เรื่องที่ 105: ฉี่ยังมีปัญหา?
คราวที่แล้ว
เราพูดถึงปัญหาเรื่องของฉี่คน คราวนี้จะมาพูดถึงฉี่สัตว์กันบ้าง
คุณคิดว่า
ระหว่างฉี่คนกับฉี่สัตว์ อันไหนจะเหม็นกว่ากัน?
หากยังนึกไม่ออก งั้นเราลองมาพิจารณาจากเรื่องนี้ก็แล้วกันนะครับ
เจ้าของห้องหนึ่งของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งซึ่งได้ปล่อยให้เช่า
ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เช่าของตนว่า รู้สึกเหม็นกลิ่นฉี่แมวโชยมาจากชั้นข้างล่าง ถัดมาอีกไม่กี่เดือน
ผู้เช่าแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่าเนื่องจากทนกลิ่นฉี่แมวไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว เจ้าของห้องนั้นจึงทดลองเข้าไปพัก
ปรากฏได้กลิ่นฉี่แมวโชยมาอย่างรุนแรงจริง ๆ ผ่านมาทางช่องระบบสาธารณูปโภคภายในอาคาร
สันนิษฐานว่า มีห้องข้างล่างแอบเลี้ยงแมวเอาไว้หลายตัว คงมิใช่มาจากแมวเร่ร่อนแน่
เพราะกลิ่นมันแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องสะสม
เมื่อผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของห้องนั้น
ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ก็ยืนยันว่า กลิ่นนั้นสร้างปัญหาต่อสุขภาพอนามัยแก่ผู้อยู่อาศัย
จึงร้องขอให้เจ้าของห้องนั้นย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่อื่นชั่วคราว
เพื่อทางนิติบุคคลจะได้มาดำเนินการกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นให้สิ้นซาก ผลการดำเนินการกลับล้มเหลวไม่สามารถกำจัดกลิ่นดังกล่าวได้
เจ้าของห้องนั้นได้แวะเวียนเข้ามาอาศัยอยู่ในห้องนั้นเป็นครั้งคราว
ระหว่างรอหาผู้เช่ารายใหม่ แต่ก็ไม่มีใครกล้ามาเช่า สุดท้ายจำต้องตัดใจขายห้องนั้นออกไปอย่างขาดทุนมหาศาล
ดังนั้น เจ้าของห้องนั้นได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเจ้าบ้านแบบสรรพภัยต่อบริษัทประกันภัยของตน
สำหรับความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (direct physical loss) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เกิดขึ้นดังกล่าวเนื่องด้วยกลิ่นของฉี่แมวแท้
ๆ
ผมคงไม่ขอตั้งคำถามล่ะครับว่า คุณคิดว่า คำตอบของบริษัทประกันภัยจะเป็นเช่นไร?
เพราะเชื่อว่า คุณคงเดาได้ไม่ยาก บริษัทประกันภัยตอบปฏิเสธแน่นอนว่า กลิ่นเหม็นมิอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพขึ้นมาได้ตามข้อกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
กระนั้น สมมุติถ้าสามารถทำได้ ก็จะตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นเรื่องมลภาวะอยู่ดี
เรื่องนี้จึงหลีกหนีไม่พ้นที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของห้องนั้นจำต้องไปขอพึ่งบารมีต่อศาล
ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัย และได้ตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดีไปในยกแรก
เมื่อคดีถูกยื่นตามลำดับจนมาถึงชั้นศาลสูงสุด ศาลสูงสุดได้วินิจฉัยกลับคำพิพากษาของศาลชั้นล่างด้วยการตัดสินเข้าข้างฝ่ายผู้เอาประกันภัย
โดยจำแนกตามประเด็นข้อพิพาทออกมาเป็นข้อ ๆ ได้ ดังนี้
1) ประเด็นความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct
Physical Loss)
ข้อกำหนดความคุ้มครองระบุว่า “คุ้มครองความเสียหายโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเพียงเฉพาะที่ความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายทางกายภาพเท่านั้น”
การที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยต่อสู้ว่า ถึงแม้มิได้มีการกำหนดคำนิยามเอาไว้ว่า
“ความเสียหายโดยตรง” นั้นหมายความถึงสิ่งใด? แต่ในความหมายทั่วไป คือ
จะต้องเป็นการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพ สี
หรือรูปร่างของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอย่างมองเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น
ศาลสูงสุดเห็นว่า ความเสียหายทางกายภาพไม่ควรถูกจำกัดเพียงเฉพาะกรณีการเปลี่ยนแปลงที่การมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือการสัมผัสจับต้องได้เท่านั้น
แต่ควรรวมไปถึงการใช้ประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นด้วย
จริงอยู่ ศาลต่าง ๆ
ยังมีความเห็นแตกต่างในเรื่องการตีความประเด็นนี้
บ้างตีความแบบแคบจำกัดเพียงที่มองเห็นหรือจับต้องได้เท่านั้น
บ้างก็ตีความแบบกว้างอย่างเช่นในคดีนี้ซึ่งรวมถึงประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นด้วย
แต่ทั้งนี้ จะต้องแสดงให้รับรู้ได้อย่างชัดเจนด้วยว่า ต้องถึงขนาดส่งผลทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นไม่อาจใช้งาน
หรือไม่อาจพักอยู่อาศัยได้อีกต่อไปเป็นการชั่วคราว หรืออย่างถาวรด้วย
2) ประเด็นข้อยกเว้นมลภาวะ (Pollution
Exclusion)
ข้อยกเว้นมลภาวะซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึง
“การระบายออก การแพร่กระจาย
การรั่วไหล การเคลื่อนตัว การปล่อยออก หรือการเล็ดลอดออกไปของมลพิษ
“มลพิษ (Pollutants)” หมายความถึง สิ่งระคายเคือง
หรือสิ่งปนเปื้อนใด ๆ ที่อยู่ในรูปของของแข็ง ของเหลว ก๊าซ หรือความร้อน รวมทั้งควัน ไอ
เขม่า ไอควัน กรด ด่าง สารเคมี และของเสีย .....”
องค์คณะศาลสูงสุดเสียงข้างมากพิจารณาว่า ถ้อยคำนั้นยังค่อนข้างกำกวม
อาจตีความหมายได้หลากหลาย เพราะหากถือว่า ฉี่แมวอยู่ในความหมายเป็นมลพิษลักษณะของสิ่งระคายเคือง
หรือสิ่งปนเปื้อนซึ่งก่อให้เกิดอันตรายประหนึ่งแอมโมเนียแล้ว จะพลอยส่งผลทำให้สบู่
แชมพู แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด หรือน้ำยาชำระล้างต่าง ๆ ซึ่งใช้ประจำวันในการอยู่อาศัยกลายเป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
หรือการปนเปื้อนไปด้วยหรือ?
ฉะนั้น มลพิษควรจำกัดอยู่ในกรณีของมลภาวะทางสภาพแวดล้อมในแง่ของกิจการพาณิชย์หรือโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า
ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยสามารถเข้าใจได้ตามสมควรว่า
ควรตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวมากกว่าที่จะให้รวมถึงกลิ่นฉี่แมวเข้าไปด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงยกประโยชน์แห่งความกำกวมนี้ให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยไป
ขณะที่องค์คณะศาลสูงสุดเสียงข้างน้อยได้ทำความเห็นแย้งว่า
ถ้อยคำของข้อยกเว้นนี้อ่านแล้วเข้าใจได้อย่างชัดเจนตรงตามตัวอักษรซึ่งเขียนว่า “สิ่งระคายเคือง
หรือสิ่งปนเปื้อนใด ๆ” อันหมายความรวมถึงทุกสิ่งอย่าง
โดยไม่มีข้อยกเว้นใดระบุเลยว่า บังคับใช้เฉพาะกิจการพาณิชย์หรือโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Mellin v. North
Security Insurance Co., Inc., No. 2014-020,
2015 N.H. LEXIS 32 (Apr. 24, 2015))
นั่นคือคดีเกี่ยวกับฉี่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
ส่วนศาลไทยจะตีความอย่างไรหากเกิดคดีเช่นนี้ขึ้นมา คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับ จะสามารถเทียบเคียงกับคดีฉี่คนได้หรือเปล่า?
แล้วสมมุติกรณีนี้บ้างล่ะ คุณคิดว่า ผลทางคดีจะออกมาเช่นไร?
คุณรับรู้ว่า อาหารไทยนั้นมีรสจัด เผ็ด และแสบฉุน
เกิดมีคนอื่นผัดพริก คั่วพริก ทำอาหารรสแสบฉุนจนคุณแทบทนไม่ได้
คุณสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยเทียบเคียงกับคดีดังกล่าวได้ไหมเอ่ย?
อยากรู้ ต้องรอติดตามตอนหน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น