วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 149 : การไม่เปิดเผยข้อความจริง หรือการแถลงข้อความเท็จของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สำคัญขนาดไหน?

 

ตามหลักการประกันภัยสากลเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith) นั้น กล่าวว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อความจริง หรือแถลงข้อความเป็นเท็จในสาระสำคัญ จะส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ

 

ในบ้านเรามีบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน ภายใต้มาตรา 865 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้

 

ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

 

โดยสรุป คือ กฎหมายกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง และไม่แถลงข้อความเท็จในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญให้แก่บริษัทประกันภัยได้รับทราบ ณ เวลาทำสัญญาประกันภัย มิฉะนั้นแล้ว จะส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยฉบับนั้นตกเป็นโมฆียะ โดยที่บริษัทประกันภัยจะมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันภัยฉบับนั้นให้กลายเป็นโมฆะได้ภายในกำหนดเวลาของกฎหมาย เมื่อได้ทราบ

 

สิ่งที่เป็นสาระสำคัญนั้นจะต้องส่งผลถึงขนาดเมื่อบริษัทประกันภัยได้รับทราบแล้ว อาจปฏิเสธไม่รับประกันภัย หรือคิดค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยเสียแล้ว หน้าที่นี้คงมีอยู่ แม้นบริษัทประกันภัยจะมิได้สอบถามก็ตาม

 

ตามหลักการ ณ เวลาขอทำประกันภัย บริษัทประกันภัยจะมีแบบสอบถามข้อมูลที่สำคัญจากผู้เอาประกันภัย ซึ่งเรียกว่า “ใบคำขอเอาประกันภัย” เพื่อให้กรอกข้อมูลเหล่านั้นอย่างครบถ้วนและถูกต้อง พร้อมลงนามรับรองกำกับไว้ด้วย

 

น่าเสียดายที่ในทางปฏิบัติ บริษัทประกันภัยกลับมิได้อาศัยประโยชน์จากใบคำขอเอาประกันภัยนี้เลย ทำให้บ่อยครั้ง ผู้เอาประกันภัยไม่รู้จะต้องบอกข้อมูลอะไรให้บ้าง เนื่องจากบริษัทประกันภัยเองก็แทบมิได้สอบถามอะไรมากนัก

 

จึงเกิดประเด็นข้อพิพาทกันบ่อยครั้ง และส่วนใหญ่แล้ว ผู้เอาประกันภัยมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

 

สำหรับการประกันภัยรถยนต์ คุณคิดว่า ข้อมูลดังต่อไปนี้เป็นสาระสำคัญจำต้องเปิดเผยไหมครับ?

 

(1) การขับขี่รถเร็วเกินกฎหมายกำหนด

 

(2) การขับขี่รถในลักษณะหวาดเสียว อาจก่อให้เกิดอันตราย

 

(3) การขับขี่รถยนต์ย้อนศร

 

(4) การถูกปรับโทษฐานความผิดทางกฎหมายจราจร

 

(5) การไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

 

(6) การเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

 

             ฯลฯ

 

เรามาลองดูตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้เทียบเคียงกันนะครับ

 

เรื่องนี้เกิดขึ้น ณ ประเทศฮ่องกง เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2010 มีผู้เอาประกันภัยนำรถปอร์เช่คันหนึ่งไปขอทำประกันภัยรถยนต์กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยที่จะต้องมีการกรอกใบคำขอเอาประกันภัยตามระเบียบปฏิบัติเสียก่อนที่บริษัทประกันภัยจะตกลงพิจารณารับประกันภัย ซึ่งก็ผ่านขั้นตอนนั้นเรียบร้อยดี และบริษัทประกันภัยแห่งนั้นก็พึงพอใจกับข้อมูลที่ได้มา จึงตกลงรับประกันภัยรถยนต์หรูคันดังกล่าวด้วยความเต็มใจ

 

ระหว่างระยะเวลาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปประสบอุบัติเหตุ ตีราคาค่าซ่อมเป็นเงิน 678,600 ดอลล่าร์สหรัฐ  (หรือประมาณ 21 ล้านบาท) บังเอิญไม่มีข้อมูลเรื่องจำนวนเงินเอาประกันภัยด้วยว่า คือ เท่าไหร่?

 

ประเด็นปัญหาข้อพิพาทไม่ได้อยู่ที่ค่าซ่อมสูง แต่อยู่ที่บริษัทประกันภัยแห่งนี้ปฏิเสธความรับผิดโดยสิ้นเชิงด้วยการกล่าวอ้างว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ปกปิดข้อความจริงที่เป็นสาระสำคัญ และได้แถลงข้อความอันเป็นเท็จลงในใบคำขอเอาประกันภัย

 

เนื่องจากใบคำขอเอาประกันภัยี้จะมีคำถามให้ตอบเป็นข้อ ๆ ด้วยการมีช่องให้เลือกตอบว่า ใช่/มี (Yes) หรือไม่ใช่/ไม่มี (No) โดยเฉพาะในคำถามข้อที่ 3 ซึ่งตั้งคำถามว่า

 

ตัวท่านเอง หรือมีบุคคลใดซึ่งอาจใช้รถยนต์คันนี้ โดยที่ท่านรับรู้ว่า เคยถูกตัดสินให้มีความผิดดังต่อไปนี้ ในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา กล่าวคือ การขับขี่รถเร็วเกินกำหนด การขับขี่รถโดยประมาทเลินเล่อ การขับขี่รถในลักษณะอันตราย หรือการขับขี่รถขณะเมาสุราบ้างหรือไม่?

