วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 155 : ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

โดยหลักการทั่วไปจะจัดค่าเสื่อมราคา (Depreciation) อยู่ในรายการของค่าใช้จ่ายคงที่ (Standing Chareges/Fixed Costs) ด้วยมองว่า ถึงแม้จะได้มีการชดใช้ความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายตามมูลค่าที่แท้จริง ด้วยการนำค่าเสื่อมราคามาหักออกไปรอบหนึ่งแล้วดังที่ได้เกริ่นตอนต้นของตอนที่ผ่านมา (หรือหากกำหนดเป็นหลักเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินใหม่ (Replacement Value) จะไม่มีการหักค่าเสื่อมราคาก็ได้)

 

ครั้นเมื่อพิจารณาถึงความเสียหายสืบเนื่องทางการเงิน (Consequential Loss) ของการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ก็ควรนำปัจจัยค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เสียหาย อันได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นซึ่งถูกคำนวณตั้งประมาณการหนี้สิน (Provision)* ตามหลักการบัญชีเผื่อเอาไว้แล้ว แต่ท้ายที่สุดมิได้ถูกจ่ายออกไปจริงมาหักออกไปจากกำไรขั้นต้น (Gross Profit) ที่คำนวณได้ด้วยเช่นกัน ในแง่เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้ (Savings) ตามสูตรคำนวณเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

*(มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น ได้ให้คำนิยามที่สำคัญ ดังนี้ (สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (เผยแพร่ 27 กุมภาพันธ์ 2563))

 

ประมาณการหนี้สิน (A Provision) หมายถึง หนี้สินที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาหรือจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชำระ ตัวอย่างเช่น ประมาณการหนี้สินจากการรับประกันคุณภาพสินค้าหลังการขาย ประมาณการหนี้สินจากสัญญาที่สร้างภาระ เป็นต้น)

 

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้โต้แย้งกลับมาว่า ถ้าเป็นความเสียหายบางส่วน (Partial Loss) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว พอยอมรับได้ แต่มิใช่กับความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) เพราะไม่มีทรัพย์สินนั้นหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว ส่วนจะได้ทรัพย์สินใหม่มาทดแทนก็เป็นเรื่องของอนาคต

 

ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง ทำให้เป็นเรื่องถกเถียงต่อไปไม่จบจวบจนทุกวันนี้

 

เราลองมาพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศกันนะครับ ซึ่งมีออกมาทั้งสองแนวความคิดเหมือนกันอีก

 

ได้เกิดลมพายุสร้างความเสียหายแก่คลังสินค้าเก็บอะไหล่รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยจนได้รับความเสียหายอย่างมาก

 

โชคดีที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักรองรับเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

 

ในส่วนของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก คู่สัญญาประกันภัยเห็นพ้องร่วมกันว่า ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Indemnity Period) จริงกรณีนี้ คือ ระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันที่เกิดความเสียหาย

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขความเสียหายทางการเงินซึ่งผู้เอาประกันภัยได้คำนวณเสนอมานั้นยังมิได้นำเอาประมาณการหนี้สินในส่วนของประมาณการค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เสียหายนั้นซึ่งเป็นยอดเงินรวม 1,449,509 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือประมาณสามสิบสี่กว่าล้านบาท) มาคำนวณหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้ออกไปเลย

 

ทำให้เกิดข้อพิพาทกันขึ้นมา เนื่องด้วยฝ่ายผู้เอาประกันภัยเห็นว่า ไม่จำต้องหัก และเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงนำประเด็นเรื่องนี้เป็นคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสนับสนุนความคิดเห็นของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลย พร้อมหยิบยกอ้างอิงแนวคำพิพากษาของศาลอังกฤษในประเด็นเรื่องนี้ซึ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักแทบไม่แตกต่างจากของคดีนี้เลย โดยเฉพาะดังที่กำหนดไว้ในตอนท้ายของสูตรคำนวณว่า

 

   การสูญเสียกำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจาก () และ () ให้หักด้วยจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้จากการยุติการจ่าย หรือจากการจ่ายน้อยลงในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ (payable out of) กำไรขั้นต้นที่เอาประกันภัย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหาย

 

มิฉะนั้นจะส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่แท้จริง อันผิดจากหลักการประกันภัย

 

คุณมีความคิดเห็นเช่นใดบ้างครับ?

 

แต่คดีนี้ยังไม่ยุติ เพราะฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เนื่องด้วยมียอดเงินที่พิพาทกันสูงพอสมควรเป็นเดิมพัน

 

เราต้องคอยลุ้นกันต่อคราวหน้าแล้วล่ะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 155 : ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เวลาเมื่อมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) ของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ตามหลักการจะคำนวณโดยนำค่าเสื่อมราคา (Depreciation) มาหักออกจากมูลค่าใหม่ ณ วันที่เกิดเหตุของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายนั้นเอง ได้ผลลัพธ์ออกมาเท่าไหร่? ก็จะชดใช้ไปตามนั้น

 

แล้วกรณีกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจำต้องนำเอาค่าเสื่อมราคามาร่วมคำนวณด้วยไหม?

 

โดยหลักการปกติ กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะคุ้มครองถึงกำไรขั้นต้น (Gross Profit) ที่ระบุเอาประกันภัยไว้

 

กำไรขั้นต้นนั้นโดยทั่วไปจะคำนวณได้โดยอาศัยสูตร ดังนี้

 

ยอดรายได้ (Turnover) หักด้วย ค่าใช้จ่ายผันแปร (Variable Costs)

 

หรือ

 

ค่าใช้จ่ายคงที่ (Standing Chareges/Fixed Costs) บวกด้วย กำไรสุทธิ (Net Profit)

 

แล้วค่าเสื่อมราคาจะถือเป็นค่าใช้จ่ายผันแปร หรือค่าใช้จ่ายคงที่ที่ควรจะคุ้มครอง?

 

คุณเห็นเช่นไรครับ?

 

ทางวิชาการประกันภัยมีข้อถกเถียงพอสมควร เช่นเดียวกับทางการตีความของศาล

 

โดยที่กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะมีสูตรคำนวณเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งกำหนดไว้เป็นสากลว่า

 

การประกันภัยภายใต้รายการที่ 1 จะให้ความคุ้มครองเฉพาะการสูญเสียกำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจาก () การลดลงของยอดรายได้และ () การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยบริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังต่อไปนี้

 

(ก)  ในกรณีของการลดลงของยอดรายได้ :

       บริษัทจะชดใช้จำนวนเงินที่คำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้น คูณกับจำนวนยอดรายได้ที่ขาดหายไป ในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

(ข)  ในกรณีของการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน :

       บริษัทจะชดใช้จำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ตามความจำเป็น และเหตุผลอันควรที่เกิดขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวในการหลีกเลี่ยง หรือบรรเทาไม่ให้ยอดรายได้ลดลง ในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหาย แต่ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่คำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้นคูณกับยอดรายได้ที่จะขาดหายไป ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้

 

   การสูญเสียกำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจาก () และ () ให้หักด้วยจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของกิจการที่ประหยัดได้จากการยุติการจ่าย หรือจากการจ่ายน้อยลงในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกำไรขั้นต้นที่เอาประกันภัย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหาย

 

เราลองมาดูผลทางคดีประเด็นนี้กันจากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศในตอนต่อไปนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 154 : สัญญาจ้างทำ “ของ(Hire of Work/Contract of Work) แล้ว “ของ (Work)” ที่ว่านี้หมายถึง “ผลิตภัณฑ์ (Product)” ด้วยหรือเปล่า?

 

สำหรับกรณีเมื่อสัญญาก่อสร้างถูกจัดเป็นสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่งนั้น แล้วผลงาน (Work) ที่ผู้รับเหมาได้กระทำลงไป เราจะเรียกผลงานนั้นว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ (Product)” ของผู้รับเหมานั้นได้ไหม?

 

ถ้าใช่ แล้วจะบังเกิดผลอะไรในแง่ของการประกันภัยการก่อสร้างได้บ้าง?

 

เรามาลองตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเรื่องนี้กันครับ

 

ผู้รับเหมาช่วงงานโครงสร้างของโครงการก่อสร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการสร้างฐานคอนกรีตของปั้นจั่น (Crane Base) ด้วยการใช้เหล็กเดือย (Dowel Rods) ยึดติดกับเสาเข็ม ภายหลังจากได้ติดตั้งเครนหอสูงหรือปั้นจั่นหอสูง (Tower Cranes) เชื่อมต่อกับฐานนั้นแล้ว ต่อมาไม่นาน เครนหอสูงนั้นได้เกิดหักโค่นลงมาจนทำให้ตัวเครนนั้นเองเสียหายอย่างมาก ผู้ควบคุมปั้นจั่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ตลอดจนยังล้มฟาดไปโดนทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่อยู่ข้างเคียงได้รับความเสียหายไปด้วย

 

เนื่องจากโครงการก่อสร้างนี้มีการจัดทำประกันภัยคุ้มครองงานก่อสร้าง (Construction All Risks Insurance) ควบกับความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก และความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ (Combined Public & Products Liability Insurance) ไว้แล้ว ทางผู้รับเหมาซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมจึงได้แจ้งต่อบริษัทประกันภัยของตนให้มารับผิดชอบ

 

แต่บริษัทประกันภัยได้ปฏิเสธ โดยหยิบยกข้อยกเว้นซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึงความรับผิด อันเกิดขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์ใด ๆ และในส่วนความคุ้มครองความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ไม่คุ้มครองถึงความรับผิดซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ผลิตภัณฑ์ไม่อาจใช้งานได้ตามจุดประสงค์ (Failure to fulfill its intended function)

 

โดยที่ “ผลิตภัณฑ์” นั้นมีความหมายถึง “ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าใดซึ่งถูกผลิต ก่อสร้าง ติดตั้ง ดัดแปลงแก้ไข ซ่อมแซม ให้บริการ ดำเนินการ จัดการ ขาย ให้เช่า จัด หรือส่งมอบให้โดยผู้เอาประกันภัยเอง หรือในนามของผู้เอาประกันภัย

 

ฉะนั้น ความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการล้มลงของเครนหอสูงนั้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผลิตภัณฑ์ (ในที่นี้ คือ ฐานคอนกรีตของปั้นจั่น) ไม่ทำงานตามจุดประสงค์นั่นเอง

 

เรื่องนี้ผู้เอาประกันภัยยอมรับไม่ได้ จึงนำคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นได้วิเคราะห์ว่า ฐานคอนกรีตนั้นมิใช่ผลิตภัณฑ์ดังคำนิยามของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท การที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ก่อสร้างฐานนั้นด้วยการเทคอนกรีตลงตำแหน่งนั้นจนเป็นแท่งคอนกรีตประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นดิน และเป็นการทำงานในพื้นที่ มิได้จัดซื้อหา ส่วนเหล็กเดือยนั้นอาจพอจัดให้เป็นส่วนประกอบของเสาเข็มได้บ้าง แต่ก็มิใช่เป็นผลิตภัณฑ์ของโจทก์ผู้เอาประกันภัยเอง จึงวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิด

 

บริษัทประกันภัยจำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์คล้อยตามตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์นั้นควรหมายความถึง สิ่งที่จับต้องได้ และเคลื่อนที่ได้ด้วยการส่งมอบจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้ จึงไม่ใช่สิ่งใดที่จัดทำขึ้นมาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นดิน ณ สถานที่จัดทำขึ้นมานั้นเอง

 

ดังนั้น การทำงานของโจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงมิใช่เป็นการจัดทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา แต่เป็นการทำงานก่อสร้างคอนกรีต เพื่อทำฐานสำหรับติดตั้งเครนหอสูงให้อยู่ตรงตำแหน่งนั้น การลงมือทำงานสร้างสิ่งใดขึ้นมาก็ตาม มิได้จำต้องถือเป็นผลิตภัณฑ์เสมอไป การตีความหมายควรใช้อย่างแคบแทนที่จะแปลความหมายกว้างจนเกินไป

 

อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์เห็นต่างในส่วนของเหล็กเดือยว่า เป็นผลิตภัณฑ์ ถึงกระนั้นจากพยานหลักฐานของผู้เชี่ยวชาญแล้วกลับมีความเห็นว่า เหล็กเดือยมิใช่เป็นต้นเหตุโดยตรง สาเหตุนั้นน่าจะเป็นผลมาจากฝีมือแรงผิดพลาดของโจทก์ผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ติดตั้งไม่ถูกต้องมากกว่า โดยที่ผลสืบเนื่องจากฝีมือแรงผิดพลาดนั้นได้รับความคุ้มครอง ภายใต้ส่วนของความคุ้มครองความรับผิด Public Liability Insurance)  

 

วินิจฉัยยืนให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Aspen Insurance UK Ltd v Adana Construction Ltd [2015] EWCA Civ 176)

 

ตัวอย่างคดีศึกษานี้อาจเป็นประโยชน์ สำหรับการจัดทำประกันภัยการก่อสร้าง/การติดตั้งแยกกับการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ซึ่งต่างประเทศหลายแห่งนิยมทำกัน ไม่เหมือนบ้านเราซึ่งมีกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) ซึ่งรวมความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเอาไว้อยู่แล้ว และยังให้แนวทางที่น่าสนใจในการแปลความหมายของผลิตภัณฑ์อีกด้วย


บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 153 : การตีความหมายของความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct Physical Loss or Damage) ยุคไซเบอร์ หมายความเช่นนี้ไหม?

 

(ตอนที่สอง)

 

เรื่องนี้ได้ถูกนำเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เนื่องด้วยบริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้เพียงสูญเสียข้อมูลในการใช้งาน (lost of data) เท่านั้น ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน หรือที่จับต้องมิได้ (intangible asset) โดยคงยังสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ในการประกอบธุรกิจอยู่ แล้วจะมาอ้างตนได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (direct physical loss or damage) เช่นไร?

 

แต่ผู้เอาประกันภัยได้ตอบโต้ว่า ในเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทได้มีการขยายให้คุ้มครองรวมถึงข้อมูลกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยแล้วนี่ ฉะนั้น การที่ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้งานได้ปกติดังเดิม ควรถือว่าเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวแล้วนี่ ทั้งในส่วนของการสูญเสียข้อมูลในระบบ และการสูญเสียการใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์เอง

 

ศาลได้พินิจพิเคราะห์ถ้อยคำที่ปรากฏของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแล้ว มีความเห็นว่า

 

เอกสารแนบท้ายได้เขียนขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงสื่อข้อมูลกับสื่อบันทึกทางอิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงซอฟต์แวร์ด้วย (including software)) อันหมายความรวมไปถึง

 

(ก) อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล สื่อบันทึก หรือสื่อจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้นว่า แผ่นฟิล์ม เทป แผ่นดิสก์ ลูกดรัม หรือเซลล์

(a) Electronic data processing, recording or storage media such as films, tapes, discs, drums or cells;

 

(ข) ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอยู่ในสื่อดังกล่าว

(b) Data stored on such media.

 

ข้อ (ก) อ่านแล้วชัดเจนว่าประสงค์คุ้มครองถึงตัวสื่อบันทึกนั้น แต่เมื่อมีข้อ (ข) เพิ่มเติมเข้ามาอีก ก็คงไม่อาจตีความให้เป็นอย่างอื่นที่จะไม่รวมถึงตัวข้อมูลไปได้ กอปรกับตรงประโยคที่เขียนให้รวมถึงซอฟต์แวร์ด้วยกำกับเอาไว้ตอนต้นอีก ทั้งสองข้อดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันอาจมีความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพตามเงื่อนไขได้

 

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยหยิบยกอ้างคดีอื่นเทียบเคียงในลักษณะคล้ายคลึงกัน ก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ เพราะมีความแตกต่างกัน ในคดีดังอ้างอิงนั้นที่ศาลได้ตัดสินให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องด้วยโจทก์ผู้เอาประกันภัยคดีนั้นเรียกร้องค่าใช้จ่ายเรื่องการสูญเสียข้อมูลอย่างเดียว

 

แต่คดีนี้ ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายของคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ (fully functioning computer system) มิใช่เพียงแค่การทำงานล่าช้า หรือการแก้ไขไวรัสเท่านั้น

 

การที่ระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีสมรรถนะการทำงานที่แน่นอนถูกต้อง แล้วกลายมาเป็นล่าช้าขาดประสิทธิภาพ ระบบจัดเก็บข้อมูลก็ไม่อาจเรียกค้นหาข้อมูลกับซอฟต์แวร์ได้ตามปกติ จึงถือเป็นความเสียหาย (damage) ที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทก็มิได้กำหนดลักษณะความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพเฉพาะแก่ทรัพย์สินที่มีตัวตน หรือที่จับต้องได้ (tangible asset) เอาไว้อย่างชัดเจน จึงต้องยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนนั้นให้แก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้เป็นผู้ร่างถ้อยคำเหล่านั้น  

 

ศาลจึงสรุปว่า การสูญเสียการใช้งาน การขาดความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานถือเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพตามถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแล้ว เพราะโดยทั่วไป คอมพิวเตอร์ที่เราเรียกว่าเกิดเสียหาย ก็ไม่จำต้องถึงขนาดใช้งานไม่ได้เลยทั้งหมด และวินิจฉัยให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี National Ink & Stitch, LLC v. State Auto Property & Casualty Insurance Company, No. 18-cv-2138 (D. Md. Jan. 23, 2020))

 

ถึงแม้นคำพิพากษาคดีนี้เป็นแค่ศาลชั้นต้น แต่ที่หยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ เนื่องจากประเด็นปัญหาการร่างถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีความชัดเจนเพียงพอ จึงควรใช้ความระมัดระวังให้มาก มิฉะนั้น อาจต้องมาเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากมาย และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของภัยเงียบไซเบอร์ (Silent Cyber) ซึ่งส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินทั่วไปสามารถคุ้มครองถึงภัยไซเบอร์ได้โดยไม่จำต้องไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะเพิ่มเติมอีก

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul