วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 145: ความคุ้มครองระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period Coverage) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) ควรถูกแปลความหมายเช่นไรดี?

 

(ตอนที่สอง)

 

ก่อนจะไปวิเคราะห์ถึงประเด็นการแปลความหมายาความคุ้มครองระยะเวลาบำรุงรักษา จำต้องมาทำความเข้าใจกันถึงคำถามที่สองที่ตั้งค้างไว้เสียก่อน

 

คำถามที่สองระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือระยะเวลาบำรุงรักษาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

 

สัญญาการก่อสร้าง/การติดตั้งนั้นในแง่กฎหมายจัดเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

 

ฉะนั้น ผู้ว่าจ้างซึ่งว่าจ้างผู้รับเหมา (ผู้รับจ้าง) ให้ทำการก่อสร้าง/การติดตั้งจึงมุ่งหวังถึงผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้างเป็นสำคัญว่า งานนั้นจะต้องถูกดำเนินงานอย่างถูกต้องตามที่ตกลงกัน ทั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (standard workmanship) ดีอีกด้วย โดยอาจระบุอย่างชัดแจ้งลงในสัญญาว่าจ้างหรือไม่ก็ได้

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้เสร็จสมบูรณ์โดยไร้ที่ติ หรือปราศจากข้อบกพร่องนั่นเอง

 

เพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติมักจะระบุเผื่อไว้ในสัญญาว่าจ้างทั่วไปด้วยว่า หากมีข้อบกพร่อง (defects) เกิดขึ้น ก็ให้ผู้รับเหมาทำการแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้ถูกต้องสมบูรณ์ อันเป็นการให้ผู้รับเหมารับประกันผลสำเร็จของงานตนเอง ดังตัวอย่าง

 

ตัวอย่างข้อกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษามาตรฐานในสัญญาว่าจ้างของหน่วยงานราชการ

 

การรับประกันความชำรุดบกพร่อง

 

ผู้ชนะการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ หรือทำสัญญาจ้างตามแบบดังระบุในข้อ 1.3 แล้วแต่กรณี จะต้องรับประกันความชำรุดบกพร่องของงานจ้างที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2  ปี  นับถัดจากวันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงาน โดยผู้รับงานต้องรีบจัดการซ่อมแซมแก้ไขให้ใช้การได้ดีดังเดิมภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งความชำรุดบกพร่อง ซึ่งถ้าหากผู้รับจ้างไม่ดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขให้เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์ให้ผู้อื่นดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขแทนโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมด

 

โดยที่กฎหมายเองก็ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน ดังนี้

 

มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่อง มิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย

 

มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฏขึ้น ภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้

 

แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น

 

มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น

 

ความชำรุดบกพร่องเนื่องจากการก่อสร้าง/การติดตั้งนั้นอาจเกิดขึ้นได้สี่สาเหตุหลัก ได้แก่

 

1) การออกแบบที่ผิดพลาด (Faulty Design) หรือ

 

2) ปัญหาจากรายละเอียดที่กำหนด (Specification Problems) หรือ

 

3) วัสดุที่บกพร่อง (Defective Materials) หรือ

 

4) ฝีมือแรงงานที่บกพร่อง (Defective Workmanship)

 

สามรายการแรก ปกติจะไม่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์การปฏิบัติงานตามสัญญา เนื่องด้วยถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก่อน ผู้รับเหมา หรือกระทั่งผู้ว่าจ้างไม่จำเป็นจะต้องรับผิด เว้นแต่ได้รับรู้มาก่อน แล้วยังฝืนทำ

 

ขณะที่รายการที่สี่ซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นด้วยเช่นกัน ด้านประกันภัยมักสร้างประเด็นปัญหาข้อถกเถียงกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และคงตลอดไปด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากฝีมือแรงงานที่บกพร่องหรือเปล่า?

 

ยิ่งในกรมธรรม์การปฏิบัติงานตามสัญญาเอง ก็มิได้มีคำนิยามกำหนดเอาไว้ด้วย แต่ถึงแม้จะมีคำนิยาม คงจำต้องมีข้อถกเถียงกันอยู่ดี

 

ทางออกเบื้องต้น คือ โดยอาศัยการตรวจพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพเดียวกัน หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานดังที่มีอยู่ในโครงการใหญ่ ๆ

 

อนึ่ง ความชำรุดบกพร่องนั้นยังสามารถจำแนกออกได้เป็นสองลักษณะ กล่าวคือ

 

ก) ความชำรุดบกพร่องที่เห็นได้ชัดเจน (Patent Defects)

 

อาจตรวจพบในทันที หรือภายหลังส่งมอบงานแล้วก็ได้ และ

 

ข) ความชำรุดบกพร่องแฝง (Latent Defects)