 

ซึ่งผู้เอาประกันภัยนี้ได้เลือกตอบว่า ไม่มี

 

พร้อมทั้งได้กล่าวแถลงตอนท้ายอีกด้วยว่า  

 

รถยนต์คันนี้จะไม่ถูกนำไปขับขี่โดยบุคคลผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ หรือขาดคุณสมบัติที่จะได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

 

แต่จากการตรวจสอบกลับปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เคยถูกลงโทษฐานความผิดตามกฎหมายจราจร สองครั้ง ในปี ค.ศ. 2003 และ 2005 ทั้งยังต้องโทษปรับฐานขับรถเร็วอีกสามครา ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2008 และ 2009 ด้วย

 

เมื่อถูกปฏิเสธความรับผิด ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัย

 

ศาลได้วินิจฉัยคดีนี้ว่า

 

1) ข้อความจริงในเรื่องประวัติการกระทำความผิดของผู้เอาประกันภัยในอดีตส่วนที่เกินกว่าสามปีย้อนหลังนั้น ไม่อยู่ในความสนใจของบริษัทประกันภัย อีกทั้งไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า โทษฐานความผิดดังระบุในใบคำขอเอาประกันภัยนั้นจะหมายรวมถึงการเสียค่าปรับฐานขับรถเร็วด้วย เพราะมิได้ถือเป็นการตัดสินลงโทษ (Conviction) อันนับเป็นสาระสำคัญ และเป็นเพียงการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้อื่น อีกทั้ง การฝ่าฝืนกฎหมายจราจรเล็กน้อยเช่นนั้นก็ไม่ได้มีสาระสำคัญถึงขนาดส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำต้องปฏิเสธไม่รับประกันภัย หรือเพิ่มค่าเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้นอีกด้วย

 

2) กรณีถ้อยแถลงนั้น หมายความใช้บังคับแก่ผู้ขาดคุณสมบัติในปัจจุบันเท่านั้น มิได้หมายความรวมไปถึงผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิในอดีตด้วย

 

3) ถึงแม้นข้อความจริงดังกล่าวจะถือเป็นสาระสำคัญ เมื่อมิได้ถาม จึงถือเสมือนไม่ได้รับความสนใจ ด้วยเหตุที่คำถามค่อนข้างจำกัด และไม่เปิดโอกาสให้สามารถเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมได้อีก

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ตัดสินให้บริษัทประกันภัยแห่งนี้มีความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Cheung Kwan Wah v China Ping An Insurance (Hong Kong) Company Limited (2012) KKDC 802)

 

สรุป

 

คดีนี้ เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของรถคันที่เอาประกันภัยแล้ว เป็นรถที่ใช้ความเร็วโดยสภาพ ไม่ควรนำเอาเรื่องขับรถเร็วมาเป็นสาระสำคัญในการปฏิเสธความรับผิดเลยนะครับ

 

ดังนั้น การตั้งคำถามข้อมูลในใบคำขอเอาประกันภัยจึงมีความสำคัญมาก ควรต้องให้รายละเอียด และความชัดเจน เพื่อสามารถใช้ในการพิจารณารับประกันภัยได้จริง

 

ไม่แน่ใจว่า นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่า ซึ่งทำให้บริษัทประกันภัยไม่สนใจใช้ใบคำขอเอาประกันภัย ปล่อยไว้เพื่อให้เปิดกว้างจะดีกว่า?

 

ส่วนตัวค่อนข้างแปลกใจว่า เคยเห็นใบคำขอเอาประกันภัยรถยนต์บ้านเราแล้ว มีให้กรอกข้อมูลเสมือนหนึ่งเพียงต้องการใช้ในการออกกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น  

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 148 : เรื่องวุ่น ๆ ของคำว่า “รั้ว (Fence)” ของการประกันภัยทรัพย์สิน

 

(ตอนที่สอง)

 

ศาลฎีกาพิเคราะห์คดีนี้ว่า

 

ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับพิพาทไม่มีความกำกวม อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ ความกำกวม หรือไม่ชัดเจนนั้น หมายความถึง สามารถแปลความหมายออกมาได้หลากหลายความหมายอย่างชัดเจน มิใช่เพียงคู่สัญญามีความเห็นแตกต่างกัน

 

เมื่อพิจารณาจากความหมายทั่วไปตามพจนานุกรม คำว่า

 

สิ่งปลูกสร้าง (Structures)” หมายความถึง สิ่งก่อสร้าง ผลผลิต หรือชิ้นส่วนงานที่สร้างขึ้น หรือประกอบเข้าด้วยกัน

