วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 90:คดีศึกษาระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” และ “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์


(ตอนที่สอง)

จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ในประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อพิพาทหลายคดีเกิดขึ้นระหว่างคำว่า “การใช้รถ (Use)” กับคำว่า “การขับขี่ (Operation)” ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

เราลองมาดูตัวอย่างคดีล่าสุดนี้กันนะครับ

ลูกจ้างของธุรกิจแห่งหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เมืองเทนเนสซี นายจ้างอนุญาตให้ใช้รถของบริษัทได้เฉพาะเวลาทำงานเท่านั้น ต่อมา ลูกจ้างรายนี้ถูกมอบหมายให้ขับรถยนต์ของบริษัทไปปฏิบัติยังต่างเมือง โดยปกติ เวลาไปทำงานต่างเมือง นายจ้างจะมิได้มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการใช้รถมากนัก นอกจากระเบียบห้ามทานหรือมีเหล้าระหว่างอยู่ที่ทำงาน หรือระหว่างปฏิบัติงานนอกสถานที่ และระหว่างใช้อุปกรณ์เครื่องมือและรถยนต์ของบริษัทด้วย ลูกจ้างทุกรายที่ไปทำงานนอกสถานที่สามารถใช้รถไปไหนมาก็ได้นอกเวลาทำงาน บริษัทก็มิได้กวดขันอะไรช่วงเวลาที่ผ่านมา

เช้าตรู่ในวันที่เกิดเหตุ ลูกจ้างรายนี้ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน ณ โรงแรมที่พัก และได้ทานเหล้าจนเมา เพื่อนต้องหิ้วปีกกลับไปนอนที่ห้องพัก โดยได้มีโอกาสงีบหลับไปไม่กี่ชั่วโมง ก็จำต้องตื่นขึ้นมาขับรถออกไปข้างนอก และได้ขับไปชนท้ายรถยนต์คันอื่นที่จอดติดไฟแดงอยู่จนคู่กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส ผลการตรวจวัดปริมาณของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ลูกจ้างรายนี้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสองเท่าจากปริมาณที่กฎหมายกำหนด จึงถูกแจ้งข้อหาเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ

ผู้บาดเจ็บได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้ทั้งบริษัทนายจ้างกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองรถยนต์คันดังกล่าวรับผิดชอบ เนื่องจากลูกจ้างรายนี้ถูกไล่ออกและไม่มีเงินพอที่จะชดใช้ค่าเสียหาย

ผลการพิจารณาของศาลชั้นต้น เห็นพ้องกับฝ่ายนายจ้างกับบริษัทประกันภัยที่โต้แย้งว่า ลูกจ้างที่ก่อเหตุได้ขับรถขณะมึนเมา อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้าง จึงไม่ถือเป็นผู้ที่ขับขี่รถอันได้รับความเห็นชอบจากผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว และตัดสินให้ฝ่ายผู้เสียหายแพ้คดี

ถึงชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีความเห็นยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาได้วิเคราะห์ถ้อยคำที่เขียนอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ซึ่งถอดความออกมาได้ใจความว่า “คุ้มครองถึงบุคคลอื่นใดขณะกำลังใช้ (using) รถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้เอาประกันภัย” โดยที่มิได้มีการกำหนดคำนิยามของ “ใช้รถ (use)” เอาไว้ด้วย ศาลจำต้องตีความตามความหมายทั่วไปของคำว่า “ใช้รถ (use)” นั้น ซึ่งหมายความถึง “การใช้ประโยชน์จากรถให้เป็นไปตามตามจุดประสงค์หรือตามความตั้งใจของผู้ใช้จนจบกระบวนการ” ส่วนคำว่า “ขับขี่ (operation)” หมายความถึง “การนำพาหรือการควบคุมยานพาหนะให้เคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งตามจุดมุ่งหมาย



แม้ลูกจ้างรายนี้ยอมรับว่าได้ฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทก็ตาม แต่ศาลฎีกาตีความว่า ข้อห้ามดังกล่าวเป็นกรณีห้ามขับขี่ (operation) มิได้ห้ามใช้ (use) แต่ประการใด ทั้งไม่มีถ้อยคำในระเบียบดังกล่าวเขียนไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผลการฝ่าฝืนจะทำให้สิทธิการใช้รถต้องถูกเพิกถอนไป จึงกลับคำตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรับผิดแก่ผู้เสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย

(อ้างอิงจากคดี Ricky Griffitts v. Old Republic Insurance Company, BNSF Railway Company, and James M. Campbell, No. SC96740, 550 S.W.3d 474 (2018))

อย่างไรก็ดี บางคดี ศาลอาจตีความแคบว่า การฝ่าฝืนระเบียบข้อห้ามของบริษัทถือเป็นการเพิกถอนสิทธิการใช้รถได้เหมือนกัน (State Farm v. Logan, 444 F.Supp.2d 622 (D.S.C. 2006))

นี่เป็นตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นกับถ้อยคำที่เขียนไม่ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเขา

แต่เท่าที่ค้นคว้าดู มีหลายประเทศเหมือนกันนอกเหนือจากของบ้านเราที่เขียนโดยใช้ทั้งสองคำต่างกัน แม้คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของเรามิได้อธิบายถึงเหตุผลการใช้คำต่างกันดังกล่าว ก็น่าเชื่อว่า เพื่อประสงค์จำกัดความคุ้มครองให้ลดน้อยลง เพราะคำว่า “ขับขี่” นั้นให้ความหมายแคบกว่าคำว่า “ใช้” มากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น