วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 118: เมื่อคนกับรถและหมามาเชื่อมโยงกัน มันก็เกิดการโยนกลองกันขึ้น


โยนกลอง” เป็นสำนวนไทย มีความหมายถึงการปัดภาระไปให้ผู้อื่น (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

แต่เรื่องนี้มีที่มาเทียบเคียงจากคดีศึกษาของต่างประเทศ

สามีภรรยาคู่หนึ่งขับรถพาเพื่อนมาเที่ยวบ้านของตนเอง เมื่อได้นำรถเข้ามาจอดภายในบ้านเรียบร้อยแล้ว หมาตัวน้อยที่คู่สามีภรรยานี้เลี้ยงไว้ก็เข้ามาทักทายทั้งคู่ด้วยความดีใจทันทีที่ทั้งคู่ลงมาจากรถคันนั้น แต่ครั้นมันเหลือบไปเห็นขาข้างหนึ่งที่เพิ่งหย่อนลงสู่พื้นตรงประตูฝั่งผู้โดยสาร และยังไม่ทันสิ้นสุดคำถามจากเพื่อนที่ว่า “มันไม่กัดนะ” หมาน้อยตัวนั้นก็วิ่งตรงเข้าไปงับขาข้างนั้นอย่างฉับพลัน

ภายหลังจากดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นและนำเพื่อนไปทำแผลพร้อมฉีดยากันพิษสุนัขบ้าเผื่อเอาไว้ ณ โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โดยคู่สามีภรรยานี้ได้กล่าวคำขอโทษต่อเพื่อนและแจ้งว่า เดี๋ยวจะแจ้งให้บริษัทประกันภัยมารับผิดชอบให้ ซึ่งพวกตนได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเอาไว้สองฉบับจากบริษัทประกันภัยต่างรายกัน กล่าวคือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทำไว้กับบริษัทประกันภัยเจ้าหนึ่ง กับกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน (คุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบวกด้วยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก) ไว้กับอีกเจ้าหนึ่ง 

ครั้นพอบริษัทประกันภัยทั้งสองรายได้รับทราบเรื่องราวแล้ว ต่างเกิดประเด็นโต้แย้งกันขึ้นมาทันที
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใดควรรับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว?

1) บริษัทประกันภัยรถยนต์อ้างว่า

หมาที่บ้านของผู้เอาประกันภัยวิ่งไปกัดบุคคลภายนอกผู้เสียหายภายในบ้านหลังนั้นเอง ดังนั้น ถือว่า เป็นความรับผิดตามกฎหมายโทษฐานละเมิดของเจ้าของบ้านทั้งยังเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นด้วยดั่งที่ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 433 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อันส่งผลทำให้ตกอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน

2) บริษัทประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านได้โต้แย้งว่า

ขณะเกิดเหตุดังกล่าว บุคคลภายนอกผู้เสียหายยังอยู่ในสถานะเป็นผู้โดยสารของรถยนต์คันนั้น เพราะอยู่ระหว่างขณะกำลังลงจากรถ แค่เท้าข้างหนึ่งเหยียบพื้นเท่านั้น ตัวของผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังอยู่ภายในรถและสัมผัสตัวรถอยู่ โดยยังมิได้ลงมาและออกจากรถโดยสมบูรณ์เลย จึงตกอยู่ภายใต้ความคุ้มครองในหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งระบุว่า

ข้อ 1.  ข้อตกลงคุ้มครอง
           บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย ดังนี้
            1.1 ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย  บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น
           ………………………………………………
           บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม 1.1 นี้ ไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้าง คู่สมรส บิดา มารดา บุตรของผู้ขับขี่นั้น

อนึ่ง นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านยังได้มีข้อยกเว้นระบุเอาไว้ด้วยอีกว่า

การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง

1. การเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือความบาดเจ็บของสมาชิกในครอบครัว หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย
2. ………………………………
3. ความบาดเจ็บทางร่างกายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมจาก
   . ………………………………
   . ………………………………
   . ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ อากาศยาน หรือยานพาหนะ

ฉะนั้น บริษัทประกันภัยรถยนต์จำต้องรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

คุณมีความเห็นเช่นใดบ้างครับ?

ท้ายที่สุดเรื่องนี้ได้ถูกนำขึ้นเป็นคดีสู่ศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านว่า ณ เวลาที่ถูกหมาน้อยนั้นกัด บุคคลภายนอกผู้เสียหายยังคงมีสถานะเป็นผู้โดยสารของรถยนต์คันนั้นอยู่ตราบเท่าที่ยังมิได้พาตัวเคลื่อนออกจากตัวรถยนต์คันนั้นโดยสมบูรณ์ ถือได้ว่า เป็นอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง อันผู้ขับขี่ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรถยนต์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบาดเจ็บทางร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกนั้นเอง

ฝ่ายบริษัทประกันภัยรถยนต์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยเหตุผลดังนี้

(1) ตัวรถยนต์คันที่เกิดเหตุมิได้ก่อให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายโดยตรงแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้น เพียงมีส่วนร่วมแค่เป็นจุดที่เกิดเหตุเท่านั้น จึงยังไม่ถือว่า มีสาเหตุเนื่องจากการใช้รถ หรือใช้ทางตามวัตถุประสงค์ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ อันจะส่งผลทำให้ผู้ขับขี่ต้องรับผิดตามกฎหมายแต่ประการใด

(2) เช่นเดียวกันก็มิได้ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นข้อที่ 3. ค. ของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้านด้วย เพราะความบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นมาจากยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์

(3) สัตว์เลี้ยงของผู้เอาประกันภัยต่างหากที่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายโดยตรงแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้น อันเกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าของสัตว์นั้นเองมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูแลรักษา

และมีคำสั่งย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นกลับไปพิจารณาเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายนั้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเจ้าบ้าน

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Century Mutual Insurance v. League General Insurance (Mich. Ct. App. 1995))  

หากเกิดคดีลักษณะนี้ที่บ้านเรา ผลของคดีน่าจะออกมาไม่แตกต่างกันนะครับ

ส่วนเรื่องต่อไปจะเกี่ยวกับอะไร? โปรดรอติดตามครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 117: ความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอันสืบเนื่องจากไวรัสโรคติดต่อ (Business Interruption Insurance Coverage stemming from Communicable Diseases)


(ตอนที่สอง)

กรณีที่ศาลตีความว่า การปนเปื้อนไวรัสโควิด – 19 ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และมิได้ตกอยู่ในข้อยกเว้น ก็จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัย แต่ค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับคงเป็นเพียงค่าใช้จ่ายทำความสะอาดเท่านั้น โดยไม่จำต้องอาศัยเงื่อนไขพิเศษอื่น ๆ มาช่วย

สำหรับประเด็นที่ทิ้งท้ายไว้ คือ กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ของผู้เอาประกันภัยไม่เสียหาย

ก) แต่จำต้องหยุดประกอบกิจการไป เนื่องจากมีคำสั่งจากหน่วยงานราชการห้ามมิให้ประกอบกิจการ หรือ

ข) พื้นที่ใกล้เคียงมีความเสี่ยงภัยจากไวรัสโควิด-19 เลยส่งผลทำให้ลูกค้าที่เคยเข้ามาใช้บริการหายหน้าไป ธุรกิจจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

เช่นนี้ จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตนได้หรือเปล่าหนอ?

กรณีเหล่านี้ต้องอาศัยเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการขยายความคุ้มครองเสริมเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ จะต้องส่งผลกระทบโดยตรงทางธุรกิจที่เอาประกันภัยไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น

(1) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยโรคภัยต่าง ๆ ที่ต้องรายงาน (Notifiable Diseases Clause) 

ถ้อยคำที่ใช้กันอยู่ในตลาดประกันภัยจะแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ ได้แก่ ลักษณะถ้อยคำที่จำกัดเฉพาะโรคภัยต่าง ๆ ที่ระบุไว้เท่านั้น ซึ่งไม่ได้รวมถึงไวรัสโควิด – 19 แน่ ๆ เนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่เพิ่งถูกค้นพบเวลานี้ และลักษณะถ้อยคำที่ไม่จำกัดโรคภัย

หากใช้เงื่อนไขพิเศษนี้เป็นลักษณะถ้อยคำที่ไม่จำกัดโรคภัย ถือว่ารวมถึงไวรัสโควิด – 19 ด้วย ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในลักษณะความเสียหายทางกายภาพ ทั้งยังทำให้ธุรกิจที่เอาประกันภัยหยุดชะงักไป เช่นนี้ จะได้รับความคุ้มครองทั้งกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัย และภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

(2) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยคำสั่งของหน่วยงานราชการ (Public/Civil Authority Clause)

การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งห้ามเข้าอาณาบริเวณสถานที่เอาประกันภัยหรืออาณาเขตใกล้เคียงภายในระยะรัศมีที่กำหนดไว้ อันมีสาเหตุจากภัยที่คุ้มครองด้วยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนี้เช่นกัน ถ้าไม่จำกัดถึงภัยที่คุ้มครองไว้ ก็ถือว่า สามารถให้ความคุ้มครองถึงได้

(3) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการปิดกั้นหรือการห้ามเข้า-ออกสถานที่ประกันภัย (Prevention/Denial of Access Clause)

เกิดความเสียหายแก่สถานที่อื่นใกล้กับสถานที่เอาประกันภัย ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถเข้าออกสถานที่เอาประกันภัยได้ ภายในรัศมีที่กำหนด ส่วนจะต้องมีสาเหตุจากภัยที่คุ้มครองด้วยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษนี้เช่นกัน ถ้าไม่จำกัดถึงภัยที่คุ้มครองไว้ ก็ถือว่า สามารถให้ความคุ้มครองถึงได้

(4) เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยความเสียหายแก่สถานที่พึ่งพา (Loss of Attraction Clause)

คล้ายกับข้อ (3) ต่างตรงที่สถานที่เอาประกันภัยจำต้องอาศัยพึ่งพาสถานที่หลักอื่นเพื่อประกอบธุรกิจที่ประกันภัย เช่น ร้านค้าซึ่งเป็นสถานที่เอาประกันภัยตั้งอยู่ในศูนย์การค้า หรืออยู่ใกล้กับสวนสนุก แม้ร้านค้านั้นไม่เสียหาย แต่ศูนย์การค้าหรือสวนสนุกดังกล่าวได้รับความเสียหายจนต้องปิดกิจการชั่วคราว และส่งผลกระทบทางการเงินต่อร้านค้านั้น เป็นต้น ปัจจุบันนี้ ถ้อยคำค่อนข้างจำกัด คือ นอกจากสถานที่พึ่งพาดังกล่าวจะต้องเสียหายจากภัยที่คุ้มครองแล้ว ยังกำหนดอาณาเขตระยะห่างจากร้านค้าที่เอาประกันภัยเอาไว้อีก เนื่องจากเคยได้รับบทเรียนมาแล้วครั้งสมัยเหตุการณ์สึนามิ

ผู้เชี่ยวชาญประกันภัยต่างประเทศหลายท่านแสดงความเห็นว่า ถึงแม้อาจได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ข้างต้น แต่เชื่อว่า ค่าเสียหายคงไม่สูงมาก เพราะเพียงจะได้รับการชดใช้เฉพาะค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นจากภัยของไวรัสโควิด – 19 (หากคุ้มครอง) เท่านั้น

 

ทำให้ช่วงนี้ ผมได้รับคำถามจากบางท่านสอบถามมาว่า จะสามารถปรับลดทุนประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้ไหม? เพราะถึงอย่างไรก็ตาม ผลประกอบการคงไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้แน่ ๆ


ผมขอแนะนำว่า หากปรับลดผลประกอบการลงจากเดิมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ก็ไม่จำเป็น เพราะเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับมาตรฐานบ้านเรา ภายใต้ข้อกำหนดเฉพาะแบบที่ 1 กำไรขั้นต้น (เกณฑ์ผลต่าง) หรือแบบอื่น ๆ แม้ไม่ขอปรับลดทุนประกันภัยระหว่างปี ก็เปิดช่องให้สามารถรับชำระเบี้ยประกันภัยคืนได้ไม่เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ดังระบุไว้ในบันทึกข้อที่ 2 เงื่อนไขว่าด้วยการคืนเบี้ยประกันภัย

สิ่งที่ผมเป็นห่วงแทนมากกว่าจะเป็นเรื่องเงื่อนไขการระงับไปแห่งสัญญาประกันภัยมากกว่า โดยเฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น ความคุ้มครองทั้งหมดจะจบสิ้นลงทันที ซึ่งปัญหาการตีความว่า การลดกำลังการผลิต การหยุดประกอบกิจการชั่วคราว หรือการเปลี่ยนไปประกอบธุรกิจอื่น จะถือว่า จะส่งผลทำให้สัญญาประกันภัยสิ้นสุดลงหรือไม่? ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากมาย และทุกครั้งที่ผมได้ตั้งประเด็นคำถามเหล่านี้ขึ้นมาเวลาอบรมให้ความรู้

ขอให้สอบถามให้มั่นใจจากตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัยของท่าน หรือบริษัทประกันภัยของท่านโดยตรง เพื่อความมั่นใจ อย่าเป็นเพียงแค่คุยด้วยวาจาเท่านั้นนะครับ เพราะเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยเองได้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลบังคับได้จะต้องอยู่ในรูปของเอกสารประกันภัยเท่านั้น เอาใจช่วยครับ

ส่วนเรื่องต่อไปจะเกี่ยวกับอะไร? โปรดรอติดตามก็แล้วกันครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 117: ความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอันสืบเนื่องจากไวรัสโรคติดต่อ (Business Interruption Insurance Coverage stemming from Communicable Diseases)


(ตอนที่หนึ่ง)

โดยหลักทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะถูกจัดทำควบคู่กับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน หากมิได้พร้อมกัน ก็ควรจัดทำเป็นลำดับหลังจากกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน โดยกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดให้ตรงกัน เพื่อที่ว่าในเวลาต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับปีถัดไป จะได้เริ่มต้นและสิ้นสุดพร้อมกัน เนื่องจากเงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะกำหนดให้มีผลเริ่มคุ้มครองต่อเมื่อความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินจะได้รับความคุ้มครองแล้วเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะต้องวิเคราะห์ให้ได้เสียก่อนว่า

(1) ภัยที่คุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินได้ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายโดยตรงแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้นั้นหรือเปล่า? และ

(2) ความสูญเสียหรือความเสียหายโดยตรงที่มีแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้นั้นเป็นความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพใช่หรือไม่?

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับถ้อยคำที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับเป็นเกณฑ์สำคัญด้วย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินทั่วไป ดั่งที่กล่าวไว้ในเรื่องที่ผ่านมา ในคดีที่ศาลต่างประเทศตีความความเสียหายทางกายภาพเป็นแบบแคบ ผู้เอาประกันภัยจะพลอยไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไปด้วย 

แต่สำหรับคดีที่ศาลต่างประเทศตีความเป็นแบบกว้าง มักจะผ่านข้อยกเว้นเรื่องการปนเปื้อน หรือมลภาวะได้อย่างฉลุย เพราะศาลเห็นว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวกำกวมและไม่ชัดเจน จึงยกประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้มีส่วนร่างถ้อยคำเหล่านั้นขึ้นมา ทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ทั้งจากสองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

ปัญหาปวดหัวของประเทศสหรัฐอเมริกาเวลานี้ คือ ภายหลังเหตุการณ์การระบาดของโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) เมื่อปี พ.ศ. 2546 กรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานทั้งสองฉบับได้ระบุข้อยกเว้นอย่างชัดเจนถึงกรณีที่มีสาเหตุมาจากไวรัส หรือแบคทีเรีย ซึงฝ่ายบริษัทประกันภัยตั้งป้อมสู้อย่างเต็มที่ ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยเองพยายามยื่นฟ้องให้ศาลตีความว่า กรณีไวรัสโควิด-19 จะตกอยู่ในข้อยกเว้นดังว่านั้นหรือไม่?

ประเด็นอีกข้อหนึ่งที่ยังถกเถียงกันอยู่ คือ กรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ของผู้เอาประกันภัยไม่เสียหาย

ก) แต่จำต้องหยุดประกอบกิจการไป เนื่องจากมีคำสั่งจากหน่วยงานราชการห้ามมิให้ประกอบกิจการ หรือ

ข) พื้นที่ใกล้เคียงมีความเสี่ยงภัยจากไวรัสโควิด-19 เลยส่งผลทำให้ลูกค้าที่เคยเข้ามาใช้บริการหายหน้าไป ธุรกิจจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

เช่นนี้ จะสามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตนได้หรือเปล่าหนอ?

ขอยกยอดไปคุยต่อตอนหน้านะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/