วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Mat...

..... ประกันภัย เป็นเรื่อง .....: เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Mat...: เรื่องที่ 94: ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป? ...
เรื่องที่ 94:ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ความหมายที่เปลี่ยนไป?


(ตอนที่หนึ่ง)

เดิมทีตั้งใจจะเขียนให้เป็นตอนที่สองของบทความเรื่องที่ 93: แต่เปลี่ยนใจเขียนเป็นบทความเรื่องใหม่ขึ้นมาน่าจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากมีประเด็นค่อนข้างหลากหลายให้พูดถึงในเรื่องเงื่อนไขบังคับก่อนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่เรียกว่า “ข้อบังคับความเสียหายต่อทรัพย์สิน (Material Damage Proviso)” หรือที่พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา (พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 เรียกว่า “คำรับรองความเสียหายของทรัพย์สิน (Material Damage Warranty)” ซึ่งหมายความถึง “คำรับรองข้อหนึ่งในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักซึ่งกำหนดเงื่อนไขว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะให้ความคุ้มครองต่อเมื่อได้มีการเอาประกันภัยเพื่อความเสียหายของทรัพย์สิน และได้มีการจ่ายหรือยอมรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินนั้นแล้ว"

โดยสรุป คือ ผู้เอาประกันภัยจำต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองก่อน กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักถึงจะให้ความคุ้มครองได้ 

ข้อบังคับ หรือคำรับรองนี้ ซึ่งมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เป็นเพียงคำเรียกที่เข้าใจกันในธุรกิจประกันภัย และได้เขียนสื่อข้อความเช่นนั้นไว้ในข้อตกลงคุ้มครองเท่านั้น โดยมีเจตนารมณ์ดั้งเดิม เพื่อ

1) ผู้เอาประกันภัยจะได้มีเงินทุนเพียงพอจากการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินในการทำให้ทรัพย์สินที่เสียหายกลับคืนสู่สภาพดังเดิมโดยเร็ว จะได้ไม่ตกเป็นภาระหนักแก่กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมากเกินไป 

2) เจ้าหน้าที่สินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัยจะได้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน

ทางปฏิบัติจริงก็ไม่สามารถรักษาเจตนารมณ์ดั้งเดิมดังกล่าวได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีความแตกต่างกันไป

ดังนั้น การใช้ข้อบังคับ หรือคำรับรองอย่างเคร่งครัดและอย่างเข้มงวดจึงอาจสร้างปัญหาขึ้นมาได้ทั้งในด้านของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเอง

เราลองวิเคราะห์เทียบเคียงตัวอย่างคดีของสนามกอล์ฟในบทความเรื่องที่ 93: กับตัวอย่างกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของต่างประเทศกันดูนะครับ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่าด้วยความเสียหายต่อทรัพย์สิน (ในที่นี้ ไม่ขอใช้คำว่าข้อบังคับหรือคำรับรอง เพราะดูเสมือนจะให้ผลเสียมากกว่า) โดยสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า 

สิ่งปลูกสร้างใด หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ ได้รับความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุ (ซึ่งความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุดังกล่าวนั้น ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ความเสียหาย”) นอกเหนือไปจากสาเหตุที่ยกเว้น ณ เวลาใด ๆ ของระยะเวลาประกันภัย และธุรกิจซึ่งดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย ได้รับผลสืบเนื่องมาจนต้องหยุดชะงัก หรือได้ผลกระทบจากกรณีเหล่านั้น ผู้รับประกันภัยก็จะชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับในแต่ละรายการที่ปรากฏอยู่ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยในที่นี้ ตามจำนวนเงินของความสูญเสียอันเป็นผลมาจากการหยุดชะงัก หรือการได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ได้ระบุเอาไว้ในที่นี้

ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า
1. ในเวลาที่ก่อให้เกิด ความเสียหาย” หากมีการประกันภัยซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ ได้ให้ความคุ้มครองถึงส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัยนั้น และปรากฏว่า
    1.1 ได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว
หรือ
    1.2 ได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว แต่เนื่องด้วยข้อกำหนดของการประกันภัยดังกล่าว ได้ยกเว้นความรับผิดสำหรับความสูญเสียที่มีจำนวนเงินต่ำกว่าที่ได้กำหนดไว้

เมื่อจำแนกถ้อยคำที่สำคัญออกมาจะพอสรุปเป็นประเด็นได้ ดังนี้

(1) สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้นที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่ที่เอาประกันภัย

(2) ได้เกิด ความเสียหายโดยอุบัติเหตุนอกเหนือไปจากสาเหตุที่ยกเว้นแก่สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเหล่านั้น

(3) เวลาที่ก่อให้เกิด ความเสียหาย” หากมีการประกันภัยซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ ได้ให้ความคุ้มครองถึงส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่ที่เอาประกันภัยนั้น และปรากฏว่าได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือได้ยอมรับผิดจากกรณีนั้นแล้ว นอกเสียจากในกรณีความเสียหายส่วนแรก

ตอนต่อไป เราจะมาไล่เรียงกันทีละประเด็นให้เห็นภาพกันนะครับ


บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com
พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 93:เหตุเกิดบนสนามกอล์ฟ กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ความคุ้มครองได้หรือไม่?


(ตอนที่หนึ่ง)

เราคงอยู่กันที่สนามกอล์ฟ แต่คราวนี้เป็นเรื่องของสนามกอล์ฟเอง ซึ่งได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของสนามกอล์ฟ อันประกอบด้วยอาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ กับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ภายในอาคารสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นโดยระบุให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ทั้งยังได้จัดทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักสำหรับสนามกอล์ฟเอาไว้ด้วย

ต่อมา ได้เกิดลมพายุพัดทำให้ต้นไม้ที่ปลูกบริเวณสนามกอล์ฟล้มระเนระนาด ตัวอาคารสิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่นที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายบางส่วน

สนามกอล์ฟจำต้องหยุดกิจการชั่วคราวเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อทำการขนย้ายซากต้นไม้ที่ล้มโค่นบนสนามกอล์ฟออกไป ทำความสะอาดปรับสภาพพื้นสนามกอล์ฟ ตลอดจนซ่อมแซมตัวอาคารสิ่งก่อสร้างกับทรัพย์สินอื่นที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

ทันทีที่เกิดเหตุ สนามกอล์ฟผู้เอาประกันภัยได้แจ้งเหตุต่อบริษัทประกันภัย เพื่อให้เข้ามาสำรวจและประเมินราคาค่าเสียหาย ซึ่งภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่สินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยได้ดำเนินการดังกล่าวจนเสร็จสิ้นแล้ว ได้แจ้งแก่ผู้เอาประกันภัยว่า ยินดีรับผิดชอบสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย อันเนื่องจากภัยลมพายุซึ่งเป็นภัยที่คุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินฉบับดังกล่าว แต่สำหรับความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงินที่เกิดแก่สนามกอล์ฟระหว่างที่หยุดกิจการไปสองสัปดาห์นั้นจะพิจารณาชดใช้ให้เพียงบางส่วนเท่านั้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

สนามกอล์ฟผู้เอาประกันภัยไม่พอใจจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น เพื่อให้บริษัทประกันภัยชดใช้ความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงินที่ได้เกิดขึ้นจริงทั้งหมดระหว่างที่ได้หยุดประกอบการสนามกอล์ฟชั่วคราวดังกล่าวในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก มิใช่จะพิจารณาชดใช้ให้เพียงบางส่วนเท่านั้น 

สำหรับความเสียหายภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินนั้น ผู้เอาประกันภัยไม่ติดใจและยอมรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่บริษัทประกันภัยได้เสนอมา

ประเด็นที่ศาลชั้นต้นจำต้องพิจารณา คือ

ก) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับดังกล่าวมีผลคุ้มครองหรือไม่?
ข) ถ้าคุ้มครอง จะชดใช้อย่างไร?

ผลการพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นมีความเห็น ดังนี้

ก) กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับดังกล่าวมีผลคุ้มครองหรือไม่?

เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินฉบับนี้ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า คุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันประกอบด้วยอาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ กับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ภายในอาคารสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นเท่านั้น โดยไม่ได้กำหนดให้ตัวสนามกอล์ฟ หญ้า หรือต้นไม้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วยเลย ทั้งในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินฉบับนี้ยังได้ระบุไม่คุ้มครองถึงทรัพย์สินจำพวกที่ดิน สนามหญ้า ต้นไม้เอาไว้อีกด้วย 

ศาลชั้นต้นจึงเห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้ให้ความคุ้มครองความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงินเฉพาะในส่วนที่เกิดจากความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินเท่านั้น ฉะนั้น ส่วนความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงินที่เกิดจากตัวสนามกอล์ฟเอง ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยได้

ข) ถ้าคุ้มครอง จะชดใช้อย่างไร?

ให้ผู้เอาประกันภัยนำเสนอหลักฐานทางบัญชีแยกเฉพาะในส่วนของทรัพย์สินที่ระบุเอาประกันภัยไว้เท่านั้นมานำเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป

ผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น

(อ้างอิงมาจากคดี Ormond Country Club v. James River Ins. Co., No. CIV.A. 06-11376, 2008 WL 859482 (E.D. La. Mar. 27, 2008))   

คุณมีความเห็นกับคำพิพากษานี้อย่างไรบ้างครับ? เพราะนักกฎหมายต่างประเทศหลายท่านไม่เห็นด้วย

หากนำมาเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) ฉบับมาตรฐานบ้านเราซึ่งระบุในข้อตกลงคุ้มครองว่า

ให้ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และมิได้มีการระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ณ เวลาใดในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และเป็นผลให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่เอาประกันภัยหยุดชะงักลง หรือได้รับผลกระทบ บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย

คุณคิดว่าจะให้ผลทางคดีออกมาแตกต่างออกไปด้วยหรือไม่ อย่างไรไหมครับ?

ตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า เราจะลองมาพิจารณากันครับ ทำไมนักกฎหมายต่างประเทศบางท่านมีความต่าง และผลเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของบ้านเรา

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com

พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 92:เหตุเกิดที่ข้างสนามกอล์ฟ


(ตอนที่สอง)

เจ้าของบ้านผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสนามกอล์ฟเป็นจำเลยให้รับผิดจากการที่ปล่อยปละละเลยทำให้มีลูกกอล์ฟหลุดลอยมาสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินในบ้านของตนที่ปลูกอยู่ข้างเคียง และก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญในการอยู่อาศัยอย่างมีความสุข

ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้โดยให้ความเห็นว่า น่าแปลกใจที่ทำไมโจทก์ไม่ร้องเรียนต่อสนามกอล์ฟถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ กลับปล่อยเรื่องราวทิ้งไว้นับปี แสดงว่า ช่วงแรกมิได้มีการเดือดร้อนรำคาญมากมายอะไรนัก จนกระทั่งปรากฏมีการรบกวนความสงบสุขในการอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจึงได้จัดทำหนังสือร้องเรียนเป็นระยะไปดังกล่าว กระทั่งบัดนี้ ความเดือดร้อนรำคาญนั้นได้ลดลงน้อยลงไปแล้ว ดังนั้น ศาลชั้นต้นเชื่อว่า ช่วงแรกสนามกอล์ฟมิได้รับรู้หรือควรจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเลยจวบจนกระทั่งเมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนจากทนายของโจทก์ในปี ค.ศ. 2001  และได้ดำเนินการแก้ไขตามสมควรที่จะพึงกระทำได้จนทำให้สถานการณ์ดีขึ้นดังกล่าวแล้ว จึงวินิจฉัยให้สนามกอล์ฟจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยชี้แจงว่า ที่ผ่านมา โจทก์มิได้เรียกร้องจากสนามกอล์ฟ เพราะสิ่งใดที่เป็นความเสียหายเล็กน้อย โจทก์สามารถซ่อมแซมได้เอง ก็จะรับผิดชอบเอง แต่บางกรณีที่ทำไม่ได้ หรือเป็นความเสียหายมาก จึงได้มาเรียกร้องขอให้จำเลยทำการชดใช้ให้ อันที่จริง โจทก์เองเคยถูกลูกกอล์ฟพุ่งมาโดนร่างกาย แต่มิได้เรียกร้องอะไร บางคราว ลูกกอล์ฟก็หวุดหวิดจะไปถูกลูกชายของโจทก์ที่อยู่ในโรงรถด้วยเหมือนกัน ความรู้สึกคล้ายเสมือนอยู่ในสนามรบโดยเฉพาะช่วงวันหยุดที่มีคนเข้ามาเล่นกอล์ฟเพิ่มขึ้น ช่วงปี ค.ศ. 1994 โจทก์เคยเก็บรวบรวมลูกกอล์ฟได้สัปดาห์ละ 12-20 ลูก และช่วงปี ค.ศ. 2001 เคยเก็บรวบรวมลูกกอล์ฟได้ทั้งหมดถึง 526 ลูกในระยะเวลาสิบสองเดือน

ฝ่ายจำเลยชี้แจงว่า สนามกอล์ฟไม่มีความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากลูกกอล์ฟ เพราะตามกฎหมายแล้ว ผู้ตีลูกกอล์ฟเป็นผู้กระทำความผิดโดยตรง มิใช่สนามกอล์ฟ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อแสดงเจตนาดีต่อเพื่อนบ้าน สนามกอล์ฟก็มีนโยบายที่จะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนให้แก่เพื่อนบ้าน โดยมีเงื่อนไขว่า กรมธรรม์ประกันภัยของเพื่อนบ้านที่เสียหายจะต้องชดใช้ไปให้ก่อน ถ้ายังไม่เพียงพอ สนามกอล์ฟก็จะช่วยชดใช้ส่วนเกินให้ด้วยวงเงินไม่เกิน 100 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย ซึ่งมิใช่หน้าที่ข้อผูกพันทางกฎหมายแต่ประการใด

ที่ผ่านมา เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่ของสนามกอล์ฟจะทำการพิจารณาตามสมควรตามนโยบายที่วางไว้ จนกระทั่งมีหนังสือจากทนายความของฝ่ายโจทก์ เรื่องราวจึงถูกนำเสนอต่อฝ่ายบริหารของสนามกอล์ฟ อันนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงตำแหน่งของหลุมที่ 12 ที่เป็นปัญหาดังกล่าวในท้ายที่สุด 

ประเด็นสำคัญที่ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ คือ

(ก) สนามกอล์ฟจำเลยมีความรับผิดในการกระทำความผิดหรือไม่?
แนวความคิดที่ว่า ผู้ตีกอล์ฟจำต้องรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าหากผู้ครอบครองสถานที่ปล่อยละเลยให้มีผู้กระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (Nuisance) แก่บุคคลอื่นในสถานที่ของตน โดยที่ตนรับรู้หรือควรจะได้รับรู้ถึงการกระทำนั้นแล้ว ผู้ครอบครองสถานที่นั้นจำต้องร่วมรับผิดด้วยนับแต่วันที่ตนได้รับรู้หรือควรจะได้รับรู้ถึงเหตุนั้น 

(ข) จำเลยรับรู้ถึงเหตุแห่งความเดือดร้อนรำคาญเมื่อใด และได้ใช้มาตรการป้องกันตามสมควรหรือไม่?
การที่ศาลชั้นต้นวิเคราะห์โดยอาศัยเพียงหนังสือร้องเรียนที่ได้รับจากทนายความของฝ่ายโจทก์เป็นเกณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จำต้องรายละเอียดข้อความจริงที่เกิดขึ้นด้วย จากพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฝ่ายจำเลยได้รับรู้ หรือควรรับรู้ถึงการรบกวนความสงบสุขของฝ่ายโจทก์ตั้งแต่เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนฉบับปี ค.ศ. 1994 แล้ว มิใช่นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ดังที่ศาลชั้นต้นวิเคราะห์ และฝ่ายจำเลยก็มิได้จัดดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าวเลยจวบจนกระทั่งได้ทำการแก้ไขปรับปรุงจนถึงต้นปี ค.ศ. 2002 ทำให้จำนวนลูกกอล์ฟที่หลุดลอยมาลดเหลือเพียงสัปดาห์ละ 2-3 ลูกก็ตาม ก็ยังถือเป็นการรบกวนความสงบสุขในการอยู่อาศัยของฝ่ายโจทก์เกินกว่าที่ควรคาดหมายได้อยู่ดี ฝ่ายจำเลยจำต้องหามาตรการป้องกันเพิ่มเติมอีก 

(ค) ค่าเสียหายที่ควรได้รับการชดใช้
โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกับที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,000 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย โดยมีหลักฐานค่าซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงระหว่างปี ค.ศ. 1998 จนถึงปี ค.ศ. 2001 รวมทั้งสิ้น 605.50 ดอลล่าร์ออสเตรเลียเท่านั้น ซึ่งการคำนวณค่าเสียหายจากการเดือดร้อนรำคาญในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่มิอาจคำนวณได้อย่างแน่นอนชัดเจน ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้ฝ่ายจำเลยรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 จนถึงวันที่มีคำตัดสินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,000 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย

(อ้างอิงจากคดี Challen -v- The McLeod Country Golf Club [2004] QCA 358)

ฉะนั้น สนามกอล์ฟเองนอกเหนือจากทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเองแล้ว จำต้องทำประกันภัยคุ้มครองถึงความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกด้วย เช่นเดียวกับในส่วนของผู้เล่นกอล์ฟควรจะทำประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟเอาไว้ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองแก่ชีวิตร่างกายกับอุปกรณ์กอล์ฟของผู้เล่นกอล์ฟที่เอาประกันภัยเองแล้ว ยังให้ความคุ้มครองรวมถึงความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกอีกด้วย ดังเช่นในกรณีนี้ที่บริษัทประกันภัยของบุคคลภายนอกผู้เสียหาย หรือของสนามกอล์ฟอาจจะมาสวมสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้เล่นกอล์ฟที่ก่อเหตุก็ได้

การอยู่ร่วมอาศัยกันในสังคมจะต้องให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันตามสมควร สังคมถึงจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุขได้ เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ผู้ที่มาอาศัยอยู่ภายหลังจำต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ก่อนหน้าแล้วตามสมควร แต่ก็จะต้องมิได้ถูกรบกวนสิทธิอันพึงจะมีของตนด้วยเช่นกัน ซึ่งกฎหมายไทยได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 1337 บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป  ทั้งนี้ ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน

โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่พอเทียบเคียงเท่าที่ค้นเจอ ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14701/2557 
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยออกระเบียบแก่บุคคลที่มาใช้บริการสนามกอล์ฟของจำเลย ห้ามมิให้ใช้ไม้กอล์ฟที่มีประสิทธิภาพตีไกล เช่น หัวไม้ 1 ห้ามมิให้ตั้งทีสูงเกิน 45 มิลลิเมตร ที่บริเวณชั้น 1 และกำหนดเวลาเปิดปิดตั้งแต่ 8 ถึง 20.30 นาฬิกา เป็นการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421, 1337, 1337 และ 1374 เพื่อระงับยับยั้งมิให้การใช้สิทธิของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 5 และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง และเป็นการพิพากษาบังคับให้จำเลยในฐานะผู้ประกอบกิจการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟโดยตรงให้กระทำการและเป็นผู้ออกระเบียบ มิใช่เป็นการบังคับบุคคลภายนอกซึ่งสภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้กระทำได้ 

เรื่องต่อไป คดีศึกษากรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com

พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 92:เหตุเกิดที่ข้างสนามกอล์ฟ


(ตอนที่หนึ่ง)

