วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 165 : ปัญหาการแปลความหมายของ “วิชาชีพ” ภายใต้การประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance or Errors & Omissions Insurance)?

 

(ตอนที่สอง)

 

ตอนนี้มาลองพิจารณาเทียบเคียงกับแนวทางการตีความทางฝั่งศาลบ้านเราบ้างว่า จะมีความแตกต่างกันบ้างไหม?

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10823/2551

 

ตาม ป.อ. ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพ จึงหมายถึง ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการเพียงคนเดียว ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้างและรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้ทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคารก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227


โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83, 84, 86 และ 91

 

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง

 

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ด้วย นอจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 6 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 6

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 8

 

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

จำเลยที่ 3 ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 หรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพ จึงหมายถึงผู้มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของมาตรานี้จึงหาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 3 ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนการทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง และรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้กระทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคาร ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน

 

(เรียบเรียง และสืบค้นมาจาก http://deka.supremecourt.or.th/ ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 165 : ปัญหาการแปลความหมายของ “วิชาชีพ” ภายใต้การประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance or Errors & Omissions Insurance)?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เวลาพูดถึงคำว่า “วิชาชีพ (Professional) หรือผู้ประกอบวิชาชีพ” แล้ว ฟังผิวเผินอาจเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่ก็มักจะก่อให้เกิดประเด็นปัญหาถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง

 

โดยเฉพาะในแง่การประกันภัย

 

ซึ่งบางประเภทประกันภัยที่กำหนดไม่คุ้มครองถึงการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ

 

หรือ

 

บางประเภทประกันภัยที่กำหนดคุ้มครองถึงการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ  

 

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพนั้นลงมือกระทำอะไรลงไปก็แล้วแต่ ทั้งหมดล้วนถือเป็นการประกอบวิชาชีพ อันจะอยู่ในข้อยกเว้น หรือความคุ้มครอง แล้วแต่กรณี ใช่หรือไม่?

 

ลองพิจารณาดูตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศ เรื่องนี้กันครับ

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความรับผิดทางวิชาชีพของถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุเงื่อนไขความคุ้มครองไว้ว่า

 

จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับจำนวนเงินทั้งหลายซึ่งผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเป็นค่าเสียหาย อันเนื่องจากความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ความบกพร่อง หรือความผิดพลาดของผู้เอาประกันภัย หรือของบุคคลผู้ซึ่งกระทำการ หรือละเว้นกระทำการแทนผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามกฎหมายให้ ในการให้บริการ หรือการไม่ให้บริการทางวิชาชีพ ซึ่งได้กระทำในระหว่างระยะเวลาประกันภัย

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ เจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลนั้นทำผิดพลาดด้วยความสับสนได้นำเอาน้ำมันเบนซีนแทนที่จะใช้น้ำตามปกติ ไปเติมใส่เครื่องฆ่าเชื้อแบบใช้น้ำร้อน (Hot Water Sterilizer) จนก่อให้เกิดไฟไหม้เสียหาย โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

 

กรณีนี้ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้นว่า

 

ความเสียหายที่อุบัติขึ้นมานั้นได้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการให้บริการ หรือการไม่ให้บริการทางวิชาชีพซึ่งได้เอาประกันภัยไว้หรือไม่?

 

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ใช่ และตัดสินให้บริษัทประกันภัยนั้นรับผิด

 

ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า เมื่อมิได้มีกฎหมายบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ควรพิจารณาไปตามข้อกำหนด และเงื่อนไขดังที่กำหนดไว้ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นเป็นสำคัญ มิใช่เพียงแค่ว่า เป็นความรับผิดของผู้เอาประกันภัยนั้นหรือเปล่า?