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายว่า “ความชำรุดบกพร่องที่ไม่อาจเห็นได้ หรือไม่อาจรู้ได้ว่ามีความชำรุดบกพร่อง แม้จะได้ใช้ใช้ความระมัดระวังตามปรกติทั่วไป หรือการตรวจสอบโดยผู้มีวิชาชีพ แล้วแต่กรณี

 

ถ้าเป็นความชำรุดบกพร่องที่สามารถพบเจอได้ทันทีในช่วงระหว่างการก่อสร้าง/การติดตั้งก็ให้แก้ไขกันไป

 

แต่ถ้าไปพบเจอเอาภายหลังจากการส่งมอบงานแล้ว นั่นจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองของช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษา

 

อย่างไรก็ดี ความชำรุดบกพร่องที่ผู้รับเหมาจำต้องรับผิดภายใต้สัญญาว่าจ้างนั้นจำกัดอยู่เพียงสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป หรือมีส่วนร่วมรับผิดด้วยเท่านั้น หากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลภายอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าจ้าง ผู้จำหน่าย สถาปนิก ฯลฯ ผู้รับเหมาไม่จำต้องรับผิดแต่ประการใด

 

ครั้นเมื่อมีการส่งมอบงานตามสัญญาว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบโดยปริยาย ด้วยการที่ผู้ว่าจ้างเข้าไปครอบครอง หรือใช้งานพื้นที่ส่วนนั้น หรือการส่งมอบอย่างเป้นทางการทั้งโครงการก็ตาม ระยะเวลาการก่อสร้าง/การติดตั้งจะสิ้นสุดลง และจะเริ่มต้นระยะเวลาการบำรุงรักษาต่อเนื่องกันไปทันที

 

เคยมีคำถามเรื่องเงื่อนไขการส่งมอบงานเป็นส่วน ๆ แล้วจะทำให้ระยะเวลาการบำรุงรักษานับไปทีละส่วนนั้นด้วยหรือเปล่า? 

 

สมัยก่อน ได้มีการตีความอย่างเคร่งครัดไปเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สัญญาว่าจ้างไม่เคยกำหนด หรือมีการปฏิบัติจริงเช่นนั้น ทำให้ส่วนงานที่ถูกส่งมอบโดยปริยายเกิดช่องว่างความคุ้มครอง เพราะส่วนนั้นไม่ได้รับความคุ้มครอง ภายใต้เงื่อนไขของกรมธรรม์การปฏิบัติงานตามสัญญาอีกต่อไปแล้ว ผู้ว่าจ้างมีทางเลือกอยู่สองทาง ได้แก่

 

(1) นำส่วนนั้นไปจัดทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินแล้วแต่กรณี หรือ

 

(2) คงส่วนนั้นให้คุ้มครองต่อไป ภายใต้กรมธรรม์การปฏิบัติงานตามสัญญาดังเดิม  โดยอาศัยการขยายเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการเข้าไปครอบครอง หรือใช้งานของผู้ว่าจ้าง (Contract Works Taken Over or Put Into Service) ก่อนจะเริ่มส่งมอบงานโดยปริยายในส่วนนั้น

 

นับเนื่องจากนี้จะมาถึงประเด็นการแปลความหมายของระยะการบำรุงรักษากันเสียที

 

ขอต่อในคราวถัดไปนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 เรื่องที่ 145: ความคุ้มครองระยะเวลาบำรุงรักษา (Maintenance Period Coverage) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy) ควรถูกแปลความหมายเช่นไรดี?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

หากใครมีโอกาสได้อ่านเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ประเภทการประกันภัยวิศวกรรม ในคู่มือประกอบการอบรมตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยของสำนักงาน คปภ. ซึ่งให้ข้อมูลว่า สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา หรือบ่อยครั้งเรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (CAR/EAR) นั้นจะถูกจัดแบ่งระยะเอาประกันภัย หรือระยะเวลาความคุ้มครองออกเป็นสามช่วงระยะเวลา ได้แก่

 

(1) ระยะเวลาการก่อสร้าง และ/หรือการติดตั้ง

(2) ระยะเวลาการทดสอบเครื่องจักรใหม่

(3) ระยะเวลาการบำรุงรักษา

 

สองระยะเวลาแรกอาจทำความเข้าใจไม่ยาก แต่ระยะเวลาที่สามซึ่งดูเสมือน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากเช่นกัน ในทางปฏิบัติจริงแล้วกลับยังมีข้อถกเถียงในเรื่องการแปลความหมายที่แตกต่างกันอยู่มากมายในหลายประเทศว่า ช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษานั้นควรให้ความคุ้มครองเช่นไร?

 

บ้านเราซึ่งมีกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานที่ให้ความคุ้มครองระหว่างการก่อสร้าง/การติดตั้งอยู่รวมสามฉบับด้วยกัน กล่าวคือ

 

1) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป

 

ด้วยการระบุเป็นพิเศษให้คุ้มครองระหว่างการก่อสร้าง/การติดตั้ง ปัจจุบันน่าจะเข้ากรุไปแล้ว เพราะไม่เคยมีใครสนใจพูดถึงกันอีก และไม่พบเห็นเงื่อนไขความคุ้มครองของระยะเวลานี้เลย

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญา ฉบับภาษาอังกฤษ

 

ไม่มีคำนิยามระยะเวลาการบำรุงรักษากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน เพียงแค่ระบุโดยสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า

หากได้มีการกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษาไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของผู้รับประกันภัยในระหว่างระยะเวลานี้จะจำกัดอยู่เพียงต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดที่เกิดขึ้นมาจากผู้รับจ้างที่เอาประกันภัย ในการปฎิบัติงานนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันภายใต้ข้อกำหนดของการบำรุงรักษาตามสัญญาจ้างเหมานั้นเอง

3) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง ฉบับภาษาไทย

 

ไม่มีคำนิยามคำนี้เช่นเดียวกัน โดยเพียงกล่าวถึงไว้ ภายใต้หมวดที่ 4 ข้อตกลงคุ้มครอง ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา ข้อที่ 1.3.2 ระยะเวลาบำรุงรักษา ดังนี้

 

หากมีการกำหนดระยะเวลาบำรุงรักษาไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของบริษัทจะจำกัดอยู่เพียงความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากงานที่ผู้รับเหมา ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยปฏิบัติตามข้อผูกพัน ภายใต้การบำรุงรักษาตามสัญญาการก่อสร้างเท่านั้น

 

งั้นระยะเวลาการบำรุงรักษา หรือระยะเวลาบำรุงรักษาหมายถึงอะไร? และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

 

สำหรับคำถามแรก ระยะเวลาบำรุงรักษาหมายถึงอะไร?

 

เปิดดูพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา (2560, น. 175) ไม่พบถ้อยคำนี้ แต่มีคำใกล้เคียง คือ

 

Maintenance bond หนังสือค้ำประกันการบำรุงรักษา:

 

หนังสือค้ำประกันความรับผิดที่เกิดจากความบกพร่องของวัสดุ หรือผลงานที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเป้าหมายตามที่ตกลงกันไว้ เช่น การที่ผู้รับประกันภัยออกหนังสือค้ำประกันผู้รับเหมาก่อสร้างถนน เพื่อความรับผิดชอบที่เกิดจากสัญญาก่อสร้างในช่วงการบำรุงรักษาถนน หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้

 

ทำให้จำต้องไปตรวจสอบดูความหมายในแหล่งอื่นที่เกี่ยวข้องกันบ้าง

 

สภาวิศวกร

 

Defect liability period / Defect notification period / Maintenance period ช่วงเวลาแจ้งความชำรุดบกพร่อง

 

คำศัพท์น่ารู้ในงานเอกสารสัญญาก่อสร้าง

 

Defect Liability ความรับผิดชอบต่อข้อบกพร่อง
Defect Liability Period ระยะเวลาประกันความเสียหาย

Maintenance Period ระยะเวลาช่วงบำรุงรักษา (ระยะเวลาประกันผลงาน)

 

ศัพท์ช่างภาษาอังกฤษแปลไทย

 

Defects Liability Period ช่วงเวลารับประกันความชำรุดบกพร่อง (หลังส่งมอบงาน)

 

ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง ให้ความคิดเห็นว่า

 

Defects​ Liability​ Period​ หมาย​ถึง​ ระยะ​เวลา​ความ​รับผิด​เพื่อ​ความ​ชำ​รุด​บกพร่อง​ คือ​ ต้อง​มี​ความ​ชำ​รุด​บกพร่อง​ ความ​ชำ​รุด​บกพร่อง​ที่​เกิดขึ้น​ต้อง​เป็น​ความ​รับผิด​ของ​ผู้​รับ​จ้าง​ เมื่อ​เกิดขึ้น​ผู้​รับ​จ้าง​มี​หน้าที่​ซ่อมแซม​แก้ไข​

 

Maintenance​ Period​ หรือ​ระยะเวลา​บำรุง​รักษา​ อัน​นี้​ไม่​เกี่ยว​กับ​การ​ชำรุด​บกพร่อง​ เช่น​ ติดตั้ง​ลิฟต์​ทุกอย่าง​เรียบร้อย​ดี​หมด​ ไม่​ชำรุด​บกพร่อง​เลย​ แต่​ต้อง​บำรุง​รักษา​ 1​ เดือน​ตรวจ​อะไร​ เปลี่ยน​อะไร​ 3​ เดือน​ตรวจ​อะไร​เปลี่ยน​อะไร​ ฯลฯ

 

ส่วนตัวเห็นคล้อยตามกับความเห็นของชมรมฯ นะครับ แต่ในแวดวงประกันภัยกลับนิยมใช้คำเดิมมากกว่า

 

ขอไปคุยต่อคราวหน้านะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory