วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 เรื่องที่ 145: ความคุ้มครองระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period Coverage) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) ควรถูกแปลความหมายเช่นไรดี?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

หากใครมีโอกาสได้อ่านเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ประเภทการประกันภัยวิศวกรรม ในคู่มือประกอบการอบรมตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยของสำนักงาน คปภ. ซึ่งให้ข้อมูลว่า สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา หรือบ่อยครั้งเรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (CAR/EAR) นั้นจะถูกจัดแบ่งระยะเอาประกันภัย หรือระยะเวลาความคุ้มครองออกเป็นสามช่วงระยะเวลา ได้แก่

 

(1) ระยะเวลาการก่อสร้าง และ/หรือการติดตั้ง

(2) ระยะเวลาการทดสอบเครื่องจักรใหม่

(3) ระยะเวลาการบำรุงรักษา

 

สองระยะเวลาแรกอาจทำความเข้าใจไม่ยาก แต่ระยะเวลาที่สามซึ่งดูเสมือน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากเช่นกัน ในทางปฏิบัติจริงแล้วกลับยังมีข้อถกเถียงในเรื่องการแปลความหมายที่แตกต่างกันอยู่มากมายในหลายประเทศว่า ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษานั้นควรให้ความคุ้มครองเช่นไร?

 

บ้านเราซึ่งมีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานที่ให้ความคุ้มครองระหว่างการก่อสร้าง/การติดตั้งอยู่รวมสามฉบับด้วยกัน กล่าวคือ

 

1) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป

 

ด้วยการระบุเป็นพิเศษให้คุ้มครองระหว่างการก่อสร้าง/การติดตั้ง ปัจจุบันน่าจะเข้ากรุไปแล้ว เพราะไม่เคยมีใครสนใจพูดถึงกันอีก และไม่พบเห็นเงื่อนไขความคุ้มครองของระยะเวลานี้เลย

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา ฉบับภาษาอังกฤษ

 

ไม่มีคำนิยามระยะเวลาการบำรุงรักษากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน เพียงแค่ระบุโดยสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า

หากได้มีการกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษาไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของผู้รับประกันภัยในระหว่างระยะเวลานี้จะจำกัดอยู่เพียงต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดที่เกิดขึ้นมาจากผู้รับจ้างที่เอาประกันภัย ในการปฎิบัติงานนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันภายใต้ข้อกำหนดของการบำรุงรักษาตามสัญญาจ้างเหมานั้นเอง

3) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง ฉบับภาษาไทย

 

ไม่มีคำนิยามคำนี้เช่นเดียวกัน โดยเพียงกล่าวถึงไว้ ภายใต้หมวดที่ 4 ข้อตกลงคุ้มครอง ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา ข้อที่ 1.3.2 ระยะเวลาบำรุงรักษา ดังนี้

 

หากมีการกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษาไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของบริษัทจะจำกัดอยู่เพียงความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากงานที่ผู้รับเหมา ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยปฏิบัติตามข้อผูกพัน ภายใต้การบำรุงรักษาตามสัญญาการก่อสร้างเท่านั้น

 

งั้นระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือระยะเวลาบำรุงรักษาหมายถึงอะไร? และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

 

สำหรับคำถามแรก ระยะเวลาบำรุงรักษาหมายถึงอะไร?

 

เปิดดูพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา (2560, น. 175) ไม่พบถ้อยคำนี้ แต่มีคำใกล้เคียง คือ

 

Maintenance bond หนังสือค้ำประกันการบำรุงรักษา:

 

หนังสือค้ำประกันความรับผิดที่เกิดจากความบกพร่องของวัสดุ หรือผลงานที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเป้าหมายตามที่ตกลงกันไว้ เช่น การที่ผู้รับประกันภัยออกหนังสือค้ำประกันผู้รับเหมาก่อสร้างถนน เพื่อความรับผิดชอบที่เกิดจากสัญญาก่อสร้างในช่วงการบำรุงรักษาถนน หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้

 

ทำให้จำต้องไปตรวจสอบดูความหมายในแหล่งอื่นที่เกี่ยวข้องกันบ้าง

 

สภาวิศวกร

 

Defect liability period / Defect notification period / Maintenance period ช่วงเวลาแจ้งความชำรุดบกพร่อง

 

คำศัพท์น่ารู้ในงานเอกสารสัญญาก่อสร้าง

 

Defect Liability ความรับผิดชอบต่อข้อบกพร่อง
Defect Liability Period ระยะเวลาประกันความเสียหาย

Maintenance Period ระยะเวลาช่วงบำรุงรักษา (ระยะเวลาประกันผลงาน)

 

ศัพท์ช่างภาษาอังกฤษแปลไทย

 

Defects Liability Period ช่วงเวลารับประกันความชำรุดบกพร่อง (หลังส่งมอบงาน)

 

ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง ให้ความคิดเห็นว่า

 

Defects​ Liability​ Period​ หมาย​ถึง​ ระยะ​เวลา​ความ​รับผิด​เพื่อ​ความ​ชำ​รุด​บกพร่อง​ คือ​ ต้อง​มี​ความ​ชำ​รุด​บกพร่อง​ ความ​ชำ​รุด​บกพร่อง​ที่​เกิดขึ้น​ต้อง​เป็น​ความ​รับผิด​ของ​ผู้​รับ​จ้าง​ เมื่อ​เกิดขึ้น​ผู้​รับ​จ้าง​มี​หน้าที่​ซ่อมแซม​แก้ไข​

 

Maintenance​ Period​ หรือ​ระยะเวลา​บำรุง​รักษา​ อัน​นี้​ไม่​เกี่ยว​กับ​การ​ชำรุด​บกพร่อง​ เช่น​ ติดตั้ง​ลิฟต์​ทุกอย่าง​เรียบร้อย​ดี​หมด​ ไม่​ชำรุด​บกพร่อง​เลย​ แต่​ต้อง​บำรุง​รักษา​ 1​ เดือน​ตรวจ​อะไร​ เปลี่ยน​อะไร​ 3​ เดือน​ตรวจ​อะไร​เปลี่ยน​อะไร​ ฯลฯ

 

ส่วนตัวเห็นคล้อยตามกับความเห็นของชมรมฯ นะครับ แต่ในแวดวงประกันภัยกลับนิยมใช้คำเดิมมากกว่า

 

ขอไปคุยต่อคราวหน้านะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น