมาไม่มีความปลอดภัยมั่นคงพอ เสนอแนะให้โยกย้ายผู้คนและสิ่งของต่าง ๆ ทั้งหมดออกไปจะดีกว่า

 

เพื่อสร้างความมั่นใจเพิ่มเติม ผู้เอาประกันภัยได้ทำการว่าจ้างบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษารายที่สองเข้ามาประเมินผลเทียบเคียง บังเอิญว่าผลการประเมินไม่สามารถออกมาได้เร็วทันตามแผนงานที่วางไว้ ผู้เอาประกันภัยจึงตัดสินใจปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษารายแรก ด้วยการอพยพผู้คนและสิ่งของต่าง ๆ ออกไปทั้งหมด แต่กลับกลายภายหลังว่า ผลการประเมินนั้นเกิดผิดพลาดไม่ถูกต้อง

 

เนื่องจากการอพยพโยกย้ายนั้นได้ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ผู้เอาประกันภัยจึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนทำการชดใช้คืนให้ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) ที่มีอยู่นั้นเอง

 

กลุ่มบริษัทประกันภัยปฏิเสธโดยอ้างว่า จะคุ้มครองให้ได้ต่อเมื่อได้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยขึ้นมาเสียก่อนเท่านั้น

 

เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาล ศาลชั้นต้นตัดสินให้กลุ่มบริษัทประกันภัยเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์

 

ผลสรุปทางคดีจะเป็นเช่นไร? รอติดตามตอนหน้าครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 166 : ปัญหาการตีความข้อยกเว้นภัยสงคราม (War Risks Exclusion)

 

กรมธรรม์ประกันภัยเกือบทุกฉบับจะมีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองภัยสงคราม แต่ไม่ปรากฏมีคำนิยามภัยสงครามกำกับเอาไว้ด้วย

 

ฉะนั้น เวลาเกิดมีข้อพิพาทประเด็นนี้ จำต้องอาศัยการแปลความของศาลเป็นเกณฑ์

 

เรามาลองพิจารณาดูแนวคำพิพากษาเรื่องนี้ แม้จะเก่าไปหน่อย แต่ยังมีการยึดถือเป็นหลักกันอยู่นะครับ

 

คดีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย้อนหลังไปช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกันเลย

 

เรือสินค้าสองลำแล่นสวนกันไปคนละทิศทาง แต่ปรากฏเรือลำหนึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทาง เนื่องจากได้รับแจ้งเหตุเตือนล่วงหน้าถึงการโจมตีของเรือดำน้ำศัตรูในเส้นทางนั้น และด้วยอยู่ในสภาวะสงคราม ช่วงเวลากลางคืนเรือทุกลำได้รับคำแนะนำให้ปิดไฟส่องสว่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการพบเห็นของศัตรู จนทำให้เรือทั้งสองลำดังกล่าวนี้เกิดอุบัติเหตุชนประสานงากันเองท้ายที่สุด

 

เมื่อเจ้าของเรือลำที่เสียหายซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ไปแจ้งเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยของตน กลับได้รับคำตอบกลับมาว่า ไม่สามารถคุ้มครองให้ได้ เพราะเหตุการณ์นี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยภัยสงคราม

 

ครั้นได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ศาลสูงสุด (Supreme Court) ได้วินิจฉัยว่า อุบัติเหตุเรือสินค้าทั้งสองลำชนกันนั้น แม้อยู่ในช่วงสภาวะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไม่ปรากฏขณะที่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวมีเรือของชาติศัตรูอยู่ในเหตุการณ์ด้วย จึงไม่ใช่เกิดจากภัยสงคราม หรือเป็นผลเนื่องมาจากภัยสงคราม เพราะเรืออาจเกิดอุบัติเหตุชนกันได้อยู่แล้ว แม้เวลาปกติทั่วไป

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Queen Insurance Company v. Globe & Rutgers Insurance Company, 263 U.S. 487 (1924))

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory