เรื่องที่ 96: การชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง
(Actual Cash Value) มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่?
(ตอนที่สาม)
กรณีนี้ฝ่ายบริษัทประกันภัยได้ตรวจสอบและไล่เรียงข้อมูลทั้งหมดแล้วได้ความว่า
1) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 เกิดไฟไหม้ครั้งแรกขึ้น และบริษัทประกันภัยตกลงชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงเป็นจำนวนเงิน 18,500 เหรียญสหรัฐ (คำนวณตามสูตรมูลค่าสร้างใหม่
ณ วันที่เกิดความเสียหาย หักด้วยค่าเสื่อมราคา)
2) วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 ผู้ตรวจสอบอาคารของรัฐได้ร้องต่อศาลให้มีคำสั่งว่า อาคารไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย
เพราะถูกทิ้งร้างว่างเปล่า และเปิดโล่ง ศาลจึงมีคำสั่งให้ผู้เอาประกันภัยเข้าไปจัดการดูแลรักษาความปลอดภัยและทำการปิดกั้นส่วนที่เปิดโล่งเสีย
แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง
แทนที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้จะดำเนินการตามคำสั่งศาล
หรือใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจัดการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังนั้น
กลับนำไปขายต่อให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่ด้วยราคา 4,400
เหรียญสหรัฐ โดยตกลงให้ผู้ซื้อนั้นชำระมัดจำเบื้องต้นเพียง 400
เหรียญสหรัฐ แล้วค่อยผ่อนชำระเงินที่เหลือเดือนละ 100 เหรียญสหรัฐ
3) หลายสัปดาห์ถัดมา ผู้ซื้อรายใหม่แจ้งต่อบริษัทประกันภัยให้ทราบในฐานะเป็นเจ้าของอาคารหลังนั้นคนใหม่
4) วันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1972 ศาลสั่งอีกครั้งให้ดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัยและทำการปิดกั้นส่วนที่เปิดโล่งให้เรียบร้อยโดยทันที
5) วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1972 เกิดไฟไหม้ครั้งที่สอง ผู้ซื้อรายใหม่เรียกร้องบริษัทประกันภัยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงเป็นเงินประมาณ
43,000 เหรียญสหรัฐ (จากตัวเลขที่คำนวณได้จริง 43,795 เหรียญสหรัฐ)
6) วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1972 ศาลออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารหลังนั้น
ฝ่ายบริษัทประกันภัยแจ้งว่า
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครอง เนื่องจากผู้ซื้อในฐานะผู้เอาประกันภัยคนใหม่ทำผิดเงื่อนไขด้วยการปล่อยให้สถานที่เอาประกันภัยถูกทิ้งร้างว่างเปล่า
โดยไม่มีผู้อยู่อาศัย หรือผู้ดูแลติดต่อกันเกินกว่าหกสิบวันอันส่งผลทำให้มีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจึงนำเรื่องขึ้นสู่ศาล พร้อมต่อสู้ว่า นับแต่วันที่ซื้อจวบจนวันที่เกิดไฟไหม้ครั้งที่สอง
ตนได้ให้คนเข้าไปทำการซ่อมแซมบางส่วนแล้ว เสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินกว่า 7,000 เหรียญสหรัฐ ไฉนมาบอกว่า ไม่มีผู้อยู่อาศัย หรือผู้ดูแลติดต่อกันเกินกว่าหกสิบวันได้อย่างไร?
อย่างไรก็ดี ฝ่ายผู้เอาประกันภัยมิได้นำเสนอพยานเอกสารมายืนยันด้วย
ศาลชั้นต้นพิจารณาจากพยานหลักฐานประกอบข้อความจริงทั้งหมดแล้ว
วินิจฉัยว่า การจะให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนเงินที่เรียกร้องมานั้น
ไม่น่าเป็นธรรม เพราะในมุมมองของศาลกลับเห็นว่า อาคารหลังนี้ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้มิได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ
ผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีส่วนได้เสียทางการเงินที่อาจเอาประกันภัยได้ และส่งผลให้สัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพัน
ฝ่ายผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์ต่อโดยกล่าวว่า ตนเสียเบี้ยประกันภัยซื้อความคุ้มครองไปแล้ว
แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย? หากทุนประกันภัยสูงเกินไป เงื่อนไขการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงก็สามารถนำมาปรับใช้ได้มิใช่หรือ?
ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า
แม้จะเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นในเรื่องของความไม่เป็นธรรมแก่บริษัทประกันภัยที่จะต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ได้เรียกร้องมาก็ตาม
แต่ก็มีความเห็นแตกต่างในประเด็นอื่น ดังนี้
(1) แม้ศาลชั้นต้นไม่รับฟังว่า ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้เข้าไปทำการซ่อมแซมจริง
เนื่องจากไม่มีพยานเอกสารสนับสนุน แต่ก็ไม่มีหลักฐานอื่นมาแสดงว่า
ผู้เอาประกันภัยให้การเท็จ เช่นเดียวกับการซื้อขายอาคารหลังนี้ต่อมา
ศาลอุทธรณ์จำต้องรับฟังคำให้การไปตามนั้น
(2) หลักการให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียก็เพื่อป้องกันมิให้สัญญาประกันภัยเป็นเช่นเดียวกับการพนันขันต่อ
และหลักการชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริงก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้เอาประกันภัยสามารถแสวงหากำไรจากการประกันภัยได้
มิฉะนั้นแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral
Hazard) หรือการทุจริตในการทำประกันภัยติดตามมาอีกมากมาย
ซึ่งการที่กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดให้ชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงด้วยสูตรมูลค่าสร้างใหม่ ณ วันที่เกิดความเสียหาย หักด้วยค่าเสื่อมราคานั้นอาจไม่สอดคล้องกับหลักการชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง
ในกรณีที่มีความแตกต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าในความเป็นจริงของตัวอาคารนั้น
โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ หลายแง่มุมมาประกอบ เป็นต้นว่า ราคาซื้อขายในท้องตลาด ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
หรือคุณประโยชน์จำเพาะของเจ้าของอาคารหลังนั้น
(3) ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นในประเด็นที่ว่า
ผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้
ส่วนได้เสียของผู้ซื้อรายใหม่นั้นมีอยู่ ถ้ามองในทฤษฏีราคาซื้อขายทั่วไป (Fair Market Value) มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงจะคำนวณมาจากผลต่างระหว่างราคาซื้อขายทั่วไปก่อนกับหลังจากความเสียหาย ในที่นี้ คือ 7,000 เหรียญสหรัฐ ลบด้วย 4,400 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 1,600 เหรียญสหรัฐ แต่บริษัทประกันภัยมิได้หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงถึง
ศาลอุทธรณ์จำต้องจากปัจจัยอื่นมาประกอบการพิจารณาด้วย
ส่วนประเด็นเงื่อนไขการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้น
ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้สูตรคำนวณมูลค่าสร้างใหม่ (มูลค่าซื้อใหม่) โดย (ไม่) หักค่าเสื่อมราคากับกรณีนี้
จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาดังเหตุผลในข้อ (2)
(4) คำสั่งให้รื้อถอนอาคารหลังนั้นมีขึ้นภายหลังจากความเสียหาย
จึงไม่มีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น
ดังนั้น
ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยว่า มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงในกรณีนี้ที่ผู้เอาประกันภัยควรจะได้รับชดใช้สูงสุดจำกัดอยู่ตามจำนวนเงินที่ตนเองได้ลงทุนไปแก่อาคารหลังนี้ กล่าวคือ ราคาซื้อบวกด้วยค่าซ่อมแซมที่ตนได้อ้างว่าใช้จ่ายไป
และส่งเรื่องกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี
Chicago
Title &
Trust Co. v. U.S. Fidelity Guaranty Co., 511 F.2d 241 (7th Cir. 1975))
ตอนต่อไปเราลองไปดูคดีที่ฝั่งประเทศอังกฤษเทียบเคียงกันดูบ้างนะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-
รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook
Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น