วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 116: การตีความความเสียหายทางกายภาพกับการปนเปื้อนจากไวรัสโรคติดต่อ (Physical Damage associated with Communicable Diseases)


(ตอนที่สอง)

เพลานี้ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ขยายวงกว้างมากขึ้น และสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตกับทรัพย์สินเป็นลำดับ

ด้านการประกันภัย มีผู้เชี่ยวชาญมากมายจากทั้งฝ่ายบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยออกมาให้ความเห็นต่าง ๆ นา นา ถกเถียงกันว่า ความเสียหายที่มีสาเหตุมาจากไวรัสโควิด-19 นี้จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ หรือไม่? โดยฝ่ายบริษัทประกันภัยตอบปฏิเสธ ขณะที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยต่อสู้ว่า น่าจะคุ้มครองให้ เพราะต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว บางรายได้ทำการฟ้องร้องบริษัทประกันภัยบ้างแล้ว ทั้งในส่วนของผู้โดยสารบางรายของเรือสำราญที่ติดไวรัสดังกล่าวได้ยื่นฟ้องเจ้าของเรือให้รับผิด เจ้าของภัตตาคารที่ได้รับผลกระทบซึ่งได้ยื่นฟ้องให้บริษัทประกันภัยรับผิดภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินและกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก แต่กว่าคดีจะสิ้นสุด ทั้งสองฝ่ายคงต้องเหนื่อยอีกนาน

อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาผู้แทนบางรัฐได้พยายามขอปรับแก้กฎหมายเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถให้ความคุ้มครองได้ โดยกะให้คุ้มครองย้อนหลังไปตั้งแต่เวลาการเริ่มแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวโน่นเลย

ทั้งหมดคงจำต้องรอฟังผลต่อไป

เราลองมาพิจารณาประเด็นข้อถกเถียงของทั้งสองฝ่าย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกันก่อนนะครับ โดยต่างได้พยายามหยิบยกแนวคำพิพากษาศาลในคดีที่ผ่านมาเทียบเคียงถึงความหมายของ “ความเสียหายทางกายภาพ (Physical Damage) ซึ่งส่วนของศาลเอง ก็ได้มีความเห็นแตกต่างออกเป็นสองแนวทางเช่นเดียวกัน

ก. การตีความแบบแคบ

ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) หมายความถึง การที่มีปัจจัยภายนอกมาเปลี่ยนแปลงสภาพน่าพึงพอใจแต่แรกไปเป็นสภาพไม่น่าพึงพอใจภายหลัง และมิได้รวมถึงการที่มีสภาพไม่น่าพึงพอใจอยู่แล้วแต่ดั้งเดิม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพนั้นจะต้องสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หรือสัมผัสได้ด้วย ซึ่งเรียกว่าเป็น “ความเสียหายที่มองเห็นได้ (Tangible Damage)

ยกตัวอย่างเช่น

1) คดี Universal Image Prods. v. Chubb Corp., 703 F. Supp. 2d 705 (E.D. Mich. 2010) ไม่ถือว่า กลิ่น หรือเชื้อรากับแบคทีเรียที่อยู่ในระบบระบายอากาศนั้นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

2) คดี Great N. Ins. Co. v. Benjamin Franklin Fed. Sav. & Loan Ass’n, 793 F. Supp. 259 (D. Or. 1990) ไม่ถือว่า การปนเปื้อนแร่ใยหินเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อตัวอาคารที่เอาประกันภัย เพราะอาคารนั้นยังคงอยู่ในสภาพปกติเช่นเดิม

ข. การตีความแบบกว้าง

ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) หมายความถึง การที่มีปัจจัยภายนอกมาเปลี่ยนแปลงสภาพ โดยไม่จำกัดเพียงเฉพาะมองได้ด้วยตาเปล่า หรือสัมผัสได้เท่านั้น อาจจะสัมผัสทางกลิ่นหรือรสก็ได้ นอกจากนี้ ยังหมายความรวมไปถึงการอยู่อาศัยไม่ได้ (Uninhabitable) หรือ การใช้งานไม่ได้อย่างชัดเจน (Substantially Unusable) อันเรียกรวมกันว่า การสูญเสียประโยชน์จากการใช้สอย (Loss of Use) หรือกระทั่งส่งผลทำให้มูลค่าของทรัพย์สินนั้นลดลงไป (Diminution of Value)  ซึ่งอาจเป็นความสูญเสียหรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพขึ้นมาได้ แม้จะไม่ปรากฏร่องรอยความเสียหายทางกายภาพต่อตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นก็ตาม โดยเรียกว่า “ความเสียหายที่มองไม่เห็น (Intangible Damage) 

ยกตัวอย่างเช่น

1) คดี Farmers Insurance Co. of Oregon v. Trutanich, 858 P.2d 1332, 1335 (Or. Ct. App. 1993) บ้านของผู้เอาประกันภัยถูกอบด้วยกลิ่นสารเคมีอันตรายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และแทรกซึมเข้าไปอยู่ในสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า บ้านของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายทางกายภาพแล้ว ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการกำจัดกลิ่น จึงถือเป็นการแก้ปัญหาโดยตรง อันสืบเนื่องมาจากความสูญเสียโดยตรงทางกายภาพเช่นกัน

2) คดี Motorists Mutual Ins. Co. v. Hardinger, 131 Fed.Appx. 823, 825-27 (3d Cir. 2005) ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า บ่อน้ำ ณ บ้านหลังใหม่ของผู้เอาประกันภัยมีแบคทีเรียอีโคไล (E-Coli) ปนเปื้อนอยู่ อันส่งผลทำให้การพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นของผู้เอาประกันภัยไม่ปลอดภัยแก่การพักอยู่อาศัยได้ตามวัตถุประสงค์ ถือเสมือนหนึ่งเป็นความสูญเสียโดยตรงทางกายภาพโดยสิ้นเชิงแล้ว

ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งปนเปื้อนอยู่ที่ตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็อาจมีความเป็นไปได้ในการที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ โดยทั้งนี้จะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นเรื่องการปนเปื้อน หรือมลภาวะด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญฝ่ายของผู้เอาประกันภัยเองก็กำลังลุ้นอยู่

ตัวอย่างคดีทั้งสองแนวทางนั้นยังมีอยู่หลากหลาย เอาไว้จะนำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไปนะครับ

ส่วนแนวทางการตีความของศาลไทยหรือกระทั่งของบริษัทประกันภัยเองในประเด็นความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพจะเป็นเช่นไรนั้น? ยังไม่เห็นความชัดเจนมากนัก แต่หากลองเทียบเคียงกับแนวทางการชดใช้น้ำท่วมรถยนต์ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ประเภทหนึ่ง ซึ่งจัดแบ่งเป็นระดับของการท่วมของน้ำแล้ว ส่วนตัวอยากเชื่อว่า แนวทางการตีความน่าจะเป็นแบบกว้างนะครับ

หลังจากผ่านด่านความคุ้มครองเรื่องความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพมาได้ ตอนต่อไป ก็จะขยับไปลองลุ้นกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักในสัปดาห์หน้ากันนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
   

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 116: การตีความความเสียหายทางกายภาพกับการปนเปื้อนจากไวรัสโรคติดต่อ (Physical Damage associated with Communicable Diseases)


(ตอนที่หนึ่ง)

ช่วงเวลานี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก

ด้านการประกันภัยเองมีความกังวลพอกันในเรื่องว่า กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภทจะสามารถให้ความคุ้มครองได้หรือไม่? โดยเฉพาะประเภทการประกันวินาศภัยทั่วไป ขณะที่ประเภทของการประกันชีวิตกับการประกันภัยสุขภาพ บริษัทประกันชีวิตกับบริษัทประกันวินาศภัยของบ้านเราหลายแห่งได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะคุ้มครองไวรัสโควิด-19 ออกมาอย่างแพร่หลายแล้ว

ส่วนผมขอมาตรวจสอบความคุ้มครองในส่วนของการประกันภัยทรัพย์สินดีกว่า เนื่องจากที่ต่างประเทศมีข้อถกเถียงกันมากมายด้วยประเด็นที่ว่า กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิดซึ่งระบุคุ้มครองถึง

ความเสียหายทางกายภาพ (Physical Damage)” หรือ “ความสูญเสียทางกายภาพ (Physical Loss)” ที่มีต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันมีสาเหตุมาจากอุบัติภัยต่าง ๆ ที่ไม่อยู่ในข้อยกเว้น

ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏคำนิยามของ “ความเสียหายทางกายภาพ (Physical Damage)” หรือ “ความสูญเสียทางกายภาพ (Physical Loss)” เอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเลย

แล้วสองคำนี้มีความหมายอย่างไรกันแน่?

ถ้าถามกับบริษัทประกันภัย คำตอบมักจะได้จะต้องเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยถึงขนาดที่มองเห็นร่องรอยความเสียหายนั้นด้วยสายตาได้ (Physical Alteration) เท่านั้น เช่น เกิดไฟไหม้บ้าน ความเสียหายทางกายภาพ คือ ตัวบ้านปรากฏร่องรอยถูกไฟเผาไหม้ หรือรถยนต์สองคันชนกัน ต้องปรากฏร่องรอยบุบ แตกหักของตัวรถยนต์ เป็นต้น ถ้าไม่ปรากฏร่องรอยความเสียหายให้เห็นเลย ถือว่า มิได้มีความเสียหายทางกายภาพเกิดขึ้นมา

คุณเห็นด้วยกับคำตอบเช่นนั้นหรือเปล่าครับ? ถ้าไม่ คุณคิดว่าอย่างไรครับ?

ฝากไปคิดเป็นการบ้าน แล้วเราจะมาคุยกันต่อสัปดาห์หน้า หรือจะลองย้อนกลับไปอ่านทบทวนบทความเรื่องที่ 13 ปี พ.ศ. 2558 และบทความเรื่องที่ 104 – 106 ปีที่ผ่านมาก่อนก็ดีนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 115: ภัยสงคราม (War Peril) เป็นแบบนี้นี่เอง!!!???


(ตอนที่สอง)

คดีศึกษาเรื่องที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2017 ถัดจากเรื่องแรกมาอีกสามปี

ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีผลิตภัณฑ์วางขายกระจายทั่วโลก ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนทั้งหมด รวมถึงขยายความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมถึง 

ความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรมต่าง ๆ (physical loss or damage to electronic data, programs) หรือซอฟท์แวร์ ตลอดจนถึงความสูญเสียหรือความเสียหายทางกายภาพอันมีสาเหตุมาจากการสร้างความเสียหายแก่รหัสคำสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย...

นอกจากนี้ ยังมีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหยุดชะงักของอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลหรือสื่อข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์อีกด้วยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง

ครั้นในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2017 ผู้เอาประกันภัยได้ถูกโจมตีโดยมัลแวร์ที่ต่อมาได้รับการขนานนามว่า “NotPeya ไปยังระบบคอมพิวเตอร์สองแห่ง ในเวลาต่างกัน และได้สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางแก่ระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายของผู้เอาประกันภัย รวมถึงความสูญเสียสืบเนื่องทางธุรกิจอีกมากมาย ประมาณการเป็นตัวเงินออกมาได้เกินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อบริษัทประกันภัยแห่งนั้นได้รับแจ้งเหตุก็ได้จัดส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ 

ต่อมา วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2018 บริษัทประกันภัยแห่งนั้นได้ส่งหนังสือถึงผู้เอาประกันภัยปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย อ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นที่ บี 2 (ข) มีใจความว่า

ข. กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายอันมีสาเหตุ หรือเป็นผลทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมมาจากกรณีใดดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุหรือเหตุการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หรือมีลำดับเหตุการณ์เป็นอย่างไร สำหรับความเสียหายนั้นเอง
.................
2) ก) การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม ทั้งในยามสงบและยามสงคราม รวมไปถึงการขัดขวาง การต่อสู้ หรือการป้องกันการโจมตีการโจมตีที่เกิดขึ้น คุกคามมา หรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งได้กระทำขึ้นมาโดย

(1) รัฐบาล หรือผู้มีอำนาจอธิปไตย (ไม่ว่าจะโดยนิตินัยหรือพฤตินัยไม่ก็ตาม)
(2) กองกำลังทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ หรือ
(3) ตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การในข้อ (1) และ (2) ข้างต้นนั้นเอง

ระหว่างการเจรจาของคู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้โต้แย้งว่า การอ้างอิงข้อยกเว้นดังกล่าวขึ้นมาปฏิเสธนั้นได้สร้างกระแสปั่นป่วนในธุรกิจประกันภัย และสร้างผลกระทบต่อเนื่องเรื่องความไม่มั่นใจในการจัดซื้อหรือการต่ออายุประกันภัยไซเบอร์ในอนาคต หากข้อยกเว้นดังว่านั้นมีผลใช้บังคับได้จริงขึ้นมา ทั้งที่ในความจริง ฝ่ายบริษัทประกันภัยมักประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงความเสี่ยงภัยจากการจู๋โจมทางไซเบอร์ พร้อมแนะนำให้ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยลักษณะนี้ แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมาจริง กลับยกข้อยกเว้นมาอ้างปฏิเสธ ซึ่งฝ่ายผู้เอาประกันภัยจะฟ้องต่อศาลแน่นอนเพื่อให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยพิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับอย่างชัดแจ้งถึงคำกล่าวปฏิเสธของตน แต่ฝ่ายบริษัทประกันภัยพยายามต่อรองว่า อาจสำคัญผิดไป และจะยกเลิกหนังสือฉบับดังกล่าว พร้อมยินดีที่จะดำเนินการพิจารณาเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ขอร้องอย่าให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยนำคดีขึ้นสู่ศาลเลย

ภายหลังจากที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้ชะลอการฟ้องคดีระยะเวลาหนึ่งจนไม่มีวี่แววว่า ฝ่ายบริษัทประกันภัยจะดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงจำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลในที่สุด   

ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี คาดกันว่า ผลทางคดีคงจะมีออกมาในปี ค.ศ. 2020 นี้

ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจประกันภัยแสดงความเห็นในคดีนี้อย่างกว้างขวาง

บ้างว่า แม้ภายหลังรัฐบาลหลายประเทศออกมาประกาศว่า มัลแวร์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งอาจสนับสนุนให้คำกล่าวปฎิเสธของฝ่ายบริษัทประกันภัยมีน้ำหนักขึ้นมาบ้าง แต่จะสามารถพิสูจน์ให้ศาลยอมรับฟังได้หรือไม่นั้น? เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากคดีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด เคยมีการกล่าวอ้างว่า รัฐบาลประเทศคู่พิพาทอยู่เบื้องหลังด้วยเช่นกัน แต่กลับพิจารณาเป็นคดีอาญาทั่วไป อนึ่ง ทั้งสองกรณี รัฐบาลประเทศคู่พิพาทนั้นได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องใด ๆ โดยสิ้นเชิง

อนึ่ง การพิจารณาให้เป็นภัยสงครามนั้น น่าจะส่งผลสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและมหาศาล มิใช่แค่เพียงจำกัดอยู่บางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น

ผู้คนที่ประสบภัยเช่นเดียวกัน ประชาชนทั่วไปซึ่งได้รับผลกระทบน่าจะอยู่ใกล้พื้นที่ที่เกิดสงคราม แต่นี่กลับอยู่ห่างไกลกัน และมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่กระทบ

สงครามปกติหมายถึงการสู้รับกันด้วยกองกำลังทางทหารด้วยการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันแย่งชิงพื้นที่ครอบครองกัน แต่นี่เป็นเพียงการปล่อยมัลแวร์ออกไปทำลาย

ฉะนั้น พิจารณาดูแล้ว ไม่น่าจะใช่ภัยสงคราม หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงครามดั่งที่คนทั่วไปนึกคิดกัน และจากสถิติผู้กระทำผิดลักษณะนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคล แต่หากผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยมีจุดประสงค์ให้หมายความถึงการใช้ไวรัสหรือมัลแวร์โจมตีกันด้วย ก็ควรต้องปรับปรุงเงื่อนไขให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันจะดีและเหมาะสมมากกว่า
     
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Mondelez International, Inc. v. Zurich American Insurance Company 2018 WL 4941760 (Ill.Cir.Ct.) และจากบทความ NotPetya Was Not Cyber “War”, INSIGHTS, AUGUST 2018, Marsh & McLennan Companies

ประเด็นปัญหาภัยสงคราม และภัยอื่นที่เกี่ยวข้องมีการตีความที่หาข้อยุติลำบากพออยู่แล้ว ยิ่งมาเพิ่มประเด็นลักษณะนี้เข้าไปอีก ดูไม่จืดจริง ๆ ครับ หรือคุณว่าอย่างไร?

ตอนต่อไปเรามาหาความวิงเวียนเพิ่มกันอีกบ้างดีกว่าในเรื่อง แนวทางคำพิพากษาศาลต่างประเทศการตีความความเสียหายทางกายภาพกับการปนเปื้อนจากไวรัสโรคติดต่อ (Physical Damage associated with Communicable Diseases)

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย) 

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 115: ภัยสงคราม (War Peril) เป็นแบบนี้นี่เอง!!!???


(ตอนที่หนึ่ง)

ปกติแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับล้วนยกเว้นไม่คุ้มครองภัยสงครามกับภัยที่คล้ายคลึงกัน

แล้วคุณคิดว่า ยุคปัจจุบันของโลกใบนี้ มีสงครามเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใดบ้าง?

สงคราม มีความหมายเช่นใด?

เชื่อว่า หลายท่านคงมีคำตอบที่หลากหลาย

บทความเรื่องนี้ เราจะมาลองพิจารณาถึงภัยสงครามที่เป็นข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยกันบ้าง จากตัวอย่างคดีศึกษาล่าสุดสองกรณีว่า จะเป็นเช่นดังที่ใจคุณคิดหรือเปล่า?

ผมคงไม่แปลกใจหากมีหลายท่านนึกถึงสถานที่อย่างเช่นตะวันออกกลางขึ้นมาทันที เนื่องจากเรามักได้ยิน ได้เห็นเรื่องราวความไม่สงบเกิดขึ้น ณ พื้นที่แห่งนั้นอยู่เนือง ๆ

แต่ครั้นมาถึงความหมายของสงคราม ก็คงไม่แปลกใจเช่นกันว่า คำตอบน่าจะแตกต่าง หลากหลายกันไป

พจนานุกรมภาษาไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ ดังนี้

สงคราม หมายถึง การรบใหญ่ที่มีคนจำนวนมากต่อสู้ฆ่าฟันกัน

จากบทความสงครามและกฎการสงครามที่เขียนโดยพลเรือเอก ไพศาล นภสินธุวงศ์ ในนาวิกาธิปัตย์สาร หน้าที่ 77 ช่วงหนึ่งว่า

Oxford Advanced Learner’s Dictionary ให้ความหมายของ สงคราม ว่า สถานการณ์ซึ่งประเทศ 2 ประเทศ หรือมากกว่า หรือกลุ่มคนหลายกลุ่มต่อสู้กันในระยะเวลาหนึ่ง เช่น สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์

ในเอกสาร The Fundamentals of British Maritime Doctrine ให้คํานิยามของสงครามว่าเป็นสิ่งที่ยากในการให้คํานิยามอย่างกระจ่างชัด การให้คํานิยามในแง่ทางกฎหมาย ถือเอาการประกาศสงครามเป็นสิ่งที่ถูกต้องและรวมถึงระยะเวลาตั้งแต่การประกาศสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเริ่มต้นสู้รบกัน อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ ค.ศ. 1964 เป็นต้นมา ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีประเทศใดประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เนื่องจากถูกตั้งเป็นข้อห้ามของสหประชาชาติ ตัวอย่างเช่น ไม่มีการประกาศสงครามก่อนที่จะเกิดสงครามเวียดนาม สงครามอิรักอิหร่าน สงครามฟอล์กแลนด์ และสงครามอ่าว สงครามยังแสดงถึงการรับรู้เป็นอย่างสูงของคู่สงคราม ผู้ก่อความไม่สงบคงตระหนักว่าพวกเขาตกอยู่ในภาวะสงครามในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าสถานการณ์นั้นเป็นเพียงความไม่สงบเรียบร้อยในยามปกติเท่านั้น

เท่าที่ค้นคว้ายังไม่มีคำนิยามของสงครามที่ยอมรับเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกครับ

อย่างไรก็ดี ลองมาดูคดีศึกษาเรื่องแรกกันนะครับ

ปี ค.ศ. 2014 ผู้ผลิตหนังชุดทางทีวีเรื่องหนึ่งของสหรัฐได้ยกกองไปถ่ายทำที่กรุงยูซาเร็ม ประเทศอิสราเอล ระหว่างช่วงหนึ่งของการถ่ายทำ ปรากฏมีกลุ่มฮามาสได้ยิงจรวดหลายลูกจากฐานที่ตั้งบริเวณฉนวนกาซ่าเข้าไปในประเทศอิสราเอล และทางประเทศอิสราเอลได้ดำเนินการตอบโต้กลับไป ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย กองถ่ายทำจำต้องเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่น อันส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

เนื่องจากผู้ผลิตหนังชุดทางทีวีเรื่องนี้ได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่เรียกว่า “Television Production Insurance Policy กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง จึงได้ไปเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวกับบริษัทประกันภัยของตน แต่กลับได้รับการปฏิเสธโดยอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นข้อที่ 1 และข้อ 2 จาก 3 ข้อยกเว้นของกลุ่มนี้ อันได้แก่

1. สงคราม ไม่ว่าจะได้มีการประกาศหรือไม่ก็ตาม หรือสงครามกลางเมือง หรือ
 2. การปฏิบัติการเยี่ยงสงครามด้วยกำลังทางทหาร รวมถึงการขัดขวาง หรือการป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งได้กระทำขึ้นมาโดยรัฐบาล รัฐเอกราช หรือผู้มีอำนาจอื่นใด หรือ
3. การแข็งข้อ การกบฎ การปฏิวัติ การช่วงชิงอำนาจ หรือการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการขัดขวาง หรือการป้องกันการกระทำใด ๆ ดังกล่าว

ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังชุดทางทีวีรายนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจำต้องยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเห็นพ้องกับบริษัทประกันภัยแห่งนั้นว่า การกระทำดังกล่าวระหว่างกลุ่มฮามาสกับประเทศอิสราเอลเป็นการก่อสงคราม หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงครามด้วยกำลังทางทหารขึ้นมาตามความเห็นของคนทั่วไปแล้ว

ผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า ศาลชั้นต้นควรแปลความหมายของภัยสงครามตามแนวทางปฏิบัติในธุรกิจประกันภัยแทนที่จะเป็นตามความเข้าใจของคนทั่วไป ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาศาลในคดีที่ผ่านมาได้ให้ความหมายถึง การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ระหว่างรัฐเอกราชกับรัฐเอกราชด้วยกันเอง แต่เนื่องจากกลุ่มฮามาสมิได้อยู่ในสถานภาพของรัฐเอกราช ฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้อยู่ในความหมายของ “สงคราม” หรือ “การปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม” ดังที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทตามที่บริษัทประกันภัยกล่าวอ้าง

ส่วนกรณีจะตกอยู่ในข้อยกเว้นข้อที่ 3 หรือเปล่านั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาไปถึง จึงให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาเสียก่อน  

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Universal Cable Productions, LLC, et al. v. Atlantic Specialty Ins. Co., 929 F.3d 1143 (9th Cir. July 12, 2019))

ข้อสังเกต

ลองย้อนกลับไปดูคำนิยามทั่วไปข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความหมายของภัยสงคราม หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงครามในธุรกิจประกันภัยจะแคบกว่า

บางท่านอาจฉงนใจที่ผมเคยทิ้งท้ายไว้สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะนำเรื่องการประกันภัยไซเบอร์มาเล่าให้ฟัง แต่ทำไมกลับมาพูดถึงภัยสงครามเสียได้? รับรองครับตอนต่อไปถึงคิวเสียทีครับ อย่าเพิ่งหงุดหงิดนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 114: ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?


(ตอนที่หก)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วางหลักเรื่องละเมิดไว้ในมาตรา 420 ว่า บุคคลมีความผิดฐานละเมิด หากได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นนั้นได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ สิทธิ หรือทรัพย์สิน

ฉะนั้น การกระทำละเมิดจึงเป็นกรณีเฉพาะบุคคล แต่อาจจำต้องรับผิดจากการกระทำของบุคคลอื่นได้ ในกรณีที่มีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกันเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เป็นต้นว่า กรณีนายจ้างกับลูกจ้าง กรณีตัวการกับตัวแทน กรณีพ่อแม่กับลูก ครูกับนักเรียน

โดยหลักการทั่วไป บุคคลใดจึงไม่ควรต้องมารับผิดแทนจากการกระทำละเมิดของคนร้าย เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้อย่างชัดแจ้ง เช่น มีหน้าที่ตามสัญญา เป็นผลโดยตรงจากอุบัติเหตุที่บุคคลนั้นก่อให้เกิดขึ้นมา เป็นต้น

ลองพิจารณาดูจากแนวคำพิพากษาดังต่อไปนี้กันนะครับ

1) แนวทางไม่จำต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738/2552
จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าพิพาทซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อเวลา 23 นาฬิกา การที่จำเลยที่ 2 ให้รถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทออกเดินทางในเวลากลางคืนต่อเนื่องจากเวลาที่รับมอบสินค้าพิพาท โดยพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าพิพาทไปตามทางหลวงซึ่งจัดไว้เป็นทางสัญจรสาธารณะ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ประกอบการขนส่งด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่สินค้าพิพาทสูญหาย เพราะถูกโจรกรรมในระหว่างสัญจรบนทางหลวง จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันขัดขวางได้ และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3220/2553
นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคล ทั้งการละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำก็ไม่เป็นละเมิด การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดโดยใกล้ชิด จึงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในห้องชุดของโจทก์ จะถือเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดฐานต่อโจทก์ฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 455/2554
ผู้ถูกฟ้องคดี (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล) ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี (ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล) อยู่เวรยามในวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกา ถึงเวลา 08.30 นาฬิกาของวันที่ 26 ตุลาคม 2545 แต่ปรากฏว่าเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ได้มีคนร้ายทำการโจรกรรมรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งจอดไว้ในบริเวณที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบลไป ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 มกราคม 2548 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 134,610 บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือยื่นอุทธรณ์ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

มีข้อกฎหมายสำคัญ คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 10 ซึ่งวางหลักเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐว่า หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยจะต้องคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี และความผิดหรือบกพร่องของหน่วยงานรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมประกอบด้วย

คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ด้วยการที่ผู้ฟ้องคดีจอดรถยนต์ขวางโรงจอดรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถนำรถยนต์ที่สูญหายเก็บเข้าไว้ได้ตามปกติ และการที่ไม่ได้เก็บรักษารถยนต์ไว้ในโรงเก็บรถยนต์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ถูกโจรกรรมไป

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมให้การรับสารภาพว่า มีการเตรียมการแบ่งหน้าที่กันทำ รถยนต์จอดอยู่บริเวณข้างโรงจอดรถภายในที่ทำการ มีการปิดล็อดประตูรถยนต์และประตูรั้ว การที่รถยนต์สูญหายเกิดจากคนร้ายจำนวน 6 คน ได้โจรกรรมรถยนต์ โดยใช้ไขควงปากแบนถอดกระจกด้านหลังคนขับ ปลดล็อคประตูรถยนต์และพวงมาลัย และใช้ไขควงขนาดใหญ่งัดประตูรั้วทางเข้าออกช่องที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และทำการต่อสายไฟตรง ขับรถออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน โดยลักษณะการกระทำของคนร้ายได้ร่วมกันเป็นแก๊งลักรถยนต์ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการเตรียมการเป็นอย่างดี และได้ร่วมกันโจรกรรมรถยนต์มาแล้วหลายคัน จึงรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาซึ่งมีจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญในการโจรกรรมรถยนต์ มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า แม้ว่าในคืนเกิดเหตุผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามจะนอนอยู่ภายในที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ก็เป็นการยากที่จะป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมไป เนื่องจากในสภาวะเช่นนั้นกลุ่มผู้ต้องหาสามารถจะทำร้ายผู้ที่ขัดขวางการโจรกรรมได้ตลอดเวลา ดังนั้น หากผู้ฟ้องคดีจะอยู่เวรในคืนเกิดเหตุ ก็ไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้มีการโจรกรรมรถยนต์ไปได้

และพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้ง และแม้ว่าจะจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่จอดรถยนต์ แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่ทำการโจรกรรมรถยนต์ ยังรับฟังไม่ได้ว่า รถยนต์จะไม่ถูกโจรกรรมโดยเด็ดขาด จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำการด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นผลให้รถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลถูกโจรกรรม

ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 10  ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจาก เรื่องเล่า ... คดีปกครอง เปิดปมคิด พิชิตปมปัญหา by  ลุงเป็นธรรม เล่ม 2, สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง : สิงหาคม 2556)

2) แนวทางจำต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 878/2544
จำเลยทำสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยกับบริษัท อ. โดยยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท อ. ในกรณีที่ทรัพย์สินสูญหายเนื่องจากการโจรกรรม ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินของบริษัท อ. สูญหายไปเนื่องจากการโจรกรรม จำเลยจึงต้องรับผิดต่อบริษัท อ. ตามสัญญา เมื่อทรัพย์สินที่สูญหายเป็นทรัพย์สินที่บริษัท อ. ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท อ. ไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท อ. เรียกร้องเอาจากจำเลยตามสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5763/2541
รถยนต์โดยสารของโจทก์ได้เกิดอุบัติเหตุมีผู้โดยสารตกจากรถของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีฐานะเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน ได้กระทำการโดยนำรถคันที่เกิดเหตุมาจอดไว้ที่ริมถนนหน้าสถานีตำรวจ เพื่อมิให้กีดขวางทางจราจรตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ต่อมาอุปกรณ์ในรถของโจทก์สูญหายในขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของพนักงานสอบสวน เหตุละเมิดซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว หากแต่มิได้เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 แต่เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนมีคำสั่งยึดรถเนื่องจากรถที่สั่งยึดเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานสอบสวนนำรถไปจอดอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจ โดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร เป็นเหตุให้อุปกรณ์ในรถสูญหายไปบางส่วน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 ไม่ว่าผู้แทนของโจทก์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นจะเป็นจำเลยที่ 1 หรือพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ก็ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

ข้อสังเกต

กรณีที่คนร้ายเข้าไปจี้ชิงทรัพย์ แนวทางคำพิพากษาศาลต่างประเทศกับไทยไม่ใคร่แตกต่างกัน แต่ถ้ากรณีที่คนร้ายเข้าไปทำร้ายต่อชีวิต ร่างกายของบุคคลอื่นภายในสถานที่ ศาลต่างประเทศจะค่อนข้างเข้มในการพิสูจน์ให้ศาลนั้นยอมรับฟังได้ว่า เจ้าของสถานที่แห่งนั้นมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อ หรือมีส่วนประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาความปลอดภัยจริง ซึ่งโอกาสที่ผู้เสียหายจะชนะคดีลำบากมาก อยากจะเชื่อว่า ศาลไทยคงวางแนวทางไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าสัญญาว่าจ้างเหมาให้บริการรักษาความปลอดภัยระบุขอบเขตอย่างชัดเจนให้ดูแลความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ว่าจ้างกับพนักงานด้วยแล้ว เช่นนี้ตัวพนักงานของผู้ว่าจ้างอาจมีโอกาส สำหรับบุคคลอื่นที่เข้าไปในสถานที่แห่งนั้น คงต้องเหนื่อยมากเช่นเดิมในการที่จะพิสูจน์

ตอนหน้าจะเป็นแนวทางคำพิพากษาศาลต่างประเทศเรื่องการประกันภัยไซเบอร์ (Cyber Insurance Dispute) ตามคำร้องขอครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/