เรื่องที่ 115: ภัยสงคราม
(War
Peril) เป็นแบบนี้นี่เอง!!!???
(ตอนที่หนึ่ง)
ปกติแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับล้วนยกเว้นไม่คุ้มครองภัยสงครามกับภัยที่คล้ายคลึงกัน
แล้วคุณคิดว่า
ยุคปัจจุบันของโลกใบนี้ มีสงครามเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใดบ้าง?
สงคราม มีความหมายเช่นใด?
เชื่อว่า
หลายท่านคงมีคำตอบที่หลากหลาย
บทความเรื่องนี้ เราจะมาลองพิจารณาถึงภัยสงครามที่เป็นข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยกันบ้าง
จากตัวอย่างคดีศึกษาล่าสุดสองกรณีว่า จะเป็นเช่นดังที่ใจคุณคิดหรือเปล่า?
ผมคงไม่แปลกใจหากมีหลายท่านนึกถึงสถานที่อย่างเช่นตะวันออกกลางขึ้นมาทันที
เนื่องจากเรามักได้ยิน ได้เห็นเรื่องราวความไม่สงบเกิดขึ้น ณ
พื้นที่แห่งนั้นอยู่เนือง ๆ
แต่ครั้นมาถึงความหมายของสงคราม ก็คงไม่แปลกใจเช่นกันว่า
คำตอบน่าจะแตกต่าง หลากหลายกันไป
พจนานุกรมภาษาไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ ดังนี้
“สงคราม
หมายถึง การรบใหญ่ที่มีคนจำนวนมากต่อสู้ฆ่าฟันกัน”
จากบทความสงครามและกฎการสงครามที่เขียนโดยพลเรือเอก ไพศาล นภสินธุวงศ์ ในนาวิกาธิปัตย์สาร หน้าที่ 77 ช่วงหนึ่งว่า
“Oxford Advanced Learner’s
Dictionary ให้ความหมายของ “สงคราม” ว่า “สถานการณ์ซึ่งประเทศ 2 ประเทศ หรือมากกว่า
หรือกลุ่มคนหลายกลุ่มต่อสู้กันในระยะเวลาหนึ่ง
เช่น สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์
ในเอกสาร
The Fundamentals of British Maritime
Doctrine ให้คํานิยามของสงครามว่า“เป็นสิ่งที่ยากในการให้คํานิยามอย่างกระจ่างชัด
การให้คํานิยามในแง่ทางกฎหมาย ถือเอาการประกาศสงครามเป็นสิ่งที่ถูกต้องและรวมถึงระยะเวลาตั้งแต่การประกาศสงคราม
ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเริ่มต้นสู้รบกัน
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ ค.ศ. 1964 เป็นต้นมา ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีประเทศใดประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ
เนื่องจากถูกตั้งเป็นข้อห้ามของสหประชาชาติ ตัวอย่างเช่น ไม่มีการประกาศสงครามก่อนที่จะเกิดสงครามเวียดนาม สงครามอิรัก
– อิหร่าน สงครามฟอล์กแลนด์ และสงครามอ่าว
สงครามยังแสดงถึงการรับรู้เป็นอย่างสูงของคู่สงคราม ผู้ก่อความไม่สงบคงตระหนักว่าพวกเขาตกอยู่ในภาวะสงครามในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าสถานการณ์นั้นเป็นเพียงความไม่สงบเรียบร้อยในยามปกติเท่านั้น”
เท่าที่ค้นคว้ายังไม่มีคำนิยามของสงครามที่ยอมรับเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกครับ
อย่างไรก็ดี ลองมาดูคดีศึกษาเรื่องแรกกันนะครับ
ปี ค.ศ. 2014 ผู้ผลิตหนังชุดทางทีวีเรื่องหนึ่งของสหรัฐได้ยกกองไปถ่ายทำที่กรุงยูซาเร็ม
ประเทศอิสราเอล ระหว่างช่วงหนึ่งของการถ่ายทำ ปรากฏมีกลุ่มฮามาสได้ยิงจรวดหลายลูกจากฐานที่ตั้งบริเวณฉนวนกาซ่าเข้าไปในประเทศอิสราเอล และทางประเทศอิสราเอลได้ดำเนินการตอบโต้กลับไป ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย
กองถ่ายทำจำต้องเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่น อันส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
เนื่องจากผู้ผลิตหนังชุดทางทีวีเรื่องนี้ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยต่าง ๆ
ที่อาจเกิดขึ้นได้เอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่เรียกว่า “Television Production
Insurance Policy” กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
จึงได้ไปเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวกับบริษัทประกันภัยของตน
แต่กลับได้รับการปฏิเสธโดยอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นข้อที่
1 และข้อ 2 จาก 3 ข้อยกเว้นของกลุ่มนี้ อันได้แก่
“1. สงคราม ไม่ว่าจะได้มีการประกาศหรือไม่ก็ตาม หรือสงครามกลางเมือง หรือ
2. การปฏิบัติการเยี่ยงสงครามด้วยกำลังทางทหาร
รวมถึงการขัดขวาง
หรือการป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งได้กระทำขึ้นมาโดยรัฐบาล
รัฐเอกราช หรือผู้มีอำนาจอื่นใด หรือ
3. การแข็งข้อ การกบฎ การปฏิวัติ การช่วงชิงอำนาจ หรือการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการขัดขวาง
หรือการป้องกันการกระทำใด ๆ ดังกล่าว”
ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังชุดทางทีวีรายนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจำต้องยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยแห่งนั้นว่า
การกระทำดังกล่าวระหว่างกลุ่มฮามาสกับประเทศอิสราเอลเป็นการก่อสงคราม
หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงครามด้วยกำลังทางทหารขึ้นมาตามความเห็นของคนทั่วไปแล้ว
ผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า
ศาลชั้นต้นควรแปลความหมายของภัยสงครามตามแนวทางปฏิบัติในธุรกิจประกันภัยแทนที่จะเป็นตามความเข้าใจของคนทั่วไป
ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาศาลในคดีที่ผ่านมาได้ให้ความหมายถึง การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ระหว่างรัฐเอกราชกับรัฐเอกราชด้วยกันเอง
แต่เนื่องจากกลุ่มฮามาสมิได้อยู่ในสถานภาพของรัฐเอกราช ฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้อยู่ในความหมายของ
“สงคราม” หรือ “การปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม” ดังที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทตามที่บริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง
ส่วนกรณีจะตกอยู่ในข้อยกเว้นข้อที่
3 หรือเปล่านั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาไปถึง จึงให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาเสียก่อน
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
Universal
Cable Productions, LLC, et al. v. Atlantic Specialty Ins. Co., 929 F.3d 1143
(9th Cir. July 12, 2019))
ข้อสังเกต
ลองย้อนกลับไปดูคำนิยามทั่วไปข้างต้น
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความหมายของภัยสงคราม หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงครามในธุรกิจประกันภัยจะแคบกว่า
บางท่านอาจฉงนใจที่ผมเคยทิ้งท้ายไว้สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
จะนำเรื่องการประกันภัยไซเบอร์มาเล่าให้ฟัง แต่ทำไมกลับมาพูดถึงภัยสงครามเสียได้?
รับรองครับตอนต่อไปถึงคิวเสียทีครับ อย่าเพิ่งหงุดหงิดนะครับ
บริการ
-
รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ
vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet
Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น