วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

 เรื่องที่ 135 : รีสอร์ทต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่? กรณีผู้เช่าลงเล่นน้ำทะเล แล้วเกิดจมน้ำตายหน้ารีสอร์ทนั้น

 

ช่วงเวลาปลายปีนี้ มีวันหยุดเทศกาล วันหยุดพิเศษหลายวัน กอปรกับผู้คนเริ่มคลายความวิตกกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และการส่งเสริมจากภาครัฐให้ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อช่วยกันกระจายรายได้ให้เงินหมุนเวียนออกไปมากขึ้น จึงรับฟังว่า ช่วงวันหยุดเทศกาล สถานท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจคึกคักเป็นพิเศษ น่าดีใจนะครับ

 

อย่างไรก็ดี อย่าลืมเรื่องความปลอดภัยของตนเอง และของบุคคลอื่นด้วยนะครับ เพราะความเสี่ยงภัยอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลานาที ทุกสถานที่ ไม่อยากให้ช่วงเวลาหาความสุขอันจะพึงมี ต้องกลับกลายเป็นความทุกข์เข้ามาแทนที่

 

ดังเช่นคดีศึกษาเรื่องนี้ ที่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปเช่าพักผ่อน ณ รีสอร์ทริมทะเลแห่งหนึ่ง ตั้งใจว่า จะพากันลงไปเล่นน้ำทะเลให้สนุก

 

แต่โชคร้ายเสียเหลือเกิน ระหว่างลงเล่นน้ำทะเลหน้ารีสอร์ทนั้นอย่างสนุกสนาน ได้เกิดคลื่นลมแรง ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวรายหนึ่งถูกคลื่นซัดจมหายไป กว่าจะมีคนเข้ามาช่วยเหลือได้ ก็ไม่ทันการณ์แล้ว

 

ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตจึงได้ยื่นฟ้องรีสอร์ทนั้น โดยกล่าวหาว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของรีสอร์ทที่ไม่จัดให้มีป้ายเตือนภยันตราย ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยมาคอยดูแลช่วยเหลือ ทั้งยังไม่แจ้งให้ผู้พักรับทราบว่าจะมีคลื่นลมแรงอันอาจก่อให้เกิดอันตรายในการลงไปเล่นน้ำทะเลอีกด้วย จนสุดท้ายก่อให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดดังกล่าวขึ้นมา รีสอร์ทมีความผิดฐานละเมิดด้วยการงดเว้นการที่พึงจะกระทำ และจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของผู้สูญเสีย

 

คดีนี้ได้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา ซึ่งวินิจฉัยออกมาว่า

 

การงดเว้นที่ถือเป็นการกระทำ ผู้งดเว้นจักต้องมีหน้าที่กระทำเพื่อป้องกันผลอันใดอันหนึ่งที่จะเกิดขึ้น ดังถ้อยคำในวรรคท้ายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ที่ว่าการกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

 

คดีนี้ ผลคือความตายที่เกิดจากคลื่นในทะเลซัดผู้ตายจมน้ำ

 

หากจะฟังว่าการงดเว้นของจำเลยทั้งสามหรือฝ่ายรีสอร์ทตามที่โจทก์อ้างเป็นการกระทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ต้องได้ความว่าจำเลยทั้งสามหรือฝ่ายรีสอร์ทจักต้องมีหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ตายลงเล่นน้ำในวันเกิดเหตุด้วย

 

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสามหรือฝ่ายรีสอร์ทไม่มีหน้าที่ห้ามผู้ตายหรือผู้ใดมิให้ลงเล่นน้ำในวันเกิดเหตุแต่อย่างใด ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำต่อผู้ตายโดยผิดกฎหมาย อันจะเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

จึงไม่จำต้องพิจารณาว่า การงดเว้นตามที่โจทก์อ้างเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสามหรือไม่

 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากบทความกฎหมายเด่นฎีกาดัง เนติ อัยการ ศาล@thanasorn1234 และคำพิพากษาฎีกาที่ 4917/2557 สืบค้นจาก https://www.facebook.com/thanasorn1234/posts/360438041026019/

ด้วยความขอบพระคุณมา ณ ที่นี้)

 

สรุป

รีสอร์ทนั้นไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะไปดูแลลูกค้า ณ บริเวณพื้นที่สาธารณะถึงขนาดนั้น

 

