เรื่องที่ 143 : การประกันภัยกับศาสตร์ลึกลับแห่งความเชื่อ
(ตอนที่สอง)
ณ วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2009 ได้เกิดเหตุไฟไหม้ลุกลามจากชั้นใต้ดินของอาคารพาณิชย์หลังหนึ่ง ก่อให้เกิดควันไฟกระจายไปสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในคลินิกหมอฟันซึ่งตั้งอยู่ชั้นเหนือขึ้นไปในอาคารเดียวกัน
เนื่องด้วยหมอฟันเจ้าของคลินิกแห่งนี้ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองอยู่สองฉบับ ได้แก่
1) กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน
คุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้ของผู้เอาประกันภัย เป็นต้นว่า เครื่องมือกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ที่ใช้ทำฟัน ผลิตภัณฑ์ยา เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ
2) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก
คุ้มครองความเสียหายสืบเนื่องทางการเงิน (Consequential Loss) จากการหยุดชะงักของธุรกิจที่ระบุเอาประกันภัยไว้ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสูญเสีย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ โดยกำหนดระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (Maximum Indemnity Period) ไว้ที่ 12 เดือน
แม้จะมิได้เกิดไฟไหม้ลุกลามไปถึงคลินิกฟันก็ตาม แต่ควันไฟที่พวยพุ่งขึ้นไปก็สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย โดยเฉพาะเครื่องมือกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ที่ใช้ทำฟัน ผลิตภัณฑ์ยา ตลอดจนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น ซึ่งมีความอ่อนไหว และจำต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมสุขอนามัยที่ดีอีกด้วย
ส่งผลทำให้จำต้องปิดคลินิกเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน เพื่อซ่อมแซมเครื่องมือกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ที่เสียหาย เปลี่ยนทดแทนผลิตภัณฑ์ยา และทำความสะอาดพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพที่มีสุขอนามัยที่ดีดังเดิม
ผู้เอาประกันภัยจึงมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่ตนได้รับ ดังมีรายการต่อไปนี้
(1) ค่าซ่อมแซม ค่าเปลี่ยนทดแทน และค่าทำความสะอาดทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายจากควันไฟดังกล่าว
(2) ค่าใช้จ่ายของที่ปรึกษาด้านฮวงจุ้ย เนื่องจากคลินิกแห่งนี้แรกเริ่มก็ได้มีการจัดสถานที่ และวางตำแหน่งที่ตั้งของทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ถูกต้องสอดคล้องกับศาสตร์ฮวงจุ้ยอยู่แล้วก่อนหน้าทำประกันภัยดังกล่าว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาได้ส่งผลกระทบต่อพลังชีวิต (Qi) ฉะนั้น จึงจำต้องซินแสเจ้าเก่ามาทำการปรับให้กลับมามีพลังชีวิตที่ดีดังเดิมตามหลักวิชาเบญจธาตุ (Five Feng Sui Elements)
(3) ความสูญเสียทางการเงินสืบเนื่องจากการหยุดกิจการนานหนึ่งเดือน (ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเรียกว่า “การประกันภัยเงินได้จากการประกอบธุรกิจ (Business Income Insurance)” จะมีเงื่อนไขระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือระยะเวลาความเสียหายเมื่อได้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ดังเดิม (Restoration Period) อันแตกต่างจากกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของบ้านเรา ซึ่งเป็นระบบของยุโรปที่จะคุ้มครองระยะเวลาความเสียหายจนไปจนกว่ากลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิม แต่ไม่เกินกว่าระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (Maximum Indemnity Period) ที่กำหนดไว้
บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ทั้งสองฉบับยินดีจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เพียงเฉพาะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในรายการที่ (1) และ (3) เท่านั้น
เมื่อผู้เอาประกันภัยได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อบังคับให้บริษัทประกันภัยชดใช้รายการที่ (2) ด้วย
ศาลได้พิจารณาตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว วินิจฉัยว่า
โจทก์ในฐานะผู้เอาประกันภัยไม่สามารถพิสูจน์แสดงให้ศาลรับฟัง และเชื่อได้อย่างชัดเจนเพียงพอว่า ค่าใช้จ่ายของที่ปรึกษาด้านฮวงจุ้ยถือเป็นความเสียหายทางกายภาพโดยตรง (Direct Physical Damage) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความเสียหายนั้น ถึงแม้คำว่า “ทางกายภาพ” จะมิได้มีคำนิยามเฉพาะกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม แต่ก็มักตีความว่า หมายความถึง ความเสียหายที่สามารถตรวจพิสูจน์โดยอาศัยสายตา หรือประสาทสัมผัสอื่น ๆ ได้
การอ้างอิงการใช้ศาสตร์ฮวงจุ้ย ณ สถานที่เอาประกันภัยตั้งแต่แรกเริ่มนั้นยังไม่เพียงพอแก่การรับฟังในคดีนี้
อนึ่ง ครั้นจะพิจารณาให้ค่าใช้จ่ายของที่ปรึกษาด้านฮวงจุ้ยนี้จัดอยู่ในรายการของการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Increase in Cost of Working) อันควรจะได้รับความคุ้มครองก็มิใช่อีก เพราะมิใช่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อป้องกันมิให้รายได้ลดลง
ฉะนั้น จำเลยในฐานะบริษัทประกันภัยจึงไม่จำต้องรับผิด สำหรับค่าเสียหายในรายการที่ (2) ดังกล่าว
(อ้างอิง และเรียบเรียงจากคดี Patel v. American Economy Ins. Co., 2014 U.S. Dist. LEXIS 63935 (N.D. Cal. 2014) และบทความ Insured Failed to Demonstrate Feng Shui Expense Was Within Scope of Policy’s Coverage By Chip Merlin on July 9, 2014)
ผู้เชี่ยวชาญประกันภัยต่างประเทศให้ความเห็นเสริมเพิ่มเติมในคดีนี้ ศาลยังมิได้ฟันธงลงเสียทีเดียวว่า ค่าใช้จ่ายประเภทนี้ไม่คุ้มครอง เพียงแค่บอกว่า โจทก์คือผู้เอาประกันภัยไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลยอมรับฟังได้อย่างเพียงพอเท่านั้น
ข้อพิพาทเกี่ยวกับศาสตร์ความเชื่อต่าง ๆ จึงยังอาจถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้อยู่เสมอ
ครั้นพอมาย้อนกลับมาถึงเรื่องราวที่ผมโปรยไว้ตอนต้นของบทความเรื่องนี้
สำหรับประเด็นคำถามมีรถยนต์คู่กรณีขับชนศาลพระภูมิซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้จนแตกหักเสียหายนั้น ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ดังนี้
1) ผู้เอาประกันภัยรายนี้ควรไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินของตนเอง หรือจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณีดี?
2) ความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยรายนี้จะประกอบด้วยรายการอะไรบ้าง? กล่าวคือ
2.1) เฉพาะความเสียหายของตัวศาลพระภูมิใหม่เท่านั้น หรือ
2.2) รวมค่าพิธีการตั้งศาลใหม่ของผู้เชี่ยวชาญด้วย
ความคิดเห็น – ควรไปเรียกร้องจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณีดีที่สุด มีโอกาสลุ้นค่าใช้จ่ายในการตั้งศาลใหม่ได้มากกว่ากรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินของตนเอง เพราะอาจเจอปัญหาเหมือนคดีต่างประเทศข้างต้น
อนึ่ง ปัญหาชวนคิดคำนึง คือ
สมมุติไปเรียกร้องจากกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินของตนเองได้ (บางส่วนหรือทั้งหมดก็แล้วแต่) จะส่งผลทำให้วงเงินความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นลดจำนวนเงินลงไปตามค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันภัยได้ชดใช้มาให้
ถ้าประสงค์จะให้กลับมามีวงเงินเท่าเดิมต้องไปแจ้ง และชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมตามส่วนเสียก่อนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น???
อ้าว ยังงั้นบริษัทประกันภัยจะได้ประโยชน์ทั้งขึ้น ทั้งล่องไหม? เนื่องจากบริษัทประกันภัยสามรถรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปไล่เบี้ยเอาเงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายไปแล้ว กลับคืนมาจากคู่กรณีได้อีกทางหนึ่งด้วย
เช่นนี้ ความเป็นธรรมจะบังเกิดขึ้นมาไหมครับ?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
แล้วกรมธรรม์ประกะนะภัยรถยนต์ บริษัทจะพิสูจน์ได้อย่างไรคะเรื่อง ค่าพิธีการตั้งศาลใหม่ของผู้เชี่ยวชาญ
ตอบลบ