วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?


(ตอนที่หนึ่ง)

เดิมทีตั้งใจจะเขียนให้เป็นตอนที่สองของบทความเรื่องที่ 93: แต่เปลี่ยนใจเขียนเป็นบทความเรื่องใหม่ขึ้นมาน่าจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากมีประเด็นค่อนข้างหลากหลายให้พูดถึงในเรื่องเงื่อนไขบังคับก่อนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่เรียกว่า “ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso)” หรือที่พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา (พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 เรียกว่า “คำรับรองความเสียหายของทรัพย์สิน (Material Damage Warranty)” ซึ่งหมายความถึง “คำรับรองข้อหนึ่งในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักซึ่งกำหนดเงื่อนไขว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะให้ความคุ้มครองต่อเมื่อได้มีการเอาประกันภัยเพื่อความเสียหายของทรัพย์สิน และได้มีการจ่ายหรือยอมรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินนั้นแล้ว"

โดยสรุป คือ ผู้เอาประกันภัยจำต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองก่อน กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักถึงจะให้ความคุ้มครองได้ 

ข้อบังคับ หรือคำรับรองนี้ ซึ่งมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เป็นเพียงคำเรียกที่เข้าใจกันในธุรกิจประกันภัย และได้เขียนสื่อข้อความเช่นนั้นไว้ในข้อตกลงคุ้มครองเท่านั้น โดยมีเจตนารมณ์ดั้งเดิม เพื่อ

1) ผู้เอาประกันภัยจะได้มีเงินทุนเพียงพอจากการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินในการทำให้ทรัพย์สินที่เสียหายกลับคืนสู่สภาพดังเดิมโดยเร็ว จะได้ไม่ตกเป็นภาระหนักแก่กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมากเกินไป 

2) เจ้าหน้าที่สินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยจะได้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน

ทางปฏิบัติจริงก็ไม่สามารถรักษาเจตนารมณ์ดั้งเดิมดังกล่าวได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีความแตกต่างกันไป

ดังนั้น การใช้ข้อบังคับ หรือคำรับรองอย่างเคร่งครัดและอย่างเข้มงวดจึงอาจสร้างปัญหาขึ้นมาได้ทั้งในด้านของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเอง

เราลองวิเคราะห์เทียบเคียงตัวอย่างคดีของสนามกอล์ฟในบทความเรื่องที่ 93: กับตัวอย่างกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของต่างประเทศกันดูนะครับ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่าด้วยความเสียหายต่อทรัพย์สิน (ในที่นี้ ไม่ขอใช้คำว่าข้อบังคับหรือคำรับรอง เพราะดูเสมือนจะให้ผลเสียมากกว่า) โดยสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า 

สิ่งปลูกสร้างใด หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ ได้รับความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุ (ซึ่งความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุดังกล่าวนั้น ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ความเสียหาย”) นอกเหนือไปจากสาเหตุที่ยกเว้น ณ เวลาใด ๆ ของระยะเวลาประกันภัย และธุรกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย ได้รับผลสืบเนื่องมาจนต้องหยุดชะงัก หรือได้ผลกระทบจากกรณีเหล่านั้น ผู้รับประกันภัยก็จะชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับในแต่ละรายการที่ปรากฏอยู่ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยในที่นี้ ตามจำนวนเงินของความสูญเสียอันเป็นผลมาจากการหยุดชะงัก หรือการได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ได้ระบุเอาไว้ในที่นี้

ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า
1. ในเวลาที่ก่อให้เกิด ความเสียหาย” หากมีการประกันภัยซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ ได้ให้ความคุ้มครองถึงส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัยนั้น และปรากฏว่า
    1.1 ได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว
หรือ
    1.2 ได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว แต่เนื่องด้วยข้อกำหนดของการประกันภัยดังกล่าว ได้ยกเว้นความรับผิดสำหรับความสูญเสียที่มีจำนวนเงินต่ำกว่าที่ได้กำหนดไว้

เมื่อจำแนกถ้อยคำที่สำคัญออกมาจะพอสรุปเป็นประเด็นได้ ดังนี้

(1) สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย

(2) ได้เกิด ความเสียหายโดยอุบัติเหตุนอกเหนือไปจากสาเหตุที่ยกเว้นแก่สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้น

(3) เวลาที่ก่อให้เกิด ความเสียหาย” หากมีการประกันภัยซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ ได้ให้ความคุ้มครองถึงส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัยนั้น และปรากฏว่าได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว นอกเสียจากในกรณีความเสียหายส่วนแรก

ตอนต่อไป เราจะมาไล่เรียงกันทีละประเด็นให้เห็นภาพกันนะครับ


บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น