วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 160 : ปัญหาการตีความภัยความเสียหายเนื่องจากน้ำ (Water Damage Peril) กับการรื้อผนัง (Tear Out) เพื่อแก้ไขท่อน้ำรั่วต้นเหตุ

 

(ตอนที่สอง)

 

ในตอนที่ผ่านมา ได้ทิ้งคำถามดังต่อไปนี้เอาไว้ สมมุติท่านเป็นบริษัทประกันภัยจะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร?

 

ก) เหตุการณ์ความเสียหายเนื่องจากน้ำนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ข) ถ้าคุ้มครอง จะคุ้มครองรายการใดบ้าง? ในวงเงินความคุ้มครองเท่าไหร่?

 

    (1) ท่อน้ำตัวต้นเหตุ

    (2) ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำนั้นเอง

    (3) ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนผนัง และการเปลี่ยนทดแทนผนังที่เสียหายนั้น มีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 

 

เรื่องนี้ บริษัทประกันภัยนั้นได้พิจารณาว่า

 

ถึงแม้ต้นเหตุจะมาจากการเกิดน้ำรั่วไหลออกมา เนื่องด้วยท่อน้ำได้ผุกร่อนจากสนิมก็ตาม แต่ความเสียหายต่อเนื่องจากน้ำนั้นได้ไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น บริษัทประกันภัยตกลงยอมรับผิดให้เฉพาะความเสียหายต่อเนื่องนั้นเอง ส่วนท่อน้ำตัวต้นเหตุนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยจะขอรับผิดต่อความเสียหายทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรื้อผนังเพื่อซ่อมแซมท่อน้ำนั้นด้วย ไม่เกินวงเงินย่อยความคุ้มครอง 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐตามที่กำหนดไว้เท่านั้น 

 

ผู้เอาประกันภัยโต้แย้ง ถ้อยคำที่เขียนไว้ในเอกสารแนบท้ายการขยายความคุ้มครองถึงความเสียหาย อันเกิดขึ้นจากภัยเนื่องจากน้ำ (Water Damage Peril Endorsement) ดังอ้างอิงว่า

 

คุ้มครองความเสียหายโดยตรงทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย หรือการล้นของน้ำ หรือไอน้ำจากระบบท่อน้ำภายใน โดยจะคุ้มครองความเสียหายจากน้ำนั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และการเปลี่ยนทดแทนส่วนใด ๆ ของตัวอาคาร เพื่อความจำเป็นในการซ่อมแซมระบบท่อน้ำ และอุปกรณ์เครื่องใช้นั้นเอง

 

ทั้งนี้ ภายใต้เอกสารแนบท้ายนี้มีจำนวนเงินความคุ้มครองย่อย (Sub Limit) อยู่ที่ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อความเสียหายแต่ละครั้ง

 

อ่านแล้วแปลความหมายได้ว่า วงเงินย่อยความคุ้มครอง 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐนั้น มิได้หมายความให้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อผนังด้วย บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เกิดขึ้นจริง 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 

 

เมื่อบริษัทประกันภัยคงยืนกรานเช่นเดิม ผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นตัดสินเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นโต้แย้งของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย ซึ่งกล่าวอ้างเอกสารแนบท้ายฉบับพิพาทว่า

 

1) ที่เขียนว่า “.... โดยจะคุ้มครองความเสียหายจากน้ำนั้น รวมถึง (including) ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และการเปลี่ยนทดแทนส่วนใด ๆ ของตัวอาคาร เพื่อความจำเป็นในการซ่อมแซมระบบท่อน้ำ และอุปกรณ์เครื่องใช้นั้นเอง

 

มีความกำกวม แถมยังขัดแย้งกับประโยคในย่อหน้าถัดไป

 

2) ที่เขียนว่า “ทั้งนี้ ภายใต้เอกสารแนบท้ายนี้มีจำนวนเงินความคุ้มครองย่อย (Sub Limit) อยู่ที่ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อความเสียหาย (Loss) แต่ละครั้ง 

 

แม้จะเขียนว่า “รวมถึง” เอาไว้แล้ว แต่พอกล่าวถึงวงเงินความคุ้มครองย่อยกลับไประบุ “ต่อความเสียหาย (Loss) แต่ละครั้ง” แทน

 

เนื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อผนัง เพื่อทำให้สามารถเข้าไปซ่อมแซมท่อน้ำชำรุดนั้นได้ ตัวผนังดังกล่าวมิได้รับความเสียหาย (Loss) โดยตรงจากภัยคุ้มครองเนื่องจากน้ำนั้นเลย แต่ได้ถูกทุบทำลายโดยเจตนาตามที่บริษัทประกันภัยเห็นชอบให้สามารถกระทำการได้เท่านั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของเอกสารแนบท้ายฉบับพิพาท เพราะถ้าบริษัทประกันภัยมีจุดประสงค์ที่จะให้รวมอยู่ในวงเงินคุ้มครองย่อยนั้นจริง ก็ควรจะเขียนลงไปให้ชัดเจนมากกว่านี้

 

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย และยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนของถ้อยคำเหล่านั้นให้แก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย ด้วยการตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Security First Ins. Co. v. Vazquez, 2022 WL 495211, — So. 3d — (Fla. 5th DCA February 18, 2022))

 

เรื่องของถ้อยคำที่เขียนนี่สำคัญจริงไหมครับ?

 

เสียดายที่เอกสารแนบท้ายดังกล่าวของบ้านเรา ซึ่งแม้จะมีถ้อยคำคล้ายคลึงกัน

 

ได้ขยายความคุ้มครองถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมา ของน้ำหรือไอน้ำ จากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และรวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากการเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ

 

แต่ยังไม่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่องการรื้อทำลายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ยังไม่ได้เสียหาย ในที่นี้คือ ผนัง ฝ้า เพื่อจุดประสงค์เข้าไปซ่อมแซมจุดที่น้ำรั่วไหลโดยตรงเหมือนดั่งเช่นเอกสารแนบท้ายของต่างประเทศ

 

ทำให้จำต้องพยายามหาทางออกอย่างอื่นแทน

 

ฉะนั้น ถ้ามีเหตุการณ์ดังตัวอย่างคดีศึกษานี้เกิดขึ้นในบ้านเรา ก็จำต้องรับสภาพไปเองก่อน เว้นแต่จะหาทางออกอื่นเตรียมตัวล่วงหน้าเอาไว้แล้ว ด้วยการขอให้บริษัทประกันภัยเห็นชอบล่วงหน้าตั้งแต่แรกทำประกันภัยเลย (ถ้าเขายอม)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 


วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 160 : ปัญหาการตีความภัยความเสียหายเนื่องจากน้ำ (Water Damage Peril) กับการรื้อผนัง (Tear Out) เพื่อแก้ไขท่อน้ำรั่วต้นเหตุ

 

บ่อยครั้ง เวลาอ่านถ้อยคำที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยอาจก่อให้เกิดปัญหาการแปลความหมายที่แตกต่างกันขึ้นมาได้ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะเมื่อเวลาเกิดความเสียหาย เพราะจะมีทั้งคนที่อาจได้ประโยชน์ และคนที่อาจเสียประโยชน์ขึ้นมาได้

 

คุณคิดว่า ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยมีความชัดเจนดีเพียงพอแล้วหรือยัง?

 

ดั่งตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้

 

ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่งได้ทำประกันภัยคุ้มครองตัวบ้านพร้อมกับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ในบ้านหลังนั้นกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยได้ระบุขยายความคุ้มครองถึงความเสียหาย อันเกิดขึ้นจากภัยเนื่องจากน้ำ (Water Damage Peril Endorsement) เอาไว้ด้วย โดยมีถ้อยคำเขียนว่า

 

คุ้มครองความเสียหายโดยตรงทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย หรือการล้นของน้ำ หรือไอน้ำจากระบบท่อน้ำภายใน โดยจะคุ้มครองความเสียหายจากน้ำนั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และการเปลี่ยนทดแทนส่วนใด ๆ ของตัวอาคารเพื่อความจำเป็นในการซ่อมแซมระบบท่อน้ำ และอุปกรณ์เครื่องใช้นั้นเอง

 

ทั้งนี้ ภายใต้เอกสารแนบท้ายนี้มีจำนวนเงินความคุ้มครองย่อย (Sub Limit) อยู่ที่ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อความเสียหายแต่ละครั้ง

 

ต่อมา ปรากฏท่อน้ำจุดหนึ่งที่อยู่ในผนังเกิดเสื่อมสภาพทำให้น้ำรั่วไหลซึมออกมาจากผนังไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น ๆ

 

เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้ไปแจ้งเคลมต่อบริษัทประกันภัยของตน ได้เกิดประเด็นข้อโต้แย้ง ดังนี้

 

ก) เหตุการณ์ความเสียหายเนื่องจากน้ำนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ข) ถ้าคุ้มครอง จะคุ้มครองรายการใดบ้าง? ในวงเงินความคุ้มครองเท่าไหร่?

 

    (1) ท่อน้ำตัวต้นเหตุ

    (2) ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำนั้นเอง

    (3) ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนผนัง และการเปลี่ยนทดแทนผนังที่เสียหายนั้น มีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยยื่นขอเรียกร้องค่าเสียหายตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดทุกรายการ

 

สมมุติ คุณเป็นบริษัทประกันภัยนี้ คุณจะให้คำตอบเช่นไรดีครับ?

 

ขอฝากไว้ไปคิดเป็นการบ้าน แล้วเราค่อยกลับมาเฉลยกันคราวหน้า

 

และขอให้ทุกท่านมีความสุข และปลอดภัยจากโรคภัย และอุบัติภัยใด ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วยนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 159 : นักท่องเที่ยว/แขกพักอาศัยนำสิ่งของมีค่าติดตัวไปโรงแรม แล้วถูกขโมย ถือว่า มีส่วนประมาทร่วมหรือไม่?

