วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 142: ข้อพิพาทเงื่อนไขพิเศษว่าด้วย 50/50 ระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

โครงการงานติดตั้งเครื่องจักรกับอุปกรณ์ โดยเฉพาะที่มีการนำเข้าเครื่องจักรกับอุปกรณ์นั้นขนส่งมาจากต่างประเทศ เวลาจัดทำประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล (Marine Cargo Insurance Policy) สำหรับช่วงเวลาการขนส่ง และจัดทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมาติดตั้ง (Erection All Risks Insurance Policy (EAR)) เพื่อคุ้มครองระหว่างช่วงเวลาติดตั้งเครื่องจักรกับอุปกรณ์นั้น มักจะมีการแนะนำให้ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่เรียกว่า “50/50” ควบคู่กันไปทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยเผื่อเอาไว้ด้วย

 

จุดประสงค์ของเงื่อนไขพิเศษนี้ เพื่อที่จะให้ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยเหล่านั้นทั้งสองฉบับ กรณีเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาแก่เครื่องจักรกับอุปกรณ์นั้น แล้วไม่แน่ใจว่า ควรตกเป็นความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดกันแน่? ก็ให้ทั้งสองฉบับนั้นมาร่วมกันแบ่งส่วนการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรายละครึ่งหนึ่ง

 

เงื่อนไขพิเศษนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับหลักการร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Contribution Principle) แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะตามหลักการดังกล่าวกำหนดให้การประกันภัยหลายรายนั้นมีความรับผิดร่วมกันอย่างชัดเจน ขณะที่เงื่อนไขพิเศษนี้ยังไม่ชัดเจนพอ เลยเหมารวมให้ร่วมรับผิดทั้งคู่ไม่ต้องมาเสียเวลาถกเถียงเกี่ยงกันอีก

 

นั่นคือ เจตนารมณ์ของผู้ร่างเงื่อนไขพิเศษนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยได้บอกเล่าต่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบเบื้องต้น

 

โชคดีที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อพิพาทเกิดเป็นคดีขึ้นมาให้พบเจอ

 

จนกระทั่งไม่นานมานี้ ได้เกิดเป็นเรื่องราวให้ศาลท่านแปลความหมายในถ้อยคำดังกล่าวจนได้ในต่างประเทศ

 

เรื่องราวมีอยู่ว่า ณ โครงการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลใหม่แห่งหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ ภายหลังจากการติดตั้งเครื่องจักรกับอุปกรณ์ อันประกอบด้วยท่อขนาดยาวต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ต่อมาได้มีการค้นพบรอยแตกร้าวจากการล้าเนื่องจากแรงเค้น (Fatigue Stress Cracking) ตรงท่อของบล็อกตัวประหยัดน้ำมัน (Economizer)

 

เนื่องด้วยโครงการนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยไว้สองฉบับถูกต้องตามหลักการกับคำแนะนำข้างต้นเอาไว้แล้ว ผู้เอาประกันภัยจึงค่อนข้างสบายใจ และไม่กังวลใจในการที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะได้จาก

 

ก) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมาติดตั้ง (EAR) หรือ

 

ข) กรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล หรือ

 

ค) เงื่อนไขพิเศษดังกล่าวที่ติดแนบไว้ทั้งสองฉบับให้ร่วมกันรับผิดรายละครึ่งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องไปที่บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองงานติดตั้งเป็นลำดับแรก ก็ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินค่าเสียหายโดยดี

 

แต่ครั้นเมื่อบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองงานติดตั้งนั้น (ในที่นี้ขอเรียกว่า บริษัท B) ได้เสนอเรื่องไปถึงบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองระหว่างการขนส่ง (ในที่นี้ขอเรียกว่า บริษัท A) เพื่อเรียกร้องให้

 

(1) บริษัท A ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้วนั้นกลับคืนมาเต็มจำนวน โดยอ้างว่า ต้นเหตุแห่งความเสียหายนั้นมาจากช่วงเวลาขนส่งทั้งทางบกกับทางเรือจากประเทศโรมาเนียไปถึงสถานที่ก่อสร้าง ณ ประเทศอังกฤษ หรือ

 

(2) บริษัท A ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้วนั้นกลับคืนมาครึ่งหนึ่ง หากยังไม่แน่ใจว่า ใครควรจะต้องรับผิด?

 

ผลก็คือ บริษัท A ปฏิเสธความรับผิดโดยสิ้นเชิง

 

สัปดาห์หน้าค่อยมารับฟังผลทางคดีพิพาทระหว่างบริษัท B กับบริษัท A กันนะครับว่า ศาลท่านจะตัดสินออกมาเช่นใด?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 141 : ผู้รับเหมาช่วงจะได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วม ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมาหรือไม่?

 

เป็นที่รับรู้ และเข้าใจกันมานานมาก และอยู่บ่อยครั้งในธุรกิจประกันภัยว่า ผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractors) จะได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วม (Co-insured) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมา (Contractor’s All Risks Insurance Policy) หรือกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติตามสัญญา (Contract Works Insurance Policy)    

 

แต่การรับรู้ และความเข้าใจดังกล่าวอาจจำต้องหวั่นไหวไปแล้ว เมื่อมีคำพิพากษาเกี่ยวกับประเด็นนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ

 

โรงเรียนแห่งหนึ่งได้ว่าจ้างผู้รับเหมาหลักเจ้าหนึ่งให้มาทำการปรับปรุง ต่อเติม และขยายอาคาร สิ่งปลูกสร้างภายในโรงเรียนแห่งนั้น ในลักษณะสัญญาจ้างออกแบบรวมก่อสร้าง (Design & Build Contract) โดยผู้รับเหมาหลักเจ้านี้ได้จัดช่วงงานบางส่วนไปให้แก่ผู้รับเหมาช่วงหลายราย รวมถึงผู้รับเหมาช่วงงานหลังคาด้วย พร้อมได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับผู้รับเหมาครอบคลุมทั้งผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วงทุกรายด้วยในฉบับเดียวกัน

 

ครั้นเมื่อถึงตารางการทำงานในส่วนของหลังคา ผู้รับเหมาหลักได้ออกใบอนุญาตให้ทำงานที่มีความร้อนและประกายไฟ (Hot Work Permit) แก่ผู้รับเหมาช่วงงานหลังคา ซึ่งจะมีการทำงานตัด เชื่อมโดยใช้เครื่องพ่นไฟ (blowtorch) ด้วย

 

ขณะทำงานเช่นว่านั้น ได้เกิดอุบัติไฟไหม้ขึ้นมาลุกลามไปสร้างความเสียหายอย่างมากมายแก่ตัวอาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตลอดจนทรัพย์สินอื่นของโรงเรียน

 

โรงเรียนในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้เสียหายในครั้งนี้จึงได้เรียกร้องให้ทั้งผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วงงานหลังคาร่วมกันรับผิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11 ล้านปอนด์ (หรือประมาณร่วมห้าร้อยล้านบาท)

 

บริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยโครงการนี้ได้ถูกเรียกเข้ามาให้รับผิดในนามของผู้เอาประกันภัยผู้ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว

 

ผลการเจรจาต่อรอง ค่าสินไหมทดแทนที่ตกลงกันได้ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 8.75 ล้านปอนด์ (หรือประมาณร่วมสี่ร้อยล้านบาท) ซึ่งตกเป็นภาระความรับผิดของบริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยโครงการนี้

 

เนื่องจากข้อตกลงภายใต้สัญญาจ้างงานช่วงในส่วนของหลังคาระหว่างผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วงงานหลังคาได้ระบุให้ผู้รับเหมาช่วงงานหลังคาจัดทำประกันภัยคุ้มครองเองเอาไว้ด้วย โดยที่ผู้รับเหมาช่วงงานหลังคาก็ปฏิบัติตามด้วยการไปซื้อความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเอาไว้ในวงเงิน 5 ล้านปอนด์ (หรือประมาณสองร้อยกว่าล้านบาท)

 

ทางบริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยโครงการนี้จึงเรียกร้องให้ทั้งผู้รับเหมาช่วงงานหลังคากับบริษัทประกันภัยของตนเข้ามาร่วมชดใช้เต็มวงเงิน 5 ล้านปอนด์นั้นเองให้แก่ผู้เสียหาย อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของตนเองเป็นหลัก ส่วนค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เหลืออยู่ บริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยโครงการนี้ก็จะรับผิดแทนให้ไป

 

ปรากฏว่า ทั้งผู้รับเหมาช่วงงานหลังคากับบริษัทประกันภัยของตนร่วมกันโต้แย้ง โดยอ้างว่า

 

1) ตนเองเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับที่คุ้มครองทั้งโครงการด้วย จึงควรได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้รับเหมาหลัก

 

2) ส่วนกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับที่ทำเพิ่มเติมของตนเองนั้นเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาที่มีกับผู้รับเหมาหลัก และเพื่อให้มีจุดประสงค์เป็นความคุ้มครองเพิ่มเติมเสริมจากกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับที่คุ้มครองทั้งโครงการ หากวงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ

 

ฉะนั้น บริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยโครงการนี้จึงควรรับผิดโดยลำพังแต่ผู้เดียว และจะมารับช่วงสิทธิไล่เบี้ยภายหลังเอากับผู้เอาประกันภัยร่วมก็ไม่ได้เช่นกัน

 

ประเด็นข้อโต้แย้งข้างต้นได้เกิดเป็นคดีพิพาทขึ้นมาสู่ศาลเพื่อให้วินิจฉัย

 

ศาลคดีนี้ได้พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า

 

จริงอยู่ที่ผู้รับเหมาช่วงงานหลังคาในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วม ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัย ฉบับที่คุ้มครองทั้งโครงการ ควรได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับนั้นไปทั้งหมด

 

แต่เมื่อไปพิจารณาถึงข้อตกลงภายใต้สัญญาจ้างงานช่วงในส่วนของหลังคาระหว่างผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วงงานหลังคา ซึ่งได้ระบุอย่างชัดเจนให้ผู้รับเหมาช่วงงานหลังคาจัดทำประกันภัยคุ้มครองเองเป็นการเฉพาะเอาไว้ด้วย

 

ศาลจึงจำต้องให้น้ำหนักข้อตกลงพิเศษเช่นว่านั้นเหนือกว่าข้อตกลงโดยนัยในเรื่องของผู้เอาประกันภัยร่วมตามสัญญาประกันภัย ฉบับทั้งโครงการ

 

และตัดสินให้ทั้งผู้รับเหมาช่วงงานหลังคากับบริษัทประกันภัยของตนร่วมกันรับผิดเต็มวงเงิน 5 ล้านปอนด์นั้น หรือ

 

ให้บริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยโครงการนี้มีสิทธิในการรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยภายหลังเอากับผู้รับเหมาช่วงงานหลังคา หรือบริษัทประกันภัยของผู้รับเหมาช่วงนั้นได้ เพราะไม่ถือเป็นการไล่เบี้ยเอากับผู้เอาประกันภัยเองแต่ประการใด

 

คุณมีความคิดเห็นเช่นใดในคำวินิจฉัยคดีนี้บ้างครับ

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงจากคดี Haberdashers’ Aske’s Federation Trust Ltd. and Others v. Lakehouse Contracts Ltd., Cambridge Polymer Roofing Contracts and Others [2018] EWHC 558 (TCC))

 

แม้นคดีนี้เป็นเพียงคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น แต่ถือเป็นคดีตัวอย่างที่น่าสนใจ และให้แนวทางในการพิจารณาจัดประกันภัยให้เหมาะสม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคู่สัญญาด้วย

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory