เรื่องที่ 91:เหตุเกิดในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง
(ตอนที่หนึ่ง)
ลูกค้าที่ไปชอปปิ้งในซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วถูกวัยรุ่นเข็นรถเข็นเล่นด้วยความคึกคะนองมาชนจนได้รับบาดเจ็บ
คุณคิดว่า เป็นความผิดของใครดีครับ? ใครควรจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่ลูกค้าผู้บาดเจ็บรายนั้น?
วัยรุ่นที่เข็นรถเข็นคันนั้น? หรือเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต?
ถ้าคุณบอกว่า วัยรุ่นที่กระทำนั่นละผิดแน่ ๆ
ก็ถูกต้องครับ แต่ตัวแสบนั้นหนีหายไปแล้วทันทีที่เกิดเรื่อง
อ้าว งั้นจะไปเรียกร้องให้เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตมารับผิดด้วยได้ไหม?
แน่นอนเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตคงโบ้ยมาให้บริษัทประกันภัยซึ่งคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกของตนมารับผิดแทนอีกต่อนึง
ท้ายที่สุด คุณคิดว่า ลูกค้าผู้บาดเจ็บรายนั้นจะโชคดี หรือโชคร้ายกันแน่?
มาลุ้นกันครับ เพราะเรื่องนี้เกิดเป็นคดีขึ้นมาแล้ว
ในต่างประเทศ
ต้นปี ค.ศ. 2005 ลูกค้าสตรีรายหนึ่งเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ระหว่างที่ก้มตัวลงหยิบสินค้าชิ้นหนึ่ง
ก็ถูกรถเข็นคันหนึ่งแล่นเข้ามาชนที่ด้านหลัง พอเหลียวตัวไปมองทันเห็นวัยรุ่นสองคนรีบวิ่งหนีหายตัวไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อลูกค้าผู้โชคร้ายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่า มีอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง จำต้องผ่าตัด หลังจากผ่าตัด
อาการก็ยังไม่ดีมากนัก เธอต้องตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพถาวรบางส่วน
ไม่สามารถกลับมาเดินได้ตามปกติอีกต่อไป
เธอได้มาเรียกร้องให้เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้นรับผิดชอบ
แต่ได้รับการปฏิเสธว่า มิใช่ความผิดของตน วัยรุ่นสองคนที่หนีไปต่างหากเป็นผู้กระทำความผิด
เธอจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลฟ้องทั้งเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายแก่เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตร่วมกันรับผิด
ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานแล้ว
เห็นว่า
โจทก์ผู้เสียหายพบเห็นพฤติกรรมความคึกคะนองของวัยรุ่นทั้งสองคนระหว่างที่ตนเองกำลังเดินเลือกซื้อของอยู่ถึงสามหนในช่วงเวลาประมาณ
15 – 20
นาทีก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ
วัยรุ่นทั้งสองคนนั้น
คนหนึ่งจะนั่งอยู่บนรถเข็น แล้วให้เพื่อนอีกคนเข็นแล่นไปมา บางครั้งจะเข็นลักษณะยกล้อ
ทั้งยังส่งเสียงเอะอะโวยวายรบกวนด้วย ดังนั้น ลูกค้ารายอื่นก็พบเห็นพฤติกรรมนี้เช่นกัน
แต่สังเกตดูกลับมิได้มีพนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตเข้ามาขัดขวาง
หรือห้ามปรามการกระทำเช่นนั้นเลย จนกระทั่งได้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ขึ้นมาในท้ายที่สุด
แม้ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมิได้เป็นผู้กระทำความผิดโดยตรง
แต่ก็มีหน้าที่ที่ควรปฏิบัติในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าของตน
ซึ่งสามารถเล็งเห็นได้ว่า อาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือความเสียหายขึ้นมาได้ และด้วยการละเลยหน้าที่ดังกล่าวของตนได้ส่งผลทำให้เกิดความบาดเจ็บทางร่างกายแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยให้ฝ่ายเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตกับบริษัทประกันภัยร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
คุณเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนี้ไหมครับ?
แน่นอนครับที่ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อไป
ผลทางคดีจะเป็นเช่นไร?
รอสัปดาห์หน้านะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น