 

ดั่งในกรณีนี้ ความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทของบริษัทประกันภัยจำกัดอยู่เพียงการปฏิบัติงาน หรือการให้บริการทางวิชาชีพ ซึ่งคำว่า “ทางวิชาชีพ” นั้นจะมีความหมายถึงการกระทำการที่อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการประกอบวิชาชีพ หรือการดำเนินงานอาชีพนั้น ทั้งในด้านจิตใจ หรือสติปัญญามากกว่าเพียงแค่การใช้แรงกาย หรือการพึ่งพาคู่มือปฏิบัติ หรือการเรียนจบในสาขาวิชาชีพนั้นมาเท่านั้น และมิใช่เพียงดูแค่ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือลักษณะการทำงาน แต่จำต้องมองลึกลงไปถึงตัวการกระทำนั้นด้วย

 

ฉะนั้น การต้มน้ำในเครื่องฆ่าเชื้อแบบใช้น้ำร้อนให้เดือดจึงมิใช่การกระทำที่จะต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือการฝึกฝนเป็นพิเศษ ใครก็สามารถกระทำได้ ด้วยเหตุผลนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการปฏิบัติงาน หรือการให้บริการ หรือการไม่ให้บริการทางวิชาชีพซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ อันจะได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด

 

พิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยนั้นไม่ต้องรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Marx v. Hartford Accident & Indemnity Co., 157 N.W.2d 870 (Neb. 1968))

 

ตอนต่อไป เราจะไปดูแนวทางการตีความของศาลไทยในเรื่องนี้กันบ้าง

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 


วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 164 : การตีความสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) ระหว่างสองภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นติดตามกันมา

 

ตัวอย่างคดีศึกษาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งในธุรกิจประกันภัย

 

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะกลางมหาสมุทร มักจะประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติอยู่เนือง ๆ

 

ดั่งเช่นในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) ได้เกิดมหันตภัยที่ร้ายแรงสองเหตุการณ์ติดตามกันมา ซึ่งมีลำดับเหตุการณ์ โดยขอหยิบยกข้อมูลซึ่งอ้างอิงมาจากบทความภูเขาไฟปินาตูโบ เกาะลูซอนของสำนักข่าวสัปะรด เผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2541 (สืบค้นมาจาก https://pineapplenewsagency.com/th/c231/ภูเขาไฟปินาตูโบ+เกาะลูซอน) ดังนี้

 

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ภูเขาไฟปินาตูโบ (Mount Pinatubo) บนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เกิดการปะทุครั้งแรก หลังจากภูเขาไฟลูกนี้หลับใหลมาเป็นเวลายาวนานถึง 600 ปี การปะทุครั้งนั้นนับเป็นการปะทุครั้งรุนแรงเป็นอันดับสองของศตวรรษที่ 20 ภายหลังการปะทุของภูเขาไฟโนวารัปตา (Novarupta) ในอลาสกาเมื่อปี พ.ศ. 2455

 

ภูเขาไฟปินาตูโบ มีลักษณะเป็นภูเขาไฟประเภทกรวยสลับชั้นที่มีพลังอยู่ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,750 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 87 กิโลเมตร ไม่ไกลจากภูเขาไฟเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกาขนาดใหญ่สองแห่งคือ ฐานทัพเรือที่ซูบิกเบย์ (The U.S. Naval Base Subic Bay) อยู่ห่างจากภูเขาไฟเพียง 37 กิโลเมตร และฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark Air Base) อยู่ห่างจากภูเขาไฟเพียง 14 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟลูกนี้ประมาณ 6 ล้านคน

 

ผลกระทบจากการระเบิดในครั้งนั้น ทำให้กองทัพอเมริกันต้องอพยพประชาชนอเมริกันกว่า 20,000 คนโดยไม่มีใครกลับมาอีกเลย รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงเปลี่ยนซูบิกเบย์เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ส่วนฐานทัพอากาศคลาร์กถูกเปลี่ยนเป็นเมืองศูนย์กลางด้านธุรกิจ การบิน และการท่องเที่ยว

 

Timeline การระเบิดของภูเขาไฟ

 

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงบนเกาะลูซอน วัดได้ 7.8 ริกเตอร์ ถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่วัดได้ในปี พ.ศ. 2533 (มีขนาดใกล้เคียงกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ซานฟรานซิสโกเมื่อปี พ.ศ. 2449 และที่มณฑลเสฉวนปี พ.ศ. 2551) หลังจากนั้นก็มีเสียงสั่นสะเทือนและแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายครั้ง ทำให้ภูเขาไฟปินาตูโบที่สงบมาเป็นเวลาหลายร้อยปีกลับมามีชีวิต

 

วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2534 การเตือนครั้งแรกของปินาตูโบเริ่มขึ้น เกิดการปะทุและระเบิดขึ้นบริเวณยอดเขา ขี้เถ้าภูเขาไฟลอยออกไปไกล 10 กิโลเมตร ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการประกาศเตือนของภูเขาไฟ ปินาตูโบถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายที่กำลังจะตามมา

 

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2534  แรงดันมหาศาลภายใต้พื้นโลกทำให้ปินาตูโบปะทุครั้งแรก เศษหินและเถ้าถ่านจากการปะทุพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 5.3 ไมล์ (ราว 8.5 กิโลเมตร) บ่งบอกให้รู้ว่าแม็กมาอยู่ใกล้กับพื้นผิวโลกมากและพร้อมจะระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศระดับความรุนแรงเป็นระดับ 4 และประกาศให้เขตรัศมี 20 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟเป็นเขตอันตราย

 

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2534  เถ้าถ่านปริมาณมหาศาลพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงถึง 12 ไมล์ (ราว 19 กิโลเมตร) ควันและเถ้าถ่านที่ลอยปกคลุมท้องฟ้าทำให้บรรยากาศตอนกลางวันมืดมิดราวกับกลางคืน แต่การระเบิดครั้งดังกล่าวถือเป็นแค่เพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

 

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2534  เหตุการณ์หายนะทางธรรมชาติครั้งใหญ่สุดในศตวรรษที่ 20 ได้เกิดขึ้น พลังงานที่สะสมอยู่ภายในภูเขาไฟเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ระเบิดที่ฮิโรชิมารวมกันกว่า 200,000 ลูก ก่อให้เกิดการระเบิดแบบพวยพุ่งที่มีความเร็ว 100 ไมล์ต่อชั่วโมง (160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) พร้อมกับแม็กมาปริมาณ 5 ลูกบาศก์กิโลเมตรได้ระเบิดขึ้นไปจนถึงชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ทำให้พื้นที่โดยรอบในรัศมี 40 กิโลเมตรถูกปกคลุมด้วยเถ้าภูเขาไฟจนมืดสนิท สะเก็ดก้อนหินจากการระเบิดทำลายอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้ แรงระเบิดยังทำให้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซอื่น ๆ อีกกว่า 20 ล้านตัน ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ไปผสมกับความชื้น กลายเป็นเมฆปกคลุมรอบโลกนานถึง 21 วัน และส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดลง 0.5 องศาเซลเซียส ในอีก 3 ปีถัดมา (พ.ศ. 2534 - 2536)

 

และในวันเดียวกันนั้นเอง ยังได้เกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่แสนจะบังเอิญ ซ้ำเติมชาวฟิลิปปินส์เข้าไปอีก นั่นคือ พายุไต้ฝุ่นยุนย่า (Typhoon Yunya) ที่มีความเร็วลม 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้พัดขึ้นเกาะลูซอน ส่งผลให้หินดินโคลนรวมถึงเถ้าถ่านภูเขาไฟหลายพันตันรวมตัวกับน้ำฝนที่ตกลงมาจนกลายเป็นพายุโคลนขี้เถ้าภูเขาไฟ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสน้ำที่ไหลผ่านปินาตูโบ พัดทำลายและกวาดเอาทุกอย่างที่ผ่านให้ไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม ก่อให้เกิดการไหลของโคลนหินตะกอนภูเขาไฟเป็นทางยาว คนฟิลิปปินส์เรียกร่องรอยการไหลของโคลนหินตะกอนภูเขาไฟนี้ว่า ลาฮา (lahar) ปัจจุบันที่ซูบิกเบย์ยังคงมีร่องรอยของลาฮานี้ปรากฏให้เห็น

 

หลังจากผ่านไปสองวัน บริเวณนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นละอองสีขาวเทา พื้นดินกลายเป็นพื้นโคลนไม่มีความสวยงามของธรรมชาติหลงเหลืออยู่ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าก่อนหน้านี้เคยมีผู้คนอาศัยอยู่

 

การระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบในปี พ.ศ. 2534  ถูกประกาศระดับความรุนแรง VEI 6 (VEI - Volcanic Explosivity Index ดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟ ที่มีระดับความรุนแรงตั้งแต่ 0-8 ยิ่งตัวเลขสูงแสดงว่าการระเบิดยิ่งรุนแรง) นับได้ว่าเป็นการระเบิดครั้งใหญ่เกือบเทียบเท่ากับการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ที่อินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2426

 

การระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบครั้งนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คน ไร้ที่อยู่อาศัยอีกราว 200,000 คน หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ พื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรเสียหายเกือบ 1,000 ตารางกิโลเมตร สัตว์เลี้ยงของเกษตรกรตายไป 800,000 ตัว

 

โชคดีที่พวกเขาได้รับการแจ้งเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ฟิลิปปินส์ที่คอยเฝ้าดูภูเขาไฟปินาตูโบ ทำให้สามารถอพยพออกจากบริเวณนั้นได้อย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้

 

ในแง่การประกันภัย

 

ผลของภูเขาไฟปินาตูโบได้ก่อให้เกิดเถ้าถ่านภูเขาไฟปกคลุมทับถมอยู่บนหลังคาอาคารที่เอาประกันภัย ณ เมืองแองเจลีส บนเกาะลูซอน

 

ครั้นเมื่อพายุไต้ฝุ่นยุนย่าพัดผ่านติดตามเข้ามา ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนัก จนส่งผลทำให้อาคารที่เอาประกันภัยหลังนั้นพังถล่มลงมาในท้ายที่สุด

 

ก่อให้เกิดปัญหาข้อถกเถียงระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยซึ่งคุ้มครองอาคารหลังนั้นว่า

 

หลังคาที่พังถล่มลงมานั้นมีสาหตุจากภัยแผ่นดินไหว หรือภัยลมพายุกันแน่?

 

เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินฉบับพิพาทนี้คุ้มครองเพียงภัยลมพายุ แต่ไม่คุ้มครองภัยแผ่นดินไหว

 

ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากภัยลมพายุ

 

แต่บริษัทประกันภัยหยิบยกข้อยกเว้นเรื่องภัยภูเขาไฟซึ่งเป็นต้นเหตุแรกสุดมาปฏิเสธ

 

คดีนี้ได้ถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้วินิจฉัยว่า

 

ถึงแม้ปรากฏมีเถ้าถ่านภูเขาไฟปินาตูโบปกคลุมทับถมอยู่บนหลังคาอาคารที่เอาประกันภัยนั้นอยู่เป็นลำดับแรกก็ตาม แต่มิได้สร้างความเสียหายใดขึ้นมา จวบจนกระทั่งได้มีพายุไต้ฝุ่นยุนย่าพัดผ่านติดตามเข้ามา ส่งผลทำให้ฝนตกอย่างหนัก และน้ำฝนก็ได้แทรกซึมสะสมปนอยู่กับเถ้าถ่านภูเขาไฟนั้นเอง จนเกิดน้ำหนักแรงสะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ กระทั่งหลังคาอาคารนั้นพังถล่มลงมาท้ายที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้ จึงพิจารณาได้ว่า ภัยลมพายุดังกล่าวเป็นสาเหตุที่แท้จริงในการก่อให้เกิดความเสียหายนี้ มิใช่ภัยภูเขาไฟแต่ประการใด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากบทความ Insurance and a Volcanic CrisisA Tale of One (Big) Eruption, Two Insurers, and Innumerable Insureds โดยสืบค้นจาก

https://www.propertyinsurancecoveragelaw.com/files/2022/06/Blong2018_Chapter_InsuranceAndAVolcanicCrisisATa.pdf)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 163 : การปนเปื้อน (Contamination) ถือเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพจากภัยที่คุ้มครองหรือไม่?

 

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับทรัพย์สินจะระบุให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct Physcical Loss or Damage) ของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจากอุบัติภัยต่าง ๆ ซึ่งมิได้อยู่ในข้อยกเว้น

 

ประเด็นปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพนั้นมีความหมายเช่นใดกันแน่?

 

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างคดีศึกษาที่เกิดขึ้น

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ประกอบกิจการขายอุปกรณ์ไฟฟ้ากับระบบไฟส่องสว่างในอาคารเช่าสูงสองชั้นหลังหนึ่ง โดยชั้นแรกเป็นร้านค้า ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่จัดเก็บสต็อกสินค้าซึ่งถูกจัดเก็บอยู่ในกล่องปิดอย่างเรียบร้อย ทรัพย์สินทั้งหมดได้ถูกจัดทำประกันภัยคุ้มครองแบบสรรพภัยข้างต้นไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง

 

ช่วงระหว่างระยะเวลาประกันภัยนั้นเอง ได้มีไฟไหม้เกิดขึ้นข้างเคียงทางด้านหลังร้าน โชคดีที่ไฟนั้นถูกดับได้ทัน มิได้ลุกลามมาถึงอาคารของผู้เอาประกันภัย แต่ควันไฟกับเขม่าได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินบางส่วนในพื้นที่ทั้งสองชั้นของผู้เอาประกันภัย จนต้องมีการว่าจ้างบริษัทรับทำความสะอาดเข้ามาดำเนินการ

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัย สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ต่อบริษัทประกันภัยของตน

 

เมื่อบริษัทประกันภัยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบประเมินความเสียหายแล้ว พบว่า สต็อกสินค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อยู่ในชั้นสองได้ถูกจัดเก็บอยู่ในกล่องอย่างเรียบร้อย ไม่ปรากฏร่องรอยที่เกิดจากคราบเขม่าควันไฟ และได้สุ่มเปิดกล่องเพื่อตรวจสอบวัสดุภายในก็ไม่พบร่องรอยความเสียหายใดเช่นกัน จึงสรุปว่า โอกาสที่สต็อกสินค้าทั้งหมดจะไม่สามารถใช้การได้ตามปกติจนถึงขนาดขายไม่ได้เลยนั้น เป็นศูนย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มิได้มีความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพใดเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวนั้นเลย

 

แต่ผู้เอาประกันภัยคงยืนกรานขอให้บริษัทประกันภัยนั้นรับผิด โดยอ้างว่า สต็อกสินค้าของตนได้รับความเสียหายจนไม่อาจนำไปจำหน่ายได้อีกต่อไป และได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อขออำนาจศาลพิจารณาตัดสินให้บริษัทประกันภัยนั้นรับผิด

 

อย่างไรก็ดี บริษัทประกันภัยตกลงยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ในชั้นแรกเท่านั้น ในระหว่างเจรจาต่อรองกัน แต่คงยืนกรานปฏิเสธไม่ชดใช้ให้ สำหรับสต็อกสินค้าในชั้นสอง

 

ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า การปนเปื้อนของสารคลอไรด์ (จากไฟไหม้) ต่อพื้นผิวของสต็อกสินค้าบางส่วนของชั้นสองนั้น ถือเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวแล้วหรือยัง? (นอกเหนือจากการปนเปื้อนที่ปรากฏอยู่ในข้อยกเว้นด้วย)

 

ศาลได้อ้างอิงการแปลความหมายในคดีเทียบเคียงอื่น ซึ่งได้แปลความหมายของความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพว่า หมายความถึง การก่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปของภาพลักษณ์ รูปร่าง สี หรือลักษณะที่เป็นสาระสำคัญของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งไม่ได้รวมถึงการขาดประโยชน์จากการใช้งานด้วย (Loss of Usefullness)

 

ผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ไฟไหม้เป็นสาเหตุโดยตรงในการก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารคลอไรด์ตามที่กล่าวอ้างได้ อีกทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับร่วมกันว่า การปนเปื้อนของสารคลอไรด์มิได้เป็นผลสืบเนื่องโดยทันทีจากไฟไหม้ ขณะที่ไฟไหม้นั้นก่อให้เกิดควันไฟ และเขม่าล่องลอยมาสัมผัส และทิ้งคราบร่องรอยการปนเปื้อนของสารคลอไรด์ท้ายที่สุด

 

ฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยโจทก์จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนของชั้นสองตามที่กล่าวอ้างได้ เนื่องจากมิได้จัดอยู่ในความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยไม่ต้องรับผิด

  

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Sidhu (c.o.b. Prosperity Electric) v. Aviva Insurance Co. of Canada Limited [2020] B.C.J. No. 1240, 2020 BCSC 1171)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory