เรื่องที่ 144 : ข้อถกเถียงอุบัติเหตุเกิดจากการใช้รถเครน (Car’s Operation) หรือเกิดจากการใช้เครน (Crane’s Operation) กันแน่?
(ตอนที่หนึ่ง)
เคยมีประเด็นข้อสงสัยว่า รถเครน หรือรถปั้นจั่นที่มีล้อยางควรจะทำประกันภัยประเภทอะไรได้บ้าง?
แนวคำตอบที่ได้รับ คือ
1) ที่แน่ ๆ คือ ทำประกันภัยประเภทรถยนต์ อันได้แก่ ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ และ/หรือภาคสมัครใจเบื้องต้นก่อนเป็นดีที่สุด เนื่องจากมีการนำรถจำพวกนี้ไปใช้วิ่งไปไหนมาไหนบนท้องถนนอยู่ด้วย
2) ถ้านำรถเครนไปใช้ในกิจการงานก่อสร้าง ก็ควรนำไปทำประกันภัยประเภทวิศวกรรมเสริมเพิ่มเติมเผื่อไว้อีกฉบับ โดยมีทางเลือกสองรูปแบบ ดังนี้
2.1) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (Contractor’s Plant and Machinery Insurance Policy) ซึ่งให้ความคุ้มครองเป็นรายปีเช่นดั่งกรมธรรม์ประกันภัยปกติทั่วไป หรือ
2.2) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) โดยเป็นลักษณะขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมลงไปในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังว่านั้น เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างที่นำเข้าไปใช้งานอยู่ ภายในสถานที่ก่อสร้างดังระบุเอาประกันภัยไว้เท่านั้น
ถ้าผู้มีส่วนได้เสียของรถเครนคันนี้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองประเภทเอาไว้แล้วอย่างครบถ้วน ก็จะสามารถได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ในลักษณะเสริมความคุ้มครองให้แก่กันและกัน
เนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะคุ้มครองอุบัติเหตุจากการใช้รถ หรือการใช้ทางตามปกติทั่วไปทั่วประเทศไทย ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (CPM) หรือกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา/กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (CAR/EAR) ก็จะคุ้มครองระหว่างใช้งานก่อสร้าง ภายในสถานที่ก่อสร้างที่ระบุเอาประกันภัยไว้เท่านั้น (CPM ซึ่งคุ้มครองรายปีจะรวมทั้งระหว่างอยู่ในสถานที่จัดเก็บที่ระบุเอาประกันภัยไว้กับสถานที่ก่อสร้างแห่งใดก็ได้)
ดูเผิน ๆ แล้ว เสมือนหนึ่งน่าจะทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ ความคุ้มครองไม่น่าจะทับซ้อนกันได้เลย
อันที่จริง มันเป็นอย่างที่คิดเช่นนั้นหรือเปล่า? เส้นแบ่งความคุ้มครองชัดเจนถึงขนาดนั้น จริงหรือไม่?
สมมุติว่า รถเครนคันหนึ่งได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับครอบคลุมเอาไว้แล้ว ระหว่างคนขับนำรถเครนคันนั้นไปใช้งานยกวัสดุก่อสร้าง ภายในสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งที่ถูกระบุให้เป็นสถานที่เอาประกันภัยไว้ด้วย ขณะใช้เครนยกวัสดุนั้นอยู่ เกิดอุบัติเหตุสลิงขาด ทำให้วัสดุนั้นตกลงมาสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่อยู่ใกล้เคียง หรืออาจหล่นไปโดนคนเดินถนนแถวนั้นจนได้รับาดเจ็บพอดี
คุณเห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดควรต้องรับผิดชอบบ้างครับ? และจะเลือกคำตอบข้อใดดังต่อไปนี้เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด?
ก) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
ข) กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (CPM) หรือกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา/กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (CAR/EAR)
ค) ถูกทั้งสองข้อ คือ ทุกฉบับต้องร่วมกันรับผิด
อดใจคุยกันต่อคราวหน้านะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น