เรื่องที่ 106: เรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากร้านอาหาร
ตอนที่ผ่านมาได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
คุณรับรู้ว่า อาหารไทยนั้นมีรสจัด เผ็ด และแสบฉุน
เกิดมีคนอื่นผัดพริก คั่วพริก ทำอาหารรสแสบฉุนจนคุณแทบทนไม่ได้
คุณสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยเทียบเคียงกับคดีดังกล่าวได้ไหมเอ่ย?
ปัญหาลักษณะนี้มีพบเห็นได้ทั่วไป ไม่เฉพาะในบ้านเรา
ต่างประเทศก็มี
ลองดูจากตัวอย่างคดีต่างประเทศกันก่อนนะครับ
ในอาคารสำนักงานหลังหนึ่งได้ปล่อยพื้นที่บางส่วนให้เช่าเป็นร้านอาหารสองเจ้าอยู่ติดกัน
สมมุติชื่อว่า ร้าน M กับร้าน C โชคร้ายที่ทั้งสองร้าน
แทนที่จะต่างคนช่วยกันทำมาหากิน กลับมีปัญหาแข่งขันทะเลาะเบาะว้างกันเอง จนพลอยสร้างความเดือดร้อนไปถึงผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารแห่งนั้นไปด้วย
เมื่อวันดีคืนดี ร้าน C ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารแห่งนั้นกับร้าน M เป็นจำเลยทั้งที่ต่างกระทำความผิดและร่วมกันกระทำความผิด
ด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ฐานฉ้อโกง (ผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารแห่งนั้น)
ฐานบุกรุก (ผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารกับร้าน M) ฐานทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (เจ้าของอาคารกับร้าน M) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมีสาเหตุหลักมาจากข้อกล่าวอ้างว่า ร้าน
M ซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารให้สามารถประกอบกิจการทำอาหารชนิดปิ้งย่างได้
ทั้งที่ระบบระบายอากาศมิได้รองรับดีพอ ทำให้เวลาประกอบอาหารชนิดดังกล่าวได้ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ล่องลอยเข้าไปในร้านอาหารของโจทก์
อันเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวและเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ถึงขนาดทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย
และส่งผลสืบเนื่องกระทบต่อรายได้และกำไรของโจทก์ด้วย
จึงขอให้จำเลยหยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันทีและให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
เนื่องจากร้าน M ได้มีประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเชิงพาณิชย์แบบครอบคลุม
(Commercial
General Liability Insurance Policy) โดยระบุให้ทั้งผู้จัดการอาคารและเจ้าของอาคารเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมไว้อยู่แล้ว
จึงขอให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามาต่อสู้คดีร่วมด้วย
ศาลได้พิจารณาประเด็นที่นำเสนอสู่ศาลเกี่ยวกับความรับผิดในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว
อันพอสรุปเป็นสองประเด็นได้ ดังนี้
1) เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน
(Property
Damage) ให้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวหรือไม่?
บริษัทประกันภัยนี้ต่อสู้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้กำหนดคำนิยามของความเสียหายต่อทรัพย์สิน
หมายความถึง ความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่มีรูปร่าง (Tangible
Property) ซึ่งรวมถึง ความเสียหายอันเป็นผลจากการขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์สินนั้นเองด้วย
ถึงแม้จะมิได้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินนั้นก็ตาม
กรณีนี้ มิได้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินใดของโจทก์เลย มีแต่เพียงกลิ่นเท่านั้นที่อาจทำให้คนที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าของโจทก์หนีหน้าไป
แต่โจทก์แย้งว่า คราบน้ำมันที่เกาะติดอยู่ในท่อระบายอากาศที่เกิดจากการประกอบอาหารของจำเลยได้แพร่กระจายสู่พื้นที่ของโจทก์อันอาจก่อภาวะอันตรายเกิดไฟไหม้ขึ้นมาได้
ทั้งยังมีควันพิษกับกลิ่นไม่พึงประสงค์อันใช้ประสาทสัมผัสได้รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของโจทก์จนสร้างความเสียหายและทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนนั้นได้
ซึ่งเข้าอยู่ในความหมายของความเสียหายต่อทรัพย์สินดังที่กำหนดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวแล้ว
ศาลมีความเห็นต้องตามคำโต้แย้งของโจทก์
2) ค่าเสียหายตามฟ้อง จำเลยจำต้องชดใช้ให้แก่โจทก์หรือไม่?
บริษัทประกันภัยนี้ต่อสู้ว่า เมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายดังที่ถูกนิยามเอาไว้แล้ว
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ก็จะให้ความคุ้มครองถึงค่าเสียหายโดยตรงจากความเสียหายนั้น
ในที่นี้ คือ ค่าใช้จ่ายทางการเงินในการทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนสู่สภาพดังเดิม
เช่น ค่าซ่อมแซม ค่าเปลี่ยนทดแทน ค่าทำความสะอาด เป็นต้น แต่สิ่งที่โจทก์เรียกร้องมา
กลับมีแต่เพียงเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจ (Economic Losses) เท่านั้น โดยมิได้ร้องขอให้มีการชดใช้ค่าซ่อมแซม หรือค่าเปลี่ยนทดแทนต่อความเสียหายของทรัพย์สินใดเลย
อีกทั้งร้านอาหารของโจทก์มิได้ถูกปิดกิจการเนื่องจากกลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นเลย
แม้แค่หนึ่งชั่วโมง ยิ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์นั้น
เป็นเพียงเฉพาะความเสียหายทางเศรษฐกิจเท่านั้น จึงไม่ตกอยู่ในข้อกำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
ศาลเห็นพ้องกับข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัย วินิจฉัยว่า
บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว
(อ้างอิงและเรียบเรียงจากคดี Travelers Property Casualty
Company of America v. Mixt Greens, Inc., 2014 U.S. Dist. LEXIS
39548 (N.D. Cal. March 25, 2014))
เทียบเคียงกับแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548
การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข
โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป
ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสอง
เมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใด
ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว
หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้
ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป
ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป
การตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น
ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น
อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง
และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง
แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด
เรื่องต่อไป เมื่อใดที่หัวใจวายไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย):
เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่
https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น