เมื่อไม่มีหน้าที่ดังว่านั้น ถึงแม้รีสอร์ทนั้นได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเผื่อเอาไว้ก็ตาม บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองดังกล่าวก็ไม่มีหน้าที่จะไปชดใช้แทนให้เช่นเดียวกัน

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory


วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ : 134 เมาตกน้ำตายถือเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

ลูกเรือกลุ่มหนึ่งของเรือประมงลำหนึ่ง ครั้นถึงเวลาพักเข้าฝั่งได้ตระเวนดื่มเหล้าตามบาร์หลายแห่งตั้งแต่ช่วงหัวค่ำกระทั่งถึงเวลาบาร์ปิด จนต่างพากันเมามายอย่างมาก และได้ช่วยกันประคองตัวกลับไปพักผ่อนยังเรือของตน เนื่องจากเรือประมงของตนได้จอดเทียบคู่กับเรือลำอื่น มิได้จอดเทียบกับท่าเรือโดยตรง ดังนั้น ในการกลับขึ้นเรือของตน ทั้งหมดจำต้องปีนข้ามเรือลำแรกไปก่อน เพื่อนบางคนสามารถช่วยตนเองขึ้นเรือประมงของตนไปได้ ยกเว้นผู้ตายซึ่งโชคร้ายเกิดพลาดตกน้ำเสียก่อน เพื่อนที่เห็นเหตุการณ์จึงได้ช่วยกันโยนเชือกและวัสดุที่หยิบฉวยได้เพื่อให้ผู้ตายเกาะประคองตัวเอาไว้ก่อน โดยที่ทุกคนต่างลืมนึกถึงห่วงชูชีพบนเรือในช่วงเวลานั้น แต่ผู้ตายมิอาจช่วยเหลือตัวเองได้ และได้จมหายไปท้ายที่สุด

เมื่อหน่วยงานช่วยเหลือกู้ภัยมาถึงก็สามารถงมศพของผู้ตายขึ้นมาได้ ผลการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ ได้ลงความเห็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการจมน้ำตาย โดยแพทย์ให้ความเห็นประกอบว่า จากปริมาณแอลกอฮอลล์ที่ตรวจพบมีระดับสูงมากจนส่งผลทำให้ผู้ตายขาดสติสัมปชัญญะและความสามารถในการช่วยเหลือตนเองดังเช่นคนปกติ

ภรรยาของผู้ตายในฐานะทายาทตามกฎหมายได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ตายอยู่ แต่ได้รับการปฏิเสธโดยอ้างว่า การเสียชีวิตมิได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ทั้งยังตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ซึ่งระบุว่า

ไม่คุ้มครองการที่ผู้เอาประกันภัยตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา สารเสพติด หรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้ (เว้นแต่เป็นกรณีการใช้สารเสพติดตามคำสั่งของแพทย์เพื่อการรักษาทั่วไปที่มิใช่การบำบัดการติดสารเสพติด)

ประเด็นข้อพิพาทที่ถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัย ได้แก่

1) การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?

2) หากเป็นอุบัติเหตุแล้วจะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่?

ศาลได้พิเคราะห์ทั้งสองประเด็นเป็นลำดับดังนี้

ประเด็นข้อแรกเรื่องความหมายของอุบัติเหตุ

ที่ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า แม้การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นผล (Accidental Result) มาจากการจมน้ำจนขาดอากาศหายใจอันเป็นอุบัติเหตุ แต่ก็มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้าอย่างมากมายติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง โดยไม่ยับยั้งชั่งใจว่า จะก่อให้เกิดผลอันตรายแก่ร่างกายของตนเองอย่างไรบ้าง ประกอบกับความเห็นของแพทย์ผู้ชันสูตรก็ให้ความเห็นว่า ต่อให้มีใครโยนห่วงชูชีพให้ผู้ตายก็ตาม ผู้ตายในสภาวะขณะนั้นไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้เลย ไม่แม้แต่จะว่ายน้ำช่วยเหลือตนเองได้ จึงเป็นการดื่มเหล้าโดยสามารถเล็งเห็นผลได้ว่า อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเองได้แล้ว ซึ่งมิใช่ปัจจัยจากอุบัติเหตุ (Accidental Means) ดังคำนิยามของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งให้ความหมายว่า จะต้องมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกที่รุนแรงและเห็นได้อย่างชัดเจน (Accidental Outward Violent and Visible Means)

ศาลไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการตีความควรอ้างอิงจากความเห็นของวิญญูชนทั่วไป ซึ่งล้วนลงความเห็นว่า การจมน้ำตายถือเป็นอุบัติเหตุ และไม่มีมูลเหตุหรือหลักฐานพิสูจน์เป็นอย่างอื่นว่า ผู้ตายเจตนาทำร้ายตนเองหรือประสงค์จะฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ เพื่อนที่ร่วมดื่มด้วยกันต่างมิได้ประสบโชคร้ายเช่นเดียวกับผู้ตาย

สำหรับประเด็นข้อที่สอง

เมื่อพิจารณาคำถามว่า ทำไมผู้ตายถึงตกน้ำลงไปจนเสียชีวิตได้? แม้จะปราศจากพยานหลักฐานอย่างชัดเจน แต่ครั้นพอมาพิจารณาถึงสาเหตุความเป็นไปได้แล้ว เชื่อว่า สืบเนื่องจากการดื่มเหล้าจนเมามายอย่างมากขนาดนั้นจนส่งผลทำให้สภาวะทางจิตใจและสภาพร่างกายไม่สามารถควบคุมตนเองดั่งเช่นคนปกติในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตดังกล่าว ฉะนั้น การดื่มเหล้าจนตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถครองสติของตนเองได้เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดตอนจนนำไปสู่การจมน้ำเสียชีวิตของผู้ตาย ส่วนการที่ผู้ตายไม่พยายามว่ายน้ำช่วยเหลือตนเองนั้นไม่ก่อให้ผลเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไปได้ เพราะถึงจะว่ายน้ำแล้ว ก็ยังจำต้องได้รับการช่วยเหลืออยู่ดี

จึงวินิจฉัยว่า บริษัทประกันภัยนี้ไม่จำต้องรับผิด เนื่องจากกรณีเข้าข้อยกเว้นดังอ้างอิงของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี JULIE ANN WARD v. NORWICH UNION INSURANCE LIMITED [2009] CSOH 27)

เรื่องต่อไป ผู้เช่าพักรีสอร์ทริมทะเล ลงเล่นน้ำทะเลหน้ารีสอร์ทแล้วเกิดจมน้ำเสียชีวิต รีสอร์ทจะต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่?

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

 เรื่องที่ 133 : เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมันอีกแล้วเหรอนี่

 

ดูเสมือนปัญหายุ่ง ๆ ที่ปั๊มน้ำมันยังไม่จบ คราวนี้เกิดขึ้น ณ ปั๊มน้ำมันล้ำยุคแห่งหนึ่ง ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต้องสมัครเป็นสมาชิกและเปิดบัญชีกับทางปั๊มน้ำมันนี้เสียก่อน เพื่อตั้งระบบคอมพิวเตอร์กำหนดปริมาณเติมน้ำมันสูงสุดแต่ละครั้งให้แก่สมาชิกแต่ละราย หลังจากนั้น สมาชิกก็จะได้รับมอบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในการใช้บริการดังกล่าว โดยที่ปั๊มน้ำมันนี้แต่ละแห่งล้วนใช้ระบบอัตโนมัติทั้งสิ้น

 

เจ้าของปั๊มน้ำมันนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพแบบสรรพภัยแก่ทรัพย์สินทั้งหมดของตนรวมถึงน้ำมันที่จัดเก็บให้บริการ โดยมีค่าความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบเองอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence) แต่ละครั้ง

 

ต่อมา เมื่อตรวจเช็คสต็อกน้ำมันที่จัดเก็บไว้ พบว่าปริมาณน้ำมันได้ขาดหายไปจำนวนหนึ่ง จากการสืบสวนปรากฏว่า มีสาเหตุมาจากการตั้งโปรแกรมให้แก่ลูกค้ารายหนึ่งผิดพลาดไปด้วยความประมาทเลินเล่อ กล่าวคือ ลูกค้ารายนี้มีข้อตกลงจำกัดปริมาณเติมน้ำมันสูงสุดเจ็ดสิบห้าแกลลอนในแต่ครั้งเท่านั้น ครั้นได้มีการขยายให้บริการรวมถึงกลุ่มลูกค้านี้เพิ่มเติมอีกแหล่งหนึ่ง กลับตั้งผิดไปอยู่ที่ปริมาณสูงสุดหนึ่งร้อยแกลลอนแต่ละคราวแทน และที่ผ่านมาได้มีการเรียกเก็บเงินค่าน้ำมันกับลูกค้ากลุ่มนี้ทั้งหมดเพียงตามปริมาณที่ได้ตกลงกันจริงอยู่ที่สูงสุดไม่เกินเจ็ดสิบห้าแกลลอนเท่านั้น

 

เจ้าของปั๊มน้ำมันนี้จึงได้ไปแจ้งขอเรียกเก็บเงินค่าน้ำมันเพิ่มเติมจากกลุ่มลูกค้ารายนี้ ก็ได้ถูกปฏิเสธกลับมา

 

เจ้าของปั๊มน้ำมันนี้ในฐานะผู้เอาประกันภัยไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องมาแจ้งเรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยของตนแทน โดยอ้างว่า น้ำมันจำนวนที่สูญหายไปนั้นเกิดจากการลักทรัพย์ เนื่องจากผู้ขับขี่บางรายของลูกค้ากลุ่มนี้รับรู้ถึงความผิดพลาดและได้ถือโอกาสฉกฉวยเอาประโยชน์แก่ตน

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดถือรวมกันเป็นหนึ่งเหตุการณ์ซึ่งเกิดแก่ลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว อันส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยมีสิทธิหักค่าความเสียหายส่วนแรกทั้งหมดเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เนื่องด้วยมิได้มีการกำหนดคำนิยามของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้

 

บริษัทประกันภัยปฏิเสธความรับผิด พร้อมต่อสู้ว่า แม้กรณีนี้จะเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองการลักทรัพย์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวควรถูกจำแนกออกไปแต่ละคราวที่มีการเข้าใช้บริการเติมน้ำมัน มิใช่ถูกนับรวมกันเป็นหนึ่งเหตุการณ์ดังที่ผู้เอาประกันภัยกล่าวอ้าง

 

ที่สุดแล้ว คดีนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัย

 

ศาลชั้นต้นตัดสินเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยเรื่องการนับจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปตามจำนวนครั้งที่มีลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาใช้บริการแตละคราว

 

ผู้เอาประกันภัยฝ่ายโจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า แม้นจะมิได้มีคำนิยามของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม แต่จากการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) ซึ่งมองไปที่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแต่ละคราวเป็นเกณฑ์แล้ว ก็ถือเป็นหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

 

อีกทั้งจากพยานหลักฐานที่ปรากฏและต่างเป็นที่ยอมรับ คือ ตลอดช่วงเวลาที่เกิดความเสียหายดังกล่าว ราคาน้ำมันต่อแกลลอนยังคงที่อยู่ไม่เกินสี่ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน และส่วนที่มีการเติมน้ำมันเกินไปนั้นแต่ละครั้งก็มิได้เกินกว่าร้อยแกลลอนแต่ประการใด ฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีครั้งใดเลยที่เกินกว่าค่าความเสียหายส่วนแรก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง อันเป็นจำนวนเงินซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบเองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ทำให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ประการใด  

 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Port Consolidated, Inc. v. International Insurance Company of Hannover, PLC, 2020 WL 5372281 (11th Cir 2020))

 

ปัญหาเรื่องวุ่น ๆ ของปั๊มน้ำมันคงพักเพียงเท่านี้ ขอไปต่อเรื่องอื่นบ้างนะครับ แล้วคอยติดตามต่อว่า จะเป็นเรื่องใด?

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ : 132 เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมัน

(ตอนที่สี่)

สืบเนื่องจากคำถามข้อที่ 2) ซึ่งคงติดค้างไว้ว่า เหตุการณ์เติมน้ำมันปนเปื้อนให้แก่รถหลายคันในช่วงเวลาที่แตกต่างกันนั้นจะสามารถนับออกมาได้เป็นกี่เหตุการณ์?

กรณีเงื่อนไขความคุ้มครองสำหรับความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของปั๊มน้ำมันได้กำหนด ดังนี้

วงเงินความรับผิดสูงสุดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น/ครั้ง=    100,000 บาท

วงเงินความรับผิดโดยรวม (Aggregate)

ตลอดระยะเวลาประกันภัย                               = 2,000,000 บาท

 

ความเสียหายส่วนแรก (Deductible)  

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น/ครั้ง                              =       1,000 บาท

 

หากปรากฏมีรถยนต์ได้รับความเสียหายรวม 52 คัน

คิดเป็นค่าซ่อมโดยเฉลี่ยประมาณคันละ               =       3,000 บาท

รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น                                 =   156,000 บาท

 

(ก) หากถือการเติมน้ำมันปนเปื้อนให้แก่รถแต่ละคันแยกออกเป็นแต่ละ

      เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกัน

บริษัทประกันภัยจะรับผิดชดใช้ค่าซ่อม

โดยเฉลี่ยคันละ                                             =       2,000 บาท

(3,000 บาท - 1,000 บาท)

รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น                                 =   104,000 บาท

นั่นคือการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของผล (Effect Theory) ซึ่งมุ่งเน้นไปยังผลลัพธ์ที่เกิดแก่ผู้เสียหายแต่ละรายเป็นเกณฑ์ 

(ข) หากถือการเติมน้ำมันปนเปื้อนให้แก่รถทุกคันรวมเป็นเหตุการณ์ที่

      เกิดขึ้นคราวเดียวกัน 

บริษัทประกันภัยจะรับผิด

ชดใช้ค่าซ่อมรวมทั้งหมดเพียง                         =    99,000 บาท

(100,000 บาท - 1,000 บาท)

นั่นคือการตีความโดยอาศัยทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) ซึ่งมองไปที่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแต่ละรายเป็นเกณฑ์ 

ดังที่เคยกล่าวไว้ในบทความที่ผ่านมา ศาลต่างประเทศจะอาศัยทั้งสองทฤษฏีเป็นเกณฑ์ โดยที่เสียงส่วนใหญ่จะโน้มเอียงไปทางทฤษฏีของเหตุ (Cause Theory) มากกว่า แต่บางครั้งก็ไม่อาจนำมาปรับใช้ให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันจึงเกิดทฤษฏีที่สามเพิ่มเติมขึ้นมาเรียกว่า ทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory) อันเป็นการมองภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดแทนที่จะมองเพียงเหตุกับผลด้านใดด้านเดียวเท่านั้น

ในกรณีตัวอย่างนี้ถูกวินิจฉัยโดยยึดถือตามข้อ (ข) อันมีสาเหตุมาจากถังเก็บน้ำมันใต้ดินรั่วไหลเพียงถังเดียว

สรุป

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นหลักที่จำต้องพิจารณาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ก็คือ สาเหตุที่ตรวจค้นพบได้นั้นเกิดจากมีรอยรั่วจุดหนึ่งที่ถังเก็บน้ำมันใต้ดิน ทำให้น้ำใต้ดินแทรกซึมเข้าไปได้จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา เมื่อมิใช่เป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ผลิตน้ำมัน หรือกระทั่งของผู้รับเหมาติดตั้งถังเก็บน้ำมันใต้ดิน เจ้าของปั๊มน้ำมันจำต้องรับผิดฐานะไม่ดูแลรักษาให้ดีพอจนส่งผลทำให้น้ำมันถูกปนเปื้อนขึ้นมาดังกล่าว และได้ขายผลิตภัณฑ์ที่บกพร่องออกไปจนสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภค อันตกอยู่ในข้อยกเว้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก

ฉะนั้น ถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจัดอยู่ในเกณฑ์คุ้มครองวันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis) ก็ตาม แต่กลับตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวซึ่งระบุว่า

กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองรวมถึง

2. ความรับผิดใดๆ ซึ่งเกิดจาก หรือสืบเนื่องจาก

    ........................

    2.4 สินค้าหรือสิ่งของใดๆ ซึ่งผลิต ขาย จัดหา ซ่อมแซม บริการ 

         หรือดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัยหรือผู้กระทำการแทนผู้เอา

         ประกันภัย

กรณีตัวอย่างนี้ ผู้เอาประกันภัยเจ้าของปั๊มน้ำมันจึงต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด

แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของต่างประเทศที่ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ควบรวมกับกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Products Liability Insurance Policy) ภายใต้เกณฑ์คุ้มครองวันเกิดความเสียหาย (Occurrence Basis) ก็จะสามารถได้รับความคุ้มครองได้ตามข้อ (ข) ข้างต้น ในหมวดความรับผิดตามกฎหมายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์

(อ้างอิงและเทียบเคียงจากบทความ Is an Occurrence the Bodily Injury or Property Damage? By Craig F. Stanovich, Liability Insurance December 2011, สืบค้นจาก

https://www.irmi.com/articles/expert-commentary/is-an-occurrence-the-bodily-injury-or-property-damage)

สัปดาห์หน้า เรื่องที่ 133 : เหตุเกิดที่ปั๊มน้ำมันอีกแล้วเหรอนี่

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory