เรื่องที่ 144: ข้อถกเถียงอุบัติเหตุเกิดจากการใช้รถเครน (Car’s Operation) หรือเกิดจากการใช้เครน (Crane’s Operation) กันแน่?
(ตอนที่สอง)
ก่อนอื่นจำเป็นจะต้องมาพิจารณาถึงข้อกำหนด ข้อยกเว้น ตลอดจนเงื่อนไขทั้งหลาย ในกรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันเสียก่อน
1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ฉบับมาตรฐานบ้านเรา
ภายใต้หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ระบุว่า
“ข้อ 1. ข้อตกลงคุ้มครอง
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือ สิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย ดังนี้
1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น
บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม 1.1 นี้ ไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น
1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตาราง
ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังต่อไปนี้ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
(ก) ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง
(ข) ................
(ค) สัมภาระหรือทรัพย์สินอื่นใดที่นำติดตัวขึ้นบนรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่ บรรทุกอยู่ในรถยนต์ หรือกำลังยกขึ้น หรือกำลังยกลง จากรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่รถยนต์กำลังยกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง”
2) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (CPM)
ถอดความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ พอสรุปได้ ดังนี้
“หากในเวลาใดในระหว่างระยะเวลาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ได้ปรากฏว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (หรือส่วนหนึ่งส่วนใด) ดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถานที่ หรือภายในอาณาเขตตามที่ได้ระบุไว้ในที่นี้ ได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพถึงขนาดที่มีความจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนทดแทนโดยอุบัติเหตุ ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากสาเหตุใด ๆ ที่มิได้ระบุยกเว้นเอาไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหายดังกล่าวตามที่ได้กำหนดไว้ในที่นี้
ข้อยกเว้น
บริษัทจะไม่ต้องรับผิดสำหรับกรณีดังต่อไปนี้
ก. ................
ข. ................
จ. ความสูญเสีย หรือความเสียหายต่อยานพาหนะที่ถูกออกแบบ และได้รับอนุญาตให้นำมาวิ่งบนถนนสาธารณะ เว้นแต่ยานพาหนะนั้นได้ถูกใช้เฉพาะภายในสถานที่ก่อสร้าง
ฉ. ................
ถ. ความเสียหายสืบเนื่อง หรือความรับผิดในชนิด หรือลักษณะใดก็ตาม”
3) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา/กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (CAR/EAR)
ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง ฉบับมาตรฐานภาษาไทยของบ้านเรา ระบุว่า
“ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา
รายการที่ 1
……….
รายการที่ 2
……….
รายการที่ 3
เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างและเครื่องจักรที่ตรึงอยู่ประจำที่
1.1 ความคุ้มครอง
หากในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์อันไม่อาจคาดหมายได้ หรือด้วยสาเหตุใดก็ตามที่ไม่ได้ระบุในข้อยกเว้น จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นต้องได้รับการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความเสียหายดังกล่าว แต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
1.2 ข้อยกเว้น
บริษัทจะไม่รับผิดสำหรับ
1. ……….
2. ……….
7. ความเสียหายต่อยานพาหนะทางบกที่จดทะเบียน สำหรับใช้บนถนน หรือยานพาหนะทางน้ำ หรืออากาศยาน
ส่วนที่ 3 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
3.1 ความคุ้มครอง
บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดแก่บุคคลภายนอกตามจำนวนเงินซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมาย สำหรับ
(1) การบาดเจ็บทางร่างกายหรือการเสียชีวิตหรือความเจ็บป่วยอันเกิดแก่บุคคลภายนอก อันเนื่องจากอุบัติเหตุที่ได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
(2) ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเนื่องจากอุบัติเหตุที่ได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย โดยมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้างที่ได้เอาประกันภัยไว้ตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ และเกิดขึ้น ณ สถานที่เอาประกันภัย หรือในบริเวณที่ติดกันกับสถานที่ดังกล่าว
3.2 ข้อยกเว้น
บริษัทจะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับ
1. ……….
2. ……….
3. ความรับผิด ซึ่งเกิดขึ้นจาก
1) ……….
2) ……….
3) อุบัติเหตุใด ๆ อันมีสาเหตุจากยานพาหนะทางบกที่จดทะเบียนใช้บนถนน หรือยานพาหนะทางน้ำ หรืออากาศยาน”
ต่อจากนั้นจึงค่อยนำไปวิเคราะห์เทียบเคียงกับกรณีดังที่ยกตัวอย่างนั้น จะเห็นได้ว่า
(ก) จะไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้รายการที่ 2) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (CPM) เนื่องจากกรณีตกอยู่ในข้อยกเว้น ข้อ ถ. ข้างต้น
(ข) คงเหลือแต่รายการที่ 1) กับ 3) เท่านั้นที่จะต้องมาวิเคราะห์เพิ่มเติมอีก ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่า เป็นอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือ สิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้นหรือไม่?
เราลองมาเทียบเคียงคดีใกล้เคียงในต่างประเทศกันก่อนนะครับ
คดีต่างประเทศปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยรายนั้นมีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจอยู่เพียงฉบับเดียวเท่านั้น
ฝ่ายบริษัทประกันภัยรถยนต์ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า รถเครนคันที่ก่อเหตุกางขายันพื้นอยู่ขณะทำงาน จึงทำให้กลายจากสภาพของรถยนต์ปกติไปสู่สภาพของเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างโดยสมบูรณ์แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ขณะเกิดอุบัติเหตุนั้น มิใช่รถยนต์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง
แต่ผู้เอาประกันภัยต่อสู้ว่า ผู้เสียหายล้วนได้รับความเสียหายเนื่องจากการใช้รถยนต์คันนั้นเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทุกประการ
เมื่อคดีถูกนำขึ้นสู่ศาลต่างประเทศ และได้ถูกพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียดแล้ว ศาลต่างประเทศก็วินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยรถยนต์จำต้องรับผิด เนื่องจากเห็นว่า อุบัติเหตุนั้นได้เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์คันนั้นตามปกติ (ordinary use)
คุณเห็นด้วยไหมครับ?
พอย้อนกลับมาอ่านคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับล่าสุดของบ้านเรา ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า
“ความเสียหายของชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกจึงได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุอันเกิดจากรถที่ใช้รถยนต์ที่อยู่ในทาง สิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น ให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากการใช้สิ่งที่ติดตั้งอยู่ในรถนั้นด้วย แม้ว่าการใช้นั้นจะมิได้ใช้อย่างสภาพการเป็นรถยนต์ก็ตาม
ตัวอย่างที่ 18 เด็กท้ายรถไปทำการยกดัมพ์ แต่เกิดความผิดพลาดบางประการ ทำให้ตัวดัมพ์หล่นทับทำให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย หรือกรณีรถเฮี๊ยบ (รถบรรทุกที่มีเครนยกของติดตั้งประจำอยู่ในตัวรถ) เด็กประจำรถได้ใช้เครนไปยกของ แต่ของที่ยกเกิดหล่น หรือตัวเครนเกิดไปฟาดโดนบุคคลอื่นเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาหมวดนี้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีการคิดคำนวณเบี้ยประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงภัยดังกล่าวไว้แล้ว”
3) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง
หากได้ขยายรถเครนไว้ให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในรายการที่ 3 เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างแล้ว
เชื่อมั่นได้ว่า ความกังวลใจซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากข้อยกเว้น ข้อที่ 3 ความรับผิด ซึ่งเกิดขึ้นจาก 3) อุบัติเหตุใด ๆ อันมีสาเหตุจากยานพาหนะทางบกที่จดทะเบียนใช้บนถนน หรือยานพาหนะทางน้ำ หรืออากาศยาน ภายใต้ส่วนที่ 3 ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกนั้น
ก็พอวางใจได้แล้วระดับหนึ่งว่า
อย่างน้อยน่าจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับหนึ่งอยู่แล้ว
โชคดีอาจจะได้เพิ่มจากกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้างอีกฉบับก็เป็นไปได้
ถึงตรงนี้ คุณคงจะเลือกคำตอบที่ทิ้งค้างไว้ได้ โดยไม่ลำบากแล้วนะครับ
(อ้างอิง และเทียบเคียงจากคดี Wormell v. Insurance Corp. of British Columbia, 2010 BCSC 1028)
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น