วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 114: ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?


(ตอนที่หนึ่ง)

เราท่านอาจเคยรับฟังข่าวโจรจี้ชิงทรัพย์ร้านสะดวกซื้อ ชิงเงินในธนาคาร หรือชิงทองในร้านทองกันหลายครั้งหลายครากันแล้ว แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่สร้างกระแสความรู้สึกร่วมกันมากเท่ากับเหตุการณ์สะเทือนใจที่คนร้ายเข้าไปจี้ชิงทอง พร้อมยิงผุ้คนจนตายและเจ็บหลายคน ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ในที่สุดคนร้ายก็ไม่อาจหลุดรอดเงื้อมมือกฎหมายไปได้
ผมคงขอผ่านข่าวคราวเรื่องนี้ไป เพราะเชื่อว่า หลายท่านได้รับทราบรายละเอียดหลายแง่มุมบ้างแล้ว แต่จะขอนำเสนอในแง่มุมบางมุมของการประกันภัยกันบ้าง โดยบางท่านได้สนใจใคร่รู้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นความประมาทเลินเล่อของห้างสรรพสินค้าที่ปล่อยให้คนร้ายเข้าไปกระทำการดังกล่าวได้หรือไม่?  หากใช่ กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายที่ทำเอาไว้ก็น่าจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ต้องสูญเสีย หรือเสียหายได้ใช่ไหม?

เท่าที่ได้ไปค้นคว้าดูทั้งของบ้านเราและต่างประเทศ ผมได้ข้อมูลมาพอสรุป ดังนี้

ก่อนอื่นจำต้องพิจารณาแนวคิดของนักกฎหมายต่างประเทศซึ่งมองว่า เจ้าของสถานที่ (หรือผู้ครอบครอง) อาจมีความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลอื่นจากการที่มิได้จัดการดูแลรักษาความปลอดภัย (Duty of Care บุคคลมีหน้าที่พึงระวังไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่ในที่นี้ผมขอแปลว่า การที่มิได้จัดการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ผู้อื่น) ภายในสถานที่ของตนได้ดีพอ ซึ่งบางประเทศเห็นว่า อาจรวมถึงกรณีที่เกิดเนื่องจากการกระทำโดยเจตนาของคนร้ายที่เข้ามาทำอันตรายต่อบุคคลอื่นในสถานที่ของตนด้วย ส่วนการที่ผู้เสียหายจะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากเจ้าของสถานที่นั้นได้หรือไม่? ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ให้ศาลยอมรับฟังด้วย

บุคคลภายนอกที่เข้ามาในสถานที่นั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท โดยจะมีการวางแนวทางระดับการดูแลรักษาความปลอดภัยแตกต่างกันไป กล่าวคือ

1) ผู้มิได้รับเชิญ หรือผู้บุกรุก (Trepasser)

ปกติแล้ว เจ้าของสถานที่ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่บุคคลประเภทนี้ซึ่งเข้ามาในสถานที่นั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจะมีก็อยู่ในระดับต่ำที่สุด กรณีเพียงแค่จะต้องไม่วางกับดัก หรือกระทำการสิ่งใดโดยเจตนาอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บุกรุกเท่านั้น แต่ระดับอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ หากเป็นผู้บุกรุกซึ่งเจ้าของสถานที่คุ้นเคยกับพฤติกรรมของผู้บุกรุกหน้าเดิมอยู่แล้ว และละเลยไม่พยายามดำเนินการป้องกันด้วยกลไกทางกฎหมาย ฉะนั้น โดยทั่วไป ผู้บุกรุกซึ่งถูกคนร้ายเข้ามาทำร้ายภายในสถานที่ จึงไม่สามารถเรียกร้องให้เจ้าของสถานที่นั้นรับผิดได้
 
2) ผู้ได้รับอนุญาต หรือผู้มาเยือน (Licensee)

บุคคลประเภทนี้ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมอาจจำแนกย่อยออกได้เป็นสองลักษณะ ได้แก่ ผู้มาเยือนที่นัดหมาย (Invited Licensee) เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก เป็นต้น กับผู้มาเยือนที่ถือวิสาสะ (Uninvited Licensee) เช่น พนักงานไปรษณีย์ คนสอบถามเส้นทาง เป็นต้น เจ้าของสถานที่มีหน้าที่เพียงเตือนถึงจุดพึงระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับสถานที่ของบุคคลประเภทนี้เท่านั้น คือ อยู่ระดับกลางของการดูแลรักษาความปลอดภัย เช่นนี้ ในกรณีที่มีคนร้ายบุกเข้ามาทำร้ายผู้มาเยือนจึงมิอาจเรียกร้องให้เจ้าของสถานที่รับผิดได้ เพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าของสถานที่นั้นเอง

3) ผู้ได้รับเชิญ (Invitee)

เป็นบุคคลประเภทซึ่งเจ้าของสถานที่จะได้ประโยชน์จากการที่เข้ามาในสถานที่ของตน โดยแบ่งย่อยออกได้เป็นผู้ได้รับเชิญทั่วไป (Public Invitee) เช่น ลูกค้า และผู้ได้รับเชิญทางธุรกิจ (Business Invitee) เช่น คู่ค้า พนักงานขาย พนักงานธนาคาร เป็นต้น เนื่องจากเจ้าของสถานที่มุ่งหวังประโยชน์จากผู้ได้รับเชิญเหล่านี้ จึงจำต้องใช้ระดับการดูแลรักษาความปลอดภัยสูงสุด ด้วยการเตือนถึงอันตรายที่ตนรับรู้ และจะต้องหมั่นคอยตรวจตราดูแลรักษาความปลอดภัยให้อยู่ในสภาพที่ดี รวมทั้งการใช้ความระมัดระวังถึงเหตุอันพึงคาดหวังได้กรณีที่อาจมีคนร้ายบุกเข้ามาด้วย (Foreseeable Third-party Crimes)

เมื่อเราเห็นภาพประเภทของบุคคลที่เข้ามากับระดับการดูรักษาความปลอดภัยของเจ้าของสถานที่ต่อบุคคลเหล่านั้นแล้ว ต่อไปมาลองดูตัวอย่างคดีศึกษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศกันบ้างในสัปดาห์หน้านะครับ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเราซะทีเดียว แต่น่าจะเทียบเคียงได้บ้าง

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 113: จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?


(ตอนที่สี่)

สำหรับประเด็นข้อพิพาทของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับดังกล่าวที่เหลืออีกสองประเด็น ได้แก่

(2) ความคุ้มครองในส่วนของค่าปรับการผิดสัญญา
ครั้นพิจารณาดูจากคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ซึ่งเขียนว่า

ตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพร้อมคำแปล ซึ่งจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าแปลผิดหรือไม่ถูกต้อง ระบุการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและความคุ้มครองว่า

"การสูญเสียรายได้หรือค่าเช่า ค่าปรับที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมีสาเหตุมาจากการประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมถึงความสูญเสียหรือความเสียหายต่อระบบหรืออุปกรณ์เครื่องจักร (โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อยกเว้นของกรมธรรม์)"

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดค่าปรับตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่ เห็นว่า ค่าปรับที่โจทก์ต้องจ่ายอันเนื่องจากการผิดสัญญาไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้า/หรือพลังงานความร้อนให้แก่บริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด เดือนละ 2,560,000 บาท หรือวันละ 85,333.33 บาท ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงัก ระบุการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนการสูญเสียค่าปรับที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมีสาเหตุมาจากการประกันภัย การเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมถึงความสูญเสียหรือความเสียหายต่องานระบบหรืออุปกรณ์เครื่องจักร ประกอบกับสัญญาโอนสิทธิโครงการลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ระหว่างโจทก์ ผู้รับโอนกับบริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด มีข้อตกลงระบุให้โจทก์ต้องรับผิดต่อบริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด เมื่อโจทก์ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าและ/หรือพลังงานความร้อนให้บริษัทเดอะสยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด ได้ และจำเลยรับประกันธุรกิจหยุดชะงักพิพาทเกี่ยวกับสถานีผลิตไฟฟ้าและพลังงงานความร้อนเพื่อขายให้แก่บุคคลภายนอก หากเกิดความเสียหาย ทำให้โจทก์ต้องผูกพันและรับผิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญา และขณะจำเลยตกลงทำสัญญาประกันธุรกิจหยุดชะงัก ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และตามกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงักระบุความรับผิดของจำเลยเกี่ยวกับค่าปรับไว้ด้วย ค่าปรับดังกล่าวจึงเป็นความเสียหายที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ที่จำเลยยอมรับว่าต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่า โจทก์ได้ชำระค่าปรับให้แก่บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ หรือบุคคลภายนอกได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระแล้วหรือไม่ ส่วนการที่บุคคลภายนอกจะได้รับความเสียหายหรือไม่เนื่องจากไปซื้อกระแสไฟฟ้าจากบุคคลอื่น ก็เป็นสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ จำเลยจึงต้องรับผิดค่าปรับต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วย ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับมาตรฐานภาษาไทย (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) ซึ่งให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 สำหรับถ้อยคำที่เกี่ยวข้องได้ระบุตรงหมวดที่ 3 ข้อยกเว้นว่า
.  สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
  ……………………………….
  2. กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ อันเป็นผลมาจากความเสียหายอันมีสาเหตุมาจากหรือเกิดขึ้นจาก
      2.1 การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือผู้กระทำการแทน หรือในนามของผู้เอาประกันภัย
      2.2 การหยุดทำงาน การล่าช้า การสูญเสียตลาด หรือความเสียหายต่อเนื่อง (consequential) หรือความเสียหายโดยอ้อมไม่ว่าลักษณะใด ๆ ก็ตาม

โดยทั่วไป ค่าปรับจะไม่คุ้มครองเนื่องจากถือเป็นความเสียหายสืบเนื่องจากความเสียหาย แต่อาจตกลงเป็นกรณีพิเศษให้ขยายความคุ้มครองได้โดยกำหนดเป็นวงเงินความเสียหายส่วนแรก (First Loss) (Business Interruption Insurance Factsheet, CII)

ในคดีนี้ได้ระบุชัดเจนให้ความคุ้มครองถึง จึงปฏิเสธความรับผิดลำบาก

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ คำว่า “ความเสียหายต่อเนื่อง (consequential)” ที่ระบุยกเว้นไว้ในข้อยกเว้น 2.2 ข้างต้น มีความหมายเช่นใด? เพราะเมื่อเปิดพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) หน้า 67 ปรากฏถ้อยคำ ดังนี้

Consequential loss
ความเสียหายสืบเนื่อง ความเสียหายที่เกิดจากการไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินเนื่องจากทรัพย์สินสูญหายหรือเสียหาย

Consequential loss insurance
การประกันภัยความเสียหายสืบเนื่อง การประกันภัยความเสียหายทางการเงินซึ่งเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ได้รับความคุ้มครอง

ตกลงแล้วคำภาษาอังกฤษมาจากคำศัพท์เดียวกัน แต่แปลภาษาไทยออกมาต่างกัน และเปิดพจนานุกรมศัพท์ไทย-ไทย หาไม่เจอว่า “ความเสียหายต่อเนื่อง” มีความหมายเช่นใด? ยิ่งไปตรวจสอบถ้อยคำเดียวกันนี้ของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับมาตรฐาน มีเขียนทั้งสองคำ แต่ไม่อาจทราบถึงเจตนารมณ์ได้ว่า ตั้งใจเขียนให้ต่าง หรือพิมพ์ผิดกันแน่ ส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า

(3) วิธีการบังคับใช้ความเสียหายส่วนแรก 7 วัน

ประเด็นข้อนี้ มักจะสร้างปัญหาในการตีความทั้งในต่างประเทศด้วยว่า ถ้อยคำที่เขียนสามารถใช้บังคับได้จริงหรือ? บางครั้งจะเห็นเขียนว่า “ความเสียหายส่วนแรก 7 วันแรก” ก็มี

ส่วนนี้ คือ ส่วนที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบเอง ปกติในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินจะรู้จักในชื่อ “ความเสียหายส่วนแรก” หรือ “ความรับผิดส่วนแรก” ซึ่งกำหนดเป็นวงเงิน แต่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเห็นว่า น่าจะกำหนดเป็นจำนวนวันเหมาะสมกว่า โดยจะเรียกว่า “ช่วงเวลารับผิดส่วนแรก (Time Excess)” หรือ “ระยะเวลารอคอย, ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period)

ครั้นพอนำไปบังคับใช้จริง อย่างในคดีนี้ สรุปว่า ระยะเวลาในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Indemnity Period) เท่ากับ 80 วัน หมายถึง 7 วันแรกจะไม่คุ้มครองให้ คือ จะเริ่มคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่ 8 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 80 จากนั้นค่อยนำช่วงเวลาดังกล่าวคำนวณออกมาเป็นตัวเงิน เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ในคดีนี้ ศาลฎีกาท่านวินิจฉัยว่า เมื่อคำนวณค่าสินไหมทดแทน 80 วัน เป็นค่าขาดรายได้เฉลี่ยวันละ 561,804.57 บาท เป็นเงิน 44,944,365.60 บาท และรวมกับค่าปรับเฉลี่ยวันละ 85,333.33 บาท จำนวน 80 วัน คิดเป็นค่าปรับ 6,826,666.40 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด 51,771,032 บาท เมื่อจำนวนเงินเอาประกันภัยจำกัดความรับผิดไว้เพียง 30,000,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก 30,000,000 บาท เต็มตามจำนวนเงินเอาประกัน

สมมุติในการบังคับใช้ความเสียหายส่วนแรก 7 วัน บริษัทประกันภัยจะนำเอาค่าเสียหายเฉลี่ยรายวันไปคูณกับจำนวน 7 วัน ออกมาได้ตัวเลขเท่าไหร่แล้วนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยอาจโต้แย้งได้ว่า การทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นตัวเลขเฉลี่ยรายวันของระยะเวลาความเสียหายทั้งหมด 80 วัน สิ่งที่ถูกต้องตามถ้อยคำ บริษัทประกันภัยควรคำนวณจากตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 7 วัน ถ้าหามาไม่ได้ ก็ไม่สามารถนำมาหักจากค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดได้

ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายบริษัทประกันภัยเลี่ยงไปกำหนดความเสียหายส่วนแรกเป็นตัวเงินเช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินจะช่วยลดปัญหาข้อโต้แย้งเช่นนั้นลงได้บ้าง

สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาท่านวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อมาว่า ความเสียหายส่วนแรกสามารถนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักได้หรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันธุรกิจหยุดชะงัก ระบุ "ความเสียหายส่วนแรก 7 วัน" โดยไม่ปรากฏว่ามีการระบุข้อความไว้ชัดแจ้งในตารางกรมธรรม์ว่า ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายความเสียหายส่วนแรกเอง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีข้อตกลงให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายความเสียหายส่วนแรก 7 วัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ไม่สามารถนำความเสียหายส่วนแรก 7 วัน หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น สาเหตุหลักคดีนี้เสมือนมาจากความไม่ชัดเจนของถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมากกว่า ซึ่งประเทศอังกฤษก็เจอปัญหาลักษณะนี้บ้างเหมือนกัน รับฟังมาว่า คงจะมีการนำไปทบทวนปรับปรุงถ้อยคำ แต่ไม่ทราบว่า จะสำเร็จเมื่อใด?

ฉะนั้น เมื่อกลับมาดูของบ้านเรา อย่างที่จั่วหัวข้อล่ะครับว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?

เรื่องต่อไป : ธนาคาร หรือศูนย์การค้าจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือเปล่าที่มีโจรเข้าไปจี้ปล้น?

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 113: จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?


(ตอนที่สาม)

ตอนล่าสุดได้ทิ้งท้ายว่า สรุปแล้ว วัตถุประสงค์ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองอะไร? กำไรขั้นต้น หรือการสูญเสียรายได้กันแน่

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติของการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักซึ่งมีอายุยาวนานสองร้อยกว่าปี ได้มีการลองผิดลองถูกเรื่อยมาจนถึงเงื่อนไขความคุ้มครองปัจจุบันที่ถูกใช้มานับร้อยปีแล้ว โดยพยายามยึดหลักการประกันภัยในเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง (Principle of Indemnity) เพื่อทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้เกิดความเสียหายขึ้นมา โดยสามารถแสดงวิธีการคำนวณเป็นสูตรคณิตศาสตร์ให้ผู้ขอเอาประกันภัยได้เห็นภาพตั้งแต่ก่อนจะตกลงทำประกันภัยนี้ด้วยซ้ำไป

ทำได้ยังไง?

อย่างที่เคยเกริ่น ต้องขอบคุณตารางมหัศจรรย์ของ Mr. Brian Berry

สกุลเงิน - บาท
รายการ
ก่อนเกิดเหตุ
%
หลังเกิดเหตุ
%
ยอดรายได้
100,000,000

50,000,000

ค่าใช้จ่ายผันแปร
70,000,000
70
35,000,000
70
ค่าใช้จ่ายคงที่
20,000,000
20
20,000,000
40
กำไรสุทธิ
10,000,000
10
-
-
ขาดทุนสุทธิ
-
-
(5,000,000)
(10)

ธุรกิจที่จะทำประกันภัยประเภทนี้ได้จำต้องมีระบบบันทึกบัญชีมาตรฐาน เพราะจะอาศัยอ้างอิงเป็นหลักฐานเวลากำหนดทุนประกันภัยและเวลาพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย

อย่างไรก็ดี ข้อควรคำนึง คือ คำเรียกบางคำจะให้ความหมายเช่นเดียวกับศัพท์บัญชี แต่บางคำจะมีความหมายแตกต่างไป ดั่งเช่น “กำไรขั้นต้น” โดยทั่วไป ในแง่การประกันภัยประเภทนี้หมายความถึง ผลรวมระหว่างค่าใช้จ่ายคงที่กับกำไรสุทธิเท่านั้น

กลับมาพิจารณาตัวอย่างตารางข้างต้นที่เปรียบเทียบงบบัญชีกำไรขาดทุนของโรงงานผลิตแห่งหนึ่งก่อนเกิดเหตุความเสียหายกับภายหลังความเสียหาย 

ก่อนเกิดเหตุ โรงงานแห่งนี้มีกำไรสุทธิอยู่ 10 ล้านบาทหรือคิดเป็น 10% ของยอดรายได้

ความเสียหายจากไฟไหม้ส่งผลทำให้ผลประกอบการกลายเป็นขาดทุนสุทธิ 5 ล้านบาทหรือคิดเป็น (10%) ของยอดรายได้หลังเกิดเหตุ

ถ้าโรงงานแห่งนี้มีประกันภัยประเภทนี้คุ้มครองอยู่ บริษัทประกันภัยจะทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กลับมามีกำไรสุทธิได้ดังเดิม

คุณเชื่อคำพูดเช่นนี้ของบริษัทประกันภัยไหมครับ?

ถ้าไม่เชื่อ ก็ต้องพิสูจน์ ผมมักใช้คำถามคำตอบลักษณะนี้เวลาบรรยายการประกันภัยประเภทนี้

หากนำข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ แบบ 1 สำหรับการประกันภัยกำไรขั้นต้น (แบบหลักเกณฑ์ผลต่าง) มาใช้บังคับกับตัวอย่างนี้  

(ก)  ในกรณีของการลดลงของยอดรายได้ :
       บริษัทจะชดใช้จำนวนเงินที่คำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้น คูณกับจำนวนยอดรายได้ที่ขาดหายไป ในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

กำไรขั้นต้นก่อนเกิดเหตุ (ผลรวมระหว่างค่าใช้จ่ายคงที่กับกำไรสุทธิ) คือ 30 ล้านบาท (20 ล้านบาท + 10 ล้านบาท) หรือเท่ากับอัตรากำไรขั้นต้น 30% นั่นเอง

เมื่อนำไปคูณกับยอดรายได้ที่ขาดหายไป ในที่นี้ คือ 50 ล้านบาท (100 ล้านบาท - 50 ล้านบาท) ผลลัพธ์ที่ได้จะเท่ากับค่าสินไหมทดแทนที่จะได้รับ 15 ล้านบาท เมื่อนำไปบันทึกระบบบัญชีจะแสดงผลกลับมาเป็นกำไรสุทธิดังเดิม

แต่ถ้าเปลี่ยนไปทำทุนประกันภัยจากยอดรายได้แทน อัตราที่จะนำใช้คำนวณเท่ากับ 100% ผลลัพธ์ที่ได้จะเท่ากับ 50 ล้านบาท ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะรายการค่าใช้จ่ายผันแปรที่ขาดหายไป 35 ล้านบาท (70 ล้านบาท - 35 ล้านบาท) ไม่ถือเป็นความเสียหายเนื่องจากเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้ใช้จ่ายออกไปจริง จะต้องนำมาหักจากผลลัพธ์ที่ได้นั้น ตัวเลขคงเหลือจะไม่แตกต่างกับของกำไรขั้นต้น แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้เอาประกันภัยเสียเบี้ยประกันภัยโดยเปล่าประโยชน์

นั่นคือ เหตุผลสำคัญที่ทำไมบริษัทประกันภัยถึงกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองให้เป็นเกณฑ์กำไรขั้นต้น

โปรดระลึกด้วยนะครับว่า ตัวอย่างนี้เป็นเพียงหลักการพื้นฐานเบื้องต้น เพราะในความเป็นจริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ อีกที่คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายจำต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันเสียก่อน เพื่อลดข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ให้เหลือน้อยที่สุด

การประกันภัยประเภทนี้จึงอาจไม่ง่ายนักเวลาจะทำประกันภัย และเวลาพิจารณาค่าสินไหมทดแทน แต่ให้ประโยชน์อย่างมากมายแก่ธุรกิจและแก่สังคมในภาพรวม ในช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ผมพยายามย้ำเสมอเวลาบรรยายต่ออายุบัตรตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัยว่า ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใดที่ประสบภัยและมีประกันภัยประเภทนี้อยู่ เราคงไม่เห็นภาพคนงานถูกเลิกจ้างหรือถูกลอยแพดั่งที่ปรากฏในภาพข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชวนหดหู่ใจนะครับ

ตอนหน้าจะมาคุยกันต่อในอีกสองประเด็นที่เหลือ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563

เรื่องที่ 113: จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทประกันภัยต่อไป เมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ออกมาเช่นนั้น?


(ตอนที่สอง)

ตอนที่ผ่านมา ผมได้จำแนกและเรียบเรียงประเด็นข้อพิพาทของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจากตัวอย่างคดีศึกษาดังกล่าว ออกได้เป็นสามประเด็น ดังนี้

(1) วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทน
(2) ความคุ้มครองในส่วนของค่าปรับการผิดสัญญา
(3) วิธีการบังคับใช้ความเสียหายส่วนแรก 7 วัน

ทีนี้เราลองไล่เรียงกันทีละประเด็นกันนะครับ

1) วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทน
วิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักนั้น ต้องคำนวณหาจากกรณีใดเป็นเกณฑ์?

1.1) ผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย หรือ
1.2) รายได้ที่สูญเสียไปในช่วงระยะเวลาที่เกิดความเสียหาย

พูดอีกนัยหนึ่งว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองถึงอะไร?

1.1) กำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย หรือที่คนประกันภัยใช้คำเรียกว่า “กำไรขั้นต้น (Gross Profit)” หรือ
1.2) รายได้ที่สูญเสียไปในช่วงระยะเวลาที่เกิดความเสียหาย หรือที่คนประกันภัยใช้คำเรียกว่ายอดรายได้ที่หายไป (Shortage in Turnover)

คุณเห็นว่า ควรใช้ข้อใดเป็นเกณฑ์?

เชื่อว่า คนประกันภัยส่วนใหญ่จะเลือกข้อ 1.1) ใช่ไหมครับ?

แต่เริ่มรู้สึกไม่แน่ใจและฉงนใจตรงที่ลองไปค้นข้อมูลการประกันภัยประเภทนี้ในเวปต่าง ๆ ของบ้านเราแล้ว ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลเป็นข้อ 1.2)  

อันเป็นกรณีที่ศาลฎีกาท่านพิเคราะห์ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาทซึ่งระบุถึงเงื่อนไขความคุ้มครองว่า  

"การสูญเสียรายได้หรือค่าเช่า ค่าปรับที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยมีสาเหตุมาจากการประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด รวมถึงความสูญเสียหรือความเสียหายต่อระบบหรืออุปกรณ์เครื่องจักร (โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อยกเว้นของกรมธรรม์)"

โดยให้คำจำกัดความว่า "ธุรกิจสะดุดหยุดลง สัญญาการประกัน" ว่า

"บริษัทตกลงว่าถ้ามีอาคารหรือทรัพย์สินอื่นไม่ว่าชนิดใดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือเสียหาย โดยภยันตรายที่ได้ประกันไว้... และธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยบริษัทได้รับการสะดุดหยุดลงเนื่องจากเหตุดังกล่าว หรือได้รับการรบกวน ดังนั้น บริษัทจะจ่ายเงินประกันจำนวนที่สูญหายไปจากการสะดุดหยุดลงนั้น..."

ระบุเงื่อนไขของการจ่ายเงินชดเชยว่า 

"ถ้าหากจำนวนเงินที่เอาประกันภัยโดยรายการนี้น้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้โดยการใช้อัตรากำไรทั้งหมดต่อเงินทุนหมุนเวียนประจำปี (หรือผลคูณที่เพิ่มขึ้นตามส่วนนั้นซึ่งระยะเวลาเงินชดเชยสูงสุดเกินสิบสองเดือน) จำนวนเงินพึงจ่ายจะลดลงตามส่วน"

กรณีเงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ต้องตีความโดยเคร่งครัด หากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่โดยผู้เอาประกันภัยได้รับการสะดุดหยุดลงเนื่องจากเหตุที่รับประกันภัย แล้วทำให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ต้องสูญเสียรายได้ ฝ่ายบริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ขึ้นมาเองฝ่ายเดียวไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัย และไปตามหลักการ ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยซึ่งมิได้มีส่วนร่วมในการร่างถ้อยคำดังกล่าวขึ้นมาด้วย

ครั้นเมื่อพิจารณาคำว่า "รายได้" ก็มิได้มีระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นรายได้สุทธิหลังจากหักรายจ่ายทั้งหมดก่อน ดังนั้น กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญเสียรายได้ มิใช่การสูญเสียกำไร จึงไม่สามารถนำรายได้ไปหักค่าใช้จ่ายแล้วมาคำนวณเพื่อหาค่าความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนได้ ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่าจำเป็นต้องคำนวณผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายของโจทก์ก่อนจึงจะคำนวณค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับมาตรฐานภาษาไทย (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) ซึ่งให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 สำหรับถ้อยคำที่เกี่ยวข้องได้ระบุตรงหมวดที่ 2 ความคุ้มครองว่า

“ภายใต้ข้อบังคับ ข้อตกลงคุ้มครอง เงื่อนไขทั่วไป ข้อกำหนด ข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ ข้อยกเว้นและเอกสารแนบท้ายแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ............ บริษัทตกลงจะให้ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่นที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และมิได้มีการระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ณ เวลาใดในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และเป็นผลให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยผู้เอาประกันภัยสถานที่เอาประกันภัยหยุดชะงักลงหรือได้รับผลกระทบ บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายการที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย

และตรงคำจำกัดความภายใต้หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป

คำว่า ความเสียหาย หมายความถึง ความสูญเสียหรือความเสีย

หายทางกายภาพไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่

เอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยสำหรับ

ทรัพย์สิน

 

 คำว่า ความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ หมายความ

ถึง ความสูญเสียหรือความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจหรือ

จากการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจที่ดำเนินอยู่ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก

ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบ

ธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัย


ยังไม่พบเห็นคำว่า “การสูญเสียรายได้” ดั่งเช่นในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาทเลย

จำต้องไปตรวจสอบดูต่อข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ แบบ 1 สำหรับการประกันภัยกำไรขั้นต้น (แบบหลักเกณฑ์ผลต่าง) ซึ่งระบุเงื่อนไขความคุ้มครองเพิ่มเติมที่เลือกไว้ ดังนี้

การประกันภัยภายใต้รายการที่ 1 (ในที่นี้ คือ กำไรขั้นต้น) จะให้ความคุ้มครองเฉพาะการสูญเสียกำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจาก () การลดลงของยอดรายได้และ () การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยบริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังต่อไปนี้
(ก)  ในกรณีของการลดลงของยอดรายได้ :
       บริษัทจะชดใช้จำนวนเงินที่คำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้น คูณกับจำนวนยอดรายได้ที่ขาดหายไป ในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ดูแล้วถ้อยคำมีความชัดเจนขึ้นกว่าฉบับที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งอาจใช้ต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แตกต่างออกไป และสันนิษฐานว่า เกิดจากความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างคู่สัญญาประกันภัยตั้งแต่ตอนที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยฉบับนี้ก็อาจเป็นได้

สรุปแล้ว วัตถุประสงค์ของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองอะไร? กำไรขั้นต้น หรือการสูญเสียรายได้กันแน่

ขอไปคุยต่อตอนหน้าครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่