ท่านที่ชอบเล่นกอล์ฟมีความสุขทุกครั้ง

ที่ได้ไปออกกำลังกลางแจ้ง

ที่ได้ไปสังสรรค์พบปะกับเพื่อนฝูงคอเดียวกัน

บางท่านถึงขนาดใฝ่ฝันอยากไปปลูกบ้านใกล้สนามกอล์ฟ เพื่อจะได้เล่นกอล์ฟให้สมใจ พร้อมกับโอกาสที่จะได้รับความรื่นรมย์จากธรรมชาติกลางแจ้ง

ครอบครัวนี้ก็มีความฝันคล้ายคลึงกันจึงได้เลือกไปปลูกคฤหาสน์อยู่ข้างสนามกอล์ฟซึ่งตั้งอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว โดยวางผังสร้างสนามเทนนิสกับสระว่ายน้ำส่วนตัวคั่นระหว่างตัวบ้านของตนกับสนามกอล์ฟนั้น

เมื่อสร้างเสร็จ ก็วาดฝันว่า ทุกคนในครอบครัวคงจะได้อยู่บ้านหลังนี้อย่างมีความสุขจวบจนบั้นปลายของชีวิต

นับตั้งแต่ที่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้เมื่อปลายปี ค.ศ. 1988 ครอบครัวนี้ได้อยู่อาศัยอย่างมีความสงบสุขเรื่อยมา จวบจนกระทั่งประมาณต้นปี ค.ศ. 1990 วันดี คืนดี ได้ปรากฏมีลูกกอล์ฟล่องลอยเข้ามาอยู่ตรงจุดนั้นบ้าง ตรงจุดนี้บ้าง ภายในบริเวณบ้านของตน เริ่มแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไปปลูกบ้านอยู่ใกล้สนามกอล์ฟ แต่เหตุการณ์รู้สึกจะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ เมื่อวันเวลาผ่านไป ลูกกอล์ฟที่หลุดลอยมาได้สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของตนเอง เป็นต้นว่า ไปโดนโต๊ะพลาสติกที่ตั้งอยู่ริมสระน้ำบ้าง กระเบื้องหลังคาบ้าง เครื่องประดับตกแต่งตามสนามหญ้าบ้าง บริเวณน้ำพุบ้าง โชคดีที่ยังไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากลูกกอล์ฟกันเลย 

ครอบครัวนี้ได้พยายามอดทนทำใจเรื่อยมาจนรู้สึกทนไม่ไหวแล้ว จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนถึงสนามกอล์ฟแห่งนั้นเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1991 เดือนกรกฏาคม ค.ศ. 1992 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1994 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1996 เดือนธันวาคม ค.ศ. 1998 และเดือนกรกฏาคม ค.ศ. 2000 แต่ก็ยังมิได้รับการตอบสนองด้วยดีจากสนามกอล์ฟนั้น จึงจำต้องขอให้ทนายความจัดทำหนังสือเป็นทางการยื่นคำขาดขึ้นมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2001 จากนั้นสนามกอล์ฟจึงตอบสนองด้วยการปรับผังสนามตรงจุดที่มีปัญหาใหม่ในปลายปี ค.ศ. 2001 ปัญหาลูกกอล์ฟหลุดลอยมาก็เริ่มลดลงจากสัปดาห์ละประมาณ 20 ลูก ลงมาเหลือเพียงประมาณ 2 ถึง 3 ลูก

อย่างไรก็ดี ครอบครัวนี้ได้ยื่นฟ้องสนามกอล์ฟแห่งนั้นเป็นจำเลยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกต่อศาลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001

คุณอ่านกรณีเรื่องนี้แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?

ใครเป็นคนผิด?

สนามกอล์ฟที่ตั้งอยู่ก่อน หรือบ้านที่ไปปลูกอยู่ภายหลัง?

สนามกอล์ฟจะอ้างได้ไหม คนเล่นกอล์ฟที่ตีลูกกอล์ฟหลุดลอยไปต่างหากเป็นผู้กระทำผิดโดยตรง จะมาโทษสนามกอล์ฟได้อย่างไร?

เราจะมาคุยกันต่อสัปดาห์หน้าถึงผลคดีเรื่องนี้กันนะครับ

บริการ
-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com

พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/