วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 115: ภัยสงคราม (War Peril) เป็นแบบนี้นี่เอง!!!???


(ตอนที่สอง)

คดีศึกษาเรื่องที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2017 ถัดจากเรื่องแรกมาอีกสามปี

ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีผลิตภัณฑ์วางขายกระจายทั่วโลก ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนทั้งหมด รวมถึงขยายความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมถึง 

ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรมต่าง ๆ (physical loss or damage to electronic data, programs) หรือซอฟท์แวร์ ตลอดจนถึงความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพอันมีสาเหตุมาจากการสร้างความเสียหายแก่รหัสคำสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย...

นอกจากนี้ ยังมีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหยุดชะงักของอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลหรือสื่อข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์อีกด้วยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง

ครั้นในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2017 ผู้เอาประกันภัยได้ถูกโจมตีโดยมัลแวร์ที่ต่อมาได้รับการขนานนามว่า “NotPeya ไปยังระบบคอมพิวเตอร์สองแห่ง ในเวลาต่างกัน และได้สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางแก่ระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายของผู้เอาประกันภัย รวมถึงความสูญเสียสืบเนื่องทางธุรกิจอีกมากมาย ประมาณการเป็นตัวเงินออกมาได้เกินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อบริษัทประกันภัยแห่งนั้นได้รับแจ้งเหตุก็ได้จัดส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ 

ต่อมา วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2018 บริษัทประกันภัยแห่งนั้นได้ส่งหนังสือถึงผู้เอาประกันภัยปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย อ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นที่ บี 2 (ข) มีใจความว่า

ข. กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายอันมีสาเหตุ หรือเป็นผลทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมมาจากกรณีใดดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุหรือเหตุการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หรือมีลำดับเหตุการณ์เป็นอย่างไร สำหรับความเสียหายนั้นเอง
.................
2) ก) การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม ทั้งในยามสงบและยามสงคราม รวมไปถึงการขัดขวาง การต่อสู้ หรือการป้องกันการโจมตีการโจมตีที่เกิดขึ้น คุกคามมา หรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งได้กระทำขึ้นมาโดย

(1) รัฐบาล หรือผู้มีอำนาจอธิปไตย (ไม่ว่าจะโดยนิตินัยหรือพฤตินัยไม่ก็ตาม)
(2) กองกำลังทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ หรือ
(3) ตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การในข้อ (1) และ (2) ข้างต้นนั้นเอง

ระหว่างการเจรจาของคู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้โต้แย้งว่า การอ้างอิงข้อยกเว้นดังกล่าวขึ้นมาปฏิเสธนั้นได้สร้างกระแสปั่นป่วนในธุรกิจประกันภัย และสร้างผลกระทบต่อเนื่องเรื่องความไม่มั่นใจในการจัดซื้อหรือการต่ออายุประกันภัยไซเบอร์ในอนาคต หากข้อยกเว้นดังว่านั้นมีผลใช้บังคับได้จริงขึ้นมา ทั้งที่ในความจริง ฝ่ายบริษัทประกันภัยมักประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงความเสี่ยงภัยจากการจู๋โจมทางไซเบอร์ พร้อมแนะนำให้ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยลักษณะนี้ แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมาจริง กลับยกข้อยกเว้นมาอ้างปฏิเสธ ซึ่งฝ่ายผู้เอาประกันภัยจะฟ้องต่อศาลแน่นอนเพื่อให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยพิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับอย่างชัดแจ้งถึงคำกล่าวปฏิเสธของตน แต่ฝ่ายบริษัทประกันภัยพยายามต่อรองว่า อาจสำคัญผิดไป และจะยกเลิกหนังสือฉบับดังกล่าว พร้อมยินดีที่จะดำเนินการพิจารณาเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ขอร้องอย่าให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยนำคดีขึ้นสู่ศาลเลย

ภายหลังจากที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้ชะลอการฟ้องคดีระยะเวลาหนึ่งจนไม่มีวี่แววว่า ฝ่ายบริษัทประกันภัยจะดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงจำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลในที่สุด   

ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี คาดกันว่า ผลทางคดีคงจะมีออกมาในปี ค.ศ. 2020 นี้

ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจประกันภัยแสดงความเห็นในคดีนี้อย่างกว้างขวาง

บ้างว่า แม้ภายหลังรัฐบาลหลายประเทศออกมาประกาศว่า มัลแวร์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งอาจสนับสนุนให้คำกล่าวปฎิเสธของฝ่ายบริษัทประกันภัยมีน้ำหนักขึ้นมาบ้าง แต่จะสามารถพิสูจน์ให้ศาลยอมรับฟังได้หรือไม่นั้น? เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากคดีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด เคยมีการกล่าวอ้างว่า รัฐบาลประเทศคู่พิพาทอยู่เบื้องหลังด้วยเช่นกัน แต่กลับพิจารณาเป็นคดีอาญาทั่วไป อนึ่ง ทั้งสองกรณี รัฐบาลประเทศคู่พิพาทนั้นได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องใด ๆ โดยสิ้นเชิง

อนึ่ง การพิจารณาให้เป็นภัยสงครามนั้น น่าจะส่งผลสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและมหาศาล มิใช่แค่เพียงจำกัดอยู่บางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น

ผู้คนที่ประสบภัยเช่นเดียวกัน ประชาชนทั่วไปซึ่งได้รับผลกระทบน่าจะอยู่ใกล้พื้นที่ที่เกิดสงคราม แต่นี่กลับอยู่ห่างไกลกัน และมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่กระทบ

สงครามปกติหมายถึงการสู้รับกันด้วยกองกำลังทางทหารด้วยการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันแย่งชิงพื้นที่ครอบครองกัน แต่นี่เป็นเพียงการปล่อยมัลแวร์ออกไปทำลาย

ฉะนั้น พิจารณาดูแล้ว ไม่น่าจะใช่ภัยสงคราม หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงครามดั่งที่คนทั่วไปนึกคิดกัน และจากสถิติผู้กระทำผิดลักษณะนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคล แต่หากผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยมีจุดประสงค์ให้หมายความถึงการใช้ไวรัสหรือมัลแวร์โจมตีกันด้วย ก็ควรต้องปรับปรุงเงื่อนไขให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันจะดีและเหมาะสมมากกว่า
     
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Mondelez International, Inc. v. Zurich American Insurance Company 2018 WL 4941760 (Ill.Cir.Ct.) และจากบทความ NotPetya Was Not Cyber “War”, INSIGHTS, AUGUST 2018, Marsh & McLennan Companies

ประเด็นปัญหาภัยสงคราม และภัยอื่นที่เกี่ยวข้องมีการตีความที่หาข้อยุติลำบากพออยู่แล้ว ยิ่งมาเพิ่มประเด็นลักษณะนี้เข้าไปอีก ดูไม่จืดจริง ๆ ครับ หรือคุณว่าอย่างไร?

ตอนต่อไปเรามาหาความวิงเวียนเพิ่มกันอีกบ้างดีกว่าในเรื่อง แนวทางคำพิพากษาศาลต่างประเทศการตีความความเสียหายทางกายภาพกับการปนเปื้อนจากไวรัสโรคติดต่อ (Physical Damage associated with Communicable Diseases)

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย) 

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น