 

ต่อติดอยู่ (attached)” หมายความถึง ผนวก ประกอบ ยึด ติด ตรึงทำให้แน่น

 

ดังนั้น รั้วที่เป็นประเด็นนี้ได้ถูกจัดสร้าง และโดยเจตนาเพื่อประกอบเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งปลูกสร้าง ด้วยการยึดติดกับตัวบ้านโดยอาจอาศัยซีเมนต์เป็นตัวประสาน หรืออาจใช้นอตขันยึดติดเข้าด้วยกัน จึงอยู่ในความหมายที่บุคคลทั่วไปเข้าใจ ดั่งที่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยอ้างอิง

 

ส่วนที่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยจะโต้แย้ง การแปลความหมายเช่นนี้จะส่งผลทำให้รั้วตรงส่วนอื่น หรือสิ่งอื่นใดมาเชื่อมกับรั้วพิพาท พลอยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้านได้ด้วยหรือเปล่านั้น? นั่นคือ ประเด็นสำคัญที่ควรจะร่างถ้อยคำให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้หรือเปล่า?

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำกล่าวอ้างของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมีเหตุผลสมควรรับฟังได้มากกว่า จึงให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสรุปตามคำวินิจฉัยนี้อีกครั้งหนึ่ง

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Nassar v. Liberty Mutual Fire Insurance Company, 508 S.W.3d 254 (Tex. 2017))

 

กรณีนำประเด็นเรื่องรั้วมาวิเคราะห์เทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานบ้านเรา จะพบว่า

 

ก) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย

 

ข) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป

 

ค) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

 

ทั้งสามฉบับ จะมีเพียงเฉพาะกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่มีคำจำกัดความเอ่ยถึงเรื่องรั้วเอาไว้ ดังนี้

 

1. คำจำกัดความทั่วไป

คำว่า "ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย" หมายถึง สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก) และหรือทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงทรัพย์สินที่อยู่ภายในสถานที่เอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

คำว่า "สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก)" หมายถึง

ก)     บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด ตึกแถว สำหรับอยู่อาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนรับใช้ เรือนครัว เป็นต้น กำแพง (walls) รั้ว (fences) ประตู (gates) รวมทั้งส่วนปรับปรุงต่อเติม ยกเว้นฐานราก

ข)     ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม ยกเว้นฐานราก

 

ส่วนอีกสองฉบับมิได้กล่าวถึงเลย

 

เช่นนี้ จำต้องแปลความหมาย ถ้าระบุเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างไว้ลอย ๆ

 

มีเพียงเฉพาะกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่จะหมายความรวมถึงรั้ว กำแพง โดยอัตโนมัติ

 

ขณะที่อีกสองฉบับไม่ได้รวมถึง ถ้าจะให้รวมถึงรั้ว กำแพงก็จะต้องระบุเพิ่มเติมเข้าไปอย่างชัดแจ้งด้วย

 

อย่างไรก็ดี สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัยอาจมีประเด็นการตีความเพิ่มเติมอีกก็ได้ในเรื่องของรั้ว กำแพง ถึงแม้นจะได้ระบุให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้วก็ตาม

 

เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งในประเด็นของข้อยกเว้นที่ระบุในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ดังนี้

 

.  สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

 

1. ความเสียหาย อันเกิดจาก

    1.1 ……..

    1.2 ……..

1.15 ลม ฝน ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทรายหรือฝุ่น ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่กลางแจ้ง หรือที่เก็บอยู่ในอาคารโปร่ง หรืออาคารที่มีผนังด้านใดด้านหนึ่งเปิดโล่ง หรือต่อรั้ว (fences) หรือประตูรั้ว (gates)

 

ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถึงแม้นจะได้ระบุให้รั้วเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ตาม หากเกิดความเสียหายเนื่องจากลม ฝน ลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทราย หรือฝุ่นมื่อใดก็ตาม ล้วนตกอยู่ในข้อยกเว้นดังอ้างอิงทั้งสิ้น

 

กอปรกับในคำจำกัดความของหมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ได้กำหนดว่า

 

คำว่า ความเสียหายหมายความถึง ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

 

โดยไม่คำนึงถึงข้อโต้แย้งที่ว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวได้พูดถึง “รั้ว” ลอย ๆ แทนที่จะเขียนว่า “รั้วที่เอาประกันภัย” จะไม่ประสงค์ให้ความคุ้มครองถึงภัยดังที่กล่าวไว้ ซึ่งถ้าเขียนชัดเจนเช่นนี้ น่าจะยอมรับได้มากกว่า

 

เรื่องวุ่น ๆ ของ “รั้ว” เลยยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ต่อไป

 

ขณะที่ “กำแพง” กลับไม่มีประเด็น?

 

คุณคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?

 

เพื่อความปลอดภัย ขอเสนอให้ผู้เอาประกันภัยพยายามระบุรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยให้ชัดเจน หรืออย่างน้อยให้ครอบคลุมกว้าง ๆ เป็นต้นว่า ทรัพย์สินทุกอย่าง น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul