วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 91:เหตุเกิดในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง


(ตอนที่สอง)

คดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นตัดสิน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ลงข่าวว่า ผู้เสียหายที่โชคร้ายได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาเทียบเป็นเงินไทยแล้วร่วมเก้าล้านบาท ดูแล่วน่าจะเหมาะสมกับภาวะทุพพลภาพถาวรบางส่วนที่ได้รับ

ครั้นฝ่ายจำเลยเจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตยื่นอุทธรณ์

เราลองมาดูประเด็นที่ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้รับรู้ถึงพฤติกรรมอันน่าจะเป็นอันตรายของผู้ก่อเหตุทั้งสองคน ซึ่งจะนำไปสู่การละเลยต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าของตนหรือไม่? โดยที่ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า พนักงานของตนไม่ได้รับรู้ เมื่อมิได้รับรู้ จึงไม่มีหน้าที่จะไปยับยั้ง ปกป้องการกระทำดังกล่าวได้อย่างไร?

ศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ได้จำแนกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1) ผู้ก่อเหตุทั้งสองรายส่งเสียงเอะอะโวยวาย เป็นที่รับรู้ได้ทั่วไป ซึ่งพนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตก็น่าจะได้ยินเช่นกัน ทั้งน่าจะรับรู้ถึงพฤติกรรมที่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อลูกค้าได้ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ แต่การเพียงส่งเสียงดังดังกล่าว แม้จะรับรู้ได้ ก็ยังไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าจะนำไปสู่การก่อภัยคุกคามใด ๆ ได้บ้าง

2) ส่วนการเข็นรถเข็นไปมาด้วยพฤติกรรมอันอาจจะก่ออันตรายขึ้นมาได้นั้น ซึ่งฝ่ายโจทก์อ้างว่า เกิดขึ้นสองครั้งด้วยกันก่อนหน้านั้น ครั้งแรกเจอเมื่อตอนที่ตนก้าวเข้ามาในซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้เห็นผู้ก่อเหตุดันรถเข็นให้แล่นไปเอง แต่ไปไม่ไกล แล้วหยุดเอง ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตก็น่าจะรับรู้ได้เช่นกัน

3) ในเหตุการณ์เข็นรถครั้งที่สองด้วยความเร็วไปตามช่องทางย่อยต่าง ๆ ซึ่งสามารถดันให้พุ่งไปเกือบตลอดช่องทางนั้น โจทก์ไม่มีพยานมาแสดงให้เห็นว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้รับรู้ หรือควรได้รับรู้ถึงพฤติกรรมเช่นนั้นเลย

สิ่งที่สำคัญ คือ พยานหลักฐานของโจทก์ยังแสดงให้เห็นอีกว่า พอพ้นจากช่องทางย่อย ซึ่งค่อนข้างลับตาผู้คนแล้ว ผู้ก่อเหตุจะเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการทำตัวสงบเรียบร้อยลงดังเช่นลูกค้าทั่วไป

จุดที่เกิดเหตุเป็นช่องทางย่อยอยู่เกือบสุดปลายทาง ขณะที่โจทก์กำลังก้มตัวลงหยิบของ และมิได้มองว่า รถเข็นกำลังแล่นพุ่งตรงมาหา

ดังนั้น การที่โจทก์อ้างว่า การส่งเสียงดังกับการเล่นรถเข็นในเหตุการณ์ครั้งแรกสุดนั้นนำไปสู่การควรที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าของตนได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ยังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจากพยานหลักฐานของโจทก์เองก็ยังมิได้แสดงให้เห็นความคุกคามใด ๆ รถเข็นยังมิได้ถูกแรงดันให้แล่นไปไกลนัก

ขณะที่การเล่นรถเข็นครั้งที่สอง มีการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น หากใครพบเห็นคงต้องลงความเห็นได้ว่า อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ และศาลอุทธรณ์เชื่อว่า ถ้าพนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้พบเห็น ก็น่าจะต้องใช้ความพยายามยับยั้งมิให้เกิดภัยอันตรายนั้นได้ จึงน่าเชื่อว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตคงไม่รับรู้ จนเป็นที่มาของอุบัติเหตุในครั้งนี้ท้ายที่สุด

ทั้งโจทก์เองก็มิได้แสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ให้ศาลอุทธรณ์เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า พนักงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตได้รับรู้ หรือควรจะได้รับรู้ถึงการเล่นรถเข็นครั้งที่สองนี้อันจะนำไปสู่การละเว้นหน้าที่ของตนในการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าแต่ประการใด

ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยการตัดสินให้ฝ่ายจำเลยพ้นผิด

(อ้างอิงจากคดี Coles Supermarkets Australia Pty Limited v Tormey [2009] NSWCA 135)

ลูกค้าผู้โชคร้ายรายนี้จำต้องรับกรรมตามลำพังจากการกระทำของผู้กระทำผิดที่แท้จริงซึ่งได้หลบหนีหายตัวไปตั้งแต่ต้น 

เรื่องต่อไป เหตุเกิดข้างสนามกอล์ฟ ระหว่างเจ้าของบ้านข้างเคียงกับสนามกอล์ฟ

บริการ
-      รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

ประกันภัยเป็นเรื่อง http://vivatchaia.blogspot.com

พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น