วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 106: เรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากร้านอาหา...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 106: เรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากร้านอาหา...: เรื่องที่ 106: เรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากร้านอาหาร ตอนที่ผ่านมาได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า คุณรับรู้ว่า อาหารไทยนั้นมีรสจัด เผ็ด และแส...
เรื่องที่ 106: เรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากร้านอาหาร


ตอนที่ผ่านมาได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า

คุณรับรู้ว่า อาหารไทยนั้นมีรสจัด เผ็ด และแสบฉุน 
เกิดมีคนอื่นผัดพริก คั่วพริก ทำอาหารรสแสบฉุนจนคุณแทบทนไม่ได้ คุณสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยเทียบเคียงกับคดีดังกล่าวได้ไหมเอ่ย?

ปัญหาลักษณะนี้มีพบเห็นได้ทั่วไป ไม่เฉพาะในบ้านเรา ต่างประเทศก็มี 

ลองดูจากตัวอย่างคดีต่างประเทศกันก่อนนะครับ

ในอาคารสำนักงานหลังหนึ่งได้ปล่อยพื้นที่บางส่วนให้เช่าเป็นร้านอาหารสองเจ้าอยู่ติดกัน สมมุติชื่อว่า ร้าน M กับร้าน C โชคร้ายที่ทั้งสองร้าน แทนที่จะต่างคนช่วยกันทำมาหากิน กลับมีปัญหาแข่งขันทะเลาะเบาะว้างกันเอง จนพลอยสร้างความเดือดร้อนไปถึงผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารแห่งนั้นไปด้วย 

เมื่อวันดีคืนดี ร้าน C ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารแห่งนั้นกับร้าน M เป็นจำเลยทั้งที่ต่างกระทำความผิดและร่วมกันกระทำความผิด ด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ฐานฉ้อโกง (ผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารแห่งนั้น) ฐานบุกรุก (ผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารกับร้าน M) ฐานทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (เจ้าของอาคารกับร้าน M) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมีสาเหตุหลักมาจากข้อกล่าวอ้างว่า ร้าน M ซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารให้สามารถประกอบกิจการทำอาหารชนิดปิ้งย่างได้ ทั้งที่ระบบระบายอากาศมิได้รองรับดีพอ ทำให้เวลาประกอบอาหารชนิดดังกล่าวได้ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ล่องลอยเข้าไปในร้านอาหารของโจทก์ อันเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวและเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ถึงขนาดทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย และส่งผลสืบเนื่องกระทบต่อรายได้และกำไรของโจทก์ด้วย จึงขอให้จำเลยหยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันทีและให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

เนื่องจากร้าน M ได้มีประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเชิงพาณิชย์แบบครอบคลุม (Commercial General Liability Insurance Policy) โดยระบุให้ทั้งผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมไว้อยู่แล้ว จึงขอให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามาต่อสู้คดีร่วมด้วย   

ศาลได้พิจารณาประเด็นที่นำเสนอสู่ศาลเกี่ยวกับความรับผิดในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว อันพอสรุปเป็นสองประเด็นได้ ดังนี้ 

1) เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Property Damage) ให้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวหรือไม่?

บริษัทประกันภัยนี้ต่อสู้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้กำหนดคำนิยามของความเสียหายต่อทรัพย์สิน หมายความถึง ความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่มีรูปร่าง (Tangible Property) ซึ่งรวมถึง ความเสียหายอันเป็นผลจากการขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์สินนั้นเองด้วย ถึงแม้จะมิได้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินนั้นก็ตาม

กรณีนี้ มิได้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินใดของโจทก์เลย มีแต่เพียงกลิ่นเท่านั้นที่อาจทำให้คนที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าของโจทก์หนีหน้าไป 

แต่โจทก์แย้งว่า คราบน้ำมันที่เกาะติดอยู่ในท่อระบายอากาศที่เกิดจากการประกอบอาหารของจำเลยได้แพร่กระจายสู่พื้นที่ของโจทก์อันอาจก่อภาวะอันตรายเกิดไฟไหม้ขึ้นมาได้ ทั้งยังมีควันพิษกับกลิ่นไม่พึงประสงค์อันใช้ประสาทสัมผัสได้รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของโจทก์จนสร้างความเสียหายและทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนนั้นได้ ซึ่งเข้าอยู่ในความหมายของความเสียหายต่อทรัพย์สินดังที่กำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวแล้ว 

ศาลมีความเห็นต้องตามคำโต้แย้งของโจทก์

2) ค่าเสียหายตามฟ้อง จำเลยจำต้องชดใช้ให้แก่โจทก์หรือไม่?

บริษัทประกันภัยนี้ต่อสู้ว่า เมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายดังที่ถูกนิยามเอาไว้แล้ว กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็จะให้ความคุ้มครองถึงค่าเสียหายโดยตรงจากความเสียหายนั้น ในที่นี้ คือ ค่าใช้จ่ายทางการเงินในการทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนสู่สภาพดังเดิม เช่น ค่าซ่อมแซม ค่าเปลี่ยนทดแทน ค่าทำความสะอาด เป็นต้น แต่สิ่งที่โจทก์เรียกร้องมา กลับมีแต่เพียงเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจ (Economic Losses) เท่านั้น โดยมิได้ร้องขอให้มีการชดใช้ค่าซ่อมแซม หรือค่าเปลี่ยนทดแทนต่อความเสียหายของทรัพย์สินใดเลย อีกทั้งร้านอาหารของโจทก์มิได้ถูกปิดกิจการเนื่องจากกลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นเลย แม้แค่หนึ่งชั่วโมง ยิ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์นั้น เป็นเพียงเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจเท่านั้น จึงไม่ตกอยู่ในข้อกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

ศาลเห็นพ้องกับข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัย วินิจฉัยว่า บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Travelers Property Casualty Company of America v. Mixt Greens, Inc., 2014 U.S. Dist. LEXIS 39548 (N.D. Cal. March 25, 2014))

เทียบเคียงกับแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548

การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสอง

เมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป
 
การตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น

ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด

เรื่องต่อไป เมื่อใดที่หัวใจวายไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ?

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 105: ฉี่ยังมีปัญหา?คราวที่แล้วเราพูดถึ...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 105: ฉี่ยังมีปัญหา?

คราวที่แล้วเราพูดถึ...
: เรื่องที่ 105: ฉี่ยังมีปัญหา? คราวที่แล้ว เราพูดถึงปัญหาเรื่องของฉี่คน คราวนี้จะมาพูดถึงฉี่สัตว์กันบ้าง คุณคิดว่า ระหว่างฉี่คนก...
เรื่องที่ 105: ฉี่ยังมีปัญหา?


คราวที่แล้ว เราพูดถึงปัญหาเรื่องของฉี่คน คราวนี้จะมาพูดถึงฉี่สัตว์กันบ้าง

คุณคิดว่า ระหว่างฉี่คนกับฉี่สัตว์ อันไหนจะเหม็นกว่ากัน?

หากยังนึกไม่ออก งั้นเราลองมาพิจารณาจากเรื่องนี้ก็แล้วกันนะครับ 

เจ้าของห้องหนึ่งของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งซึ่งได้ปล่อยให้เช่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เช่าของตนว่า รู้สึกเหม็นกลิ่นฉี่แมวโชยมาจากชั้นข้างล่าง ถัดมาอีกไม่กี่เดือน ผู้เช่าแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่าเนื่องจากทนกลิ่นฉี่แมวไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว เจ้าของห้องนั้นจึงทดลองเข้าไปพัก ปรากฏได้กลิ่นฉี่แมวโชยมาอย่างรุนแรงจริง ๆ ผ่านมาทางช่องระบบสาธารณูปโภคภายในอาคาร สันนิษฐานว่า มีห้องข้างล่างแอบเลี้ยงแมวเอาไว้หลายตัว คงมิใช่มาจากแมวเร่ร่อนแน่ เพราะกลิ่นมันแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องสะสม

เมื่อผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของห้องนั้น ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ก็ยืนยันว่า กลิ่นนั้นสร้างปัญหาต่อสุขภาพอนามัยแก่ผู้อยู่อาศัย จึงร้องขอให้เจ้าของห้องนั้นย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นชั่วคราว เพื่อทางนิติบุคคลจะได้มาดำเนินการกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นให้สิ้นซาก ผลการดำเนินการกลับล้มเหลวไม่สามารถกำจัดกลิ่นดังกล่าวได้ เจ้าของห้องนั้นได้แวะเวียนเข้ามาอาศัยอยู่ในห้องนั้นเป็นครั้งคราว ระหว่างรอหาผู้เช่ารายใหม่ แต่ก็ไม่มีใครกล้ามาเช่า สุดท้ายจำต้องตัดใจขายห้องนั้นออกไปอย่างขาดทุนมหาศาล 

ดังนั้น เจ้าของห้องนั้นได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเจ้าบ้านแบบสรรพภัยต่อบริษัทประกันภัยของตน สำหรับความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (direct physical loss) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เกิดขึ้นดังกล่าวเนื่องด้วยกลิ่นของฉี่แมวแท้ ๆ

ผมคงไม่ขอตั้งคำถามล่ะครับว่า คุณคิดว่า คำตอบของบริษัทประกันภัยจะเป็นเช่นไร? เพราะเชื่อว่า คุณคงเดาได้ไม่ยาก บริษัทประกันภัยตอบปฏิเสธแน่นอนว่า กลิ่นเหม็นมิอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมาได้ตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ กระนั้น สมมุติถ้าสามารถทำได้ ก็จะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นเรื่องมลภาวะอยู่ดี

เรื่องนี้จึงหลีกหนีไม่พ้นที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของห้องนั้นจำต้องไปขอพึ่งบารมีต่อศาล

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัย และได้ตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดีไปในยกแรก

เมื่อคดีถูกยื่นตามลำดับจนมาถึงชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงสุดได้วินิจฉัยกลับคำพิพากษาของศาลชั้นล่างด้วยการตัดสินเข้าข้างฝ่ายผู้เอาประกันภัย โดยจำแนกตามประเด็นข้อพิพาทออกมาเป็นข้อ ๆ ได้ ดังนี้

1) ประเด็นความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct Physical Loss)

ข้อกำหนดความคุ้มครองระบุว่า “คุ้มครองความเสียหายโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเพียงเฉพาะที่ความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายทางกายภาพเท่านั้น

การที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า ถึงแม้มิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้ว่า “ความเสียหายโดยตรง” นั้นหมายความถึงสิ่งใด? แต่ในความหมายทั่วไป คือ จะต้องเป็นการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพ สี หรือรูปร่างของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอย่างมองเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น

ศาลสูงสุดเห็นว่า ความเสียหายทางกายภาพไม่ควรถูกจำกัดเพียงเฉพาะกรณีการเปลี่ยนแปลงที่การมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือการสัมผัสจับต้องได้เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงการใช้ประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นด้วย 

จริงอยู่ ศาลต่าง ๆ ยังมีความเห็นแตกต่างในเรื่องการตีความประเด็นนี้

บ้างตีความแบบแคบจำกัดเพียงที่มองเห็นหรือจับต้องได้เท่านั้น 

บ้างก็ตีความแบบกว้างอย่างเช่นในคดีนี้ซึ่งรวมถึงประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นด้วย แต่ทั้งนี้ จะต้องแสดงให้รับรู้ได้อย่างชัดเจนด้วยว่า ต้องถึงขนาดส่งผลทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นไม่อาจใช้งาน หรือไม่อาจพักอยู่อาศัยได้อีกต่อไปเป็นการชั่วคราว หรืออย่างถาวรด้วย

2) ประเด็นข้อยกเว้นมลภาวะ (Pollution Exclusion)
ข้อยกเว้นมลภาวะซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึง

การระบายออก การแพร่กระจาย การรั่วไหล การเคลื่อนตัว การปล่อยออก หรือการเล็ดลอดออกไปของมลพิษ

“มลพิษ (Pollutants)” หมายความถึง สิ่งระคายเคือง หรือสิ่งปนเปื้อนใด ๆ ที่อยู่ในรูปของของแข็ง ของเหลว ก๊าซ หรือความร้อน รวมทั้งควัน ไอ เขม่า ไอควัน กรด ด่าง สารเคมี และของเสีย .....

องค์คณะศาลสูงสุดเสียงข้างมากพิจารณาว่า ถ้อยคำนั้นยังค่อนข้างกำกวม อาจตีความหมายได้หลากหลาย เพราะหากถือว่า ฉี่แมวอยู่ในความหมายเป็นมลพิษลักษณะของสิ่งระคายเคือง หรือสิ่งปนเปื้อนซึ่งก่อให้เกิดอันตรายประหนึ่งแอมโมเนียแล้ว จะพลอยส่งผลทำให้สบู่ แชมพู แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด หรือน้ำยาชำระล้างต่าง ๆ ซึ่งใช้ประจำวันในการอยู่อาศัยกลายเป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือการปนเปื้อนไปด้วยหรือ? 

ฉะนั้น มลพิษควรจำกัดอยู่ในกรณีของมลภาวะทางสภาพแวดล้อมในแง่ของกิจการพาณิชย์หรือโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยสามารถเข้าใจได้ตามสมควรว่า ควรตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวมากกว่าที่จะให้รวมถึงกลิ่นฉี่แมวเข้าไปด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงยกประโยชน์แห่งความกำกวมนี้ให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยไป

ขณะที่องค์คณะศาลสูงสุดเสียงข้างน้อยได้ทำความเห็นแย้งว่า ถ้อยคำของข้อยกเว้นนี้อ่านแล้วเข้าใจได้อย่างชัดเจนตรงตามตัวอักษรซึ่งเขียนว่า “สิ่งระคายเคือง หรือสิ่งปนเปื้อนใด ๆ” อันหมายความรวมถึงทุกสิ่งอย่าง โดยไม่มีข้อยกเว้นใดระบุเลยว่า บังคับใช้เฉพาะกิจการพาณิชย์หรือโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น

(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Mellin v. North Security Insurance Co., Inc., No. 2014-020, 2015 N.H. LEXIS 32 (Apr. 24, 2015))

นั่นคือคดีเกี่ยวกับฉี่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

ส่วนศาลไทยจะตีความอย่างไรหากเกิดคดีเช่นนี้ขึ้นมา คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับ จะสามารถเทียบเคียงกับคดีฉี่คนได้หรือเปล่า?

แล้วสมมุติกรณีนี้บ้างล่ะ คุณคิดว่า ผลทางคดีจะออกมาเช่นไร?

คุณรับรู้ว่า อาหารไทยนั้นมีรสจัด เผ็ด และแสบฉุน 

เกิดมีคนอื่นผัดพริก คั่วพริก ทำอาหารรสแสบฉุนจนคุณแทบทนไม่ได้ คุณสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยเทียบเคียงกับคดีดังกล่าวได้ไหมเอ่ย?

อยากรู้ ต้องรอติดตามตอนหน้าครับ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำ...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำ...: เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำเสนอดีไหมหนอ ? – เหตุเกิดบนรถแท็กซี่ (ตอนที่สอง) เมื่อคนขับรถแท็กซี่ผู้เอาประ...
เรื่องที่ 104: ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่ลังเลจะนำเสนอดีไหมหนอ? – เหตุเกิดบนรถแท็กซี่


(ตอนที่สอง)

เมื่อคนขับรถแท็กซี่ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยของตน ได้ถูกปฏิเสธกลับมาว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยมิได้เกิดความเสียหายแต่ประการใด แค่ทำความสะอาดล้างคราบสกปรกออกก็จบแล้ว

ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า ถ้าเป็นกรณีผู้โดยสารทำน้ำเปล่า หรือกาแฟหก ผมคงไม่มาเรียกร้องให้เสียเวลาหรอก แต่นี่เป็นน้ำฉี่นะ ไหลออกมาเยอะด้วยจนแทรกซึมเข้าไปในเบาะ ในพรมปูพื้น เจิ่งนองพื้นรถเลย ผมพยายามรีบเช็ดเท่าที่ทำได้แล้ว กลิ่นก็ยังอยู่ มันสามารถส่งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์อยู่ได้หลายวันเลยล่ะ ถ้าไม่ทำความสะอาดให้หมดจดจริง ๆ พี่ลองนึกดูสิ รถรับจ้างสาธารณะจำต้องดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดีด้วย มิฉะนั้น ผู้โดยสารคนไหนอยากจะขึ้นรถผม 

ครั้งหนึ่ง ผมเคยรับผู้โดยสารรายหนึ่งกลิ่นตัวแรงมาก ภายหลังจากเขาลงจากรถไปแล้ว กลิ่นยังลอยตลบอบอวลอยู่ในรถผมอยู่เล้ย พอมีผู้โดยสารรายอื่นโบกเรียก ครั้นพอเปิดประตูรถ ยังไม่ทันพูดอะไรเลย ก็ผงะหนีกลิ่นที่โชยออกมาทุกราย ขนาดผมแย้มกระจกไล่ก็เอาไม่อยู่ วันนั้นไม่มีใครกล้าขึ้นรถผมเลย สุดท้ายไม่มีทางเลือกจำต้องเข้าอู่ทำความสะอาดยกใหญ่ ตัวผมเองพอทนรับกลิ่นได้โดยอาศัยหลอดยาดมเสียบรูจมูกสลับไปมาทั้งสองข้าง แต่ผู้โดยสารเขามีทางเลือก เขาไม่ยอมขึ้นรถผมหรอก

ตั้งแต่นั้นมา ถ้าผู้โดยสารรายไหนถือกระปิ น้ำปลา หิ้วปลาเค็ม หรือทุเรียนจะขึ้นรถ หรือพอได้กลิ่นแปลกปลอมโชยมา ผมก็รีบตัดบทบอกปฏิเสธไม่รับเหมือนกัน แม้อาจจะถูกร้องเรียนภายหลังก็ตาม ผมยอมเสียค่าปรับนะ คิดว่าคุ้มกว่าที่จะเสียโอกาสรับผู้โดยสารอื่นทั้งวัน

เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาล

ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับบริษัทประกันภัยที่ว่า รถแท็กซี่คันที่เอาประกันภัยไม่เกิดความเสียหายขึ้น อันจะทำให้บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจฉบับดังกล่าว เพราะสามารถทำให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมอย่างง่ายดายและอย่างรวดเร็ว

แต่ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่า เมื่อมิได้กำหนดคำนิยามเฉพาะของความเสียหายเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ความเสียหายจึงหมายความรวมถึงการที่ทรัพย์สินนั้นไร้ประโยชน์ไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว (temporarily rendered unusable) โดยที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการทำให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับเหตุผลคำชี้แจงดังกล่าวของผู้เอาประกันภัย จึงพิพากษาให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว

เหตุผลที่ผมรู้สึกลังเลใจในการนำเสนอเรื่องนี้เนื่องจากมิได้เกี่ยวกับการประกันภัยโดยตรง แต่สามารถเทียบเคียงได้

1) โดยอ้างอิงมาจากคดี King v Lees (1948) 65 TLR 21 ของประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจดูเก่าไป แต่ยังมีการอ้างอิงถึงในต่างประเทศกันอยู่ และแม้เป็นคดีอาญาเกี่ยวกับการประมาททำให้เสียทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากของบ้านเราที่จำกัดเฉพาะกรณีความผิดเจตนาทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น แต่หากพิจารณาในแง่ของหลักละเมิดทางแพ่ง ผู้โดยสารรายนี้ได้กระทำละเมิดด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของรถแท็กซี่ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย 

อันเทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2544 ซึ่งเป็นคดีจำเลยกระทำละเมิดใช้ถุงพลาสติกบรรจุปัสสาวะและอุจจาระขว้างไปถูกบุคคลอื่น แล้วปรากฏว่าปัสสาวะและอุจจาระนั้นได้แตกกระจายกระเด็นไปถูกโต๊ะหมู่บูชาของโจทก์ที่อยู่ด้านข้าง แต่ไม่น่ามากนัก เพราะโต๊ะหมู่บูชานั้นซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็งลงรักปิดทองยังคงวางใช้งานอยู่ดังเดิมนับแต่วันที่เกิดเหตุจนถึงวันพิจารณาคดี (ร่วมสองปี)  แสดงว่าเมื่อทำความสะอาดแล้วก็ใช้งานได้และมิได้เกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การที่โต๊ะหมู่บูชาเปื้อนอุจจาระอันเป็นสิ่งโสโครก ย่อมทำให้เกิดความมัวหมองไม่บังควรที่จะนำโต๊ะหมู่บูชามาใช้วางพระพุทธรูปอันเป็นที่สักการะบูชาของคนทั่วไปนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นความนึกคิดของพยานโจทก์เอง ประกอบกับโจทก์ก็ยังคงใช้โต๊ะหมู่บูชาอยู่ แสดงว่าไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

2) โดยหวังว่า คงไม่ทำให้เกิดเคลมประกันภัยรถยนต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น ฉะนั้น ความเสียหายต่อตัวรถยนต์จึงมิได้จำกัดอยู่เพียงความเสียหายทางกายภาพที่ปรากฏร่องรอยความเสียหายอย่างชัดเจนเท่านั้น โดยสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีความเสียหายของรถยนต์ที่เอาประกันภัยซึ่งถูกน้ำท่วม  

เรื่องฉี่นั้นมิเพียงก่อให้เกิดข้อพิพาทด้านการประกันภัยรถยนต์เท่านั้น ยังไปสร้างปัญหาแก่การประกันภัยทรัพย์สินประเภทอื่นได้อีกด้วย ลองติดตามในสัปดาห์หน้านะครับว่า “ฉี่ยังมีปัญหา” นี้มีเรื่องราวเป็นเช่นไร?

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/