วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?


(ตอนที่ห้า)

เรามาถึงบทสรุปของบทความเรื่องนี้กันเสียทีนะครับ มิฉะนั้นจะมีเนื้อหายาวเกินไป

เมื่อเราได้รับทราบตัวอย่างแนวทางคำพิพากษาต่างประเทศทั้งจากฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกากับจากฝั่งประเทศอังกฤษในการแปลความหมายของมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง (Actual Cash Value) บ้างแล้ว เราลองมาเทียบเคียงกับข้อกำหนดกับเงื่อนไขเรื่องนี้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับมาตรฐานของบ้านเรา ดังนี้

1. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย (มิใช่ที่อยู่อาศัย)
    ความคุ้มครอง
    “...บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงในขณะเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือเลือกที่จะทำการสร้างให้ใหม่ หรือซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด หรือบางส่วน

    เงื่อนไขทั่วไปในการรับประกันภัย
    5.  เงื่อนไขการเรียกร้องและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
         5.2  การชดใช้โดยการเลือกทำการสร้างให้ใหม่หรือจัด
                หาทรัพย์สินมาทดแทน
               บริษัทอาจจะเลือกทำการสร้างให้ใหม่ หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่สูญเสียหรือเสียหายทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งแทนการจ่ายเงินชดใช้การสูญเสียหรือการเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออาจจะร่วมกับบริษัทประกันภัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกระทำการดังกล่าวก็ได้
                แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องจัดสร้างให้ใหม่ให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิมหรือให้ครบถ้วนทุกประการเพียงแต่ว่าจัดไปตามแต่สภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุดและไม่ว่ากรณีใดๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย...

2. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย
    6. เงื่อนไขทั่วไป
        6.6 การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย และการชดใช้
               ค่าสินไหมทดแทน
               ในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิ์เลือกวิธีหนึ่งวิธีใด ดังต่อไปนี้
               1. กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามวิธีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ (Replacement Cost Valuation) และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวิธีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ ณ เวลา และสถานที่ที่เกิดความเสียหาย หรือ
              2.  กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามวิธีมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value) และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวิธีมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ซึ่งเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ หักด้วยค่าเสื่อมราคา ณ เวลา และสถานที่ที่เกิดความเสียหาย

        6.7 การชดใช้โดยจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน
               บริษัทอาจจะเลือกทำการสร้างให้ใหม่ หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินที่เสียหายทั้งหมด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งแทนการจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออาจจะร่วมกับบริษัทประกันภัยอื่นๆ กระทำดังกล่าวก็ได้
               แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องจัดสร้างให้ใหม่ให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิม หรือให้ครบถ้วนทุกประการเพียงแต่ว่าจัดไปตามแต่สภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ว่ากรณีใดๆ บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้องทำการสร้างให้ใหม่เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์สินในขณะที่เกิดความเสียหายหรือเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งบริษัทได้รับประกันภัย....

        6.8 การประกันภัยทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
              ในกรณีที่จำนวนเงินเอาประกันภัยเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในขณะเกิดความเสียหาย อันเนื่องมาจากภัยที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ บริษัทจะชดใช้ให้ผู้เอาประกันภัยตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง (แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย) โดยไม่นำเงื่อนไขการประกันภัยทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาใช้บังคับ....

3. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
    หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป
    12. การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
          12.1 บริษัทอาจจะเลือกทำการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน หรือซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายแทนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น
                  ถ้าบริษัทเลือกที่จะซ่อมแซมหรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน ผู้เอาประกันภัยจะต้องจัดหา แบบแปลน รายละเอียดประกอบแผนผัง ขนาด จำนวนและรายละเอียดอื่นๆ ตามที่บริษัทร้องขอตามสมควรให้แก่บริษัทโดยค่าใช้จ่ายของผู้เอาประกันภัยเอง แต่บริษัทไม่ผูกพันที่จะต้อง่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนให้เหมือนกับทรัพย์สินเดิมทุกประการ เพียงแต่ว่าจัดไปตามสภาพการจะอำนวย โดยบริษัทจะกระทำการให้สมเหตุสมผลที่สุด และไม่ว่ากรณีใดๆ บริษัทจะจ่ายไม่เกินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นในขณะที่เกิดความเสียหายหรือไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย...

ทั้งสามกรมธรรม์ประกันภัยล้วนมิได้กำหนดคำนิยามของมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ (Replacement Cost Value) และมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value) เอาไว้

เมื่อตรวจดูพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ฉบับราชบัณฑิตยสภา พบเพียงความหมายคำว่า “Actual Cash Value มูลค่าเงินสดแท้จริง : ในการประกันภัยทรัพย์สิน หมายถึง วิธีการหนึ่งในการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยและกำหนดจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกิดความสูญเสียหรือเสียหาย โดยทั่วไป มูลค่าเงินสดอาจคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการจัดหาทรัพย์สินใหม่หักด้วยค่าเสื่อมราคา มูลค่าตลาดของทรัพย์สินที่เสียหาย หรือตามกฎเกณฑ์อื่นที่เป็นที่ยอมรับแล้วแต่กรณี

ครั้นไปค้นหาข้อมูลจากเวปไซต์ของสำนักงาน คปภ. ในหัวข้อข้อมูลผู้บริโภคที่ http://www.oic.or.th/th/consumer/insurance/903 โปรแกรมตรวจสอบจำนวนเงินเอาประกันอัคคีภัย จะให้ข้อมูลต่าง ๆ เรื่องวิธีการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย พร้อมการคำนวณค่าสินไหมทดแทนเอาไว้เป็นแนวทางให้ด้วย

ขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 877 ซึ่งบัญญัติว่า
        ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
         (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
         (2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
         (3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

         อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

         ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

ก็มิได้ให้ความหมายที่ชัดเจนของจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงเอาไว้เช่นกัน

ปัญหาเวลาเกิดข้อพิพาทบ้านเรา ดูเสมือนเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยกับข้อมูลผู้บริโภคของสำนักงาน คปภ. จะให้แนวทางที่ไปในทิศทางเดียวกันอันประกอบด้วยสองวิธีการ คือ

1) มูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ (Replacement Cost Value)
    1.1) การคำนวณจำนวนเงินเอาประกันภัย
           มูลค่าราคาก่อสร้างใหม่/ซื้อใหม่ ณ วันที่ทำประกันภัย
    1.2) การคำนวณจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน
           มูลค่าราคาก่อสร้างใหม่/ซื้อใหม่ ณ วันที่เกิดความเสียหาย

2) มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value)
    1.1) การคำนวณจำนวนเงินเอาประกันภัย
           มูลค่าราคาก่อสร้างใหม่/ซื้อใหม่ ณ วันที่ทำประกันภัยค่าเสื่อมราคา
    1.2) การคำนวณจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน
           มูลค่าราคาก่อสร้างใหม่/ซื้อใหม่ ณ วันที่เกิดความเสียหายค่าเสื่อมราคา

           ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยจะกำหนดให้หักค่าเสื่อมราคาไว้อย่างชัดเจน แต่อีกสองกรมธรรม์ประกันภัยกลับมิได้กำหนดเอาไว้เลย

ขณะที่แนวทางของศาลต่างประเทศจะวางแนวทางการคำนวณจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนไว้เพิ่มเติมจากข้างต้นอีกสองวิธีการ ซึ่งสอดคล้องกับคำจำกัดความในพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย คือ

(3) มูลค่าราคาซื้อขายทั่วไป (Fair Market Value)
       มูลค่าราคาซื้อขาย ณ วันที่ทำประกันภัย มูลค่าราคาซื้อขาย ณ วันที่เกิดความเสียหาย

(4) มูลค่าราคาจากปัจจัยต่าง ๆ (Broad Evidence Rule Value)
       ตามดุลพินิจที่เหมาะสมแก่กรณี ด้วยเหตุผลที่ว่า ทรัพย์สินแต่ละรายการ แม้จะเป็นทรัพย์สินเดียวกัน สภาพที่แท้จริงอาจไม่เหมือนกันก็เป็นได้

วิธีใดสามารถให้ความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายได้ดีที่สุด? และควรให้สอดคล้องกันทั้งวิธีการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยกับวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนด้วย

ปัญหาเรื่องการหักค่าเสื่อมราคาที่เหมาะสมจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีเรื่องให้ถกเถียงไม่รู้จบเช่นเดียวกันในต่างประเทศ จะใช้หลักเกณฑ์เช่นไร? หักค่าเสื่อมราคาตามอายุการใช้งาน หรือตามสภาพที่แท้จริงกันแน่? ค่าเสื่อมราคาจะหักเฉพาะค่าวัสดุ หรือหักจากค่าแรงงานด้วย?

เอาไว้โอกาสคราวหน้าจะหยิบยกตัวอย่างคดีศึกษามาคุยให้ฟังก็แล้วกัน

ส่วนตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องจำนวนเงินวินาศภัยอันแท้จริงของบ้านเรา ค้นพบแต่กรณีที่เป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) ส่วนที่เป็นความเสียหายบางส่วน (Partial Loss) นั้นไม่เจอ จึงไม่แน่ใจว่า ศาลท่านจะพิจารณาให้หักค่าเสื่อมราคาหรือไม่? หรือจะใช้เพียงสองหลักเกณฑ์แรกเท่านั้น? เป็นสิ่งที่จำต้องคอยดูต่อไปนะครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3243/2534
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 877 วรรคสองบัญญัติให้เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกวินาศภัยไปทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เอาประกันภัย เว้นแต่ผู้รับประกันภัยพิสูจน์หักล้างได้ว่าความเสียหายของทรัพย์นั้นต่ำกว่าจำนวนเงินที่เอาประกันภัย จึงจะถือเอาความเสียหายที่เป็นจริงซึ่งต่ำกว่าได้

เรื่องต่อไป ลูกจ้างทุจริตเบียดบังเงินของนายจ้างหลายครั้ง กินเวลาหลายปี จะถือเป็นเหตุการณ์ (Occurrence) เดียว หรือหลายเหตุการณ์ และจะเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกจ้าง (Employee Dishonesty Insurance) ซึ่งต่ออายุมาตลอดได้กี่ฉบับ? 

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น