 

ได้เขียนบทความอีกชุดหนึ่งเกี่ยวกับความรับผิดของเจ้าของโรงแรมไว้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย)

 

เมื่อไปอ่านแนวคดีศึกษาเรื่องนี้ของต่างประเทศ เห็นว่า มีประเด็นต่อสู้ที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าเสริม ดังนี้

 

1) นักท่องเที่ยว/แขกพักอาศัยเวลาเดินทาง ทำไมจะต้องพกพาสิ่งของมีค่าติดตัวไปด้วย?

 

2) หากจำเป็นจะต้องพกพาไป ทำไมไม่นำไปฝากเก็บไว้ในตู้นิรภัยกับเจ้าของโรงแรม?

 

ถ้าขืนทำไป แล้วสิ่งของมีค่าเหล่านั้นถูกลักขโมยไป จะถือว่า นักท่องเที่ยว/แขกพักอาศัยนั้นมีส่วนร่วมประมาทเลินเล่อด้วยได้ไหม?

 

กรณีต่าง ๆ ข้างต้นได้ถูกหยิบยกเป็นข้อต่อสู้ของเจ้าของโรงแรมในต่างประเทศ เมื่อมีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้ถูกคนร้ายลักขโมยเครื่องเพชรมูลค่าร่วมล้านกว่าดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณสามสิบกว่าล้านบาทซึ่งถูกเก็บไว้ในตู้เซฟของห้องพัก ระหว่างได้เข้าไปพักอาศัยอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง

 

สามีภรรยาแขกผู้พักอาศัยรายนี้จึงเรียกร้องให้เจ้าของโรงแรมรับผิดชอบ

 

แต่เจ้าของโรงแรมปฏิเสธความรับผิด พร้อมต่อสู้ว่า

 

เดินทางมาเที่ยวพักผ่อน ทำไมจะต้องนำเครื่องเพชรมูลค่าสูงเช่นนั้นติดตัวมาด้วย

 

ถ้าจำเป็นต้องนำมา ก็ควรนำไปฝากไว้ในตู้นิรภัยของโรงแรมจะมั่นคงปลอดภัยมากกว่า

 

ฉะนั้น จึงถือว่า ถ้าโรงแรมจะต้องมีความรับผิดอยู่บ้าง ก็แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น แขกผู้พักอาศัยรายนี้มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่า เนื่องจากสามารถเล็งเห็นได้ว่า มีความเสี่ยงภัยค่อนข้างสูงที่จะถูกลักขโมยได้ ทั้งยังละเลยด้วยการไม่นำพาที่จะนำไปฝากไว้กับเจ้าของโรงแรมอีกด้วย

 

แขกผู้พักอาศัยรายนี้ได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับเจ้าของโรงแรมฝ่ายจำเลย

 

แขกผู้พักอาศัยรายนี้ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำโต้แย้งของโจทก์ที่ว่า

 

โจทก์เดินทางมาเมืองนี้เพื่อร่วมงานสังคมระดับสูง มิใช่มาเที่ยวพักผ่อนเฉย ๆ จึงจำเป็นจะต้องแต่งตัวให้เหมาะสมกับงานเช่นนั้น โดยปกติที่เดินทางทั่วไป ก็มิได้พกพาสิ่งของมีค่าขนาดนี้มาอยู่แล้ว

 

สาเหตุที่มิได้นำเครื่องเพชรกับสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ไปฝากเก็บไว้ในตู้นิรภัยของโรงแรม เพราะจุดที่รับฝากนั้นอยู่บริเวณพื้นที่มีผู้คนอยู่พลุกพล่าน จึงรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องนำส่งของมีค่าต่าง ๆ ไปแสดงแถลงให้ผู้คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงภัยให้แก่โจทก์ในภายหลังด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้นำมาเก็บไว้ในตู้เซฟของห้องพักแทนน่าจะปลอดภัยกว่า แต่สุดท้าย โชคร้ายที่มีคนร้ายลักลอบเข้าไปขโมย

 

ศาลอุทธรณ์รับฟัง และคล้อยตามคำโต้แย้งของโจทก์

 

การนำพาสิ่งของมีค่าติดตัวเวลาเดินทาง ไม่ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ หรือมีส่วนประมาทเลินเล่อร่วมอยู่ด้วย

 

การจัดตู้เซฟในห้องพัก ถ้ามิใช่เพื่อให้แขกผู้พักอาศัยเก็บสิ่งของมีค่า แล้วจะให้เก็บสิ่งใดกันแน่

 

เมื่อเจ้าของโรงแรมมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่แขกผู้เข้ามาพักอาศัยซึ่งเป็นลูกค้าของตนเป็นการต่างตอบแทนที่ได้รับค่าที่พักอาศัยจากลูกค้าเหล่านั้น ก็จำต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็งให้ดีที่สุด

 

ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้เจ้าของโรงแรมฝ่ายจำเลยรับผิดตามกฎหมายแต่ผู้เดียว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Paraskevaides v. Four Seasons Washington, 292 F.3d 886 (2002))

 

หากเจ้าของโรงแรมฝ่ายจำเลยมีทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายเอาไว้ บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองนั้นอยู่ จะต้องเข้ามารับผิดแทนต่อไป

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul